สำรวจ “ปัญหาถุงน้ำบาร์โธลิน” อาการผิดปกติบริเวณจุดซ่อนเร้นที่อาจพบได้ในผู้หญิงทุกคน และยังเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนของการเกิดก้อนมะเร็งที่อวัยวะเพศหญิง พร้อมข้อมูลวิธีรักษา เป็นแล้วต้องรักษายังไง มีวิธีไหนบ้าง
ให้ข้อมูลโดยแพทย์หญิงศันสนีย์ อังสถาพร หรือ “หมอแซน” สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและมะเร็งนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอแซนได้ที่นี่ [คุยกับ “หมอแซน” คุณหมอสูตินรีแพทย์กับปัญหาโรคทางนรีเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน]
สารบัญ
- ต่อมบาร์โธลินทำหน้าที่อะไร และอยู่ตำแหน่งใดของร่างกาย?
- อาการผิดปกติของต่อมบาร์โธลินมีอะไรบ้าง แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
- ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกหรือไม่?
- ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินเกิดจากอะไร?
- อาการเมื่อเกิดถุงน้ำต่อมบาร์โธลินที่สังเกตได้ มีอะไรบ้าง?
- อาการของถุงน้ำต่อมบาร์โธลินแบบใดที่ควรพบแพทย์โดยเร็ว
- ถุงน้ำที่ต่อมบาร์โธลินหายเองได้ไหม?
- พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลินแต่ไม่ผ่าตัดจะส่งผลเสียอย่างไร?
- ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินสามารถพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็งได้หรือไม่?
- พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ จะติดต่อกับคู่นอนหรือเปล่า?
- ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีขนาดใหญ่สุดเท่าไร?
- ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรหรือไม่?
- เราสามารถป้องกันการเกิดต่อมบาร์โธลินล่วงหน้าได้หรือไม่?
- การวินิจฉัยถุงน้ำต่อมบาร์โธลินประกอบไปด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง?
- การรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน มีวิธีอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนการผ่าตัดถุงน้ำต่อมบาร์โธลินเป็นอย่างไร?
- หลังรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?
- การพักฟื้นและการดูแลตนเองหลังผ่าตัดต่อมบาร์โธลินมีอะไรบ้าง?
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- ผ่าตัดถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน กับ แพทย์หญิงศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare
ต่อมบาร์โธลินทำหน้าที่อะไร และอยู่ตำแหน่งใดของร่างกาย?
ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin gland) คือ ต่อมที่ทำหน้าที่ผลิตสารคัดหลั่งในช่องคลอด โดยจะอยู่บริเวณด้านล่างของแคมใหญ่ทั้ง 2 ข้าง
อาการผิดปกติของต่อมบาร์โธลินมีอะไรบ้าง แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร?
- อาการผิดปกติแบบที่ 1 ต่อมบาร์โธลินเกิดก้อนถุงน้ำอยู่ด้านในแต่ยังไม่มีการติดเชื้อ ทำให้คนไข้คลำเจอก้อนที่แคมใหญ่ แต่มักจะไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย
- อาการผิดปกติแบบที่ 2 ต่อมบาร์โธลินเกิดถุงน้ำและมีน้ำหนองอยู่ด้านใน ทำให้นอกจากจะคลำเจอก้อน คนไข้ยังมักมีอาการเจ็บที่ก้อนและมีไข้ร่วมด้วย ลักษณะหรือขนาดของถุงน้ำจะแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย บางรายอาจมีถุงน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือในบางรายอาจมีถุงน้ำขนาดใหญ่ถึง 6-7 เซนติเมตร
- อาการผิดปกติแบบที่ 3 ต่อมบาร์โธลินมีก้อนลักษณะเป็นเนื้องอก อาจเป็นก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งหรือที่เป็นชนิดมะเร็งก็ได้ โดยก้อนเนื้อชนิดมะเร็งจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเซลล์ที่ต่อมบาร์โธลินผลิตออกมามากเกินไป และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตได้จนพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็ง
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกหรือไม่?
หลายคนอาจเรียกถุงน้ำต่อมบาร์โธลินในชื่ออื่น ๆ ได้อีก เช่น
- ถุงฝีที่อวัยวะเพศ
- ฝีในที่ลับ
- ถุงหนองที่อวัยวะเพศ
- ต่อมบาร์โธลินอักเสบ
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินเกิดจากอะไร?
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน เกิดจากตัวต่อมบาร์โธลินสร้างถุงน้ำที่ผิดปกติขึ้นมา โดยอาจเป็นถุงน้ำที่ไม่มีการติดเชื้อใด ๆ หรือถุงน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปอาศัยอยู่ด้านใน จนทำให้ถุงน้ำกลายเป็นถุงหนองในภายหลัง
อาการเมื่อเกิดถุงน้ำต่อมบาร์โธลินที่สังเกตได้ มีอะไรบ้าง?
- คนไข้คลำพบก้อนที่อวัยวะเพศในตำแหน่งที่ตั้งของต่อมบาร์โธลิน
- มีอาการเจ็บที่ก้อน แต่ในคนไข้บางรายที่พบแค่ถุงน้ำที่ไม่มีหนองก็อาจไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย
- มีไข้
- คนไข้บางรายอาจพบตกขาวร่วมด้วย
อาการของถุงน้ำต่อมบาร์โธลินแบบใดที่ควรพบแพทย์โดยเร็ว
อาการผิดปกติจากถุงน้ำต่อมบาร์โธลินที่คนไข้ควรรีบเดินทางมาพบแพทย์โดยเร็ว ได้แก่
- คลำพบก้อนที่ตำแหน่งของต่อมบาร์โธลินและก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
- คลำที่ก้อนแล้วรู้สึกเจ็บ ร่วมกับมีไข้
- มีเลือดออกใกล้กับบริเวณถุงน้ำ
- สงสัยว่า ถุงน้ำที่ต่อมบาร์โธลินอาจเป็นก้อนเนื้อหรือก้อนมะเร็ง
ถุงน้ำที่ต่อมบาร์โธลินหายเองได้ไหม?
ในกรณีที่พบถุงน้ำซึ่งไม่ใช่ถุงหนองที่ต่อมบาร์โธลิน หรือพบถุงน้ำที่เป็นก้อนเนื้อธรรมดาไม่ใช่ก้อนมะเร็ง คนไข้สามารถรักษาด้วยวิธีเฝ้าสังเกตอาการไปก่อนได้ และยังไม่จำเป็นต้องเริ่มทำการรักษาใด ๆ
แต่ในกรณีที่พบถุงน้ำชนิดที่เป็นถุงหนอง หากตัวถุงมีขนาดเล็ก แพทย์อาจให้รักษาด้วยการกินยาไปก่อน แต่หากถุงหนองมีขนาดใหญ่มาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการเจาะระบายหนองออกจากต่อมบาร์โธลิน
หรือหากแพทย์นำตัวอย่างชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อไปตรวจและพบว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดมะเร็ง ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัดต่อไป
พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลินแต่ไม่ผ่าตัดจะส่งผลเสียอย่างไร?
การปล่อยถุงน้ำชนิดที่ควรรักษาด้วยการผ่าตัดเอาไว้อาจเพิ่มโอกาสให้ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีการติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินสามารถพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็งได้หรือไม่?
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีโอกาสพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็งได้ โดยเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
- คนไข้พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลินในตำแหน่งเดิมซ้ำ ๆ
- คนไข้พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลินซึ่งมีลักษณะไม่เหมือนก้อนถุงน้ำทั่วไป เช่น ผิวถุงน้ำมีเนื้อขรุขระ มีอาการเลือดออกบริเวณถุงน้ำ และรักษาไม่หาย
- คนไข้พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลินเป็นจำนวนมาก
พบถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ จะติดต่อกับคู่นอนหรือเปล่า?
หากก้อนถุงน้ำมีขนาดเล็กและคนไข้ไม่มีอาการเจ็บ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ หรือในกรณีที่ก้อนถุงน้ำเป็นหนองและมีการติดเชื้อ เชื้อดังกล่าวจะไม่สามารถติดต่อไปยังอีกฝ่ายได้ แต่คนไข้จะมีอาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
ดังนั้นทางที่ดีหากคลำพบก้อนที่ต่อมบาร์โธลินไม่ว่าจะทำให้มีอาการเจ็บหรือมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ หรือไม่ ก็ควรเดินทางมาพบแพทย์ก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในครั้งถัดไป
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีขนาดใหญ่สุดเท่าไร?
จากประสบการณ์การรักษา ถุงน้ำที่ต่อมบาร์โธลินจะมีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ประมาณ 6-7 เซนติเมตร
ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรหรือไม่?
สามารถส่งผลกระทบได้ ในกรณีที่คนไข้กำลังตั้งครรภ์และพบก้อนถุงน้ำขนาดใหญ่ ร่วมกับมีไข้สูง มีอาการเจ็บหรือปวดมาก ผลข้างเคียงเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
หรือในอีกกรณีที่พบก้อนถุงน้ำในช่วงใกล้คลอดบุตร หากคนไข้เลือกการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ก้อนถุงน้ำก็อาจไปขัดขวางทำให้เกิดปัญหาในระหว่างคลอดบุตรได้
เราสามารถป้องกันการเกิดต่อมบาร์โธลินล่วงหน้าได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดถุงน้ำที่ต่อมบาร์โธลินได้
การวินิจฉัยถุงน้ำต่อมบาร์โธลินประกอบไปด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการวินิจฉัยจะประกอบไปด้วยการตรวจร่างกายและซักประวัติคนไข้เป็นหลัก
การรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน มีวิธีอะไรบ้าง?
ในกรณีที่ถุงน้ำเป็นหนอง แต่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และคนไข้มีอาการที่ไม่รุนแรงมาก แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลินด้วยการกินยาฆ่าเชื้อ
แต่ในกรณีที่มีถุงน้ำเป็นหนองค่อนข้างใหญ่ คนไข้มีอาการเจ็บหรือปวดมาก และมีไข้สูง แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าระบายหนองในถุงน้ำออก และกินยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนการผ่าตัดถุงน้ำต่อมบาร์โธลินเป็นอย่างไร?
การผ่าตัดรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลินมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- ก่อนเริ่มผ่าตัดคนไข้จะต้องขับปัสสาวะออกจนหมด จากนั้นขึ้นนอนบนเตียงขาหยั่ง
- แพทย์ทำความสะอาดอวัยวะเพศและช่องคลอด
- แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะจุด และเริ่มกรีดระบายน้ำหนองออกจนหมด
- แพทย์เย็บแผลที่ต่อมบาร์โธลิน
หลังการผ่าตัด คนไข้สามารถทำแผลที่บ้านเองได้และต้องทำความสะอาดแผลทุกครั้งหลังทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ไม่ว่าจะปัสสาวะหรืออุจจาระ นอกจากนี้แพทย์จะนัดหมายให้กลับมาดูแผลที่สถานพยาบาลทุกวันจนกว่าแผลจะตื้นและหายสนิท
หลังรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่?
จากสถิติการรักษา คนไข้ที่เคยรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลินไปแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ประมาณ 30%
การพักฟื้นและการดูแลตนเองหลังผ่าตัดต่อมบาร์โธลินมีอะไรบ้าง?
- หลังจากเดินทางกลับไปพักฟื้นที่บ้าน คนไข้สามารถขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระได้ตามปกติ แต่หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วต้องทำความสะอาดแผลให้เรียบร้อยและป้ายยาฆ่าเชื้อตามทุกครั้ง
- งดมีเพศสัมพันธ์ งดว่ายน้ำ งดแช่น้ำซึ่งจะทำให้ปากแผลเปียก จนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- เดินทางกลับมาตรวจแผลที่สถานพยาบาลทุกวันตามที่แพทย์นัดหมายจนกว่าแผลจะตื้นและหายสนิท ซึ่งแพทย์จะเปลี่ยนผ้าก๊อซปิดแผลเพื่อระบายน้ำหนองให้ทุกครั้งด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
ในช่วงแรกหลังการรักษา คนไข้อาจมีอาการเจ็บหรือปวดแผลอยู่ รวมถึงอาจมีน้ำหนองไหลและมีไข้อยู่บ้าง แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการรักษา
ผ่าตัดถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน กับ แพทย์หญิงศันสนีย์ ด้วยบริการจาก HDcare
หากเจอถุงน้ำที่จุดซ่อนเร้น หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นถุงน้ำบาร์โธลิน ทางที่ดีอย่าปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้เกิดอาการบวมแดง อักเสบ หรือมีหนอง และจะยิ่งทำให้กระบวนการรักษาซับซ้อนและยากขึ้นไปอีก
หากรู้สึกไม่สบายใจ ไม่แน่ใจว่าก้อนถุงน้ำที่พบเป็นชนิดใด อยากนัดปรึกษาคุณหมอเพื่อพูดคุยเรื่องแนวทางการรักษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านแอดมิน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่โรงพยาบาลได้ทันที
ทาง HDcare ยินดีเป็นตัวกลางช่วยประสานงานระหว่างคนไข้กับคุณหมอ เพื่อให้กระบวนการรักษารวดเร็วทันใจ สะดวกสบาย และเรียบง่ายต่อทุกท่านยิ่งขึ้น
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย