constipation disease definition scaled

ท้องผูก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา อึไม่ออก ไม่สุด เสี่ยงโรคอะไร?

ท้องผูก อึไม่ออก ต้องใช้แรงเบ่งเยอะ นอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สดชื่นหรือไม่สบายตัวแล้ว อาการหล่านี้หากเป็นเรื้อรัง ก็เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้เช่นกัน…ท้องผูก ขับถ่ายยาก เป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง และเกิดจากสาเหตุอะไร บทความนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้ว

1. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นอีกชนิดของโรคมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่อายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป โดยแบ่งระยะของโรคออกได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 0: มีติ่งเนื้อเกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ สามารถตรวจพบได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากรู้เร็วมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง
  • ระยะที่ 1: ติ่งเนื้อเริ่มพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง และฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลึกลงไปยังชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง 
  • ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ ปอด 

สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีบางปัจจัยที่สามารถกระตุ้นทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น

  • ประวัติพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยติ่งเนื้อที่พบในบริเวณดังกล่าวมีโอกาสลุกลามกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ในภายหลังได้ เพียงแต่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปีขึ้นไป
  • ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดคนอื่นๆ มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป
  • การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตมีความเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ออกกำลังกาย

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาเลย จนทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่า ตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือในผู้ป่วยที่มีอาการ หลายอาการก็มีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ท้องเสีย 
  • ท้องผูก 
  • ท้องอืด หรือรู้สึกอาหารไม่ย่อย อึดอัดแน่นท้อง
  • รู้สึกเหมือนเป็นตะคริวที่ท้อง
  • ปวดแสบร้อน
  • มีอุจจาระปนเลือดสด หรือมีสีคล้ำมาก 
  • ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป เช่น เป็นเม็ดเล็ก ๆ มีความเรียวยาวกว่าปกติ 
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • อ่อนเพลียง่ายผิดปกติ
  • เกิดภาวะโลหิตจาง

ทั้งนี้อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการขับถ่ายที่ไม่ปกติ เช่น ถ่ายไม่ออก ท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยๆ ถ่ายไม่สุด หรืออุจจาระมีมูกเลือดปน หากพบว่าคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

2. โรคท้องผูกเรื้อรัง

โรคท้องผูกเรื้อรัง (Chronic Constipation: CC) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะขับถ่ายอุจจาระได้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการร่วมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายที่ไม่ปกติ 

โรคท้องผูกเรื้อรังอาจฟังดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงอะไร แต่ความจริงโรคนี้สามารถเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในภายหลังได้ นอกจากนี้ยังทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

สาเหตุของโรคท้องผูกเรื้อรัง

โรคท้องผูกเรื้อรังมีปัจจัยกระตุ้นได้จากทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • พฤติกรรมกินอาหารที่มีกากใยน้อย
  • พฤติกรรมดื่มน้ำน้อย
  • พฤติกรรมกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากเกินไป
  • พฤติกรรมกลั้นอุจจาระบ่อย
  • ผลข้างเคียงจากยาประจำตัวบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ โรคความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน โรคภูมิแพ้
  • การตั้งครรภ์
  • เกิดจากโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคลำไส้แปรปรวน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
  • เกิดจากความผิดปกติบริเวณลำไส้ เช่น กล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ภาวะลำไส้เฉื่อย โรคไส้ตรงปลิ้น

อาการของโรคท้องผูกเรื้อรัง

  • ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ
  • อุจจาระเป็นก้อนแข็ง 
  • ต้องใช้เวลานานในการเบ่งถ่ายอุจจาระ
  • หลังขับถ่ายอุจจาระเสร็จ จะรู้สึกว่ายังขับถ่ายไม่หมด

หากคุณมีอาการท้องผูกไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะอาจลุกลามเป็นมะเร็งลำไส้ได้ ฉะนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

3. ภาวะอุจจาระอัดแน่น

ภาวะอุจจาระอัดแน่น (Fecal Impaction) หรือที่มักเรียกกันอีกชื่อว่า “โรคขี้เต็มท้อง” เป็นภาวะที่อุจจาระซึ่งตกค้างอยู่ที่ปลายสุดของลำไส้ใหญ่จนแห้งและแข็งไปอุดตันเป็นจำนวนมาก จนทำให้อุจจาระใหม่ไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับโรคท้องผูก แต่รุนแรงกว่า

สาเหตุของภาวะอุจจาระอัดแน่น

สาเหตุของการเกิดภาวะอุจจาระอัดแน่นมักจะคล้ายกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคท้องผูก เช่น

  • พฤติกรรมกินอาหารที่มีกากใยน้อย
  • พฤติกรรมดื่มน้ำน้อย
  • พฤติกรรมกลั้นอุจจาระบ่อย
  • พฤติกรรมกินอาหารที่มีไขมันและน้ำตาล หรือกินอาหารประเภทเนื้อแดง
  • พฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย
  • ประวัติเคยผ่าตัดจนทำให้เกิดพังผืดที่ลำไส้ หรือเกิดพื้นที่ซอกหลืบจนทำให้อุจจาระไปติดค้างได้
  • โรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเกี่ยวกับไขสันหลัง
  • ผลข้างเคียงจากยาประจำตัวบางชนิด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ โรคความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน โรคภูมิแพ้

อาการของภาวะอุจจาระอัดแน่น

  • เรอเปรี้ยว 
  • ปากขม
  • ผายลมบ่อย
  • อ่อนเพลียง่ายขึ้น
  • ปวดหลังส่วนล่าง 
  • ปวดท้อง หรือรู้สึกไม่สบายท้อง
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • คลื่นไส้อาเจียน 
  • ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ 
  • หลังถ่ายอุจจาระแล้วจะรู้สึกว่า ยังอุจจาระไม่หมด
  • อุจจาระมีเลือดปน 
  • เจ็บทวารหนัก

ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ถ่ายไม่สุด กินยาระบายเองได้ไหม?

เมื่อมีอาการท้องผูก นอกจากพยายามดื่มน้ำมากๆ กินผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีไฟเบอร์สูงแล้ว บางคนอาจเลือกรับประทานยาระบาย เพราะคิดว่าช่วยรักษาอาการได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

แต่จริงๆ แล้วผู้ป่วย ไม่ควรซื้อยาระบายมารับประทานเองเด็ดขาด เนื่องจากการรับประทานยาระบายบางประเภทอาจส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้ดื้อยา และต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาระบายขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งใช้เท่าไหร่ก็ถ่ายไม่ออก

ดังนั้นหากมีอาการท้องผูก ควรมาพบแพทย์และตรวจโดยละเอียด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

จะเห็นได้ว่าอาการท้องผูกหรือเบ่งอุจจาระยาก ไม่ได้เป็นเรื่องปกติ แต่อาการนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้ด้วย 

ดังนั้นหากมีอาการท้องผูก ขับถ่ายไม่ปกติ เมื่อลองปรับพฤติกรรมแล้วก็ยังไม่หาย และเป็นต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

ไม่แน่ใจว่าอาการท้องผูกเกิดจากโรคหรือความผิดปกติอะไรหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคในระบบขับถ่าย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top