adenoid disease definition

เด็กนอนกรน ไม่ใช่เรื่องปกติ อาจกำลังป่วยเป็นต่อมอะดีนอยด์โต

เด็กนอนกรน คัดจมูก มีน้ำมูกบ่อย อาจไม่ใช่ไข้หวัดปกติ ผู้ปกครองอย่างนิ่งนอนใจ เพราะอาจกำลังป่วยเป็นต่อมอะดีนอยด์โต จนอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร เกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง รักษายังไง บทความนี้มีคำตอบ

ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร?

ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก เป็นต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกับต่อมทอนซิล ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อโรคที่หลุดเข้าไปโพรงจมูก พร้อมๆ กับผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น

ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีความสำคัญมากในเด็กอายุ 1-10 ปี เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัยของร่ายกาย เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ต่อมอะดีนอยด์จะโตและอักเสบขึ้น

แต่เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ต่อมอะดีนอยด์จะมีขนาดเล็กลง และลดบทบาทหน้าที่ลงเรื่อยๆ จนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่ จึงสังเกตได้ว่า ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยป่วยด้วยอาการที่เกี่ยวข้องกับต่อมอะดีนอยด์

แต่แม้ว่าต่อมอะดีนอยด์จะไม่ค่อยมีบทบาทในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน

ต่อมอะดีนอยด์เกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง

ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ และต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

  1. ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพร่กระจายได้ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ จาม เป็นต้น
  2. ต่อมอะดีนอยด์โต ส่วนใหญ่อาจเกิดจากการเป็นภูมแพ้เรื้อรัง หรือบางครั้งอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคกรดไหลย้อนก็ได้เช่นกัน

นอกจากความผิดปกติทั้ง 2 รูปแบบที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งความผิดปกติที่เกิดกับต่อมอะดีนอยด์ได้ก็คือ มะเร็งต่อมอะดีนอยด์ หรือที่รู้จักกันในชื่อมะเร็งหลังโพรงจมูก ซึ่งมักเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จนโรคเกิดการลุกลามได้

ต่อมอะดีนอยด์อักเสบมีอาการอย่างไร

อาการที่เด่นชัดที่สุด เมื่อต่อมอะดีนอยด์โตและอักเสบคือ คัดจมูกและนอนกรน เป็นผลมาจากต่อมอะดีนอยด์โตจนไปเบียด และอุดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ต่อมอะดีนอยด์เป็นหนอง
  • เจ็บบริเวณหลังโพรงจมูก
  • เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
  • หูอื้อ หรือหูหนวกชั่วคราว จากการที่หูชั้นกลางอักเสบ
  • หายใจทางจมูกลำบาก ทำให้ต้องหายใจทางปาก ทำให้ริมฝีปากแห้ง ลอก มีกลิ่นปาก
  • น้ำมูกไหลเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบ ทำให้มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ

โดยส่วนใหญ่ภาวะต่อมอะดีนอยด์อักเสบ มักเกิดร่วมกันกับต่อมทอลซิลอักเสบด้วย

อาการแบบนี้ ใช่โรคต่อมอะดีนอยด์อักเสบหรือเปล่า หรือเข้าข่ายโรคร้ายแรงอื่นๆ อยากปรึกษาคุณหมอให้มั่นใจ ทักหาทีมงาน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้ที่นี่

ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ ถ้าไม่รักษาอันตรายไหม

อาการที่เด่นชัดเมื่อต่อมอะดีนอยด์โตคือ การนอนกรน เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์โตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะนอนหลับ ดังนั้นหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษา อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา เช่น

  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • พัฒนาการของเด็กช้าลง
  • ผลการเรียนแย่ลง
  • มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น
  • อาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราว จากภาวะหูน้ำหนวก เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์อยู่บริเวณหลังเยื่อบุโพรงจมูก  ซึ่งเป็นจุดที่มีรูเปิดของหูชั้นกลาง ซึ่งต่อมอะดีนอยด์อาจมีโอกาสโตจนไปปิดกั้นรูเปิดดังกล่าว ทำให้น้ำที่อยู่ในหูชั้นกลางระบายออกไม่ได้ และขังจนกลายเป็นหูน้ำหนวกในที่สุด

ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการนอนกรน ร่วมกับคัดจมูก และอาการอื่นๆ ข้างเคียง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด

วิธีการตรวจภาวะต่อมอะดีนอยด์อักเสบ

หลังจากแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และสงสัยว่าอาจมีภาวะต่อมอะดีนอยด์โตและอักเสบ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อสงสัย โดยการตรวจเพิ่มเติมในผู้ใหญ่และเด็กจะแตกต่างกัน ดังนี้

  • สำหรับผู้ใหญ่ ที่มีภาวะต่อมอะดีนอยด์โต แม้จะพบไม่มาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แพทย์จะตรวจด้วยการส่องกล้อง โดยสอดท่อโลหะขนาดเล็กเข้าทางโพรงจมูก ไปดูยังหลังโพรงจมูกว่าต่อมอะดีนอยด์มีลักษณะโต หรือบวมแดงหรือไม่
  • สำหรับเด็ก ในกรณีที่เด็กไม่ตื่นกลัว และให้ความร่วมมือดี จะใช้วิธีการส่องกล้องเช่นกัน แต่แพทย์จะใช้กล้องชนิดพิเศษคือ Flexible Fiberoptic Rhino-Scope เหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งกล้องนี้จะมีลักษณะอ่อนนิ่ม ทำให้เด็กไม่รู้สึกเจ็บ หากขยับหรือเคลื่อนไหวขณะตรวจ แต่หากเด็กไม่ให้ความร่วมมือ แพทย์จะใช้การเอกซ์เรย์แทน โดยการเอ็กซเรย์นี้จะเป็นท่านั่งพิเศษ ทำให้ตรวจเฉพาะจุดได้อย่างชัดเจน และให้ผลแม่นยำเช่นกัน

วิธีรักษาภาวะต่อมอะดีนอยด์อักเสบ

การรักษาภาวะต่อมอะดีนอยด์อักเสบและโตนั้น ทำได้ด้วยการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำพร้อมกับการผ่าตัดต่อมทอนซิล ออกด้วย

การผ่าตัดนี้จะเป็นการผ่าตัดภายในช่องปาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องแผลเป็นภายนอก โดยแพทย์จะระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ แล้วใช้เครื่องมือพิเศษ สอดเข้าไปในช่องปาก และตัดต่อมอะดีนอยด์ออก ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็เสร็จสิ้น และหลังผ่าตัด ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน 

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันไหม

ผู้ปกครองหลายคนอาจจะกังวลว่า หลังจากผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ ภูมิคุ้มกันของเด็กจะลดลง ทำให้ป่วยและติดเชื้อได้ง่าย เพราะต่อมอะดีนอยด์มีหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรค แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดนี้ มีผลต่อภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยน้อยมาก เนื่องจากในช่องคอ ยังมีต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ อีกมาก ที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคแทนได้

จะเห็นได้ว่า แม้ต่อมอะดีนอยด์จะมีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย แต่ขณะเดียวกัน หากเกิดความผิดปกติ ติดเชื้อ อักเสบ หรือบวมโต การเก็บต่อมอะดีนอยด์ไว้ ไม่ผ่าตัดออก กลับส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายมากกว่าผลดี ดังนั้น หากมีภาวะต่อมอะดีนอยด์โต แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดรักษาจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด

ยังไม่แน่ใจใช่ไหม? ว่าอาการต่อมอะดีนอยด์อักเสบนี้ รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดรึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top