Default fallback image

ผ่าตัดส่องกล้องแก้ไขภาวะข้อไหล่หลุด กับ นพ. ชานนท์

“ข้อไหล่หลุด” อีกอาการที่เกิดขึ้นได้เมื่อไหล่ได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป ไม่ใช่เพียงกลุ่มนักกีฬา หรือผู้ที่ใช้ร่างกายทำงานอย่างผาดโผนเท่านั้น 

แต่อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะปัจจุบันการรักษาข้อไหล่หลุดนั้นทำได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ต่อให้ต้องผ่าตัดก็มีเทคนิคการผ่าตัดใหม่ที่ให้แผลเล็กนิดเดียว ฟื้นตัวไม่นานก็กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ หรือที่เราเรียกว่า “การผ่าตัดส่องกล้องแก้ไขภาวะข้อไหล่หลุด” ซึ่งจะมาเจาะลึกพร้อม ๆ กันในบทความนี้

ให้ข้อมูลโดย “หมอนนท์” นพ. ชานนท์ กนกวลีวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ หรือการศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์กีฬา การผ่าตัดส่องกล้อง และการผ่าตัดแผลเล็ก หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติของหมอนนท์ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอนนท์” คุณหมอกระดูกเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา กับประสบการณ์ดูแลนักกีฬาแบบเกาะติดข้างสนาม]

สารบัญ

ภาวะข้อไหล่หลุด คืออะไร?

ภาวะข้อไหล่หลุด คือ ภาวะที่กระดูกหัวไหล่หลุดออกมาจากเบ้ากระดูกจนส่งผลให้คนไข้ไม่สามารถขยับหัวไหล่หรือยกแขนได้ สามารถแบ่งลักษณะการหลุดออกได้ 2 ประเภท คือ หลุดไปด้านหน้า และหลุดไปด้านหลังซึ่งพบได้บ่อยกว่า 90% ของผู้ที่เกิดภาวะข้อไหล่หลุด 

ทำไมกระดูกหัวไหล่จึงหลุดออกจากกันได้?

กระดูกหัวไหล่และเบ้ากระดูกหัวไหล่แม้จะเป็นกระดูกที่อยู่ติดเข้าหากัน แต่ก็มีขนาดที่แตกต่างกันมาก โดยเบ้ากระดูกหัวไหล่จะมีขนาดเล็กกว่ากระดูกหัวไหล่ถึง 3-4 เท่า นอกจากนี้ยังมีกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มที่ปกคลุมอยู่รอบกระดูกหัวไหล่ด้วย เพื่อช่วยเสริมให้กระดูกหัวไหล่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไรที่คนไข้มีการบาดเจ็บ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มรอบกระดูกหัวไหล่ ก็มีโอกาสที่กระดูกหัวไหล่จะหลุดได้มากกว่าข้ออื่น

สาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่หลุด เกิดจากอะไรได้บ้าง?

โดยส่วนมากภาวะข้อไหล่หลุดจะมีสาเหตุหลักมาจากการถูกกระแทกอย่างแรงในระหว่างที่คนไข้ทำท่ายกไหล่ขึ้นเหนือศีรษะ และหมุนหัวไหล่ไปด้านหลัง ซึ่งเป็นอิริยาบถที่พบได้ระหว่างเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือระหว่างประสบอุบัติเหตุ

ถ้าไม่ใช่นักกีฬา ข้อไหล่หลุดได้มั้ย?

เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนักกีฬาสามารถเกิดภาวะข้อไหล่หลุดได้ทั้งหมด แต่จะมีบุคคลบางกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่หลุดได้มากกว่า ได้แก่

  • กลุ่มผู้ที่เคยเกิดภาวะข้อไหล่หลวม
  • กลุ่มผู้ที่เคยเกิดภาวะข้อไหล่หลุดมาก่อน 
  • ผู้ที่ต้องใช้ร่างกายทำท่าที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อไหล่หลุดบ่อย ๆ
  • กลุ่มนักกีฬาชนิดขว้างปา เช่น นักกีฬารักบี้ ยูโด เทนนิส แบตมินตัน วอลเลย์บอล เบสบอล 
  • กลุ่มผู้ที่เกิดอุบัติเหตุจนทำให้ไหล่ได้รับแรงกระแทก เช่น การตกจากที่สูง ตกบันได ตกต้นไม้ อุบัติเหตุทางการจราจร

การยืดเส้นก่อนออกกำลังกาย ช่วยป้องกันได้ไหม?

