obesity disease definition

โรคอ้วน คืออะไร อันตรายแค่ไหน จะรู้ยังไงว่าอ้วนเกินไปแล้ว?

รู้ไหม? ประชากรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาโรคอ้วน! และแนวโน้มผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย โดยตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนในผู้ใหญ่ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และในเด็กอายุ 5-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า!

โรคอ้วน แม้ดูไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตในทันที แต่กลับเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงถึงชีวิตและโรคเรื้อรังหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมทั้งมะเร็ง

ดังนั้นทุกคนจึงควรใส่ใจสุขภาพ คอยสังเกตพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน บทความนี้เราจะพามาเจาะลึกว่าแท้จริงแล้ว โรคอ้วนเกิดจากสาเหตุใด (ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการกินเสมอไป) ผลกระทบจากโรคอ้วน การป้องกัน และการรักษา เราไปหาคำตอบกันได้เลย

โรคอ้วน คืออะไร?

โรคอ้วน (Obesity) คือการที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกิดปกติจนเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งมักนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆ มากมาย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง นิ่ว โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคตับ โรคไต ฯลฯ

กำลังเป็นโรคอ้วนหรือไม่? ไม่สามารถสังเกตได้จากรูปร่างด้วยตาเปล่า แต่สามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) แล้วนำตัวเลขที่ได้นั้นไปเทียบกับตารางมาตรฐานว่าอยู่ในภาวะน้ำหนักน้อย ปกติ น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน โดยคนแต่ละเชื้อชาติอาจมีเกณฑ์บ่งชี้ภาวะโรคอ้วนแตกต่างกันเล็กน้อย

สูตรคำนวณค่า BMI คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง

ทำความรู้จักค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI และการคำนวณค่า BMI แบบละเอียด ที่นี่

สำหรับคนไทย ค่า BMI ปกติ ควรอยู่ระหว่าง 18.5-22.90 ถ้าคำนวณแล้วได้ค่า BMI อยู่ในช่วง 23-27.4 ถือว่ามีภาวะน้ำหนักเกิน ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 27.5 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วน

สาเหตุของโรคอ้วนคืออะไร?

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคอ้วน เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วโรคอ้วน เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

โรคอ้วนจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

สาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วนในคนทั่วไป โดยการรับประทานอาหารปริมาณมาก หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง น้ำตาลสูง ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินกว่าที่จำเป็น ก่อให้เกิดไขมันสะสมตามอวัยวะต่างๆ ยิ่งประกอบกับพฤติกรรมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย พลังงานที่สะสมก็จะยิ่งไม่ได้ถูกเผาผลาญ ทำให้โรคอ้วนที่เป็นนั้นรุนแรงขึ้น

โรคอ้วนจากปัญหาการนอน

การพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน หรือการนอนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ มีความสัมพันธ์กับโรคอ้วน เนื่องจากการนอนมีผลต่อฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิว ผู้ที่มีปัญหาการนอนจึงอาจรู้สึกอยากกินอยู่ตลอดเวลา หรือกินอาหารปริมาณมากแล้ว แต่ก็ยังหิวอยู่ ส่งผลให้กินจุบจิบละหว่างวัน จนกลายเป็นโรคอ้วนได้

โรคอ้วนจากความเครียด

ความเครียด เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิว นอกจากนี้ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ ผู้ที่มีความเครียดสูง จะมีแนวโน้มรับประทานอาหารมากขึ้น โดยมักเป็นอาหารประเภทไขมันสูง น้ำตาลสูง และมักไม่ออกกำลังกาย ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าข่ายโรคอ้วน

โรคอ้วนจากภาวะสุขภาพหรือการรักษาโรคบางอย่าง

โรคบางโรคส่งผลต่อน้ำหนักตัวของผู้ป่วยได้ เช่น

  • โรคไฮโปไทรอยด์ โรคนี้ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดต่ำลง จึงมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
  • โรคคุชิงซินโดรม โรคนี้เกิดจากการที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป ทำให้ร่างกายสร้างไขมันขึ้นมามากเกินปกติ แล้วไปสะสมบริเวณใบหน้า หลังส่วนบน และหน้าท้อง
  • โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคนี้ส่งผลต่อฮอร์โมนเพศ นอกจากทำให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนมาไม่ปกติแล้ว ยังก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ด้วย

นอกจากนี้ยาบางชนิด ก็ส่งผลต่อน้ำหนักตัวได้เช่นกัน เช่น สเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้าบางชนิด เบด้าบล็อกเกอร์ ยากันชัก ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

โรคอ้วนเนื่องจากพันธุกรรม

พันธุกรรม เป็นอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ โรคอ้วน เนื่องจากเป็นเหมือนพิมพ์เขียวกำหนดการทำงานของร่างกายในคนแต่ละคนมาตั้งแต่เกิด เช่น กำหนดความสามารถในการเก็บไขมัน ตำแหน่งเก็บไขมัน ความเร็ว-ช้า ของการเปลี่ยนอาหารเป็นพลังงาน การควบคุมความหิว ความสามารถในการเผาผลาญแคลอรี่ขณะออกกำลังกาย ฯลฯ อย่างที่เราอาจสังเกตได้ว่าบางคนกินเยอะแต่ไม่อ้วน บางคนกินไม่มากกลับอ้วนกว่า

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วพันธุกรรมพียงอย่างเดียวมักไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน แต่จะควบคู่ไปกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายด้วย

อาการของโรคอ้วน เป็นอย่างไร?

โรคอ้วน มักไม่ได้สังเกตจากอาการ แต่คำนวณจากดัชนีมวลกาย BMI ถ้ามีค่าตั้งแต่ 27.5 เป็นต้นไป ก็ถือว่าเป็นโรคอ้วน อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นโรคอ้วนมักมีอาการเหล่านี้

  • หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มปอด
  • เหงื่อออกมาก
  • มีปัญหานอนกรน
  • เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก
  • เหนื่อยง่าย
  • ปวดข้อ ปวดหลัง

วิธีรักษาโรคอ้วน มีวิธีไหนบ้าง?

ถ้าเพิ่งเข้าสู่ภาวะน้ำหนักเกินใหม่ๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายด้วยตนเอง อาจช่วยลดน้ำหนักได้ไม่ยาก 

แต่เมื่อเป็นโรคอ้วนแล้ว และเป็นมานานเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องพึ่งการออกแบบและวางแผนรักษาโรคอ้วน โดยแพทย์หรือผู้ชำนาญการ เพื่อจะได้ลดน้ำหนักได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปและปลอดภัย 

วิธีรักษาโรคอ้วนโดยแพทย์หรือผู้ชำนาญการ ได้แก่

  • การใช้ยากดความรู้สึกหิว
  • การใช้ยาป้องกันการดูดซึมสารอาหาร
  • การใช้ยารักษาโรคเบาหวาน (ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบปากกาควบคุมความหิว หรือปากกาลดน้ำหนัก)
  • การตัดกระเพาะ
  • การผ่าตัดใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

การป้องกันโรคอ้วน คืออะไร?

หากเริ่มรู้สึกว่าน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้น จนเข้าเกณฑ์น้ำหนักเกิน ควรต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยพยายามรักษาสมดุลของปริมาณอาหารและสารอาหารที่รับประทานเข้าไป งดเว้นอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน เช่น การทำงาน การออกกำลังกาย โดยควรทำอย่างมีวินัยและสม่ำเสมอด้วย

นอกจากนี้ควรดื่มน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ และใส่ใจสุขภาพจิตใจควบคู่ไปกับสุขภาพกาย

ถ้าสังเกตตัวเองแล้วพบว่าน้ำหนักขึ้นผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรเข้าปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการ เพราะความผิดปกติดังกล่าวอาจมาจากภาวะสุขภาพบางอย่างได้ และจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคอ้วน เป็นโรคเรื้อรังซับซ้อน นำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงหลายประการ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอเหมาะ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจเป็นโรคอ้วนเนื่องจากภาวะสุขภาพบางอย่าง หรือเป็นผลมาจากพันธุกรรม ทำให้ลดน้ำหนัก แก้ไขภาวะน้ำหนักเกิน หรือรักษาโรคอ้วนได้ยาก กรณีนี้ก็มีวิธีทางการแพทย์อย่างรับประทานยาหรือ ผ่าตัดกระเพาะ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง 

ยังไม่แน่ใจเป็นโรคอ้วนรึเปล่า ที่เราเป็นจัดว่าอาการรุนแรงจนต้องรักษาเลยไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top