มีอาการหูน้ำหนวก เจ็บที่โพรงจมูกบ่อย ๆ ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ได้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการรักษาในยุคปัจจุบันนั้นมีอยู่หลากหลาย และยังมีหลายวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นานก็กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้
ร่วมเจาะลึกการผ่าตัดทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ที่นิยมในยุคปัจจุบันพร้อมกัน ให้ข้อมูลโดยพญ. เพชรรัตน์ แสงทอง หรือ “หมอเชอร์รี่” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก และเชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอเชอร์รี่ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเชอร์รี่” คุณหมอหู คอ จมูกกับประสบการณ์รักษาโรคเกี่ยวกับการนอนกรน และประสาทสัมผัสของร่างกาย]
สารบัญ
- ต่อมทอนซิลสำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
- ความผิดปกติของต่อมทอนซิลที่พบได้บ่อย มีกี่แบบ?
- อาการจากความผิดปกติของต่อมทอนซิลที่ควรรับการผ่าตัด
- อาการที่ควรเดินทางมาพบแพทย์
- ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมทอนซิลมีกี่แบบ?
- วิธีรักษาแบบไหนที่คุณหมอถนัด?
- ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่ต่อมทอนซิล
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมทอนซิล
- ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมทอนซิล
- ต่อมอะดีนอยด์สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
- ความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ที่พบได้บ่อย มีกี่แบบ?
- อาการที่ควรเดินทางมาพบแพทย์
- อาการผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ที่ต้องผ่าตัด
- ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์มีกี่แบบ?
- วิธีรักษาแบบไหนที่คุณหมอถนัด?
- ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่ต่อมอะดีนอยด์
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
- ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
- การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ ทำพร้อมกันได้หรือไม่?
- หลังผ่าตัด จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่?
- คนไข้เด็กสามารถผ่าตัดได้หรือไม่?
- หลังผ่าตัดต้องนอนโรงพยาบาล และพักฟื้นที่บ้านกี่วัน?
- อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด
- การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีผลต่อภูมิคุ้มกันของคนไข้หรือไม่?
- ผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ กับ พญ. เพชรรัตน์ ด้วยบริการจาก HDcare
ต่อมทอนซิลสำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
ต่อมทอนซิล (Tonsils) เป็นต่อมที่มีหน้าที่หลักในการดักจับเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ทางเดินอาหาร และมีหน้าที่รองลงมาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ความผิดปกติของต่อมทอนซิลที่พบได้บ่อย มีกี่แบบ?
ความผิดปกติที่พบได้บ่อยในต่อมทอนซิล แบ่งออกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
- การติดเชื้อบ่อย ๆ ที่ต่อมทอนซิล จนทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
- ต่อมทอนซิลโตจนไปขวางทางเดินหายใจ
- มะเร็งต่อมทอนซิล ซึ่งมักมีอาการแสดงเป็นอาการเจ็บคอที่บริเวณต่อมทอนซิลข้างเดียว
อาการจากความผิดปกติของต่อมทอนซิลที่ควรรับการผ่าตัด
อาการผิดปกติของต่อมทอนซิลที่เป็นข้อบ่งชี้ให้คนไข้ควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ได้แก่
- มีอาการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลซ้ำ ๆ โดยเข้าเกณฑ์ความถี่ดังต่อไปนี้
- ในระยะเวลา 1 ปี ต่อมทอนซิลติดเชื้อเกินกว่า 7 ครั้ง
- ในระยะเวลา 2 ปีติดกัน ต่อมทอนซิลติดเชื้อเกินกว่า 5 ครั้งต่อปี
- ในระยะเวลา 3 ปีติดกัน ต่อมทอนซิลติดเชื้อเกินกว่า 3 ครั้งต่อปี
- ต่อมทอนซิลโตจนไปขวางทางเดินหายใจ ทำให้คนไข้หายใจลำบาก
- คนไข้มีอาการเจ็บคอข้างเดียวบ่อย ๆ และมีอาการต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกันโตผิดปกติ ซึ่งจัดเป็นอาการบ่งชี้ของโรคมะเร็งต่อมทอนซิล
อาการที่ควรเดินทางมาพบแพทย์
หากสังเกตว่า ตนเองมีอาการเจ็บคอตรงตำแหน่งของต่อมทอนซิลบ่อย ๆ หรือเจ็บบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้ง 2 ข้าง นั่นจัดเป็นสัญญาณของต่อมทอนซิลที่อักเสบหรือผิดปกติ คนไข้ควรเดินทางมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการ
ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมทอนซิลมีกี่แบบ?
การผ่าตัดรักษาต่อมทอนซิลในปัจจุบันแบ่งออกได้ 5 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยการจี้ความร้อน
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยการใช้ใบมีดพร้อมใช้ความร้อนจี้หยุดเลือด
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยการใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยการใช้เครื่องปั่นดูด (Microdebridor)
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยการใช้เทคโนโลยีการเผาจี้จากคลื่นพลาสมา (Coblator)
วิธีรักษาแบบไหนที่คุณหมอถนัด?
วิธีที่คุณหมอถนัดที่สุด นอกจากนี้ยังใช้เวลาทำไม่นาน และผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพที่สุดมีทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมทอนซิลด้วยการจี้ความร้อน
- การผ่าตัดต่อมทอนซิลด้วยใบมีดพร้อมใช้ความร้อนจี้หยุดเลือด
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่ต่อมทอนซิล
- ตรวจร่างกายกับแพทย์เพื่อดูขนาดและลักษณะของต่อมทอนซิล
- หากเข้าข้อบ่งชี้ที่ควรรับการผ่าตัด แพทย์จะให้คนไข้รับการตรวจสุขภาพรายการอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และจะส่งตัวคนไข้ไปพบอายุรแพทย์ซึ่งทำหน้าที่เตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมทอนซิล
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางมาผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงอย่าให้ร่างกายติดเชื้อ เป็นหวัด เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารเสริมหรือวิตามินที่ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น วิตามินอี น้ำมันปลา (Fish Oil) น้ำมันตับปลา โสม แปะก๊วย
- งดกินยาต้านเกล็ดเลือดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดก่อนผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมทอนซิล
- แพทย์วางยาสลบคนไข้
- เมื่อยาสลบออกฤทธิ์เต็มที่ แพทย์จะเอาอุปกรณ์ถ่างช่องปากและสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเพื่อตัดต่อมทอนซิลตามวิธีการรักษาที่เลือกใช้
- เมื่อตัดต่อมทอนซิลออกแล้ว แพทย์จะจี้หยุดเลือดคนไข้ด้วยความร้อน
- เมื่อเลือดหยุดไหล แผลผ่าตัดมีความเรียบร้อยดี แพทย์จะนำอุปกรณ์ถ่างช่องปากออก
- ตัวแผลผ่าตัดจะอยู่ด้านในช่องปากคนไข้ และมองไม่เห็นจากภายนอกแต่อย่างใด
- คนไข้จะนอนพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 คืน
ต่อมอะดีนอยด์สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
ต่อมอดีนอยด์ (Adenoid) เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับต่อมทอนซิล และยังมีหน้าที่เหมือนกับต่อมทอนซิลด้วย นั่สคือ ดักกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ที่พบได้บ่อย มีกี่แบบ?
ความผิดปกติที่พบได้บ่อยในต่อมอะดีนอยด์ แบ่งออกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่
- อาการติดเชื้อที่ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเจ็บที่หลังโพรงจมูก
- ต่อมอะดีนอยด์โตจากอาการภูมิแพ้ หรือโรคกรดไหลย้อนที่เป็นมานาน ซึ่งจะไปขวางทางเดินหายใจ ทำให้คนไข้หายใจลำบากขึ้น
- โรคมะเร็งต่อมอะดีนอยด์หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
อาการที่ควรเดินทางมาพบแพทย์
- อาการเจ็บที่หลังโพรงจมูกอยู่บ่อย ๆ
- มีอาการไซนัสอักเสบ
- อาการหูน้ำหนวก หรือหูชั้นกลางเกิดการติดเชื้ออยู่บ่อย ๆ โดยเกิดจากต่อมอะดีนอยด์ไปขวางการระบายน้ำจากด้านในหู
- ต่อมอะดีนอยด์โตจนทำให้หายใจเสียงดัง ทางเดินหายใจอุดกั้นจนหายใจลำบาก
อาการผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ที่ต้องผ่าตัด
อาการผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ที่เข้าเกณฑ์ควรรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ได้แก่
- การติดเชื้อที่ต่อมอะดีนอยด์บ่อยครั้ง
- มีอาการหูน้ำหนวกบ่อยครั้ง
- มีอาการไซนัสอักเสบบ่อยครั้ง และทำให้มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย
ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์มีกี่แบบ?
การผ่าตัดรักษาต่อมอะดีนอยด์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 4 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้ความร้อนจี้ตัด ร่วมกับใช้หัวดูดน้ำเมือกและต่อมทอนซิลออกมาระหว่างผ่าตัด
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้อุปกรณ์ตัดขูดต่อมอะดีนอยด์ (Curette)
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้เครื่องปั่นดูด (Microdebridor)
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้หัวตัดต่อมอะดีนอยด์ (Coblator)
วิธีรักษาแบบไหนที่คุณหมอถนัด?
คุณหมอสามารถใช้วิธีรักษาได้ทั้ง 4 รูปแบบทั้งหมด แต่วิธีที่ได้รับความนิยมที่สุดจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้ความร้อนจี้ตัด ร่วมกับใช้หัวดูดน้ำเมือกและต่อมทอนซิลออกมาระหว่างผ่าตัด
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ โดยการใช้อุปกรณ์ตัดขูดต่อมอะดีนอยด์ (Curette)
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่ต่อมอะดีนอยด์
- ส่องกล้องบริเวณจมูกหรือทางปาก เพื่อให้แพทย์มองเห็นขนาดและลักษณะของต่อมอะดีนอยด์
- แพทย์อาจส่งตัวคนไข้ไปตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์อย่างละเอียดอีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
- 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางมาผ่าตัด ให้หลีกเลี่ยงอย่าให้ร่างกายติดเชื้อหรือเป็นหวัด
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารเสริมหรือวิตามินที่ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น วิตามินอี น้ำมันปลา (Fish Oil) น้ำมันตับปลา โสม แปะก๊วย
- งดกินยาต้านเกล็ดเลือดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดก่อนผ่าตัด
- ตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำ เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- แพทย์อาจส่งตัวคนไข้ไปพบกับแพทย์แผนกอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด เช่น อายุรแพทย์ กุมารแพทย์สำหรับคนไข้ที่เป็นเด็ก
ขั้นตอนการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
- แพทย์วางยาสลบคนไข้
- แพทย์ใช้อุปกรณ์ถ่างช่องปากคนไข้ และใช้อุปกรณ์ผ่าตัดสอดเข้าตัดต่อมอะดีนอยด์
- แพทย์หยุดเลือดด้วยอุปกรณ์จี้ความร้อนหรือยาหยุดเลือด
- หากเลือดหยุดไหลแล้ว และแผลผ่าตัดเรียบร้อยดี แพทย์จะถอดอุปกรณ์ถ่างช่องปากออก
- ตัวแผลผ่าตัดจะอยู่ด้านในช่องปากคนไข้ และมองไม่เห็นจากภายนอกแต่อย่างใด
การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ ทำพร้อมกันได้หรือไม่?
สามารถผ่าตัดพร้อมกันได้ เนื่องจากทั้ง 2 ต่อมตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กัน
หลังผ่าตัด จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่?
หลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้น คนไข้โดยส่วนมากมักไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดที่ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์
เว้นเสียแต่คนไข้จะกลับไปมีปัจจัยหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ความผิดปกติของทั้ง 2 ต่อมกลับมาเป็นซ้ำ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ ในกรณีนี้ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ก็อาจมีโอกาสกลับมาโตขึ้นได้อีกเล็กน้อย
คนไข้เด็กสามารถผ่าตัดได้หรือไม่?
สามารถผ่าตัดได้ในคนไข้เด็กที่อายุ 2 ขวบขึ้นไป เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัดต้องนอนโรงพยาบาล และพักฟื้นที่บ้านกี่วัน?
หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะให้คนไข้นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน หลังจากนั้นหากสามารถฟื้นตัวจากยาสลบได้ดี สามารถกินอาหารเองได้ ไม่มีอาการปวดแผลที่รุนแรง ไม่มีสัญญาณภาวะแทรกซ้อน ก็จะอนุญาตให้เดินทางกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
แพทย์จะแนะนำให้คนไข้พักฟื้นร่างกายที่บ้านต่อประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยตลอดระยะเวลาที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน คนไข้ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- กินอาหารเหลวเย็นตลอดช่วงเวลาที่พักฟื้น
- งดการไอ จาม ขากเสมหะ หรือพูดเยอะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเลือดออก
- นอนยกศีรษะสูงประมาณ 1 สัปดาห์
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายยาให้อย่างเคร่งครัด
- หมั่นอมน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการปวดแผล
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด
- อาการแผลมีเลือดออก โดยส่วนมากมักเกิดจากคนไข้เผลอไอ จาม ขากเสมหะ หรือพูดเยอะ ๆ
- อาการปวดแผล แต่แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดบรรเทาอาการให้หลังผ่าตัดอยู่แล้ว
- อาการหายใจลำบาก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น แพทย์จะแนะนำให้หมั่นอมน้ำแข็งและนอนยกศีรษะสูงไว้ชั่วคราว ในบางรายอาจแนะนำให้หมั่นนอนตะแคงไว้ก่อน
- การรับรสชาติที่เปลี่ยนไป ทำให้รับรสหวาน รสเค็ม หรือรสขมได้น้อยลง
- อาการลิ้นชา
- อาการเลือดออกจนทางเดินหายใจอุดกั้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้
การผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์มีผลต่อภูมิคุ้มกันของคนไข้หรือไม่?
โดยทั่วไปเมื่อเราอายุเกิน 12 ปีขึ้นไป ทั้งต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์จะไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ต่อร่างกายอีก ดังนั้นหากผ่าตัดนำออกไป ก็จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยกเว้นแต่คนไข้ที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งต้องมีการชั่งน้ำหนักร่างกายก่อนตัดสินใจผ่าตัด
หากชั่งน้ำหนักดูแล้วแพทย์ประเมินว่า เด็กมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์ที่โตจนทำให้มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้พัฒนาการช้า สมาธิสั้น หรือส่งผลต่อการทำงานของหัวใจที่หนักเกินไป แพทย์ก็มักจะแนะนำให้ผ่าตัดนำออก
ผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ กับ พญ. เพชรรัตน์ ด้วยบริการจาก HDcare
มีปัญหาที่ต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ หรือมีอาการเจ็บหลังโพรงจมูก เจ็บที่ด้านข้างของช่องปากทั้ง 2 ข้าง เป็นไซนัสอักเสบบ่อย ๆ หายใจลำบาก หรือเคยมีประวัติเป็นทอนซิลอักเสบติดกันหลายครั้ง อยากปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษา ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษาหรือจองคิวผ่าตัดกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญได้เลย
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย