บอกเล่าประสบการณ์หมอกระดูก กับหมอปัน ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ กับประสบการณ์ความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
หมอปันนะครับ หมอปิลันธน์ ใจปัญญา เป็นหมอออร์โธปิดิกส์ หรือหมอศัลยกรรมกระดูกและข้อ และมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านกระดูกสันหลังครับ
สารบัญ
- คุณหมอเรียนจบจากที่ไหนมา?
- ทำไมถึงอยากเป็นคุณหมอด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ?
- ทำไมถึงอยากทำอาชีพหมอ?
- ถ้าไม่ได้ทำอาชีพ คิดว่าตัวเองจะประกอบอาชีพอะไรอยู่?
- หมอกระดูกคืออะไร? อยากให้คุณหมอนิยามสักหน่อย
- หมอกระดูกดูแลคนไข้ครอบคลุมในส่วนไหนบ้าง?
- ความท้าทายในการทำงานสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้ออยู่ตรงไหน?
- ความยากของการเป็นหมอกระดูกคืออะไร?
- คุณหมอผ่าตัดมากี่ปีแล้ว และมีเคสไหนที่ประทับใจบ้างมั้ย?
- เรื่องที่คนไข้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับหมอกระดูกคืออะไร?
- เทคนิคการทำงานที่ทำให้คุณหมอดูแลคนไข้ได้อย่างราบรื่น
- ปกติคุณหมอจะตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการรักษาร่วมกับคนไข้ด้วยหรือไม่?
- HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?
คุณหมอเรียนจบจากที่ไหนมา?
หมอเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์จาก University of Nottingham และจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒครับ จากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเช่นกัน
นอกจากนี้หมอยังมีไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมที่ Akita University และ Tohoku Medical and Pharmaceutical University ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยครับ
ทำไมถึงอยากเป็นคุณหมอด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ?
สาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อเป็นสาขาที่มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือค่อนข้างเยอะครับ หมอจึงมองว่าเป็นสาขาที่สนุกและสามารถใช้อุปกรณ์กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นตัวช่วยในการทำงานได้ค่อนข้างเยอะ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ทำงานได้อย่างสนุกและมีความสุขด้วยครับ
นอกจากนี้อีกข้อดีของสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อก็คือ ส่วนมากจะไม่มีเคสผ่าตัดที่เร่งรีบมากครับ ซึ่งแปลว่าอะไร ก็แปลว่าเราจะไม่ค่อยมีเคสผ่าตัดฉุกเฉินที่ต้องผ่าตัดเดี๋ยวนั้นเลย อย่างเช่นเทียบกับคุณหมอสูตินรีเวช ถ้ามีคนไข้ตั้งครรภ์และเจ็บท้องคลอดมา ก็ต้องผ่าตัดคลอดภายในครึ่งชั่วโมงหรือ 1-2 ชั่วโมงนั้นเลย
ซึ่งพอเราไม่ค่อยมีเคสผ่าตัดฉุกเฉิน มันช่วยให้หมอสามารถวางแผนการผ่าตัดล่วงหน้าได้ ว่าเราจะผ่าเมื่อไหร่ ผ่ายังไง ทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวและทบทวนแผนการทำงานได้นานพอสมควร สามารถเตรียมทีมผ่าตัดได้รัดกุมที่สุด และทำงานในช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจพร้อมที่สุดได้ ทำให้ผลการรักษาออกมาค่อนข้างดีครับ
แต่ขณะเดียวกัน การผ่าตัดในสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อส่วนมากจะมีความซับซ้อน และใช้เวลาผ่าตัดนานครับ ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างละเอียดสำหรับการผ่าตัด ต้องวางแผนการผ่าตัดให้เหมาะสมกับคนไข้เป็นรายบุคคลไป
ทำไมถึงอยากทำอาชีพหมอ?
เหตุผลที่อยากทำอาชีพหมอก็เหมือนกับเด็ก ๆ หลายคนครับ คือเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือคนเยอะ และหมอก็เคยเห็นตัวละครหมอในหนังหรือในละครทีวีมาก่อน ซึ่งฉากเวลาที่เขาผ่าตัดมันก็ดูเท่ ดูตื่นเต้น และน่าสนใจดี หมอก็เลยอยากมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราเห็นแบบนั้นบ้างครับ
ถ้าไม่ได้ทำอาชีพ คิดว่าตัวเองจะประกอบอาชีพอะไรอยู่?
ถ้าย้อนเวลากลับไปแล้วไม่ได้เรียนหมอ ก็คิดว่าอาจจะเรียนด้านวิศวกรรมแทนครับ แต่ ณ ปัจจุบันจริง ๆ หมอก็มีสนใจด้านงานมีเดียอยู่บ้างนะครับ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นยูทูปเบอร์หรือทำชาแนลเป็นของตัวเองดู อาจจะทำคลิปคอนเทนต์ของตัวเองแล้วอธิบายเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง
อย่างตอนไหนถ้าหมอไม่มีตารางต้องผ่าตัด หมอก็เคยมีทำคอนเทนต์ลงทั้งใน Facebook, TikTok และ Youtube เกี่ยวกับการรักษาและการผ่าตัดกระดูกด้วยนะครับ
แต่หลัง ๆ มาด้วยตารางการทำงานที่ต้องมีการวางแผนผ่าตัด ต้องดูแลคนไข้หลายท่าน เลยทำให้หมอไม่ค่อยมีเวลาทำคลิปซึ่งมันไม่ได้มีแค่ถ่ายอย่างเดียว แต่มันต้องมีทั้งคิดคอนเทนต์และนำไปตัดต่ออีก ซึ่งอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้ทักษะเป็นพิเศษที่จะทำให้มันออกมาดีได้ด้วย ณ ปัจจุบันหมอก็เลยใช้เวลาไปกับการดูแลคนไข้เสียมากกว่า
แต่นอกเหนือจากเรื่องการรักษากระดูก หมอก็มีความสนใจเรื่องสิ่งประดิษฐ์ DIY หรือการคิดค้นอุปกรณ์ต่าง ๆ การใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาด้วยนะครับ เพราะตอนเด็ก ๆ หมอก็ชอบต่อพวกโมเดล พวกเลโก้ด้วย และชอบเล่นเกมด้วยครับ
หมอกระดูกคืออะไร? อยากให้คุณหมอนิยามสักหน่อย
หมอกระดูกหรือหมอออร์โธปิดิกส์ ก็คือ หมอสาขาที่ทำศัลยกรรมในส่วนของกระดูกและข้อนั่นเอง ซึ่งก็หมายถึงการผ่าตัดที่กระดูก แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้มีตัวเลือกการรักษาแค่ผ่าตัดอย่างเดียวด้วย แต่เรารักษาได้แบบองค์รวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การทำหัตถการต่าง ๆ เช่น การฉีดยาเข้าข้อ การฝึกกล้ามเนื้อ การให้คนไข้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้อาการดีขึ้น
แต่ถ้าลองรักษาด้วยอาการเหล่านี้แล้วคนไข้ยังไม่ดีขึ้น หมอก็จะพิจารณาให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อไปครับ
หมอกระดูกดูแลคนไข้ครอบคลุมในส่วนไหนบ้าง?
หมอกระดูกจะดูแลครอบคลุมกระดูกทุกส่วนตั้งแต่กระดูกคอลงไปครับ ยกเว้นแต่กระดูกใบหน้าที่ส่วนนี้จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ศัลยกรรมพลาสติก และอีกส่วนที่หมอกระดูกก็จะดูแลเช่นกันก็คือ ระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทส่วนปลายที่ไม่ใช่สมอง
ความท้าทายในการทำงานสาขาศัลยกรรมกระดูกและข้ออยู่ตรงไหน?
ความท้าทายแรกของสาขานี้ก็คือ งานออร์โธปิดิกส์จะใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เยอะครับ ดังนั้นในการดูแลคนไข้ 1 คน หมอจะไม่สามารถทำตัวคนเดียวได้ แต่เราจะต้องมีทีมงานหลาย ๆ ท่าน ทั้งตัวของหมอเอง รวมถึงคุณหมอผู้ช่วย พยาบาลห้องผ่าตัด ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ช่วยเอกซเรย์ระหว่างผ่าตัด เราต้องประสานงานกันหลายส่วนเพื่อให้งานผ่าตัดที่ซับซ้อนผ่านไปได้ และให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งเช่นกันครับ อย่างโรคที่กระดูกสันหลัง ถ้าคนไข้เป็นผู้สูงอายุและเราตรวจทั้งวิธีเอกซเรย์ วิธี CT Scan หรือวิธีทำ MRI เราก็อาจจะพบความเสื่อมที่กระดูกสันหลังอยู่แล้ว และอาจจะมีการไปกดทับเส้นประสาทอยู่แล้วด้วย แต่อาการที่ทำให้คนไข้มาหาเราก็อาจจะไม่ได้เกิดจากจุดที่เราตรวจพบปัญหาเสมอไปก็ได้
ดังนั้น ณ ปัจจุบันเวลาเรารักษาคนไข้ เราก็ไม่จำเป็นต้องรักษาทุกจุดที่มีปัญหาเสมอไป เช่น ถ้าพบปัญหาหลายจุด แต่บางจุดยังไม่มีอาการอะไร ก็ยังไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ หรือถ้าอาการเกิดขึ้นจุดเดียว เราก็เลือกผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ ทำให้คนไข้ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีกว่า และเจ็บตัวน้อยกว่าด้วยครับ
ความยากของการเป็นหมอกระดูกคืออะไร?
สำหรับหมอ สิ่งที่ยากคือการผ่าตัดของสาขาออร์โธปิดิกส์จะค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลาผ่าตัดนานครับ ดังนั้นความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องมีสมาธิกับการผ่าตัดที่ใช้เวลานาน โดยที่เพอร์ฟอร์แมนซ์เราต้องไม่ตกด้วย ต้องรักษาสภาพร่างกาย จิตใจ และสมาธิไว้ให้ดีสม่ำเสมอตลอดการผ่าตัดครับ
คุณหมอผ่าตัดมากี่ปีแล้ว และมีเคสไหนที่ประทับใจบ้างมั้ย?
จนถึงตอนนี้หมอก็ผ่าตัดมาเข้าปีที่ห้าแล้วครับ ส่วนเคสที่ประทับใจ ก็จะเป็นคนไข้บางรายที่เขาเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนและไปทับเส้นประสาท เขาเคยไปรักษามาหลายที่แล้วครับ เคยไปมา 3-4 โรงพยาบาลก็แล้ว แต่ยังไม่เจอวิธีรักษาที่เหมาะสมกับอาการของเขาเลย ยังหาวิธีวินิจฉัยที่ถูกต้องไม่เจอด้วย สุดท้ายก็ยังมีอาการปวดอยู่ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก
แต่พอเขามาตรวจกับเรา เราก็สามารถหาวิธีวินิจฉัยที่ถูกต้องให้คนไข้ได้ และเลือกวิธีรักษาที่คนไข้เจ็บน้อยที่สุดได้ด้วย ทำให้ผลลัพธ์การรักษาดี คนไข้ประทับใจ ก็ทำให้หมอภูมิใจด้วยครับที่ได้ช่วยเหลือคนไข้ให้หายดีได้
เรื่องที่คนไข้มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับหมอกระดูกคืออะไร?
บางครั้งคนไข้จะเข้าใจผิดว่าเราดูแลกระดูกของร่างกายมนุษย์ทั้งหมดครับ โดยเฉพาะกระดูกใบหน้า บางคนมีปัญหาเรื่องกระดูกกรามหรือกระดูกใบหน้าและเข้ามาปรึกษาเราก็มี แต่จริง ๆ ถ้าเป็นงานในส่วนของกระดูกใบหน้า จะเป็นคุณหมอสาขาศัลยกรรมพลาสติกที่จะเป็นผู้ดูแลครับ
เทคนิคการทำงานที่ทำให้คุณหมอดูแลคนไข้ได้อย่างราบรื่น
เทคนิคสำคัญคือ เราต้องทำงานกันเป็นทีมครับ เพราะหมอเพียงคนเดียวไม่สามารถดูแลคนไข้ทุกด้านได้ แต่เราต้องมีทั้งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ทีมเทคนิคการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งประสานงานร่วมกันอย่างดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุดได้ครับ
ปกติคุณหมอจะตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการรักษาร่วมกับคนไข้ด้วยหรือไม่?
มีส่วนและเป็นปัจจัยที่สำคัญมากอีกอย่างครับ โดยเมื่อเรารับทราบอาการของคนไข้อย่างชัดเจนแล้ว หรือเราทราบว่าอาการนั้น ๆ มันรบกวนชีวิตประจำวันคนไข้ยังไง เรารู้ว่าคนไข้แต่ละท่านมีการใช้งานกระดูกหลังผ่าตัดยังไงบ้าง เราก็จะสามารถช่วยคนไข้วางแผนการรักษา และให้ข้อมูลทางเลือกในการรักษาแบบต่าง ๆ กับคนไข้ได้ ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมอบความคาดหวังและระยะเวลาพักฟื้นที่ไม่เท่ากัน
พูดง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่คนไข้คาดหวังหลังผ่าตัด ระยะเวลาพักฟื้น โอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ล้วนสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของคนไข้ทั้งหมด ซึ่งหมอก็จะแนะนำข้อมูลการรักษาทั้งหมด และให้คนไข้ตัดสินใจทางเลือกที่เหมาะที่สุดครับ
HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?
HDcare จัดเป็นแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพแห่งหนึ่งเลยครับ สามารถช่วยให้คนไข้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและอยู่ในค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมได้
นอกจากนี้ HDcare ยังมีทีมงานทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ช่วยประสานงานให้กับคนไข้ เพื่อให้คนไข้เข้ารับการรักษาได้อย่างราบรื่นด้วย ทำให้มีโอกาสที่จะเข้ามาปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือผ่านช่องทางออนไลน์ได้จนกว่าจะพอใจก่อนเริ่มการรักษา
ตัวหมอเองก็เข้าร่วมกับทาง HDcare ทั้งกลุ่มวิธีทำหัตถการที่ไม่ผ่าตัด เช่น การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท การฉีดซีเมนต์เข้ากระดูกสันหลัง และกลุ่มวิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดส่องกล้องกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอนโดสโคป ไม่ว่าจะเพื่อขยายโพรงประสาทหรือนำหมอนรองกระดูกออก และอีกกลุ่มก็คือ การผ่าตัดเชื่อมข้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะคอด้านหน้า หรือการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังแบบแผลเล็กครับ
ใครที่มีปัญหาสุขภาพด้านกระดูกและข้อ โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลัง สามารถติดต่อมาทาง HDcare ได้เลยนะครับ และทางทีมงานจะประสานงานเข้ามาที่หมออีกทีครับ
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย