เจาะลึกถึงแก่นกับโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ เกิดจากอะไร พบได้ในเพศไหนมากกว่ากัน พร้อมข้อมูลการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบแบบแผลเดียว และแจกแจงขั้นตอนการผ่าตัดโดยละเอียด
โดยหมอเจมส์ นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง มีประสบการณ์ทำงานเป็นศัลยแพทย์มามากกว่า 10 ปี หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอเจมส์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเจมส์” คุณหมอผ่าตัดส่องกล้องกับประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียว]
สารบัญ
- ทำไมโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบถึงพบได้บ่อยกว่าโรคไส้เลื่อนชนิดอื่นๆ
- โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ แบ่งชนิดบ่อยได้กี่แบบ?
- ผู้ที่ไอหนักๆ มีภาวะหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง น้ำหนักตัวมาก เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ ชอบยกเวท ชอบออกกำลังกายหนักๆ มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนจริงหรือไม่?
- อวัยวะอะไรที่มักเคลื่อนออกมาบริเวณขาหนีบจนเกิดเป็นโรคไส้เลื่อน?
- อาการบ่งชี้ของโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ในผู้หญิงกับผู้ชายมีอาการเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร?
- เป็นโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ปล่อยทิ้งไว้อันตรายหรือไม่?
- ภาวะลำไส้อักเสบ หรือลำไส้ขาดเลือดจนเน่า อันตรายถึงตายหรือไม่?
- สามารถตรวจคัดกรองไส้เลื่อนล่วงหน้าก่อนได้หรือไม่?
- การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องแผลเดียว มีข้อดีอย่างไร? อาการแบบไหนผ่าได้ แบบไหนผ่าไม่ได้
- ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบผ่านกล้องแผลเดียว ผ่าตัดนานแค่ไหน? มีขั้นตอนอย่างไร?
- ตาข่าย 3 มิติสำหรับผ่าตัดไส้เลื่อนทำจากวัสดุอะไร?
- หมุดและกาวสำหรับผ่าตัดไส้เลื่อน มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง?
- หลังผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว มีโอกาสที่ตาข่ายจะหลุด หรือต้องผ่าตัดซ้ำหรือไม่?
- การดูแลตนเองหลังผ่าตัด
- แนวทางการเลือกคนไข้ที่สามารถผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องแบบแผลเดียว
- ผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบผ่านกล้องแบบแผลเดียว กับ นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร
ทำไมโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบถึงพบได้บ่อยกว่าโรคไส้เลื่อนชนิดอื่นๆ
สาเหตุที่พบโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบบ่อยกว่าโรคไส้เลื่อนชนิดอื่น ก็ด้วยกลไกการเกิดโรคที่เป็นได้แต่กำเนิด คนไข้หลายรายเริ่มมีรอยโรคนี้ตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา แต่เพิ่งจะมีอาการเด่นชัดเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงทำให้พบโรคนี้ได้บ่อยในกลุ่มคนทั่วไป ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัย
โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบมักพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยตามสรีระภายในอัณฑะของผู้ชายนั้น เมื่อมีตัวอ่อนเพศชายเกิดขึ้น ร่างกายตัวอ่อนก็จะเจริญเติบโตจนมีลูกอัณฑะและมีถุงอัณฑะเกิดขึ้นด้วย หลังจากนั้นลูกอัณฑะก็จะค่อยๆ เข้าไปอยู่ด้านในถุงอัณฑะพร้อมกับเยื่อหุ้มนี้ จากนั้นถุงอัณฑะจะปิดตัวลง
แต่ในผู้ชายหลายราย ถุงดังกล่าวกลับปิดไม่สนิท จนทำให้เกิดเป็นรูที่ลำไส้สามารถเคลื่อนผ่านเข้ามาด้านในได้ ซึ่งระยะเวลาที่ลำไส้จะเคลื่อนเข้ามาในถุงอัณฑะนั้น หลายคนกินเวลาไม่กี่เดือน หรือหลายคนก็กินเวลานานหลายปี
จนเมื่อคนไข้เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่หรือเข้าสู่ช่วงสูงอายุ ผนังหน้าท้องเริ่มไม่ค่อยแข็งแรง หรือเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมต้องออกแรงเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ มีอาการไอเรื้อรัง รูที่ปิดไม่สนิทนั้นก็ยิ่งใหญ่ขึ้น และเปิดทางให้ลำไส้ผ่านเข้ามาจนเริ่มเป็นก้อนนูนที่ขาหนีบ และพัฒนาเป็นโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบนั่นเอง
นอกจากโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ก็ยังโรคไส้เลื่อนที่ผนังหน้าท้องชนิดอื่นๆ ก็มีโอกาสพบได้อีก เช่น
- โรคไส้เลื่อนบริเวณหลังการผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง เกิดจากคนไข้เคยผ่านการผ่าตัดที่หน้าท้องมาก่อน และผนังหน้าท้องเกิดการแยกชั้นของเอ็นผนังหน้าท้องเองในภายหลัง จนทำให้เกิดเป็นรูไส้เลื่อนขึ้นมาได้ แต่มีโอกาสเกิดค่อนข้างน้อย
- โรคไส้เลื่อนสะดือ แต่มักเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการ จึงไม่ค่อยตรวจพบโรคไส้เลื่อนชนิดนี้บ่อยนักเช่นกัน
โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ แบ่งชนิดบ่อยได้กี่แบบ?
รูในช่องท้องบริเวณขาหนีบมีโอกาสเกิดโรคไส้เลื่อนได้ 3 รู จึงจำแนกชนิดย่อยของโรคได้ 3 ชนิด ได้แก่
- โรคไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) พบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยังเป็นอันตรายอย่างสูง เนื่องจากเกิดที่รูในช่องท้องซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติ หากลำไส้เลื่อนผ่านเข้าไปก็มีโอกาสถูกรูรัดและเลื่อนกลับออกมาไม่ได้ ทำให้เสี่ยงที่ลำไส้จะขาดเลือด และทำให้ลำไส้เน่า
- โรคไส้ตามรูเปิดบริเวณขาหนีบ เกิดจากผนังหน้าท้องอ่อนแอ จนทำให้ลำไส้โป่งยื่นออกมาใกล้กับกระดูกหัวหน่าว
- โรคไส้เลื่อนเข้าไปด้านในถุงอัณฑะ (Indirect Inguinal Hernia) พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกิดได้แต่กำเนิด หรือเกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องได้เช่นกัน
ผู้ที่ไอหนักๆ มีภาวะหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง น้ำหนักตัวมาก เบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ ชอบยกเวท ชอบออกกำลังกายหนักๆ มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนจริงหรือไม่?
จริง เนื่องจากกลไกการเกิดโรคไส้เลื่อนมาจากรูขนาดเล็กในช่องท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยมีปัจจัยมาจากการอัดลมหรือเกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นเป็นเวลาต่อเนื่อง
โดยแรงลมหรือแรงดันดังกล่าวมักมาจากการทำกิจกรรมบางอย่างหรือความผิดปกติด้านสุขภาพบางชนิด เช่น การไอเรื้อรัง การเบ่งอุจจาระจากอาการท้องผูก โรคต่อมลูกหมากโต การออกกำลังกายประเภทยกเวทที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มอีก
อวัยวะอะไรที่มักเคลื่อนออกมาบริเวณขาหนีบจนเกิดเป็นโรคไส้เลื่อน?
อวัยวะที่มักเลื่อนเข้าไปในรูภายในช่องท้องจนเกิดเป็นโรคไส้เลื่อนมักเป็น “ลำไส้เล็ก” เนื่องจากลำไส้เล็กเป็นลำไส้ที่ไม่มีเยื่อหุ้มและพังผืดยึดให้ลำไส้คงอยู่ในช่องท้องเหมือนกับลำไส้ใหญ่ ดังนั้นโอกาสที่ลำไส้เล็กจะสามารถเคลื่อนตัวหรือไหลเข้าไปในรูภายในช่องท้องจึงง่ายกว่าลำไส้ใหญ่
หรือในอีกกรณีที่พบได้เช่นกัน ก็คือ สิ่งที่ไหลเข้าไปในรูภายในช่องท้องไม่ใช่ลำไส้เล็ก แต่เป็นเยื่อหุ้มลำไส้เล็กหรือโอเมนตัม (Omentum) ซึ่งเป็นแผ่นเนื้อเยื่อบางๆ ที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้องไว้ แต่หากรูดังกล่าวไม่ได้รัดเนื้อเยื่อชนิดนี้อย่างรุนแรง ไม่มีภาวะลำไส้ขาดเลือดเกิดขึ้น อาการผิดปกติก็มักไม่แสดงออกมา และไม่เป็นอันตรายรุนแรงนัก
อาการบ่งชี้ของโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ในผู้หญิงกับผู้ชายมีอาการเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร?
อาการบ่งชี้สำคัญของโรคไส้เลื่อนไม่ว่าจะในผู้หญิงและผู้ชาย คือ คลำเจอก้อนนูนออกมาที่ขาหนีบ และก้อนดันกล่าวยังสามารถดันกลับเข้าไปได้ โดยเฉพาะเวลานอน แต่เมื่อคนไข้ลุก นั่ง เดิน ไอ จาม หรือยกของหนัก ก้อนดังกล่าวก็จะยื่นกลับออกมาอีก
นอกจากนี้ ในคนไข้ผู้ชายที่เป็นโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบชนิดยื่นเข้าไปในถุงอัณฑะ ก็สามารถตรวจเจอก้อนนูนที่ถุงอัณฑะได้ด้วย ซึ่งทำให้เจอรอยโรคได้ง่าย แต่ในผู้หญิงที่ไส้เลื่อนลงมาบริเวณหัวหน่าวนั้นอาจตรวจพบได้ยากกว่า แต่มักสังเกตอาการได้ผ่านความรู้สึกจุกหรือเจ็บแถวขาหนีบ
เพื่อความมั่นใจ หากคนไข้รู้สึกจุกหรือเจ็บที่ขาหนีบ คลำเจอก้อนบางอย่างแถวขาหนีบ แต่ยังไม่มั่นใจ ให้รีบเดินทางกลับมาตรวจกับแพทย์โดยเร็ว ก่อนที่ลำไส้จะถูกรูภายในช่องท้องรัดจนขาดเลือด
เป็นโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ปล่อยทิ้งไว้อันตรายหรือไม่?
อันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีโอกาสที่ลำไส้จะถูกรูภายในช่องท้องบีบรัดจนขาดเลือด และทำให้ลำไส้ติดเชื้อจนเน่าในที่สุด ซึ่งความผิดปกติที่รุนแรงนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลังลำไส้เริ่มถูกบีบรัดประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น และเมื่อนั้นคนไข้ก็จะต้องรับการผ่าตัดเพื่อตัดต่อลำไส้ใหม่เท่านั้น
นอกจากนี้ในโรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบซึ่งเป็นมานานแล้ว ก็มีโอกาสที่ลำไส้จะค้างอยู่ด้านนอกและไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้อีกด้วย หรือที่เรียกว่า ภาวะไส้เลื่อนติดคา (Incarcerated Inguinal Hernia)
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากคลำเจอก้อนนูนที่ขาหนีบ หัวหน่าว หรือถุงอัณฑะ ไม่ว่าจะรู้สึกจุกและเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ สามารถดันก้อนกลับเข้าไปได้หรือไม่ได้ก็ตาม ให้รีบเดินทางมาพบแพทย์โดยทันที
ภาวะลำไส้อักเสบ หรือลำไส้ขาดเลือดจนเน่า อันตรายถึงตายหรือไม่?
มีโอกาสเกิดน้อยมาก เนื่องจากก่อนที่ลำไส้จะเสียหายถึงขั้นเน่า คนไข้จะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและเดินทางมาพบแพทย์ก่อนทุกราย หลังจากนั้นแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดฉุกเฉินให้
และในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการรักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ที่ล้ำหน้าหลายด้าน จึงมีโอกาสน้อยมากที่คนไข้จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต นอกเสียจากคนไข้จะมีโรคประจำตัว หรือปัญหาด้านสุขภาพที่ทำให้แพทย์ผ่าตัดฉุกเฉินไม่ได้ในทันที
สามารถตรวจคัดกรองไส้เลื่อนล่วงหน้าก่อนได้หรือไม่?
โดยปกติกระบวนการตรวจโรคไส้เลื่อนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนไข้คลำเจอก้อนที่ขาหนีบก่อนเท่านั้น แต่หากคนไข้ไม่มีสัญญาณอาการ กระบวนการตรวจคัดกรองก็มักไม่เกิดขึ้นก่อน
การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องแผลเดียว มีข้อดีอย่างไร? อาการแบบไหนผ่าได้ แบบไหนผ่าไม่ได้
การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องแผลเดียว เป็นการผ่าตัดที่รักษาโรคไส้เลื่อนได้ง่ายและสะดวกกว่า คนไข้มีแผลผ่าตัดที่เล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ต่ำกว่า นิยมใช้ในคนไข้ที่พบก้อนนูนขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร สามารถดันไส้เลื่อนกลับเข้าไปได้ ร่วมกับไม่มีภาวะลำไส้อุดตัน ไม่ใช่โรคไส้เลื่อนที่เป็นสะสมมานานแล้วจนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย
แต่หากก้อนที่นูนออกมาบริเวณขาหนีบมีขนาด 5-6 เซนติเมตรขึ้นไป แพทย์จะพิจารณาให้ใช้การผ่าตัดแบบเปิดแผลแทน เนื่องจากจะต้องมีการตัดเอาหนังที่ห้อยออก ร่วมกับซ่อมแซมผนังไส้เลื่อน และทำให้ถุงไส้เลื่อนมีขนาดเล็กลงด้วย
ขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบผ่านกล้องแผลเดียว ผ่าตัดนานแค่ไหน? มีขั้นตอนอย่างไร?
ระยะเวลาผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบผ่านกล้องแผลเดียว รวมระยะดมยาสลบแล้วใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่หากการผ่าตัดมีความซับซ้อนขึ้น ก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยมีขั้นตอนการผ่าตัดดังนี้
- แพทย์วางยาสลบคนไข้ร่วมกับใส่เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากมีการอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าช่องท้องด้วย
- แพทย์ทำความสะอาดผิวบริเวณสะดือ และแผลกรีดเปิดแผลบริเวณผิวหนังใต้สะดือ ลึกถึงชั้นเยื่อหุ้มหน้ากล้ามเนื้อซึ่งเป็นชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้อง และอยู่แนวกลางผนังหน้าท้อง
- แพทย์ใช้นิ้วสอดเข้าใต้ชั้นกล้ามเนื้อเพื่อสร้างพื้นที่ผ่าตัดไปจนถึงบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน
- แพทย์สอดบอลลูนช่วยผ่าตัดเข้าไปใต้ชั้นกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการผ่าตัด
- แพทย์สอดกล้องผ่าตัดผ่านท่อที่ปลายบอลลูน แล้วบีบขยายบอลลูนให้พื้นที่การผ่าตัดขยายใหญ่
- แพทย์หาตำแหน่งที่เกิดโรคไส้เลื่อน ซึ่งอยู่ข้างๆ หลอดเลือดที่ขาหนีบหรือข้างท่ออสุจิในคนไข้เพศชาย
- แพทย์เลาะถุงไส้เลื่อนออก ในคนไข้ที่เลาะนำถุงไส้เลื่อนออกไม่ได้เนื่องจากติดอยู่กับรูภายในช่องท้อง แพทย์จะตัดเอาถุงออกผ่านกล้องผ่าตัดแทน ตามด้วยเย็บมัด ใช้บ่วงรัด หรือใช้คลิปหนีบโคนถุงไส้เลื่อนผ่านลำกล้องเช่นกัน
- แพทย์เช็กความเรียบร้อยว่า หลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณโดยรอบไม่มีความเสียหาย หลังจากนั้นนำตาข่าย 3 มิติเข้ามาปูเสริมความแข็งแรงให้ผนังหน้าท้อง และเย็บตาข่ายด้วยหมุด 2 ตัว อาจมีการใช้กาวสำหรับผ่าตัดเข้ามาเย็บตาข่ายด้วย เนื่องจากการใช้หมุดมักทำให้คนไข้ปวดแผลได้มากกว่า
- แพทย์ตรวจสัญญาณเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออกในช่องท้อง จากนั้นจะเริ่มลดความดันในช่องท้องทีละน้อย
- แพทย์นำอุปกรณ์ผ่าตัดออกจากแผล และเย็บปิดแผลที่ผนังหน้าท้อง
ตาข่าย 3 มิติสำหรับผ่าตัดไส้เลื่อนทำจากวัสดุอะไร?
ตาข่าย 3 มิติเป็นวัสดุสังเคราะห์สำหรับใช้ทางการแพทย์ ไม่ละลายเองตามกลไกธรรมชาติ แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ แบบปูในช่องท้องและแบบปูนอกช่องท้อง โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ตาข่ายแบปูนอกช่องท้องในการผ่าตัด
ข้อควรระวังในการปูตะข่ายนอกช่องท้องระหว่างผ่าตัด คือ แพทย์จะต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่มีรูรั่วเกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มผนังในช่องท้อง มิเช่นนั้นก็อาจเกิดปัญหาลำไส้เสียดสีกับตาข่ายจนลำไส้ทะลุได้
หลังจากใส่ตาข่ายเข้าไปในผนังหน้าท้องแล้ว ในช่วงสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ตัวตาข่ายจะยังคงแข็งแรงและอยู่ที่เดิมได้เพราะหมุดกับกาวที่แพทย์ยิงใส่ตาข่าย
แต่หลังจากนั้น ร่างกายคนไข้จะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อพังผืดปกคลุมตาข่ายเอง คล้ายกับเป็นกาวที่ช่วยผสานตาข่ายให้แนบติดกับผนังหน้าท้องโดยไม่ต้องพึ่งหมุดกับกาวของแพทย์อีก นอกจากนี้ยังช่วยให้ตาข่ายนิ่มขึ้น และช่วยให้ปิดรูภายในช่องท้องได้เต็มประสิทธิภาพด้วย
ดังนั้นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้คนไข้งดออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้ตาข่ายเกิดการเคลื่อนที่
หมุดและกาวสำหรับผ่าตัดไส้เลื่อน มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง?
สำหรับหมุดและกาวสำหรับยึดตาข่ายเสริมความแข็งแรงของหน้าท้อง ในอดีตตัวหมุดจะผลิตจากวัสดุโลหะ แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุเป็นวัสดุสังเคราะห์ทางการแพทย์ที่สามารถสลายเองได้ตามธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หมุดยึดตาข่ายในปัจจุบันก็ยังมีจุดด้อยตรงที่หากหมุดไปโดนเส้นเลือดหรือเส้นประสาทโดยรอบ ก็ยังมีโอกาสที่คนไข้จะปวดแผลได้ แต่ก็จัดว่าน้อยลงมากกว่าหมุดชนิดโลหะในอดีต
ด้วยเหตุนี้ นอกจากหมุดยึดตาข่าย แพทย์จึงยังมีอีกตัวเลือกในการยึดตาข่าย นั่นก็คือ กาวยึดตาข่าย เนื่องจากเนื้อกาวเป็นวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่เส้นประสาทได้ จึงทำให้คนไข้ปวดแผลได้น้อยกว่าหมุดยึดตาข่าย
ดังนั้นในการผ่าตัดไส้เลื่อน แพทย์จึงจะพิจารณาวางตาข่าย 3 มิติให้สอดคล้องกับสรีระช่องท้องคนไข้ให้มากที่สุด และเพื่อจะได้ยิงหมุดยึดตาข่ายเฉพาะบางตำแหน่งในช่องท้องเท่านั้น หรืออาจเพียงตำแหน่งเดียว เช่น ที่กระดูกหัวหน่าว
ส่วนตำแหน่งที่เหลือ แพทย์จะใช้กาวเป็นตัวยึดตาข่ายแทน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ และความผิดปกติภายในช่องท้องของคนไข้แต่ละรายด้วย
หลังผ่าตัดไส้เลื่อนแล้ว มีโอกาสที่ตาข่ายจะหลุด หรือต้องผ่าตัดซ้ำหรือไม่?
มีโอกาสเกิดได้น้อย เทียบกับสมัยก่อนที่ยังไม่มีการคิดค้นตาข่ายซึ่งมีรูปร่างสอดคล้องกับสรีระของผนังหน้าท้องมนุษย์ แพทย์จึงต้องนำแผ่นตาข่ายทั่วไปมาตัดแบ่งขนาดและใส่คลุมลงไปที่ผนังผน้าท้อง
แต่ในปัจจุบัน ตาข่ายซึ่งใช้ผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนเป็นตาข่ายที่ออกแบบมาเพื่อการผ่าตัดในช่องท้องของมนุษย์โดยเฉพาะ สามารถใส่เข้ากับรูปร่างของผนังหน้าท้องได้อย่างสนิท และมีตัวกำหนดตำแหน่งในการใส่ซึ่งช่วยให้แพทย์ผ่าตัดใส่ตาข่ายได้แม่นยำขึ้นอีก โอกาสที่ตาข่ายจะหลุดและเป็นโรคไส้เลื่อนซ้ำหลังผ่าตัดนั้นจึงมีน้อย
การดูแลตนเองหลังผ่าตัด
คนไข้ต้องงดยกของหนัก งดการออกกำลังกายที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้แผลภายในผนังหน้าท้องสมานตัว ไม่เกิดการแยกชั้นหลังผ่าตัด และเพื่อให้ตาข่ายที่ยึดที่ผนังหน้าท้องแนบสนิทกับผิวผนังหน้าท้องเสียก่อน
แนวทางการเลือกคนไข้ที่สามารถผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องแบบแผลเดียว
โดยส่วนมากคนไข้โรคไส้เลื่อนนั้นสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเดียวได้แทบทุกราย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินเป็นรายบุคคลกับแพทย์ด้วย เนื่องจากในคนไข้บางรายหากมีความผิดปกติที่ไส้เลื่อนในระดับที่ผ่าตัดผ่านกล้องได้ยาก แพทย์ก็จำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนการใส่ท่อผ่าตัดเสริมเข้าไป เพื่อให้การผ่าตัดปลอดภัยและแม่นยำขึ้น
ผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบผ่านกล้องแบบแผลเดียว กับ นพ. ธนเดช วงศ์จารุกร
ผู้ที่มีอาการจุกหรือเจ็บที่ขาหนีบ หรือคลำพบก้อนนูนที่ขาหนีบ มีความกังวลใจและอยากปรึกษาแนวทางการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดหมายพูดคุยกับแพทย์ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่โรงพยาบาลได้ตามสะดวก
หรือหากสนใจเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์ผ่านบริการ HDcare สามารถพูดคุยกับทีมงาน HDcare สำหรับการช่วยประสานงานนัดหมายผ่าตัดตามวันที่ เวลา และที่โรงพยาบาลที่คุณสะดวกไปใช้บริการได้ทันที
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย