Default fallback image

ผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare

เมื่อป่วยเป็นโรคไต และระยะของโรคดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย คนไข้ทุกรายจะต้องฟอกเลือดเพื่อทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมการทำงานลง อย่างไรก็ตาม กลับยังมีคนไข้หลายรายที่สภาพเส้นเลือดในร่างกายไม่สามารถใช้เป็นช่องทางในการฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วย “การผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือด” เพื่อปูทางให้คนไข้มีเส้นเลือดที่สามารถใช้ในการนำส่งเลือดออกมาฟอกให้บริสุทธิ์โดยเฉพาะ ซึ่งเราจะมาร่วมเจาะลึกในบทความนี้พร้อมกัน ผ่านการให้ข้อมูลโดยหมอเบส นพ. ชินะภัทร์ วุฒิวณิชย์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หลอดเลือด หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอเบสได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเบส” และ “หมอบอส” 2 คุณหมอฝาแฝดกับความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดหลอดเลือด หัวใจ และทรวงอก]

สารบัญ

การฟอกเลือด คืออะไร?

การฟอกเลือด หรือที่หลายคนนิยมเรียกว่า “การฟอกไต” คือ กระบวนการกำจัดของเสียออกจากร่างกายในกลุ่มคนไข้โรคไตระยะสุดท้ายจนมีภาวะไตวายเรื้อรัง และส่งผลทำให้ไตสูญเสียการทำงาน ทำให้ไม่สามารถขับปัสสาวะและกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ด้วยตนเอง 

ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการบำบัดของเสียเพื่อทดแทนการทำงานของไตนั้นแบ่งออกได้ 3 วิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดเปลี่ยนไต
  • การฟอกเลือดหรือฟอกไต
  • การฟอกเลือดผ่านทางหน้าท้อง

ขั้นตอนการฟอกเลือดทำอย่างไร?

กระบวนการฟอกเลือดมีขั้นตอนหลัก ๆ คือ นำเลือดออกจากร่างกายของคนไข้ผ่านทางเส้นเลือดที่แพทย์เลือกให้เป็นช่องทางสำหรับนำเลือกออกมาฟอกโดยเฉพาะ จากนั้นเมื่อเครื่องฟอกเลือดทำการฟอกเลือดคนไข้จนบริสุทธิ์แล้ว ก็จะนำส่งเลือดกลับสู่ร่างกายคนไข้ดังเดิม

โดยเส้นเลือดซึ่งเป็นช่องทางสำหรับฟอกเลือดนั้นแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • รูปแบบสาย แบ่งออกได้อีกเป็นสายฟอกเลือดชั่วคราวและสายฟอกเลือดกึ่งถาวร
  • รูปแบบเส้น แบ่งออกได้เป็นเส้นเลือดจริงและเส้นเลือดเทียม ซึ่งชนิดอย่างหลังจะต้องมีการผ่าตัดสร้างเส้นขึ้นมาเสียก่อน

ฟอกเลือดที่บ้านกับที่โรงพยาบาลต่างกันอย่างไร?

ความจริงแล้วการฟอกเลือดเป็นการรักษาที่ต้องทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากคนไข้จะต้องอาศัยเครื่องฟอกเลือดซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะที่มีในโรงพยาบาลเท่านั้นในการฟอกเลือด 

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการฟอกเลือดที่บ้านที่หลายคนเข้าใจผิดว่าทำได้นั้น ความจริงแล้วเป็นกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกายคนไข้ที่ต่างจากฟอกเลือดที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่มีนำเลือดของคนไข้ออกมาฟอกให้กลับไปเป็นเลือดที่บริสุทธิ์อีกแต่อย่างใด แต่จะเป็นการใช้สารน้ำเทเข้าหน้าท้องคนไข้ จากนั้นรอเวลา และเทน้ำที่ช่วยขับของเสียกลับออกจากหน้าท้องคนไข้อีกครั้ง และยังเป็นวิธีที่ต้องอาศัยผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาเท่านั้นด้วย

ดังนั้นโดยสรุป คือ การฟอกเลือดที่บ้านนั้นไม่มีอยู่จริงแต่อย่างใด

คนไข้ที่ต้องฟอกเลือด จำเป็นต้องมีเส้นฟอกเลือดโดยเฉพาะไหม?

จำเป็น เนื่องจากเส้นเลือดทั่วไปของคนไข้มักมีขนาดเล็กและไม่เหมาะต่อการเป็นช่องทางสำหรับฟอกเลือด ทำให้ความเร็วของเลือดในการไหลเวียนเพื่อฟอกให้บริสุทธิ์นั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นคนไข้ที่ต้องฟอกเลือดจึงต้องผ่าตัดทำเส้นฟอกเลือดเสียก่อน เพื่อให้มีเส้นเลือดที่ใช้สำหรับฟอกเลือดโดยเฉพาะ

เส้นฟอกเลือด คืออะไร?

เส้นฟอกเลือด คือ เส้นเลือดที่แพทย์ผ่าตัดสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางสำหรับนำเลือดของคนไข้ออกมาฟอกกำจัดของเสียให้กลับไปเป็นเลือดบริสุทธิ์อีกครั้ง จากนั้นก็จะนำส่งเลือดกลับคืนสู่ร่างกายคนไข้ด้วยเส้นฟอกเลือดเช่นกัน ปัจจุบันแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • เส้นฟอกเลือดจริง หรือเส้น AVF (Arteriovenous Fistula) เป็นการใช้เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำของคนไข้มาผ่าตัดต่อกันให้เป็นเส้นฟอกเลือด
  • เส้นฟอกเลือดเทียม หรือเส้น AVG (Arteriovenous Graft) เป็นการใช้เส้นเลือดสังเคราะห์จากภายนอกร่างกายนำมาผ่าตัดใส่เป็นเส้นฟอกเลือดให้กับคนไข้

นอกจากเส้นฟอกเลือดทั้ง 2 ชนิด ก็ยังอีกวิธีการผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องฟอกเลือดภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด โดยจะเป็น “การใส่สายฟอกเลือดกึ่งถาวรที่คอเพื่อฟอกไต (Perm Cath)” ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่สายสวนหลอดเลือด โดยปลายสายจะอยู่ในหลอดเลือดดำบริเวณช่องอกคนไข้เพื่อเป็นช่องทางนำเลือดจากร่างกายคนไข้ออกมาฟอกกับเครื่องฟอกเลือด

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF คืออะไร? 

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดจริง หรือเส้น AVF (Arteriovenous Fistula) คือ การผ่าตัดเพื่อเย็บเชื่อมต่อหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำซึ่งเป็นหลอดเลือดจริงของคนไข้ เพื่อให้เป็นช่องทางสำหรับนำเลือดออกมาฟอกกับเครื่องฟอกเลือดนอกร่างกาย 

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF สามารถทำได้หลายตำแหน่งของร่างกาย แต่โดยทั่วไปแพทย์มักนิยมผ่าตัดบริเวณข้อมือหรือข้อศอกคนไข้ข้างที่ไม่ถนัด ส่วนข้างที่ถนัดนั้นจะสงวนไว้ให้คนไข้ใช้ทำงานและดำเนินชีวิตประจำวัน 

หลังจากผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF คนไข้จะต้องรอให้เส้นเลือดโตขึ้นหรือโป่งขยายกว่าเดิมเพื่อให้สามารถนำเลือดออกมาฟอกได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียก่อน โดยระยะเวลาที่ต้องรอจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล คนไข้บางรายอาจรอประมาณ 1 เดือน หรือบางรายอาจต้องรอนานถึง 6 เดือนจึงจะเริ่มใช้เส้นฟอกเลือดได้

อายุการใช้งานของเส้นฟอกเลือด AVF มักขึ้นอยู่กับกรณี ในคนไข้บางรายสามารถใช้เส้นฟอกเลือดได้นาน 4-5 ปี หรือบางรายก็สามารถใช้ได้นานถึง 10 ปี โดยไม่ต้องกลับมาผ่าตัดแก้เส้นฟอกเลือดใหม่

จุดเด่นของเส้นฟอกเลือด AVF 

เส้นฟอกเลือด AVF มีจุดเด่นด้านโอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดที่ต่ำ เนื่องจากเป็นการนำหลอดเลือดจากร่างกายคนไข้เองมาใช้ผ่าตัด ไม่ใช่การนำวัสดุสังเคราะห์จากภายนอกมาใช้ ทำให้คนไข้หลายรายสามารถใช้เส้นฟอกเลือดชนิดนี้ในระยะเวลาที่ยาวนาน มีโอกาสกลับมาผ่าตัดแก้ไขใหม่ได้น้อย

ใครเหมาะและไม่เหมาะกับการใช้เส้นฟอกเลือด AVF 

คนไข้โรคไตที่จำเป็นต้องผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด แพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ AVF ทุกราย เนื่องจากมีโอกาสใช้เส้นฟอกเลือดได้นานกว่า โอกาสกลับมาผ่าตัดแก้ไขใหม่น้อย และมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย 

ยกเว้นในคนไข้ที่เส้นเลือดดำมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สามารถนำมาผ่าตัดต่อกับเส้นเลือดแดงได้ หรือมีโอกาสที่หลังผ่าตัดไปแล้วเส้นเลือดจะไม่พองโตขึ้นจนนำส่งเลือดออกมาฟอกไม่ได้ ในกรณีนี้แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้ผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบอื่นแทน

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVG คืออะไร?

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดเทียม หรือเส้น AVG (Arteriovenous Graft) คือ การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์เพื่อใช้เป็นช่องทางนำเลือดออกมาฟอกให้บริสุทธิ์นอกร่างกายคนไข้ โดยหลังจากผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็สามารถใช้เส้นฟอกเลือดในการฟอกเลือดคนไข้ได้เลย

ตำแหน่งในการผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVG จะคล้ายกับการใส่เส้น AVF นั่นคือ ผ่าตัดบริเวณข้อมือหรือข้อศอกข้างที่คนไข้ไม่ถนัด ส่วนข้างที่ถนัดจะเก็บไว้ใช้งานและดำเนินชีวิตประจำวัน 

จุดเด่นของเส้นฟอกเลือด AVG

เส้นฟอกเลือด AVG มีจุดเด่นด้านความรวดเร็วกว่าในการใช้งาน โดยหลังจากผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็เริ่มใช้งานเส้นฟอกเลือดได้เลย ต่างจากเส้นฟอกเลือด AVF ที่ต้องใช้เวลารอนานกว่า

ใครเหมาะและไม่เหมาะกับการใช้เส้นฟอกเลือด AVG 

ผู้ที่เหมาะต่อการผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVG คือ กลุ่มคนไข้โรคไตที่ต้องรีบใช้เส้นฟอกเลือดภายในระยะเวลาอันใกล้ เช่น มีของเสียคั่งสะสมในเลือดมาก ต้องฟอกเลือดภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือกลุ่มคนไข้ที่เส้นเลือดจริงมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สามารถผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF ได้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ใส่เส้นฟอกเลือด AVG แทน

ส่วนกลุ่มคนไข้ที่ไม่เหมาะต่อการใส่เส้นฟอกเลือด AVG คือ กลุ่มคนไข้โรคไตที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง ติดเชื้อง่าย หรือกำลังกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เนื่องจากการใส่เส้นเลือด AVG นั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อหลังผ่าตัดได้มากกว่า

ผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแล้ว สามารถใช้แขนข้างที่ใส่เส้นฟอกเลือดใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง?

หลังจากผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF หรือ AVG แล้ว ไม่ได้หมายความว่า คนไข้จะไม่สามารถใช้แขนข้างที่มีเส้นฟอกเลือดดำเนินชีวิตประจำวันได้อีก 

แต่ในทางกลับกัน คนไข้สามารถใช้แขนข้างนั้นทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างอิสระดังเดิม เพียงแต่ให้หลีกเลี่ยงอย่าให้ได้รับบาดเจ็บ ได้รับแรงกระแทก หรือการกระทบกระเทือนหนัก ๆ ก็พอ

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath คืออะไร? 

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า “การใส่สายฟอกเลือดกึ่งถาวรที่คอเพื่อฟอกไต” คือ การผ่าตัดใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปด้านในหลอดเลือดดำส่วนกลาง เพื่อใช้เป็นช่องทางสำหรับนำเลือดออกมาฟอก สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่ เส้นฟอกเลือดแบบชั่วคราวและแบบกึ่งถาวร

ตำแหน่งในการใส่เส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath จะอยู่ที่หลอดเลือดดำส่วนที่คอ ส่วนตัวปลายสายเส้นฟอกเลือดจะอยู่ที่บริเวณหน้าอกของคนไข้ โดยหลังจากผ่าตัดเสร็จแล้ว คนไข้สามารถใช้เส้นฟอกเลือดได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาให้เส้นฟอกเลือดโป่งพองหรือโตขึ้นแบบเส้นฟอกเลือด AVF และ AVG 

อายุการใช้งานของเส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี โดยในช่วง 1-2 ปีแรกมักจะใช้งานได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ 

จุดเด่นของเส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath 

เส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath มีจุดเด่นด้านการใช้งานได้ทันทีหลังผ่าตัด เหมาะต่อคนไข้ที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินซึ่งจะต้องฟอกเลือดโดยทันที

ใครเหมาะและไม่เหมาะกับการใช้เส้นฟอกเลือด Perm Cath 

คนไข้ที่จำเป็นต้องฟอกเลือดอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ กลุ่มผู้ที่เหมาะต่อการผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ Perm Cath 

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนไข้บางกลุ่มที่ไม่เหมาะต่อการใส่เส้นฟอกเลือดชนิดนี้ เช่น คนไข้ที่เคยใส่สายสวนแบบ Perm Cath มาก่อน และมีการตีบตันเกิดขึ้นภายในเส้นฟอกเลือดดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถใช้งานเส้นฟอกเลือดในการฟอกเลือดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดใส่เส้นฟอกไต

  • คนไข้จะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและวางแผนการผ่าตัดว่า จะใช้แขนข้างใดในการใส่เส้นฟอกเลือด เช่น หากเป็นคนถนัดขวา แพทย์ก็จะผ่าตัดที่แขนข้างซ้ายแทน 
  • ระวังอย่าให้แขนข้างที่ผ่าตัดได้รับบาดเจ็บ ได้รับอุบัติเหตุ รวมถึงงดการวัดความดัน และการเจาะเลือดที่แขนข้างนั้นด้วย 
  • ออกกำลังกายแขนข้างที่ผ่าตัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มโอกาสที่เส้นฟอกเลือดจะขยายโตขึ้นหลังผ่าตัด โดยอาจใช้วิธีการบีบลูกบอลครั้งละ 10-15 นาที หรือการยกเวทเทรนนิ่งเบา ๆ ได้
  • ตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อมก่อนผ่าตัดเสียก่อน
  • หากมียาประจำตัว ให้แจ้งรายการยาทั้งหมดให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อน เนื่องจากหากเลือกผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ AVF และคนไข้กำลังกินยาต้านเกล็ดเลือดหลายชนิดพร้อมกัน ในบางกรณีแพทย์อาจจะให้งดยา 1 ตัวก่อนเดินทางมาผ่าตัดก่อน
  • หากเลือกผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF หรือแบบ Perm Cath คนไข้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและงดอาหาร เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ใช้การฉีดยาชาเท่านั้น แต่หากเลือกผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVG คนไข้ต้องงดน้ำและงดอาหารมาก่อนล่วงหน้า 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ

ขั้นตอนการผ่าตัดเส้นฟอกเลือดแต่ละแบบ

1. การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ AVF

ตำแหน่งในการเปิดแผลเพื่อทำเส้นฟอกเลือดแบบ AVF จะอยู่ที่ข้อมือหรือข้อศอกคนไข้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นเลือดที่เหมาะสมในการใช้งาน โดยมีจำนวนแผลทั้งหมด 1 แผลเท่านั้น ขนาดแผลอยู่ที่ประมาณ 3 เซนติเมตร 

แพทย์จะเริ่มการผ่าตัดด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะผ่าเปิดแผล จากนั้นเริ่มลงมือผ่าตัดเพื่อเย็บเชื่อมเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำเข้าหากันให้กลายเป็นเส้นฟอกเลือด  

2. การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ AVG

การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVG จะต้องผ่าตัดในห้องผ่าตัดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากจะต้องมีการดมยาสลบก่อนเริ่มผ่าตัด ตำแหน่งที่นิยมผ่าเปิดแผลจะอยู่ที่ต้นแขนคนไข้เป็นจำนวน 2 แผล ได้แก่ บริเวณข้อศอกประมาณ 2 เซนติเมตร และบริเวณใกล้รักแร้ประมาณ 3 เซนติเมตร โดยแพทย์จะผ่าตัดวางเส้นเลือดเทียมไปตามแนวต้นแขนของคนไข้

3. การผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแบบ Cath Perm

แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณคอและหน้าอกของคนไข้ แผลผ่าตัดของคนไข้จะมีทั้งหมด 2 แผล โดยอยู่ที่คอประมาณ 1 เซนติเมตร และที่หน้าอกประมาณ 2 เซนติเมตร

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด

  • 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด คนไข้ควรหมั่นยกแขนสูง เพื่อป้องกันเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งใต้ผิวหนัง
  • หากเลือกผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด AVF คนไข้ต้องหมั่นออกกำลังกายเพื่อบริหารเส้นฟอกเลือดให้โตขึ้นเพียงพอต่อการนำส่งเลือดออกมาฟอกได้ โดยทั่วไประยะเวลารอให้เส้นฟอกเลือดโตจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือนขึ้นไปหลังผ่าตัด
  • แพทย์จะเย็บปิดแผลด้วยไหมละลายและอุปกรณ์ปิดแผลแบบกันน้ำ ในช่วง 1 สัปดาห์แรกให้คนไข้ปิดแผลไว้ ไม่ต้องเปิดแผลออกแต่อย่างใด และสามารถให้แผลโดนน้ำได้ แต่ให้งดถูหรือขัดสบู่บริเวณแผลแรง ๆ
  • แพทย์จะนัดมาตรวจดูแผลหลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ ยกเว้นแต่คนไข้สังเกตเห็นว่า แผลมีเลือดซึม แผลบวมแดง กดแผลแล้วรู้สึกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น มีไข้ ในกรณีนี้จะต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนนัดหมายโดยเร็ว
  • ผู้ที่เลือกใส่เส้นแบบ Perm Cath หลังจากผ่าตัดไปแล้วจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ปลายสายสวนหลอดเลือดที่อยู่บริเวณหน้าอกโดนน้ำไปตลอด เวลาอาบน้ำก็จะต้องหลีกเลี่ยงตำแหน่งดังกล่าว พยาบาลผู้ดูแลการฟอกเลือดที่สถานพยาบาลจะเป็นผู้เปิดใช้งานสาย และดูแลความสะอาดที่บริเวณดังกล่าวให้คนไข้เอง
  • งดการเจาะเลือด วัดความดัน การได้รับบาดเจ็บ การถูกกดทับ การถูกของแข็ง หรือของมีคมบาดที่แขนข้างที่ใส่เส้นฟอกเลือด

การดูแลรักษาเส้นฟอกเลือดหลังผ่าตัด

เส้นฟอกเลือดไม่ว่าจะชนิด AVF, AVG หรือ Perm Cath ล้วนมีโอกาสเสื่อมตัวลงตามอายุการใช้งานได้ 

อย่างไรก็ตามคนไข้สามารถดูแลเส้นฟอกเลือดทุกชนิดได้ด้วยการกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเส้นฟอกเลือดตามนัดหมายอยู่เรื่อย ๆ เพื่อที่หากพบจุดบกพร่องของเส้นฟอกเลือดส่วนใด แพทย์จะได้รับทำการแก้ไขให้เส้นฟอกเลือดสามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีกนาน ๆ

ผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด กับ นพ. ชินะภัทร์ ด้วยบริการจาก HDcare

ใครที่เป็นโรคไต และระยะของโรคถึงกระบวนการที่ต้องผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือดแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า ควรผ่าตัดแบบไหน ใส่สายฟอกเลือดประเภทใด อยากตรวจและปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางเพื่อความมั่นใจ หรือมองหาแพ็กเกจผ่าตัดพร้อมมีพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เป็นเพื่อน ทักหาแอดมิน HDcare ได้เลย

บริการ HDcare สามารถช่วยเป็นตัวกลางให้คุณได้ทำนัดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความผิดปกติที่ตนเองกังวล โดยสามารถคุยได้ทั้งผ่านวิดีโอคอลออนไลน์ หรือนัดปรึกษาที่โรงพยาบาล และหากได้รับการวินิจฉัยให้รับการผ่าตัด HDcare สามารถช่วยจัดหาพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวให้กับคุณ คอยเป็นผู้ช่วยประสานงาน และอยู่เป็นเพื่อนคุณตลอดระยะเวลาที่อยู่โรงพยาบาล 

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top