หลายคนมักเข้าใจว่า ไส้เลื่อน เป็นได้เฉพาะเพศชาย เนื่องจากไส้เลื่อนที่พบบ่อยที่สุดในไส้เลื่อนทั้งหมดคือไส้เลื่อนขาหนีบ โดยไส้เลื่อนชนิดนี้มักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และอาจแสดงอาการที่ถุงอัณฑะได้
ความจริงผู้หญิงก็เป็นไส้เลื่อนได้เช่นกัน เนื่องจากขณะเป็นทารกในครรภ์มารดา ทั้งเด็กชายและหญิงต่างมีรูเปิดที่ผนังช่องท้อง รูนี้ปกติแล้วจะปิดลงเมื่อโตขึ้น แต่ในบางคน รูดังกล่าวปิดไม่สนิท เมื่อประกอบกับในช่องท้องมีความดันสูงเกิดขึ้นซ้ำๆ รูนี้ก็จะเป็นช่องทางให้เนื้อเยื่อไขมันหรือลำไส้บางส่วนเลื่อนทะลุออกมาได้ หรือเรียกว่า ‘ภาวะไส้เลื่อน’ นั่นเอง
สารบัญ
ไส้เลื่อนผู้หญิง เกิดบริเวณไหน?
ไส้เลื่อนในผู้หญิงสามารถเกิดได้ในหลายบริเวณ เช่น สะดือ ขาหนีบ บริเวณต่ำกว่าขาหนีบ กระบังลม บริเวณที่เคยผ่าคลอด
ชนิดไส้เลื่อนที่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือ ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) โดยจะเกิดในบริเวณที่เรียกว่า Femoral Canal ซึ่งเป็นช่องช่องหนึ่งบริเวณต้นขาด้านใน สาเหตุที่ผู้หญิงมักเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้ เป็นผลมาจากสรีระของอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงที่กว้างกว่าผู้ชาย
สังเกตอาการไส้เลื่อนในผู้หญิง
ในขณะที่ไส้เลื่อนในผู้ชายมักสังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า คือเห็นก้อนนูนออกมาบริเวณหัวหน่าว ขาหนีบ หรืออัณฑะ สามารถคลำและดันกลับเข้าไปได้ แต่ไส้เลื่อนในผู้หญิงมักสังเกตได้ยากหรือแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่าเลย เนื่องจากมักเป็นไส้เลื่อนขนาดเล็กและอยู่ลึกกว่าตำแหน่งไส้เลื่อนที่เกิดในผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม มีอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นไส้เลื่อนสำหรับผู้หญิง เช่น ปวดหน่วงเรื้อรังบริเวณอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดรุนแรงขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน อาการเหล่านี้มักสังเกตได้ชัดเป็นพิเศษช่วงมีประจำเดือน หรือเป็นมากขึ้นเวลางอตัว ก้าวเข้า-จากรถ นั่งหรือยืนนานๆ รวมไปถึงขณะมีเพศสัมพันธ์
จะเห็นว่า อาการไส้เลื่อนในผู้หญิงนั้นใกล้เคียงกับอาการโรคทางนรีเวชบางอย่าง การจะแน่ใจได้ว่าตัวเองมีความผิดปกติอะไร เพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง จึงต้องอาศัยการตรวจแยกโรคโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
นอกจากนี้ยังมีไส้เลื่อนอีกชนิดหนึ่งที่อาการอาจแตกต่างไปจากด้านบน คือ ไส้เลื่อนกระบังลม ถ้าเป็นไส้เลื่อนชนิดนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายเป็นกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนกลางอก ถ้าไม่แน่ใจว่าอาการที่เป็นอยู่คืออะไรก็ควรเข้าพบแพทย์เช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไส้เลื่อนในเพศหญิง
ผู้หญิงที่มีภาวะสุขภาพต่อไปนี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นไส้เลื่อนได้มากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่มีรูในผนังช่องท้องแต่กำเนิด
- ผู้ที่มีผนังช่องท้องบาง ซึ่งเป็นได้ทั้งบางแต่กำเนิดหรืออาจมีผนังช่องท้องบางลงเนื่องจากอายุมากขึ้น
- ผู้ตั้งครรภ์ เคยผ่าคลอดมาก่อน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เนื่องจากภาวะเหล่านี้มักเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
- ผู้ที่มีภาวะท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งถ่ายบ่อยๆ
ปรึกษาหมออะไร ถ้าสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อน?
ถ้าสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นไส้เลื่อน สามารถไปพบแพทย์แผนกศัลยกรรม แพทย์จะตรวจด้วยวิธีซักประวัติ ตรวจดูภายนอกด้วยตา คลำตรวจ ทำอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรืออาจแนะนำให้ทำ CT Scan เพื่อดูภาพอวัยวะภายใน
เมื่อวินิจฉัยแยกโรคอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตามโรคที่เป็น
ไส้เลื่อนเป็นได้ในทั้งผู้ชายและผู้หญิง รักษาได้ด้วยวิธีผ่าตัดซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายเทคนิค ช่วยให้โอกาสกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำอีกมีน้อย แผลผ่าตัดเล็ก ฟื้นตัวรวดเร็ว และบางเทคนิคจะแทบไม่เหลือแผลผ่าตัดให้เห็นเลย
อาการที่เป็นอยู่ใช่ไส้เลื่อนในผู้หญิงไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย