ฟันคุดเป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ เพราะมีเหงือกหรือกระดูกขากรรไกรขวางอยู่ หรือไม่มีพื้นที่พอให้ฟันขึ้น มักเกิดกับฟันกรามด้านในสุดหรือฟันกรามซี่ที่สาม ซึ่งปกติจะขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือราว ๆ 18-25 ปี โดยมีทั้งหมด 4 ซี่ คือ ฟันกรามบนซ้าย-ขวา ฟันกรามล่างซ้าย-ขวา
แม้ฟันคุดจะไม่ใช่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่หลายปัญหาก็มาพร้อมความสงสัยและความกังวลมากมาย บทความนี้จึงได้รวบรวมคำถามที่หลายคนน่าอยากรู้เกี่ยวกับฟันคุด และการผ่าฟันคุด มาเคลียร์กันชัด ๆ ที่นี่เลย!
สารบัญ
1. จำเป็นต้องผ่าฟันคุดทุกคนไหม?
ตอบ: ถ้าฟันคุดไม่ทำให้เจ็บปวดหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตก็อาจไม่จำเป็นต้องผ่าออกทุกซี่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้เอาออก เพื่อป้องกันฟันคุดส่งผลต่อฟันซี่ข้างเคียงหรือก่อปัญหาช่องปากในอนาคต เช่น เหงือกคลุมฟันอักเสบ ฟันผุ โรคเหงือก ฟันล้มเก รากฟันละลาย และถุงน้ำ
2. ถ้ามีโรคประจำตัวจะผ่าฟันคุดได้ไหม?
ตอบ: คนที่มีโรคประจำตัวสามารถถอนหรือผ่าฟันคุดได้ โดยทันตแพทย์จะประเมินความปลอดภัย และวางแผนการรักษาก่อนผ่าฟันคุด เพื่อลดผลกระทบจากโรคประจำตัวให้ได้มากที่สุด ทั้งก่อนและหลังการรักษา คนที่มีโรคประจำตัวใด ๆ จึงควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนเสมอ โดยเฉพาะโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อไปนี้
- กลุ่มโรคเลือดออกง่ายหรือหยุดไหลยาก เช่น โรคลูคีเมีย โรคไตหรือเคยล้างไตเพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด มีประวัติผ่าตัดลิ้นหัวใจหรือใช้ยาละลายลิ่มเลือด
- กลุ่มโรคที่อาการอาจกำเริบระหว่างผ่าฟันคุด เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชักที่ใช้ยาพ่นเป็นประจำหรือใช้ยาสเตียรอยด์
- โรคเบาหวาน เพราะจะมีปัญหาแผลหายยาก หายช้า
3. ถ้าไม่มีอาการปวดฟัน ไม่ผ่าฟันคุดได้ไหม?
ตอบ: แม้ไม่มีอาการใด ๆ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนหรือผ่าฟันคุดออก เพราะจะทำความสะอาดได้ยากบริเวณที่มีฟันคุด ทำให้เศษอาหารติดซอกฟันง่าย และก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากหรือภาวะแทรกซ้อนภายหลัง เช่น
- ฟันผุ
- มีกลิ่นปาก
- เหงือกอักเสบหรือเป็นโรคเหงือก
- ติดเชื้อในช่องปาก
- การเรียงตัวของฟันผิดปกติ อย่างฟันล้ม ฟันเก หรือฟันอื่นเสียหาย
- เคี้ยวอาหารหรืออ้าปากได้ลำบาก
- ปวดที่โพรงไซนัส
- รากฟันข้างเคียงละลายจากแรงดันของฟันคุด
- หนองที่ฟันคุดหรือบริเวณโดยรอบ
- ซีสต์หรือเนื้องอกที่ฟันคุด
- กระดูกขากรรไกรไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการแตกหัก เสียหาย
4. ควรผ่าฟันคุดตอนอายุเท่าไหร่?
ตอบ: ฟันคุดควรผ่าออกในช่วงอายุ 18-25 ปี เพราะรากฟันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่ยาวจนใกล้เส้นประสาท และกระดูกที่คลุมฟันยังไม่แข็งแรงมาก ทำให้นำฟันออกมาได้ง่าย ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้เร็ว และโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้น้อย คนวัยนี้จึงควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจดูว่ามีฟันคุดหรือไม่ จะได้วางแผนผ่าหรือถอนฟันออกตั้งแต่เนิ่น ๆ
ไม่ต้องรอให้ปวดฟันคุด ให้คุณหมอประเมินและเอกซเรย์ฟันได้ก่อน
หาโปรผ่าหรือถอนฟันคุดที่คลินิกใกล้บ้านได้ ที่นี่ จองกับ HDmall.co.th ได้รับส่วนลดเพิ่มทุกครั้ง พร้อมคืนเงินให้เต็มจำนวน ถ้าคุณหมอประเมินแล้วต้องรักษาวิธีอื่น
กรณีผ่าฟันคุดตอนอายุมากก็ทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์ แต่อาจทำได้ยากหรือซับซ้อนกว่า ปลอดภัยน้อยกว่า เพราะรากฟันยาวจนใกล้กับเส้นประสาท ร่างกายฟื้นฟูได้ช้าลงตามวัย และมักมีโรคประจำตัว ทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
ทันตแพทย์อาจนำฟันคุดออกโดยตัดเฉพาะตัวฟันที่โผล่พ้นเหงือกออก เหลือไว้เพียงรากฟันในขากรรไกร (Coronectomy) แทนการผ่าฟันคุดทั้งซี่ออกไป โดยเฉพาะกับคนอายุ 40 ขึ้นไป
5. ถอนฟันคุด และผ่าฟันคุดต่างกันอย่างไร?
ตอบ: ทันตแพทย์จะดูจากลักษณะฟันคุดของแต่ละคน การถอนฟันคุดจะใช้กับฟันคุดที่โผล่พ้นเหงือกออกมาเต็มซี่ ไม่จำเป็นต้องเปิดเหงือก ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือค่อย ๆ โยกฟันออกมา ส่วนการผ่าฟันคุดจะใช้กับฟันที่อยู่ใต้เหงือกหรือโผล่พ้นเหงือกเพียงบางส่วน จึงต้องกรีดเปิดเหงือกออกก่อนแล้วค่อยนำฟันที่คุดออกมา โดยอาจตัดฟันคุดเป็นส่วนเล็ก ๆ หรืออาจต้องกรอกระดูกฟันเพิ่มเติม เพื่อให้นำฟันออกมาง่ายขึ้น
6. ยาชาออกฤทธิ์นานแค่ไหน ดมยาสลบเลยได้ไหม?
ตอบ: โดยทั่วไปฤทธิ์ของยาชาจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของยาชา แต่มักครอบคลุมเวลาในการผ่าฟันคุด ประมาณ 2-4 ชั่วโมง นอกจากการป้ายหรือฉีดยาชา ทันตแพทย์อาจใช้ยาชาชนิดกล่อมประสาทหรือการดมยาสลบ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบ และลดความวิตกกังวลสำหรับคนที่มีความกังวลหรือมีปัญหาสุขภาพ ดังนี้
- เด็กเล็ก
- ผู้ป่วยที่ควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ เช่น ภาวะสมองพิการ หรือดาวน์ซินโดรม
- คนที่มีฟันคุดซับซ้อน อยู่ลึก หรือใกล้เส้นประสาทมาก
- คนที่อาเจียนง่าย
- คนที่แพ้ยาชา
7. ผ่าฟันคุด กี่วันหาย?
ตอบ: แผลผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ถ้าฟันคุดที่อยู่ลึกมาก มีการกรอหรือตัดฟัน อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น และอาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกว่าแผลจะหายสนิท
ดูแลตัวเองหลังผ่าฟันคุดทำยังไง พร้อมเคล็ดลับแผลหายไว ไม่อักเสบ อ่านคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่นี่
8. ผ่าฟันคุดแล้วเศษอาหารติดรูเหงือกควรทำอย่างไร?
ตอบ: ปัญหาเศษอาหารติดในเหงือกหลังผ่าฟันคุดแก้ได้หลายวิธี แต่ควรทำด้วยความเบามือและระมัดระวังอยู่เสมอ เช่น
- กลั้วปากเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาบ้วนปากสูตรอ่อนโยนที่ทันตแพทย์แนะนำ แต่ไม่ควรทำในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าฟันคุด
- ใช้หลอดฉีดยาหรือไซริงค์ดูดน้ำอุ่นแล้วฉีดทำความสะอาดบริเวณเหงือกที่มีเศษอาหารติดเบา ๆ
- ใช้ไหมขัดฟันน้ำ (Water Flosser) ช่วยขจัดเศษอาหาร แต่ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อน โดยอาจใช้ได้ในช่วงที่แผลหายดีแล้วหรือ 2-3 สัปดาห์หลังผ่าฟันคุด
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มพิเศษแปรงเศษอาหารออก หรือใช้สำลีก้านปัดเศษอาหารออก วิธีนี้ทำได้หลังผ่านการผ่าฟันคุดไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ใครที่พบสัญญาณเตือนฟันคุดหรือสงสัยว่าอาจมีฟันคุดก็อย่าลืมไปพบทันตแพทย์ เพื่อประเมินและวางแผนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งถอนหรือผ่าฟันคุดเร็ว ความเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปากก็ยิ่งน้อยลง
ผ่าฟันคุดไม่น่ากลัวอย่างที่คิด! จะจองคิวปรึกษาทันตแพทย์ หรือค้นหาแพ็กเกจถอนหรือผ่าฟันคุด ใน HDmall.co.th แอดมินก็พร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวให้คุณ ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเลย