what is canine teeth decoration scaled

ทำเขี้ยว ทำฟันเขี้ยวฝังเพชรเสริมเสน่ห์ให้รอยยิ้ม

ฟันเขี้ยว (Canine teeth) นอกจากจะมีหน้าที่ตัด ฉีก และแยกอาหารออกจากกันแล้ว หลายคนยังมองว่า ฟันเขี้ยวสามารถสร้างเสน่ห์ เพิ่มความสดใสให้รอยยิ้มได้อีกด้วย บางคนที่ฟันเขี้ยวสั้นเกินไป หรือมองเห็นเขี้ยวไม่ชัดเจนจึงต้องการ “ทำเขี้ยว” หรือ “ทำเขี้ยวเพชร” เพิ่มเติม

ทำเขี้ยวคืออะไร ทำเขี้ยวเพชรคืออะไร มีวิธีการอย่างไร และหากทำเขี้ยวแล้วจะมีวิธีการดูแลอย่างไร ให้ถูกต้อง HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ

ทำเขี้ยว คืออะไร? 

ฟันเขี้ยวเป็นฟันที่มีลักษณะค่อนข้างป้อมและหนากว่าฟันซี่อื่นๆ และมีส่วนปลายแหลม โดยทั่วไปเราทุกคนจะมีฟันเขี้ยวทั้งหมด 4 ซี่ อยู่มุมบนด้านซ้าย-ขวา และมุมล่างด้านซ้าย-ขวาของช่องปาก

ด้วยความที่ฟันเขี้ยวของแต่ละคนเรียงตัวไม่เหมือนกัน และมีขนาดเล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนฟันเขี้ยวก็ซ้อนทับฟันอื่นๆ จนดูเป็นฟันเก ฟันซ้อน

หากพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็ปล่อยให้คงไว้ หากไม่พอใจ บ้างก็เลือกจัดฟันเพื่อย้ายตำแหน่งฟันเขี้ยวลงมา หรือบางคนก็อยาก “ทำเขี้ยว” ที่มีอยู่เดิมให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

การทำฟันเขี้ยว หรือทำเขี้ยว ไม่สูญเสียเนื้อฟัน ไม่ต้องถอนฟันจริงทิ้ง ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก การทำฟันเขี้ยวเป็นการใช้ “เรซินคอมโพสิต (Resin composite)” ซึ่งเป็นวัสดุสีเหมือนฟันมาติดตกแต่งบนผิวเคลือบฟันของฟันเขี้ยวซี่เดิมด้วยกาวทางทันตกรรมเท่านั้น

ด้วยเทคนิคนี้จึงทำให้ทันตแพทย์สามารถตกแต่งฟันเขี้ยวได้ตามที่ผู้เข้ารับบริการต้องการ ไม่ว่าจะต้องการให้เขี้ยวใหญ่ขึ้น มีปลายแหลมขึ้น หรือจะวางเกยทับฟันตรงมุมนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้เวลายิ้มเขี้ยวจะโดดเด่น ก็สามารถทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้การทำเขี้ยวยังไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดฟัน หรือเสียวฟัน ตามมาแต่อย่างใด หากสุขภาพเหงือกและฟันของผู้เข้ารับบริการแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาฟันผุ หรือคอฟันสึกรบกวน

หลังทำฟันเขี้ยวเสร็จสามารถรับประทานอาหารได้ทันทีและแปรงฟันได้ตามปกติ

ทำเขี้ยวฝังเพชร คืออะไร?

สำหรับบางคนการทำเขี้ยวเพียงอย่างเดียวอาจยังทำให้รู้สึกว่า รอยยิ้มยังไม่มีเสน่ห์ หรือยังไม่โดดเด่นมากเพียงพอ ปัจจุบันยังมีบริการ “ทำเขี้ยวฝังเพชร หรือฟันเขี้ยวฟังเพชร (skyce)” ด้วย

การทำเขี้ยวฝังเพชร ทันตแพทย์จะติดเพชร หรือคริสตัล หรือวัสดุคล้ายเพชรลงไปบนเนื้อผิวเคลือบฟันที่ต้องการด้วยกาวทางทันตกรรมเท่านั้น ไม่ได้รบกวนเนื้อฟันแต่อย่างใด

นอกจากนี้การทำเขี้ยวฟังเพชรยังสามารถทำได้พร้อมๆ กับการทำเขี้ยวในครั้งเดียวกัน

ขั้นตอนทำเขี้ยว หรือเขี้ยวฝังเพชร เป็นอย่างไร? 

การทำเขี้ยว หรือทำเขี้ยวฝังเพชร ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ สามารถทำได้ในวันที่มาพบทันตแพทย์

  • ทันตแพทย์จะทำความสะอาดผิวเคลือบฟันด้วยการขัดฟัน (Polishing) เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และคราบสีบนผิวเคลือบฟันออก
  • ทาสารปรับสภาพฟัน (Conditioning) เพื่อเตรียมความพร้อมของฟันก่อนตกแต่ง
  • ทาสารยึดติด (Bonding) ระหว่างฟันและวัสุดสีเหมือนฟัน
  • ทันตแพทย์จะเลือกสีเรซินคอมโพสิตทำฟันเขี้ยวให้ใกล้เคียงกับฟันซี่อื่นๆ แล้วจึงตกแต่งฟันเขี้ยวที่ทำขึ้นให้รูปทรงสวยงามดูเป็นธรรมชาติ
  • ติดฟันเขี้ยวที่ทำขึ้นลงไปบนผิวเคลือบฟัน แล้วตกแต่งรูปทรงอีกครั้ง
  • ฉายแสง (Curing) เพื่อให้วัสดุที่ใช้ในการทำเขี้ยวแข็งตัว แล้วขัดตกแต่งให้ผิวเรซินคอมโพสิตเรียบสวยงาม
  • กรณีที่ผู้เข้ารับบริการต้องการทำฟันเขี้ยวฝังเพชร โดยทันตแพทย์จะใช้กาวชนิดพิเศษติดเพชร หรือคริสตัล หรือวัสดุคล้ายเพชรลงไปบนฟันเขี้ยว

โดยทั่วไป หากฟันไม่มีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องแก้ไข ทันตแพทย์จะใช้เวลาทำฟันเขี้ยว 1 ซี่ประมาณ 30-40 นาที เท่านั้น ซึ่งถือว่า รวดเร็วมาก

วิธีดูแลตนเองหลังทำเขี้ยว หรือเขี้ยวฝังเพชร เป็นอย่างไร? 

เพื่ออายุที่ยาวนานของวัสดุเสริมเขี้ยว มีคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากดังต่อไปนี้

  • แนะนำให้หลีกเลี่ยงการกัด แทะ อาหารและผัก ผลไม้ ด้วยฟันที่เสริมเขี้ยวมา
  • ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟัน เล็บ แคะฟันที่เสริมเขี้ยวมา
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยวจัด เป็นกรด และรสหวานจัด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม สับปะรด เพราะจะเร่งให้กาวที่ติดเขี้ยว วัสดุคล้ายเพชรที่นำมาติดมีโอกาสเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เพื่อป้องกันไม่ให้เรซินคอมโพสิตดูดซับสีเหล่านี้เข้าไป จะทำให้มีโอกาสเปลี่ยนสี หรือเกิดคราบสะสมได้
  • หลังรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาบ้วนปากให้สะอาดทุกครั้ง
  • ไม่ควรแปรงฟันแรงจนเกินไปหรือ ใช้แปรงที่มีขนแข็งมากมาแปรงฟันที่เสริมเขี้ยวมา
  • ควรทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดตามปกติ ด้วยการใช้ไหมขัดฟัน และแปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อย่าปล่อยให้คราบอาหารเกาะตามฟันและรอบๆ ฟันซี่ที่เสริมเขี้ยว เพื่อป้องกันการเสื่อมของวัสดุ รวมทั้งการเกิดฟันผุ คราบหินปูนสะสม โรคเหงือก
  • ควรพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก

ทำเขี้ยว ทำเขี้ยวฝังเพชรราคาเท่าไหร่? 

สำหรับราคาในการทำเขี้ยวนั้น โดยทั่วไปจะเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500-3,500 บาทต่อซี่ ส่วนราคาในการทำเขี้ยวฝังเพชรจะเริ่มต้นตั้งแต่ 3,500-5,000 บาทต่อซี่

โดยราคาจะขึ้นอยู่กับประเภทของเพชรที่เลือกใช้ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน

ทั้งนี้ควรสอบถามรายละเอียด เงื่อนไขการบริการ และราคา ก่อนเข้ารับบริการเพราะอัตราค่าบริการของคลินิกทันตกรรมแต่ละแห่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งในกรณีที่นำมาเพชรมาเองซึ่งโดยทั่วไปจะมีค่าบริการลดลง

ทำเขี้ยว ทำเขี้ยวฝังเพชร ที่ไหนดี?

แม้ว่าการทำเขี้ยวและการทำเขี้ยวฝังเพชรจะไม่ใช่การรักษา แต่เป็นเรื่องของความพึงพอใจและการเสริมความมั่นใจเช่นเดียวกับการทำศัลยกรรมอื่นๆ รวมถึงยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อีกด้วย

แต่ไม่ใช่ว่า การทำเขี้ยว ทำเขี้ยวฝังเพชรจะทำที่ไหนก็ได้ ขอแนะนำให้ปรึกษาแผนกทันตกรรมของโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกทันตกรรมที่ได้มาตรฐานก่อนว่า “มีบริการนี้ หรือบริการตามที่ต้องการหรือไม่”

เนื่องจากบางแห่งอาจไม่มีบริการทำเขี้ยว หรือทำเขี้ยวฝังเพชร หรือหากมีบริการ แต่ก็อาจไม่มีรูปแบบตามที่ต้องการ

นอกจากนี้การทำเขี้ยวและการทำเขี้ยวฝังเพชรยังควรปรึกษาทันตแพทย์ด้วย เพราะทันตแพทย์จะสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป เช่น สามารถทำเขี้ยวได้หรือไม่ หากทำได้ควรทำแบบใดที่จะมีความสวยงาม

ที่สำคัญเมื่อทำแล้วยังต้องดูแลรักษาง่าย ไม่เสี่ยงต่อฟันผุ หรือก่อให้เกิดปัญหาแก่ช่องปากตามมาในอนาคต คำแนะนำเหล่านี้เพื่อให้ได้เขี้ยว หรือเขี้ยวฝังเพชรที่สวยงามสมกับความต้องการจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรไปทำเขี้ยว หรือเขี้ยวฝังเพชร กับผู้ที่ไม่ใช่ทันตแพทย์อย่างเด็ดขาด หรือหาซื้อเพชรมาติดฟันด้วยตนเอง เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำรวมถึงเพชรที่นำมาติดอาจไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ จึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค และนำมาซึ่งการติดเชื้อได้ในที่สุด

Scroll to Top