“ไมเกรน” ไม่ใช่แค่ปวดหัวธรรมดา แต่เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของหลายคน อาการปวดตุบๆ ข้างเดียวมักมาพร้อมความไวต่อแสง เสียง และกลิ่น อาการไมเกรนสามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง บทความนี้ชวนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ วิธีบรรเทา และการป้องกัน เพื่อช่วยให้คุณจัดการไมเกรนได้ดีขึ้น
สารบัญ
ไมเกรนคืออะไร?
ไมเกรน (Migraine) เป็นอาการปวดหัวเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดอาการปวดหัวรุนแรง โดยเฉพาะที่ข้างใดข้างหนึ่ง
อาการปวดมักมีลักษณะเป็นจังหวะ ตุบๆ และอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน หรือขึ้นบันได ในบางกรณีอาจรู้สึกปวดทั่วทั้งศีรษะ หรือสลับข้างกันไปมา
ไมเกรนไม่ใช่แค่อาการปวดหัวธรรมดา แต่ยังมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็น เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และไวต่อแสงและเสียง อาการเหล่านี้อาจกินเวลาตั้งแต่ 4 ชั่วโมงจนถึง 3 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละบุคคล
ไมเกรนพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเข้าสู่วัยทอง นอกจากนี้ไมเกรนอาจมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นไมเกรน โอกาสที่จะเป็นไมเกรนก็จะสูงขึ้น
สาเหตุของไมเกรน
แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของสมองและระบบประสาท อาจมีปัจจัยกระตุ้นหลายอย่าง เช่น
- ความเครียด เนื่องจากเมื่อร่างกายเกิดความเครียดจะส่งผลต่อระดับสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน ทำให้หลอดเลือดหดตัวและขยายตัวผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดหัว
- การพักผ่อนไม่เหมาะสม การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือการนอนมากเกินไปสามารถกระตุ้นอาการไมเกรนได้ เพราะอาจทำให้สมองไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ และอาจมีผลต่อระดับฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของหลอดเลือดในสมอง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้หญิงมักมีโอกาสเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงมีประจำเดือน หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์และวัยหมดประจำเดือนก็สามารถเป็นตัวกระตุ้นได้
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส ช็อกโกแลต อาหารที่มีผงชูรส หรือคาเฟอีนมากเกินไป
อาหารบางชนิดมีสารที่สามารถกระตุ้นการขยายตัวของหลอดเลือด หรือกระทบต่อระบบประสาท เช่น ชีสที่มีสารไทรามีน ช็อกโกแลต คาเฟอีน หรืออาหารที่มีผงชูรสสูง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้หากทราบว่าเป็นตัวกระตุ้น - แสงจ้า หรือเสียงดัง การสัมผัสแสงจ้าที่สว่างเกินไปหรือเสียงดังต่อเนื่องเป็นเวลานานสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ เนื่องจากแสงและเสียงสามารถกระตุ้นระบบประสาท ทำให้เกิดความไวต่อสิ่งกระตุ้นและทำให้เกิดอาการปวดหัว
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้น หรือความกดอากาศสามารถส่งผลต่อหลอดเลือดในสมอง ทำให้เกิดอาการไมเกรนในบางคน โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ฝนตกหนัก หรืออากาศร้อนจัด
อาการของไมเกรน
อาการของไมเกรนมักเกิดเป็นขั้นตอน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะเตือน (Prodrome) เป็นระยะเริ่มต้นก่อนการปวดหัว ผู้ป่วยอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด อ่อนเพลีย อยากอาหารเฉพาะอย่าง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย ระยะนี้อาจเกิดล่วงหน้าหลายชั่วโมงถึง 1 วัน ก่อนการปวดหัว
- ระยะออร่า (Aura) พบในบางราย อาการออร่าอาจแสดงออกในรูปแบบของการมองเห็น เช่น เห็นแสงกระพริบ เส้นซิกแซก หรือมีจุดบอดในสายตา นอกจากนี้อาจมีอาการรู้สึกชา อ่อนแรง หรือพูดไม่ชัด อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นประมาณ 20-60 นาทีก่อนการปวดหัว และจะหายไปเมื่อเริ่มปวดหัว
- ระยะปวดหัว (Headache) เป็นระยะที่มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง มักปวดตุบๆ ข้างเดียว แต่บางครั้งอาจปวดทั้งสองข้าง อาการปวดอาจแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว มักมีอาการร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง ระยะนี้อาจกินเวลาตั้งแต่ 4 ชั่วโมงจนถึง 72 ชั่วโมง
- ระยะหลังปวด (Postdrome) หลังจากอาการปวดหัวเริ่มหายไป ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลีย มึนงง หรือสมาธิลดลง บางครั้งอาจมีอาการปวดหัวเล็กน้อยหลงเหลืออยู่ ระยะนี้อาจกินเวลาหลายชั่วโมงจนถึง 1 วัน
วิธีแก้เบื้องต้นเมื่อมีอาการไมเกรน
- พักในที่มืดและเงียบ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงและเสียงที่อาจทำให้อาการแย่ลง
- นวดขมับเบาๆ หรือใช้ถุงเย็นประคบที่หน้าผาก การประคบเย็นช่วยลดการอักเสบและการขยายตัวของหลอดเลือด
- หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อลดการกระตุ้นทางสายตาและระบบประสาท
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำซึ่งอาจทำให้อาการไมเกรนแย่ลง
- การหายใจลึกๆ และผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ หรือโยคะเบาๆ ช่วยลดความเครียดและความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
การรักษาไมเกรน
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน ใช้ในระยะแรกของอาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเบื้องต้น การใช้ยาเหล่านี้ควรรับประทานทันทีที่เริ่มรู้สึกถึงอาการไมเกรนเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด
- รับประทานยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ยาในกลุ่มนี้ช่วยลดอาการปวดหัวไมเกรนโดยตรง โดยการลดการขยายตัวของหลอดเลือดและปรับระดับสารเคมีในสมอง เช่น ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- รับประทานยาป้องกัน สำหรับผู้ที่มีไมเกรนบ่อย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาลดความดันโลหิต ยาต้านซึมเศร้า หรือยากันชัก เพื่อช่วยลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรน
- วิธีการไม่ใช้ยา ได้แก่ การฝังเข็ม โยคะ และการทำสมาธิ สามารถช่วยลดความเครียดและปรับสมดุลของร่างกาย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การปรับพฤติกรรมการกิน และการบริหารจัดการความเครียดก็สามารถช่วยลดอาการไมเกรนได้ด้วยเช่นเดียวกัน
วิธีป้องกันไมเกรน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนที่เป็นเวลาและครบ 7-9 ชั่วโมง ช่วยให้สมองได้พักผ่อนเต็มที่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดไมเกรน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ หรือเดิน การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเครียด และกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดไมเกรน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไทรามีน ผงชูรส หรือคาเฟอีนมากเกินไป ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหัว
- ฝึกสมาธิและโยคะ เพื่อลดความเครียด การฝึกสมาธิช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไมเกรนกำเริบ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ช่วยป้องกันการขาดน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นไมเกรน
- จัดตารางเวลาการทำงานให้เหมาะสม การแบ่งเวลาให้เหมาะสมกับการพักผ่อน ลดความเครียดจากการทำงานหนัก ช่วยลดความถี่ของไมเกรน
อาหารที่ช่วยบรรเทาไมเกรน
- ปลาแซลมอน มีโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบ
- ขิง ช่วยลดอาการคลื่นไส้และปวดหัว
- อะโวคาโด มีแมกนีเซียมสูง ช่วยลดความถี่ของไมเกรน
- ผักใบเขียว มีวิตามินบีและแมกนีเซียมสูง
- อัลมอนด์ และ เมล็ดฟักทอง แหล่งแมกนีเซียม ช่วยป้องกันการหดเกร็งของหลอดเลือด
ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่สามารถควบคุมได้หากรู้จักวิธีป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง หากมีอาการบ่อยหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
ปวดหัวไมเกรน ต้องรักษาอย่างไรให้หายขาด อยากปรึกษาคุณหมอ ตรวจให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย