Default fallback image

ผ่าตัดรังไข่ ท่อนำไข่ ถุงน้ำในรังไข่ กับ พญ.ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare

เจาะลึกโรคที่อาจเกิดขึ้นกับท่อนำไข่หรือรังไข่พร้อมวิธีรักษา เมื่อท่อนำไข่หรือรังไข่เกิดความผิดปกติอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้

ให้ข้อมูลโดยแพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร หรือ “หมอแซน” สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและมะเร็งนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอแซนได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอแซน” คุณหมอสูตินรีแพทย์กับปัญหาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน]

สารบัญ

รังไข่ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

รังไข่ (Ovary) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงและทำให้เกิดการตกไข่ในทุกรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไข่ที่ตกแล้วจะเดินทางเข้าสู่ท่อนำไข่เพื่อเตรียมพร้อมต่อการปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิ ทำให้เกิดเป็นการตั้งครรภ์นั่นเอง

ท่อนำไข่สำคัญอย่างไร?

ท่อนำไข่เป็นสะพานที่ช่วยนำไข่ที่ตกจากรังไข่เข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อรอการปฏิสนธิ

รังไข่สามารถเกิดเนื้องอกได้กี่ชนิด และแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร?

เนื้องอกที่เกิดบริเวณรังไข่สามารถเกิดได้ 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

  • เนื้องอกชนิดถุงน้ำ (Cyst) หรือที่เรียกว่า “ถุงน้ำในรังไข่” แบ่งย่อยออกได้อีก 3 ชนิด ได้แก่ 
    • ถุงน้ำที่เกิดจากฮอร์โมนตามรอบเดือน เมื่อเกิดรอบตกไข่ถัดไปก็จะฝ่อหายไปเอง 
    • ถุงน้ำที่เกิดจากความผิดปกติ แต่ไม่ใช่ชนิดมะเร็ง 
    • ถุงน้ำที่ก้อนเนื้อมะเร็งปะปนด้วย
  • เนื้องอกชนิดธรรมดา (Benign) มีทั้งแบบชนิดเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่มีเซลล์มะเร็งปะปนด้วย นิยมรักษาด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด
  • เนื้องอกชนิดมะเร็ง (Malignant) เกิดจากเซลล์บริเวณรังไข่ที่ผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนมะเร็งที่ร่างกายควบคุมให้หยุดการเจริญเติบโตไม่ได้ ต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

เนื้องอกบริเวณรังไข่แต่ละชนิด มีสัญญาณอาการต่างกันอย่างไร?

ในคนไข้บางรายที่มีเนื้องอกหรือถุงน้ำที่รังไข่อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลย และตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพหรือตรวจอัลตราซาวด์ประจำปี ในบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น ตกไข่ มีอาการปวดท้อง หรือเลือดไหลในช่องท้อง ซึ่งเลือดอาจหยุดได้ยากจนแพทย์จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อหยุดเลือด 

เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ได้หรือไม่?

ถุงน้ำในรังไข่เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถป้องกันได้ และมักตรวจพบเมื่อคนไข้มีอาการผิดปกติไปแล้วหรือตรวจทางนรีเวชแล้วพบถุงน้ำโดยบังเอิญ

ซีสต์ในรังไข่กับถุงน้ำในรังไข่ เป็นโรคเดียวกันไหม?

ทั้ง 2 โรคเป็นโรคเดียวกัน

ถุงน้ำในรังไข่ส่วนมากกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

ถุงน้ำในรังไข่มักทำให้คนไข้มีอาการปวดท้องน้อย ในบางรายที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากจากบริเวณอุ้งเชิงกรานก็อาจคลำพบก้อนที่ท้องน้อยได้ รวมถึงอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะหรืออุจจาระ เนื่องจากถุงน้ำไปกดเบียดทางเดินปัสสาวะหรือลำไส้

ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดถุงน้ำหรือก้อนเนื้อที่รังไข่

  • ก้อนเนื้อชนิดถุงน้ำในรังไข่ที่เกิดจากฮอร์โมน มักพบได้ในกลุ่มผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ยังมีประจำเดือนและยังมีการตกไข่อยู่
  • ก้อนเนื้อชนิดธรรมดา ไม่ใช่ก้อนมะเร็ง พบได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย
  • ก้อนเนื้อชนิดก้อนมะเร็ง มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง

ระหว่างผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ใครเสี่ยงเกิดถุงน้ำในรังไข่มากกว่ากัน?

ทั้ง 2 กลุ่มมีความเสี่ยงเท่ากัน 

ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์ กับผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงเป็นถุงน้ำในรังไข่เท่ากันไหม?

กลุ่มผู้หญิงที่เคยตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าประมาณ 30-50% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์

เมื่อพบว่าตนเองเป็น “ถุงน้ำรังไข่” กรณีไหนที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออก และกรณีไหนที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ร่วมด้วย?

หากพบถุงน้ำในรังไข่ที่เกิดจากฮอร์โมน แพทย์อาจใช้วิธีติดตามอาการไปก่อนและคนไข้ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด 

แต่ในกรณีที่พบก้อนเนื้อ แต่ไม่ใช่ชนิดมะเร็ง แพทย์จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนว่าเซลล์ในก้อนเนื้อเป็นเซลล์ชนิดใด เช่น หากตรวจพบชนิดถุงน้ำช็อคโกแลตซีสต์และมีขนาดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยา ยังไม่ต้องผ่าตัด

แต่ในกรณีที่ตรวจพบก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่ หรือภายในก้อนเนื้ออาจเป็นเซลล์มะเร็ง แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัด แต่แนวทางการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วย ซึ่งจะมีการตรวจเพิ่มเติมอีกเพื่อให้สามารถวางแผนการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสม

การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออก จำเป็นต้องทำคู่กันเสมอหรือไม่?

ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดพยาธิสภาพ

การผ่าตัดนำรังไข่และท่อนำไข่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้จริงหรือไม่?

สามารถลดความเสี่ยงได้ เนื่องจากการผ่าตัดนำรังไข่และท่อนำไข่ออกถือเป็นการตัดต้นตอที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ออกไปแล้ว

การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ จะตัด 1 ข้างหรือ 2 ข้าง แล้วมีผลกระทบอย่างไร?

หากผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกเพียง 1 ข้าง ร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบต่อการผ่าตัดมากนัก เนื่องจากยังมีรังไข่และท่อนำไข่อีกข้างที่ยังทำงานสร้างฮอร์โมนให้ร่างกายอยู่ แต่ถ้าหากตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร ไม่มีท่อรังไข่สร้างฮอร์โมนอีก รวมถึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ จะผ่าตัดพร้อมกันขณะผ่าตัดถุงน้ำรังไข่หรือเนื้องอกที่พบ ใช่หรือไม่?

ไม่เสมอไป เนื่องจากแพทย์จะผ่าตัดเฉพาะบริเวณที่มีพยาธิสภาพเท่านั้น ยกเว้นแต่มีการติดแน่นระหว่างรังไข่กับท่อนำไข่ ในกรณีนี้แพทย์จึงจะผ่าตัดนำรังไข่และท่อนำไข่ออกพร้อมกับผ่าตัดนำถุงน้ำหรือเนื้องอกในรังไข่ออกด้วย

หลังการผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ ผู้ป่วยยังสามารถมีบุตรได้หรือไม่?

สามารถมีได้ หากตัดรังไข่และท่อนำไข่เพียงข้างเดียว เช่น ผ่าตัดและยังเหลือท่อนำไข่ด้านซ้ายและรังไข่ด้านซ้ายอยู่ หลังผ่าตัดคนไข้จะยังสามารถตั้งครรภ์

ก่อนผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ ต้องตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง?

  • ซักประวัติกับแพทย์เพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ เพื่อประเมินขนาดและชนิดของโรคที่เกิดบริเวณท่อนำไข่หรือรังไข่
  • ตรวจเอกซเรย์ปอด
  • ตรวจอัลตราซาวด์บริเวณรอยโรค มักเป็นการอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องหรือช่องคลอด
  • ตรวจเลือด
  • ในคนไข้บางรายอาจต้องตรวจ CT Scan หรือตรวจ MRI ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจจากแพทย์

การรักษาถุงน้ำในรังไข่มีกี่วิธี?

การรักษาเนื้องอกหรือถุงน้ำที่รังไข่สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ การใช้ยาและการผ่าตัด 

นอกจากนี้วิธีการผ่าตัดยังแบ่งย่อยออกได้ 2 เทคนิค การเลือกใช้แต่ละเทคนิคจะขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยโรค ได้แก่

1. การผ่าตัดเปิดแผลทางหน้าท้อง 

เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณหน้าท้องที่มีขนาดค่อนข้างกว้าง มีจุดเด่นในการผ่านำเนื้องอกหรือถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่ออกมาได้ทั้งหมดโดยมีโอกาสแตกค่อนข้างน้อยและแพทย์ยังสามารถคลำดูอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้สะดวก แต่ระยะเวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดจะช้ากว่าเทคนิคผ่าตัดแบบส่องกล้อง

2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง

เป็นการผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องผ่าตัดขนาดเล็ก นิยมใช้ผ่าตัดในคนไข้ที่มีก้อนเนื้อหรือถุงน้ำขนาดไม่ใหญ่หรือมีพังผืดในช่องท้องไม่มากนัก มีขั้นตอนการผ่าตัดหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการดมยาสลบ ใส่ท่อช่วยหายใจหรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง ขึ้นอยู่กับการประเมินของวิสัญญีแพทย์ในคนไข้แต่ละราย
  • แพทย์ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าช่องท้อง เพื่อให้พื้นที่ภายในช่องท้องโป่งกว้างขึ้น ช่วยลดโอกาสบาดเจ็บของอวัยวะต่าง ๆ ระหว่างที่แพทย์ใส่เครื่องมือผ่าตัดหรือกล้องผ่าตัด
  • แพทย์ผ่าตัดนำเนื้องอก ถุงน้ำ หรืออวัยวะที่มีพยาธิสภาพออก โดยจะนำออกผ่านรูแผลที่สะดือซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด หรือในกรณีที่มีการผ่าตัดนำมดลูกออกร่วมด้วย แพทย์อาจนำออกผ่านแผลทางช่องคลอด

การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องมีจุดเด่นด้านขนาดแผลที่เล็กกว่าเทคนิคผ่าตัดแบบเปิด จึงทำให้คนไข้เจ็บแผลน้อยกว่า โอกาสเสียเลือดน้อย และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว 

แต่ขณะเดียวกัน การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องก็มีข้อจำกัดที่อาจผ่าตัดได้ยากขึ้นหรือต้องเลือกเทคนิคผ่าตัดแบบเปิดแทน หากคนไข้มีก้อนเนื้อหรือถุงน้ำขนาดใหญ่มาก มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานในปริมาณมาก กรณีนี้การผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจเสี่ยงอันตรายมากกว่า

การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ มีกี่วิธี?

การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่สามารถแบ่งออกได้ 2 เทคนิคเหมือนกับการผ่าตัดถุงน้ำในรังไข่ นั่นก็คือการผ่าตัดเทคนิคเปิดแผลทางหน้าท้องและเทคนิคส่องกล้อง ทั้ง 2 เทคนิคจะมีขั้นตอนการผ่าตัดที่คล้ายกัน ได้แก่

  • วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกคนไข้ด้วยการดมยาสลบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง
  • แพทย์ดูพยาธิสภาพของรังไข่และท่อนำไข่ 
  • ในกรณีที่ต้องตัดทั้งรังไข่และท่อนำไข่ออก แพทย์จะคลำหาท่อปัสสาวะที่อยู่ใต้รังไข่ก่อนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อนำปัสสาวะได้รับบาดเจ็บจากการผ่าตัด
  • แพทย์ตัดเส้นเลือดบริเวณรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง และนำรังไข่หรือท่อนำไข่ที่มีพยาธิสภาพออก

ในกรณีผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ จะผ่าตัดพร้อมถุงน้ำเลยหรือไม่?

ขึ้นอยู่กับการประเมินผ่าตัดในคนไข้แต่ละราย หากผ่าตัดเพียงเพื่อนำถุงน้ำออก แพทย์จะผ่าตัดนำถุงน้ำออกเท่านั้นและเหลือท่อนำไข่กับรังไข่ไว้เช่นเดิม

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

  • ตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ในคนไข้บางรายอาจทำ CT Scan หรือทำ MRI ร่วมด้วย
  • งดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

การฟักฟื้นและดูแลหลังการผ่าตัด  

  • หลังผ่าตัด คนไข้จะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน
  • หลังออกจากโรงพยาบาล สามารถเริ่มทำกิจกรรมได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักอยู่เฉย ๆ 
  • งดการนั่งรถทางไกล เดินไกล ยกของหนัก และเดินขึ้นชั้นสูง ๆ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต เพื่อป้องกันไม่ให้แผลกระทบกระเทือน
  • ทางโรงพยาบาลจะปิดแผลผ่าตัดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำให้ คนไข้สามารถอาบน้ำเช็ดตัวได้ตามปกติ แต่ต้องงดการราดน้ำใส่แผลตรง ๆ เนื่องจากพลาสเตอร์อาจหลุดได้
  • กินอาหารได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นอาหารที่สะอาด เพื่อป้องกันอาการท้องเสีย รวมถึงงดกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบและอาหารดองจนกว่าแพทย์จะอนุญาต

อาการที่ควรรีบกลับมาโรงพยาบาล

  • มีอาการเจ็บปวดแผลมาก
  • มีของเหลวคล้ายเลือดหรือน้ำหนองไหลออกจากแผล
  • แผลบวมแดง
  • ท้องอืด
  • มีไข้ 
  • คลื่นไส้อาเจียนหรือกินอาหารไม่ได้
  • ไม่ขับถ่ายตามปกติ ไม่ผายลม

หลังการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?

สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ทั้งก้อนเนื้อชนิดที่เป็นถุงน้ำ ก้อนเนื้อชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง และก้อนเนื้อชนิดที่เป็นมะเร็ง

ผ่าตัดรังไข่ ท่อนำไข่ ถุงน้ำในรังไข่ กับ พญ. ศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare

ใครที่ตรวจพบความผิดปกติบริเวณท่อนำไข่หรือรังไข่ ตรวจพบถุงน้ำในรังไข่ หรือมีอาการปวดท้องน้อยมาก สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติทางนรีเวช อยากปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญให้สบายใจ ทีมงาน HDcare สามารถเป็นตัวกลางช่วยนัดหมายให้คุณปรึกษาคุณหมอได้ทั้งที่โรงพยาบาลหรือช่องทางออนไลน์ รวมถึงเป็นผู้ช่วยนัดหมายรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว

โดยบริการ HDcare เป็นบริการผ่าตัดที่คุณมีพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวคอยอยู่เป็นเพื่อนตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล คอยเป็นผู้ช่วยประสานงานและตอบทุกคำถามหรือความกังวลให้กับคุณ ทำให้ทุกผ่าตัดเป็นไปอย่างง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัยกับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ หากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top