cervical cancer treatment comparison scaled

6 วิธีรักษามะเร็งปากมดลูก ผ่าตัด ไม่ผ่าตัด มีวิธีอะไรบ้าง?

เมื่อตรวจพบโรคมะเร็งปากมดลูก หลายคนก็อาจกังวลว่าจะรักษายังไงดี ต้องผ่าตัดเลยไหม การผ่าตัดจะอันตราย กระทบต่อระบบร่างกายหรือเปล่า ถ้าผ่าตัดไม่ได้ รักษาทางไหนได้อีก ฯลฯ จริงๆ แล้วการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นมีหลากหลายแนวทาง ทั้งแบบไม่ผ่าตัด และแบบผ่าตัด บทความนี้ได้รวม 6 วิธีการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก เอาไว้ให้แล้ว

สารบัญ

ทำความรู้จักมะเร็งปากมดลูก มีกี่ระยะ แต่ละระยะ รักษาอย่างไร?

โรคมะเร็งปากมดลูก มีความคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งโดยทั่วไป คือสามารถแบ่งได้เป็นระยะ ดังนี้

  1. ระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง หรือเรียกว่า ระยะที่ 0 เป็นระยะที่เซลล์ปากมดลูกเกิดความผิดปกติ ยังไม่มีการกระจาย การรักษาคือตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก เป็นการผ่าตัดเล็ก ให้ผลการรักษาเกือบ 100%
  2. ระยะลุกลาม เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งก่อตัวกลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว โดยแบ่งระยะได้ดังต่อไปนี้
    1. ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายอยู่ที่ปากมดลูก การรักษาคือการผ่าตัดมดลูกและเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก ให้ผลการรักษาดี ประมาณ 80%
    2. ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มแพร่กระจายจากปากมดลูกไปยังส่วนอื่นๆ แต่ไม่ไกลมากนัก แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ระยะนี้ต้องใช้การฉายแสง และอาจให้คีโมบำบัดควบคู่กัน ให้ผลการรักษาดี ประมาณ 60%
    3. ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วประมาณ 1 ใน 3 ของบริเวณช่องคลอด อาจรวมถึงบริเวณผนังอุ้งเชิงกราน และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงด้วย ระยะนี้ต้องใช้การฉายแสง ควบคู่กับคีโมบำบัด ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วย
    4. ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปเกินกว่าบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ ปอด กระดูก ระยะนี้ต้องใช้การฉายแสง ควบคู่กับคีโมบำบัด ผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วย

เมื่อทราบวิธีการรักษามะเร็งปากมดลูกในแต่ละระยะแล้ว เราจะมาลงรายละเอียดด้านกระบวนการรักษาในแต่ละวิธีให้ทราบกัน ดังนี้

1. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก (Cervical Biopsy) คือ การใช้อุปกรณ์ตัดชิ้นเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นหัตถการ มี 2 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 

  • การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยรอยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติม
  • การตัดชิ้นเนื้อเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง หรือระยะที่ 0

อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเก็บชิ้นเนื้อปากมดลูกแบ่งออกได้หลายรูปแบบ เช่น ใบมีด พลังงานเลเซอร์ ห่วงไฟฟ้าหรือ LEEP ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้ที่สุด เนื่องจากตัดชิ้นเนื้อได้ง่าย และสามารถห้ามเลือดได้ในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ขนาดของชิ้นเนื้อที่ตัดออก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ป่วยบางรายอาจตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็ก ในบางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ เพื่อกำจัดรอยโรคออกให้หมด

การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกนี้ เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที และผลการรักษามีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสหายขาดเกือบ 100%

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นระยะที่รอยโรคยังอยู่ที่เยื่อบุผิวปากมดลูกและยังไม่กระจายไปในวงกว้าง ซึ่งแพทย์ก็จะใช้อุปกรณ์ตัดนำเนื้อเยื่อส่วนที่ผิดปกติและขอบเนื้อเยื่อส่วนที่ไม่มีรอยโรคออกไป เพื่อป้องกันโรคไม่ให้ลุกลามแพร่กระจายไปบริเวณอื่นอีก
  • ผู้ป่วยที่ผลการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกยังไม่ชัดเจนมากพอ ในกรณีนี้แพทย์ก็จะตัดเก็บชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ข้อดีของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

  • ใช้ได้ทั้งการรักษาโรคและเพื่อการวินิจฉัยโรคไปพร้อมกันได้
  • ใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะก่อนเป็นโรคมะเร็งได้
  • เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาทำหัตถการไม่นาน ประมาณ 15-20 นาที
  • หลังผ่าตัด พักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องนอน รพ.
  • เลือกวิธีระงับความรู้สึกได้ทั้งการฉีดยาชาหรือใช้ยาสลบ

ข้อจำกัดของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

  • ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งในระยะอื่นๆ ที่เริ่มมีการลุกลามได้
  • กรณีที่ต้องตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ อาจทำให้ปากมดลูกสั้นกว่าเดิม จนมีโอกาสแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในอนาคต
  • หากการตัดชิ้นเนื้อครั้งแรกยังกำจัดรอยโรคได้ไม่หมด ผู้ป่วยอาจต้องกลับมาตัดชิ้นเนื้อซ้ำอีกในอนาคต และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดในอนาคตได้

ผลข้างเคียงของการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

  • เกิดภาวะแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะแผลติดเชื้อ
  • มีตกขาวมาก
  • อาการปวดหน่วงท้องน้อย
  • มีเลือดออกในช่องคลอด แต่โดยส่วนมากมักอยู่ในปริมาณเพียงเล็กน้อย

ค่าใช้จ่ายในการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก

ค่าใช้จ่ายในการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการตรวจวินิจฉัย รวมถึงเงื่อนไขการบริการในแต่ละสถานพยาบาล

2. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีผ่าตัด

การผ่าตัดมดลูก เป็นแนวทางหลักที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ในผู้ป่วยระยะที่ 1 โดยเมื่อตรวจพบรอยโรคแพทย์มักจะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งหรือชิ้นเนื้อส่วนที่พบเซลล์มะเร็งออกโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจาย

ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดมดลูกออกแบบกว้างขวาง หมายถึง ตัดทั้งมดลูก เนื้อเยื่อรอบตัวมดลูก รวมทั้งเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานออกด้วย

ส่วนจะตัดรังไข่ด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา หากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แพทย์มักแนะนำให้ตัดรังไข่ออกด้วย เพื่อลดโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายจนเกิดมะเร็งรังไข่ในอนาคต แต่หากผู้ป่วยยังมีอายุไม่มาก แพทย์มักแนะนำให้เก็บรังไข่ไว้ เนื่องจากรังไข่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ หากตัดออก ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะวัยทองทันที และต้องกินฮอร์โมนทดแทนไปตลอดชีวิต จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลข้างเคียงที่ตามมา

แต่ก็มีบางรายที่เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายไม่มาก จึงอาจเก็บมดลูกเอาไว้ได้ ซึ่งกรณีนี้ผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกในอนาคต

นอกจากนี้ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดมดลูกหลายวิธี ที่ช่วยให้แผลมีขนาดเล็กลง เจ็บตัวน้อยลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้นลง เช่น การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกแบบส่องกล้อง เป็นต้น 

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีผ่าตัด เหมาะกับใคร?

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 ที่เซลล์มะเร็งยังแพร่กระจายอยู่ที่ปากมดลูก มักได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด แต่เทคนิคการผ่าตัดจะเป็นรูปแบบใด ต้องตัดอวัยวะส่วนใดออกบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจจากแพทย์

ข้อดีของการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

  • ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 80% ในผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 1
  • หากเป็นการผ่าตัดเฉพาะปากมดลูก ไม่ได้นำมดลูกออก ผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ในอนาคต
  • มีเทคนิคการผ่าตัดที่หลากหลาย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เจ็บตัวน้อยลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้นลง เช่น การผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกแบบส่อง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการประเมินจากแพทย์

ข้อจำกัดของการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

  • ใช้รักษาได้เพียงผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 ซึ่งเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายเท่านั้น
  • มีโอกาสที่อวัยวะข้างเคียงจะได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด
  • หากแพทย์ประเมินว่าจำเป็นต้องผ่าตัดด้วยวิธีเปิดหน้าท้องเท่านั้น ไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นขนาดค่อนข้างใหญ่ที่หน้าท้อง และใช้เวลาพักฟื้นนาน
  • หากแพทย์ประเมินว่าต้องตัดมดลูกออก ผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

  • อาการข้างเคียงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน
  • ภาวะแผลติดเชื้อ ซึ่งทำให้มีไข้สูง เกิดภาวะแผลบวมแดง มีของเหลวไหลออกจากแผลหรือทางช่องคลอด
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด
  • มีตกขาวมาก มีกลิ่นแรง หรือมีตกขาวปนเลือด
  • ปวดท้องน้อยหรือปวดอุ้งเชิงกราน
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบหรือติดเชื้อ

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดโรคมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด รวมถึงเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาลซึ่งโดยทั่วไปจะเริ่มต้นอยู่ที่ 80,000-100,000 บาทขึ้นไป

ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมาผิดปกติ มีเลือดไหลจากช่องคลอด หรืออาการอื่น ๆ ที่ไม่สบายใจ จะเป็นมะเร็งปากมดลูกมั้ย หรือถ้าเป็นแล้วต้องผ่าตัดแบบไหน รักษายังไง ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อทำนัดปรึกษาคุณหมอได้เลย

3. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการฉายแสง

การฉายแสง หรือ รังสีรักษา (Radiation Therapy) เป็นการใช้คลื่นรังสีเอ็กซ์พลังงานสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรมภายในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถซ่อมแซมตนเองได้อีก และตายในที่สุด แบ่งออกได้ 2 เทคนิค ได้แก่

  • การฉายรังสีในระยะใกล้ (Brachytherapy) หรือที่เรียกได้อีกชื่อว่า การใส่แร่ เป็นวิธีฉายรังสีโดยการฝังแร่กัมมันตรังสีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคลื่นรังสีเข้าไปยังตัวก้อนมะเร็งหรือบริเวณใกล้เคียง
  • การฉายรังสีในระยะไกล (External Beam Radiation Therapy: EBRT) เป็นการฉายรังสีไปยังร่างกายผู้ป่วยผ่านเครื่องฉายรังสี ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นและขนาดของรังสีตามขนาดของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีฉายรังสีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีฉายแสง เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่โรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระยะ 2-4 หรือในระยะที่เซลล์มะเร็งได้เริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว
  • ผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพบางประการ ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง

  • หากมะเร็งอยู่ในระยะที่ไม่ได้ลุกลามรุนแรง ผู้ป่วยมีโอกาสหายประมาณ 60%
  • ช่วยลดอาการข้างเคียงจากโรคได้ เช่น อาการเลือดออกมากผิดปกติ
  • ช่วยลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำหลังผ่าตัด
  • ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการฉายแสงที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง
  • สามารถใช้การฉายแสงควบคู่กับการทำคีโม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง

  • หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการฉายแสงสูงกว่ากลุ่มอื่น ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงได้ และทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น ช่องคลอดแห้ง ช่องคลอดตีบตัน ถ่ายเป็นเลือด
  • อาจรักษาด้วยวิธีเดียวไม่ได้ผล และต้องรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การทำเคมีบำบัด จึงจะเห็นผลลัพธ์ในการรักษาชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง

ภาวะแทรกซ้อนจากการฉายแสงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณรังสีที่ใช้ เทคนิคในการฉายแสง ตำแหน่งที่ฉายแสง โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น

  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • อ่อนเพลียง่าย
  • ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ผิวมีรอยแดง และอาจมีอาการคัน
  • ช่องคลอดแห้ง 
  • ช่องคลอดตีบตัน 
  • มีเลือดไหลจากช่องคลอด
  • ถ่ายเป็นเลือด 
  • มีปัญหาด้านการปัสสาวะ
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร
  • เกิดภาวะกระดูกพรุนบริเวณกระดูกที่ใกล้กับตำแหน่งที่ฉายแสง

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสงมักเริ่มต้นอยู่ที่ 50,000-80,000 ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล 

4. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ยาเคมีบำบัด

การให้ยาเคมีบำบัดหรือ การทำคีโม (Chemotherapy) คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และในผู้ป่วยบางรายยังใช้เพื่อควบคุมระยะโรคมะเร็ง ให้อยู่ในระดับที่ประคับประคองได้ สามารถให้ได้ทั้งยาฉีดและให้ยาทางหลอดเลือด สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์มักพิจารณาให้คีโม ร่วมกับการฉายแสง เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัด เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่โรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระยะ 2-4 หรือในระยะที่เซลล์มะเร็งได้เริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว
  • ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉายแสง แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย
  • ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยการผ่าตัดมาแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยยาเคมีบำบัดซ้ำอีก เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งกลับมาเจริญเติบโตได้อีก

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัด

  • หากมะเร็งอยู่ในระยะที่ไม่ได้ลุกลามรุนแรง ผู้ป่วยมีโอกาสหายประมาณ 60%
  • ช่วยยับยั้งโอกาสกลับมาเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกซ้ำ

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัด

  • ผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่สามารถรักษาโดยการให้เคมีบำบัดได้ เพราะยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เป็นโรคตับ โรคไตระยะรุนแรง จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนการรักษา เนื่องจากยาเคมีบำบัดอาจไปส่งผลทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ร่างกายมีการติดเชื้อ ยาเคมีบำบัดอาจไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลงได้อีก 
  • ผู้ป่วยที่มีบาดแผลตามร่างกาย ยาเคมีบำบัดอาจส่งผลให้แผลหายช้าลงอีก แพทย์อาจแนะนำให้รักษาแผลให้หายก่อนแล้วจึงค่อยให้ยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีให้ยาเคมีบำบัด

การให้ยาเคมีบำบัดสามารถช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกายผู้ป่วยได้ก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะไปทำลายเซลล์ปกติภายในร่างกายผู้ป่วยด้วยจนเกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • มีแผลในช่องปาก
  • ผมร่วง
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะไตวาย
  • เป็นโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • เกิดความผิดปกติที่เส้นประสาท

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ยาเคมีบำบัด

รูปแบบการให้ยาเคมีบำบัดจะนิยมให้ในลักษณะเป็นรอบ ระยะเวลาต่อรอบมักอยู่ที่ 1-5 วัน จำนวนรอบจะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาที่แพทย์วางแผนไว้ โดยค่าใช้จ่ายต่อรอบจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและค่าบริการของแต่ละสถานพยาบาล

5. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด

การให้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือ กระบวนการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำให้ภูมิคุ้มกันสามารถต้านทานและกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ เป็นการใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเองในการรักษาโรคมะเร็งนั่นเอง

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะ 2-4 ขึ้นไป หรืออยู่ในระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่น หรือมีเงื่อนไขสุขภาพทำให้รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด

  • เป็นวิธีรักษาด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยเอง ไม่ใช่การใช้สารหรือยาภายนอก
  • เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ แม้ตัวโรคจะอยู่ในระยะแพร่กระจายมากแล้ว
  • เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด

  • นิยมใช้รักษาในผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระดับรุนแรง
  • การให้ภูมิคุ้มกันบำบัดอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งประวัติสุขภาพและโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เช่น โรคปอด โรคตับ โรคไต ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน
  • มีราคาค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักล้าน 

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด

โดยทั่วไปผลข้างเคียงจากการให้ภูมิคุ้มกันบำบัดมักไม่รุนแรงนักเมื่อเทียบกับการให้ยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น

  • อ่อนเพลีย 
  • เป็นไข้
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด

เนื่องจากเป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ ค่าใช้จ่ายในการให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจึงสูงมาก โดยเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ  3,000,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาและเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล

6. การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นอีกวิธีรักษาโรคมะเร็งรูปแบบใหม่ผ่านการใช้ตัวยาที่สามารถออกฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้อย่างเฉพาะเจาะจง จัดเป็นแนวทางรักษาแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น เนื่องจากแพทย์จะมีการวิเคราะห์ตัวยาที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยแต่ละรายเป็นรายบุคคลไป ทำให้โอกาสลดจำนวนของเซลล์มะเร็งเห็นผลได้ชัดมากขึ้น

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า เหมาะกับใคร?

การใช้ยามุ่งเป้าเป็นวิธีรักษาใหม่ที่ยังต้องมีการวิจัยและศึกษาถึงประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ แต่โดยส่วนมากกลุ่มที่เหมาะต่อการใช้ยามุ่งเป้า ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 หรือระยะลุกลามรุนแรง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่น หรือรักษาแล้วกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีก
  • ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยยามุ่งเป้าควบคู่ไปด้วย

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า

  • เป็นการรักษาที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้แบบเฉพาะเจาะจงและตรงจุดมากขึ้น
  • เกิดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติของร่างกายได้น้อยกว่าวิธีให้ยาเคมีบำบัด
  • เป็นทางเลือกการรักษาในผู้ป่วยที่มีเงื่อนไขสุขภาพ ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ หรือไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่นๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า

  • ตัวยาที่ใช้ในการรักษาต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางการแพทย์เพื่อให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยแบบรายบุคคลได้ ดังนั้นยาบางชนิดจึงอาจผลิตออกมาได้ในปริมาณที่จำกัด
  • ราคาค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักล้าน

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า

แม้จะเป็นการออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้บางประการ เช่น

  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ผมร่วง
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ผิวแห้งหรือคันระคายเคืองผิว
  • เกิดผื่นคันที่ผิว
  • มีแผลในปาก
  • เกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว
  • เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือด 
  • ภาวะเลือดออกมาก
  • หากมีแผลตามร่างกาย แผลอาจหายช้า
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • เป็นโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • อาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น รอบดวงตา มือ ขา เท้า
  • การทำงานของอวัยวะอื่นๆ ผิดปกติ เช่น ตับ ไต ต่อมไทรอยด์

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยยามุ่งเป้า

การใช้ยามุ่งเป้าเป็นวิธีรักษาใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 2,000,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาจากแพทย์และเงื่อนไขการให้บริการของโรงพยาบาล

จากทั้ง 6 แนวทางรักษาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นมีหลายวิธี ซึ่งเหมาะกับอาการและระยะของโรคที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละวิธีก็นับว่ามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง 

ดังนั้นหากตรวจพบมะเร็งปากมดลูกก็ไม่ต้องกังวลใจ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อวางแผนการรักษาโดยเร็วที่สุด โดยจากสถิติจะเห็นว่า ยิ่งตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสที่จะหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม และแนะนำให้ตรวจอย่างสม่ำเสมอ 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งยิ่งฉีดเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

ตรวจพบมะเร็งปากมดลูก กังวลใจไม่รู้จะเริ่มรักษายังไงดี? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก ที่ รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top