อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ ร่วมกับปวดหลังเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน สาเหตุอาจเกิดจากระบบย่อยอาหาร การปวดประจำเดือน หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ต้องการการดูแลอย่างเหมาะสม การรักษาจึงต้องพิจารณาถึงวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการและปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเองให้ดีขึ้น ท้องน้อยสำหรับผู้หญิง คือ บริเวณช่องท้องส่วนล่างแถวสะดือมาถึงขอบกระดูกเชิงกราน มีมดลูก ปีกมดลูก กระเพาะปัสสาวะอยู่ หากปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย มักเกี่ยวกับโรคบางอย่าง และควรปรึกษาแพทย์
สารบัญ
ปวดท้องน้อยหน่วงๆ ตรงกลาง
ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ ปวดตรงกลางมา 3 วันแล้วค่ะ เป็นเพราะอะไรคะ ถ้าไปตรวจที่โรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิประกันสังคม เสียค่ารักษาประมาณเท่าไหร่ค่ะ ?
อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ เกิดได้หลายสาเหตุนะคะ เช่น
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียนบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ มดลูก ปีกมดลูก อาจพบมีไข้ร่วมด้วย หรือมีตกขาวผิดปกติออกมาได้ค่ะ การวินิจฉัยต้องใช้การตรวจภายใน
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ สามารถมีอาการปวดท้องน้อยได้ มักพบร่วมกับอาการปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะขุ่น วินิจฉัยได้จากอาการและ การตรวจปัสสาวะ
- ลำไส้อักเสบ มักพบมีอาการปวดท้อง ลักษณะมักจะปวดบีบๆ เป็นพักๆ อาจมีท้องเสียร่วมด้วยได้ แต่อาการมักหายไปประมาณ 1-2 วัน
- กล้ามเนื้ออักเสบ อาจเกิดจากการยกของหนัก หรือนั่งนาน ทำให้มีการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณท้องได้
ค่าตรวจรักษาโดยไม่ได้มีสิทธิการรักษา โดยมากแล้ว แพทย์อาจให้ตรวจปัสสาวะดูก่อน ค่าตรวจประมาณ 150-300 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล หากไม่พบความผิดปกติ ควรจะต้องตรวจภายในร่วมด้วย ค่าตรวจอยู่ที่ประมาณ 500-1000 บาทค่ะ หากมีการได้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา ค่ายาจะประมาณ 500-1000 บาท
ตอบโดย พญ. สุพิชชา แสงทองพราว
อาการปวดหน่วงๆ มดลูก
มีอาการปวดท้องน้อยปวดแบบหน่วงๆยืนนานไม่ค่อยได้ อาการปวดนี้ลามมาถึงสะโพกค่ะ อยากทราบว่าเกิดจากอะไร ?
สวัสดีค่ะ อาการปวดท้องน้อย จำเป็นต้องได้รับประวัติเพิ่มเติมค่ะ เช่น ปวดที่ไหน ข้างไหน ปวดอย่างไร ปวดตอนไหน ปวดมานานเท่าไหร่ มีอาการร่วมไรบ้างค่ะ
ตัวอย่าง เช่น
- การติดเชื้อในลำไส้ หรือท้องเสียถ่ายเหลว อาหารเป็นพิษ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด ถ้าติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ไม่รุนแรงมาก ก็สามารถหายเองได้ค่ะ
- ไส้ติ่งอักเสบ อาการที่ควรมี เช่น ปวดท้องด้านขวาล่าง มีไข้ อาจมีถ่ายเหลว อาเจียนได้ค่ะ
- กรวยไตอักเสบ /กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจมีอาหารร่วมเช่น เป็นไข้สูง ปวดหลัง บางคนมีปัสสาวะแสบขัดได้ค่ะ
- สาเหตุจากกล้ามเนื้อ คนไข้อาจมีประวัติยกของหนัก ออกกำลังกาย โดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้องมาก การปวด อาจสัมพันธ์กับการขยับตัว สวัสดีค่ะ ถ้าอาการปวดเป็นหลังจากการออกกำลังกาย โดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณท้องมาก การเกร็งหน้าท้องเป็นเวลานาน หรือการบิดอยู่ท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานค่ะ มีจุดกดเจ็บชัดเจน โดยมากหายได้เองค่ะ ถ้าไม่หาย สามารถทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือ ไดโคฟิแนคได้ (โปรดปรึกษาแพืย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยานะคะ)
- ความผิดปกติของระบบสืบพันธฺสตรี เช่น เนื้องอกของมดลูก รังไข่ เป็นต้นค่ะ หรือการติดเชื้อในบริเวณดังกล่าว เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือ ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะตั้งครภ์ แล้วมีอาการปวดท้องด้านใดด้านหนึ่งมากๆ บวกกับประจำเดือนขาด ผลตรวจครรภ์เป็นบวก อาจเกิดจากการท้องนอกมดลูกได้ค่ะ
สำหรับอาการดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยอย่างพอสังเขป การให้การรักษาต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ ดังนั้น แนะนำให้ไปตรวจร่างกายที่ รพ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องหากอาการไม่ดีขึ้นค่ะ
ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์
ปวดท้องน้อยหน่วงๆ ปวดหลัง
ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ แล้วลามมาปวดหลังค่ะ มีอาการเวียนหัวหน้ามืด พะอืดพะอมค่ะ เป็นโรคอะไรคะ ?
อาการปวดท้องน้อยหน่วงๆ อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน เช่น กรวยไตอักเสบมักมีอาการผิดปกติของปัสสาวะร่วมด้วย เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่มักจะมีความผิดปกติของประจำเดือนร่วมด้วย
ดังนั้น เมื่อมีอาการเจ็บหน่วงท้องน้อย ควรไปพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะการรักษาแต่ละโรคนั้นอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันค่ะ
ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
ปวดท้องน้อย ปวดหลัง พร้อมกัน
ตอนนี้ท้อง 20 สัปดาห์ค่ะคุณหมอ แต่มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยมาก ปวดหลังมากและปวดลงไปที่ก้น ปวดมา 3 วัน แต่ไม่มีเลือดออกนะคะ อาการนี้เสี่ยงแท้งลูกไหม แล้วอันตรายไหมคะ ควรไปพบหมอรึเปล่า ?
อาการปวดหน่วงท้องน้อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น
- อาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดมักอยู่ในระดับผิวตื้นๆ มักมีจุดกดเจ็บชัดเจน อาการปวดมักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง
- อาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย
- อาการท้องผูก
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะทำให้มีอาการปวดท้องน้อยร่วมกับมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด
อาการปวดท้องน้อยเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะใช้บอกได้ว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
ในเบื้องต้นนั้นหมอแนะนำว่าสามารถไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ปวดท้องข้างขวา ต้องพบแพทย์ไหม อันตรายหรือไม่
- ปวดท้องข้างซ้าย เป็นโรคอะไร ต้องหาหมอไหม
- อาการปวดท้อง ปวดท้องแต่ละส่วน มีผลอย่างไร
คำถามสุขภาพที่พบบ่อย