การยืดเส้นก่อนเริ่มออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะข้อไหล่หลุดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม หากข้อไหล่ของคนไข้ได้รับการกระแทกแรง ๆ ในภายหลัง ก็ยังเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้อยู่

อาการและความรู้สึกเมื่อเกิดภาวะข้อไหล่หลุดเป็นยังไง? 

  • มีอาการปวดหัวไหล่อย่างรุนแรง
  • มีอาการชาที่หัวไหล่ และอาจลามลงไปถึงที่มือ
  • หัวไหล่มีรูปร่างผิดปกติไปจากเดิม
  • หัวไหล่บวม
  • ยกไหล่ขึ้นหรือยกแขนขึ้นไม่ได้
  • ยกแขนแตะหัวไหล่ข้างที่ปกติไม่ได้

สิ่งที่ควรทำทันทีเมื่อข้อไหล่หลุด ต้องทำอะไร?

หากรู้สึกหรือสงสัยว่าเกิดภาวะข้อไหล่หลุด ขั้นแรกให้รีบหาอุปกรณ์พยุงแขน (Arm sling) หรือหาผ้าคล้องแขนมาประคองแขนไว้กับที่ จากนั้นให้รีบเดินทางมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่าพยายามดันหัวไหล่กลับเข้าที่เองเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เยื่อหุ้มข้อต่อกระดูกหัวไหล่ได้รับบาดเจ็บกว่าเดิม และจะยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บไหล่กว่าเดิมได้

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอจะรักษาอย่างไร?

เมื่อคนไข้เดินทางมาถึงโรงพยาบาล แพทย์จะรีบจ่ายยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการให้คนไข้ก่อน จากนั้นจะเริ่มซักประวัติสุขภาพคร่าว ๆ ร่วมกับตรวจร่างกายคนไข้ ซึ่งในคนไข้บางรายก็สามารถยืนยันภาวะข้อไหล่หลุดจากการตรวจร่างกายได้เลย แต่ในบางรายที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัด แพทย์ก็จะส่งคนไข้ไปตรวจเอกซเรย์หัวไหล่ต่อไป 

หลังจากนั้นหากผลการตรวจเอกซเรย์ยืนยันว่า คนไข้มีภาวะข้อไหล่หลุด แพทย์ก็จะจ่ายยาแก้ปวดและยาที่ทำให้คนไข้มีอาการสะลึมสะลือ จากนั้นจะจัดกระดูกหัวไหล่คนไข้ให้กลับเข้าที่

ถ้าข้อไหล่หลุดแล้วไม่หาหมอ จะเกิดอะไรขึ้น?

โดยทั่วไปคนไข้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดมักจะเดินทางมาพบแพทย์กันแทบทุกราย เนื่องจากเป็นภาวะที่จะทำให้คนไข้มีอาการปวดไหล่อย่างรุนแรง รวมถึงทำให้ขยับใช้งานหัวไหล่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในคนไข้บางราย เช่น คนไข้สูงอายุ ก็อาจไม่มีอาการแสดงแน่ชัดจากภาวะนี้ และไม่รู้ตัวว่า ตนเองมีภาวะข้อไหล่หลุด

ซึ่งผลกระทบจากการเกิดภาวะข้อไหล่หลุดและไม่รีบเดินทางมาพบแพทย์ก็คือ มีโอกาสที่คนไข้จะดันกระดูกหัวไหล่กลับเข้าที่ได้ยากมากขึ้น

อาการข้อไหล่หลุดแบบไหนที่ต้องผ่าตัด? 

กลุ่มผู้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดและเหมาะต่อการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด จะได้แก่

  • คนไข้ที่มีภาวะข้อไหล่หลุดเป็นครั้งที่สองขึ้นไป โดยหากกลับมาพบแพทย์จากภาวะนี้อีก แพทย์ก็มักแนะนำให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัด เนื่องจากกระดูกหัวไหล่ที่เคยผ่านการหลุดมาแล้วครั้งหนึ่งมักจะมีปัญหากระดูกบิ่นเกิดขึ้น และทำให้ตัวกระดูกหัวไหล่ไปกระแทกกับเบ้ากระดูกได้ง่ายขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้ข้อไหล่หลุดอีกเป็นครั้งที่สาม และอีกหลาย ๆ ครั้งต่อไป 
  • คนไข้มีภาวะข้อไหล่หลุดและทำอาชีพที่มีความผาดโผน เช่น นักปีนเขา นักผจญเพลิง ในกรณีนี้ แพทย์ก็แนะนำให้รักษาด้วยวิธีผ่าตัดตั้งแต่มีภาวะนี้ครั้งแรก เพื่อรักษาภาวะนี้ให้หายโดยเร็วและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้อีกเป็นครั้งที่สอง จนเสี่ยงทำให้คนไข้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
  • คนไข้กลุ่มที่เป็นนักกีฬามืออาชีพ จำเป็นต้องใช้หัวไหล่ในการเล่นกีฬาอย่างหนักและต้องฟื้นตัวจากภาวะนี้ภายในเวลาอันจำกัด แพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน

อาการข้อไหล่หลุดแบบไหนที่ไม่ต้องผ่าตัด? 

หากเป็นกลุ่มคนไข้ทั่วไปที่ไม่ได้ใช้งานหัวไหล่อย่างหนัก และเพิ่งมีภาวะข้อไหล่หลุดเป็นครั้งแรก ในบางรายแพทย์ก็อาจยังไม่ใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดทันที แต่จะรักษาด้วยการให้ยา แพทย์จัดกระดูกหัวไหล่ให้เข้าที่เอง หรือติดตามดูอาการไปก่อน

การผ่าตัดแก้ไขภาวะข้อไหล่หลุดมีกี่วิธี แตกต่างกันอย่างไร?

ปัจจุบันการผ่าตัดแก้ไขภาวะข้อไหล่หลุดแบ่งออกได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ 

  • การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดที่ไม่ได้รับความนิยมแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากต้องผ่าเปิดแผลใหญ่ ต้องผ่านชั้นกล้ามเนื้อหัวไหล่ซึ่งมีอยู่หลายชั้น ทำให้เสี่ยงที่กล้ามเนื้อรอบกระดูกหัวไหล่จะได้รับบาดเจ็บจากการผ่าตัดไปด้วย
  • การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดเทคนิคใหม่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีแผลผ่าตัดที่เล็กเป็นรูเพียง 0.5-1 เซนติเมตร ประมาณ 3-5 รูเท่านั้น ทำให้คนไข้เจ็บแผลได้น้อยกว่า และฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้อุปกรณ์ผ่าตัดแบบส่องกล้องยังช่วยให้แพทย์มองเห็นการบาดเจ็บของกระดูกหัวไหล่ได้ชัดกว่า และสามารถผ่าตัดรักษาภาวะนี้ได้อย่างแม่นยำกว่าด้วย

ลงแผลกี่จุด บริเวณไหนบ้าง แต่ละจุดมีขนาดแผลกี่เซนติเมตร?

แผลจากการผ่าตัดรักษาภาวะข้อไหล่หลุดแบบส่องกล้องจะมีจำนวนไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับกายวิภาคของคนไข้แต่ละราย แต่โดยหลัก ๆ จะมีจำนวนแผล 3-4 รู โดยอยู่บริเวณด้านหน้าหัวไหล่ 2 รู และด้านหลังอีก 1 รู ขนาดแผลมีขนาดเท่ากันทั้งหมดคือประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ใช้เวลาผ่าตัดกี่ชั่วโมง?

ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการผ่าตัดคนไข้แต่ละราย แต่โดยส่วนมากจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1-1 ชั่วโมงครึ่ง

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด? 

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดรักษาภาวะข้อไหล่หลุดด้วยการส่องกล้องจะคล้ายกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทั่วไป ซึ่งมีกระบวนการดังต่อไปนี้

  • คนไข้ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ตรวจร่างกายเพื่อเช็กความพร้อมก่อนผ่าตัด
  • คนไข้แจ้งรายการยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพื่อให้แพทย์แนะนำการงดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด
  • คนไข้งดน้ำและงดอาหารล่วงหน้าก่อนผ่าตัด 8 ชั่วโมง

การดูแลตัวเอง-ต้องพักฟื้นนานแค่ไหน? ต้องอยู่โรงพยาบาลกี่วัน? 

หลังการผ่าตัด คนไข้จะนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน ระหว่างนั้นแพทย์จะให้คนไข้ใส่อุปกรณ์พยุงแขนเอาไว้ และจะคอยติดตามดูอาการบวม อาการปวดแผล รวมถึงฝึกกายบริหารให้คนไข้สามารถเหยียดงอศอกและกำแบมือให้ได้ไปด้วย

พักฟื้นที่บ้านอีกกี่วัน ถึงจะทำงานได้?

โดยส่วนมากหลังจากผ่าตัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ แผลผ่าตัดของคนไข้ก็จะหายดี แต่จะสามารถกลับไปเริ่มทำงานเบา ๆ ยกของเบา ๆ ได้หลังจากผ่าตัดประมาณ 2-4 สัปดาห์

การดูแลรักษาแผลทำยังไง?

เนื่องจากแผลผ่าตัดส่องกล้องเป็นแผลขนาดเล็ก และยังเป็นแผลสะอาดจากการผ่าตัดอยู่แล้ว ดังนั้นหากคนไข้ไม่พบอาการแผลรั่วซึม ก็ไม่จำเป็นต้องทำแผลทุกวัน เพียงแต่ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำก็พอ และเดินทางมาตรวจแผลตามนัดหมายของแพทย์เท่านั้น

เข้ามาติดตามผลการรักษาทุกกี่วัน?

หลังจากผ่าตัด แพทย์จะนัดหมายคนไข้ให้เข้ามาตรวจดูผลการรักษาประมาณ 4-5 ครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บตั้งแต่ก่อนผ่าตัด โดยนัดหมายในครั้งแรกจะอยู่ที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด 

จากนั้นแพทย์จะนัดคนไข้เข้ามาติดตามผลครั้งที่สองหลังจากผ่าตัดครบ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งในนัดหมายครั้งที่สองนี้ แพทย์จะเริ่มให้คนทำกายบริหาร ให้ฝึกการหยิบจับสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ และลองยกแขนให้สูงที่สุดเอง

จากนั้นในนัดหมายครั้งที่สามซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือนหลังผ่าตัด แพทย์จะให้คนไข้เริ่มยกของหนัก และเริ่มกลับไปเล่นกีฬาได้ตามพัฒนาการความแข็งแรงของกระดูกหัวไหล่

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด 

หลังจากผ่าตัด คนไข้อาจพบผลข้างเคียงเป็นอาการปวดแผลหรืออาการไหล่บวมได้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ในระหว่างที่คนไข้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ด้วย และเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไหล่หลุดได้อีก

ดังนั้นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด คนไข้จะต้องพักผ่อนและระมัดระวังตัวให้มาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ซ้ำอีก

จะกลับมายกแขนได้ปกติภายในกี่วัน?

ระยะเวลาที่คนไข้จะกลับมายกแขนได้ตามปกติจะขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่หลากหลาย รวมถึงเงื่อนไขสุขภาพและโรคประจำตัวอื่น ๆ แต่โดยส่วนมากหลังผ่าตัดประมาณ 2-4 สัปดาห์ก็มักจะกลับมายกแขนได้ตามปกติ

หลังผ่าตัดแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้ไหม ขึ้นกับปัจจัยอะไรบ้าง?

คนไข้ที่เคยผ่าตัดรักษาภาวะข้อไหล่หลุดมีโอกาสกลับมาเกิดภาวะนี้ซ้ำอีกได้ และมีอัตราความเสี่ยงไม่ต่างจากผู้ที่ไม่เคยเกิดภาวะข้อไหล่หลุดเลย โดยปัจจัยหลักก็ยังคงเกิดได้จากอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้คนไข้ได้รับแรงกระแทกแบบเดิม รวมถึงการเล่นกีฬา การออกกำลังกายต่าง ๆ ที่เคยเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุดครั้งแรก

มีโอกาสมาก-น้อยแค่ไหนที่จะเกิดภาวะนี้ซ้ำอีก?

ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนครั้งที่เคยเกิดภาวะไหล่หลุด หากคนไข้เคยเกิดภาวะข้อไหล่หลุดมาแล้วมากกว่า 10 ครั้งขึ้นไป ซึ่งทำให้กระดูกหัวไหล่บิ่นและเสียหายเป็นอย่างมากแล้ว หรือประสบอุบัติเหตุในท่าที่ทำให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุดมาก่อนอีกครั้งหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ได้อีก 

การดูแลตัวเองไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้อไหล่หลุดอีกสามารถทำได้ง่าย ๆ นั่นก็คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ได้รับแรงกระแทก หรือทำท่าที่เสี่ยงเกิดภาวะข้อไหล่หลุดอีก เพียงเท่านี้ก็สามารถลดโอกาสเกิดภาวะนี้ได้แล้ว

ผ่าตัดส่องกล้องแก้ไขภาวะข้อไหล่หลุด กับ นพ. ชานนท์

ใครที่เผชิญภาวะข้อไหล่หลุด หรือเคยข้อไหล่หลุดมาก่อนและกลับมาเป็นซ้ำ อยากรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย ดูแลง่าย ฟื้นตัวหลังผ่าตัดก็เร็ว หรือยังไม่แน่ใจว่ารักษาด้วยการผ่าตัดเลยดีหรือไม่ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อได้ทันที จะเลือกคุยผ่านวิดีโอคอลหรือที่โรงพยาบาลก็ได้ทั้งนั้น

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top