ฟันผุกับเด็กเล็กแทบจะเป็นของคู่กัน การครอบฟันน้ำนม หรือการครอบฟันเด็กเล็ก (Pediatric crown) เป็นอีกตัวเลือกช่วยรักษาฟันน้ำนมของลูกไม่ให้ผุรุนแรงไปกว่าเดิม ลดโอกาสเกิดปัญหาในช่องปากอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
สารบัญ
ครอบฟันน้ำนม ครอบฟันในเด็ก คืออะไร
การครอบฟันน้ำนม หรือการครอบฟันในเด็ก เป็นการสร้างวัสดุเสมือนฟัน แล้วนำไปครอบลงบนฟันหรือคลุมรอบซี่ฟันที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้งานได้ปกติ เช่น ฟันผุรุนแรง ฟันแตก ฟันสึก ฟันหัก หรือฟันที่ผ่านการรักษารากฟัน
ครอบฟันน้ำนมมีกี่แบบ ทำจากวัสดุอะไร
ครอบฟันน้ำนมจะเป็นครอบฟันสำเร็จรูป ทำจากหลายวัสดุ แต่ละแบบมีข้อดี ข้อจำกัด และค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน โดยวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำครอบฟันน้ำนมแบ่งได้เป็น 2 แบบหลัก
- ครอบฟันจากสแตนเลส (Stainless steel crown) เป็นครอบฟันสำเร็จรูป มีทั้งฟันด้านหน้าและด้านใน มีความแข็งแรงทนทานสูง ไม่เป็นสนิม มักใช้ครอบฟันกรามหรือฟันด้านใน
- ครอบฟันสีเหมือนฟัน ดูเป็นธรรมชาติ แต่ไม่คงทนเท่าแบบสแตนเลส มักใช้ครอบฟันหน้า
ทำไมควรครอบฟันน้ำนม รอครอบฟันแท้เลยไม่ได้หรอ
ฟันน้ำนมแต่ละซี่จะหลุดไม่พร้อมกัน เช่น ฟันหน้าจะหลุดตอนอายุ 7 ปี ส่วนฟันกรามจะหลุดตอนอายุ 11–12 ปี อีกทั้งฟันน้ำนมมีขนาดเล็กกว่าฟันแท้ครึ่งหนึ่ง จึงมีโอกาสผุลึกถึงโพรงประสาทฟันได้ง่ายกว่า
การครอบฟันเลยจะช่วยป้องกันฟันน้ำนมที่ผุแล้วไม่ให้เสียหายกว่าเดิม เพราะหากต้องถอนฟันน้ำนมออกไป อาจมีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร ทำให้เด็กอาจได้รับสารอาหารน้อยลง
รวมถึงไม่มีฟันน้ำนมช่วยรักษาช่องว่างไว้ ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มหรือเอียงลงมา ส่งผลให้ฟันแท้ขึ้นไม่ได้ ขึ้นเอียงหรือเก ไม่อยู่ในตำแหน่งเหมาะสม หรือกรณีฟันน้ำนมผุ แล้วเป็นช่วงที่ฟันแท้กำลังขึ้น ด้วยสภาพแวดล้อมเดียวกัน มีโอกาสที่ฟันแท้จะผุได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อไรควรพาลูกไปครอบฟันน้ำนม
ส่วนใหญ่จะครอบฟันน้ำนมเมื่อเด็กมีปัญหาฟันผุรุนแรง ฟันผุหลายด้าน เนื้อฟันเหลือน้อยจนไม่สามารถอุดฟันได้ รวมถึงฟันผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน และต้องรักษารากฟัน ทันตแพทย์จะแนะนำให้ทำการครอบฟันร่วมด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปที่รากฟัน
ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะต้องประเมินตามอาการของฟันแต่ละซี่ว่าการครอบฟันเหมาะสมหรือไม่ เพราะบางกรณีอาจไม่สามารถครอบฟันได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจสภาพฟันก่อน
ครอบฟันน้ำนมเจ็บไหม
เนื่องจากฟันเดิมที่ทำครอบฟันจะผุค่อนข้างมาก ระหว่างการทำครอบฟันจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ ซึ่งทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บ หลังยาชาหมดฤทธิ์ อาจมีอาการปวดเหงือกรอบฟันซี่นั้นตามมา แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
ขั้นตอนการครอบฟันน้ำนม
การทำครอบฟันเด็กนั้นไม่ซับซ้อน โดยใช้เวลาเพียง 15–30 นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสุขภาพช่องปาก พร้อมเอกซเรย์ เพื่อประเมินดูความเป็นไปได้ในการครอบฟัน
- ฉีดยาชาระงับความเจ็บ
- กรอแต่งฟัน
- แต่งครอบฟันให้เหมาะกับซี่ฟัน และการใช้งาน
- ใส่ครอบฟัน โดยใช้กาวทางทันตกรรมในการยึดติด
ครอบฟันน้ำนมต้องเอาออกไหม ดูแลอย่างไรหลังครอบฟัน
ครอบฟันน้ำนมไม่จำเป็นต้องถอดออก เพราะจะหลุดไปเองตามธรรมชาติเมื่อฟันน้ำนมหลุด หลังจากการครอบฟัน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ให้ลูกแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน
รวมถึงควรเลี่ยงการเคี้ยวของแข็ง อาหารหรือขนมที่มีความแข็งเกินไป และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
การครอบฟันน้ำนมในเด็กช่วยปกป้องและรักษาฟันน้ำนมที่มีปัญหาให้ฟันยังคงใช้งานได้ ลดความเสี่ยงของปัญหาฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง และไม่เป็นอันตรายใด ๆ กับฟัน เป็นทางเลือกในการดูแลฟันน้ำนมของลูกน้อยได้อีกทาง
ปกป้องฟันของลูกน้อยจนถึงวันที่ฟันชุดใหม่มาถึง เช็กแพ็กเกจทำฟันและครอบฟันเด็ก พร้อมส่วนพิเศษได้ที่ HDmall.co.th