ถุงน้ำดีและท่อน้ำดี เป็นอวัยวะส่วนสำคัญในระบบย่อยอาหาร มีหน้าที่ในการเก็บและขับถ่ายน้ำดี ซึ่งช่วยในการย่อยไขมัน เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม
บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับถุงน้ำดีและท่อน้ำดี รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คุณสามารถสังเกตอาการผิดปกติและดูแลสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น
สารบัญ
ถุงน้ำดีและท่อน้ำดี คืออะไร?
ถุงน้ำดี (Gallbladder) และท่อน้ำดี (Bile Duct) เป็นส่วนสำคัญในระบบย่อยอาหาร มีหน้าที่ในการจัดเก็บและขับถ่ายน้ำดี ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการย่อยไขมันที่ผลิตจากตับ
น้ำดีจะถูกเก็บไว้ในถุงน้ำดี และเมื่อเราบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำดีจะถูกขับออกผ่านท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
หน้าที่ของถุงน้ำดีและท่อน้ำดี
สำหรับหน้าที่ของถุงน้ำดี และท่อน้ำดี มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนี้
ถุงน้ำดี (Gallbladder)
ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายลูกแพร์ ทำหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับ ซึ่งน้ำดีเป็นสารสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการย่อยไขมันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในช่วงที่เราไม่ได้กินอาหาร น้ำดีจะถูกเก็บไว้ในถุงน้ำดี และเมื่อเรากินอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน ร่างกายจะส่งสัญญาณไปยังถุงน้ำดีให้ขับน้ำดีออกมา น้ำดีนี้จะถูกส่งผ่านท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก เพื่อช่วยในการย่อยไขมันและการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็น
ท่อน้ำดี (Bile Duct)
ท่อน้ำดีเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างถุงน้ำดีและลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ส่งน้ำดีจากถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็กโดยตรง น้ำดีจะช่วยในการย่อยไขมันให้กลายเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ท่อน้ำดียังมีบทบาทในการขจัดสารพิษและของเสียที่ผลิตจากกระบวนการย่อยอาหาร โดยน้ำดีจะช่วยขับถ่ายบิลิรูบิน (สารที่เกิดจากการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง) และคอเลสเตอรอลที่ไม่จำเป็นออกจากร่างกาย
โดยรวมแล้ว ถุงน้ำดีและท่อน้ำดีทำงานร่วมกัน เพื่อให้กระบวนการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาสมดุลของสารอาหารในร่างกายนั่นเอง
โรคที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีและท่อน้ำดี
แม้ว่าถุงน้ำดีและท่อน้ำดี ไม่ใช้อวัยวะขนาดใหญ่ และมีการทำงานที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย แต่ถุงน้ำดีและท่อน้ำดี ก็อาจเกิดความผิดปกติได้ เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ โดยโรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยกับถุงน้ำดีและท่อน้ำดี มีดังนี้
1. โรคมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma)
มะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในท่อน้ำดี ซึ่งเป็นท่อที่นำส่งน้ำดีจากตับและถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก มักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้มักตรวจพบในระยะที่โรครุนแรงแล้ว
สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อพยาธิในตับ เช่น พยาธิใบไม้ตับ โรคตับแข็ง การสัมผัสสารเคมีอันตราย เช่น อะฟลาทอกซิน หรือการมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง
- ปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน
- น้ำหนักลด
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- มีไข้
- อาจมีอาการคันตามผิวหนัง
2. โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)
โรคนิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากการรวมตัวของสารในน้ำดี เช่น คอเลสเตอรอลหรือบิลิรูบิน แล้วตกตะกอน รวมตัวกันกลายเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งก้อนนิ่วนี้สามารถเคลื่อนที่และอุดตันท่อน้ำดีได้
สาเหตุมักเกิดจากภาวะน้ำหนักเกิน การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ขาดใยอาหาร ขาดการออกกำลังกาย การตั้งครรภ์
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องด้านขวาหรือกลางท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ในกรณีที่นิ่วอุดตันท่อน้ำดี อาจมีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
3. โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
โรคถุงน้ำดีอักเสบ เป็นอีกโรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเมื่อเกิดการอักเสบขึ้น ถุงน้ำดีจะบวมขึ้น และส่งผลให้ต่อระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะไขมัน
สาเหตุของการอักเสบส่วนใหญ่มักเกิดจากก้อนนิ่ว หรือเนื้องอก ไปขวางในท่อน้ำดี ทำให้น้ำดีไหลไม่สะดวก นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อ HIV ก็อาจเป็นต้นเหตุให้ถุงน้ำดีอักเสบได้เช่นกัน
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องด้านขวาอย่างรุนแรง
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการบวมในช่องท้อง
4. โรคท่อน้ำดีอักเสบ (Cholangitis)
โรคท่อน้ำดีอักเสบ มีลักษณะอาการรวมถึงสาเหตุใกล้เคียงกับโรคถุงน้ำดีอักเสบ แต่ต่างกันตรงที่บริเวณที่อักเสบเท่านั้น
สาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับนิ่วที่อุดตันท่อน้ำดี การติดเชื้อไวรัส หรืออาจเกิดจากมะเร็งท่อน้ำดีได้เช่นกัน
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องด้านขวาอย่างรุนแรง
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการบวมในช่องท้อง
5. โรคมะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder Cancer)
โรคมะเร็งถุงน้ำดี เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในถุงน้ำดี อาจพัฒนาจากนิ่วในถุงน้ำดีหรืออาการอักเสบเรื้อรังก็ได้เช่นกัน
สาเหตุของโรคมะเร็งถุงน้ำดีนั้น มักเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับแข็ง และปัจจัยทางพันธุกรรม รวมถึงประวัติการใช้ยาบางชนิดที่อาจเพิ่มความเสี่ยง
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- ปวดท้องด้านขวาอย่างรุนแรง
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
จะเห็นได้ว่า โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ท่อน้ำดีบางครั้งอาจไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ผู้ป่วยจะรู้ตัวก็เมื่ออาการรุนแรงแล้ว ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตสุขภาพตัวเองเสมอ หากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อตรวจเช็ก และรักษาได้ทันท่วงที
ปวดท้องจุกๆ แน่นๆ โดยเฉพาะหลังกินของมัน ของทอด ฯลฯ เรากำลังเป็นโรคอะไร? เกิดจากถุงน้ำดี ท่อน้ำดีทำงานผิดปกติหรือเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ทักมาได้เลย