การอุดฟันสามารถเกิดขึ้นได้กับฟันทุกตำแหน่งรวมถึงฟันหน้าด้วย ไม่ใช่แค่ฟันกรามซึ่งมักมีเศษอาหารสะสมตกค้าง หรือเป็นตำแหน่งที่มักทำความสะอาดไม่ทั่วถึงจนกระทั่งฟันกรามกลายเป็นฟันผุที่ต้องอุดอยู่บ่อยๆ แต่หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วฟันหน้าอุดได้จริงหรือไม่ แล้วสีฟันหลังการอุดจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขณะพูด หรือยิ้มหรือเปล่า เรามาหาคำตอบพร้อมกัน
สารบัญ
ความหมายของฟันหน้า
ฟันหน้า (Incisor Teeth) หรือฟันหน้าตัด เป็นฟันที่อยู่หน้าสุดของปาก มีทั้งหมด 8 ซี่ แบ่งเป็นฟันหน้าด้านบน 4 ซี่ และฟันหน้าด้านล่าง 4 ซี่
หน้าที่หลักของฟันหน้าคือ ช่วยให้การออกเสียงคำต่างๆ ให้ชัดเจน ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับใบหน้า และช่วยตัดชิ้นอาหารที่รับประทานเข้าไปให้มีขนาดเล็กลง
สาเหตุของการอุดฟันหน้า
หลายคนอาจไม่คุ้นชินกับการอุดฟันหน้า เพราะฟันบริเวณที่มักมีความผิดปกติจนต้องอุดฟันมักจะเป็นฟันส่วนที่อยู่ด้านในมากกว่า แต่ความจริงแล้วฟันหน้าก็สามารถเกิดความผิดปกติได้จนต้องอุดเพื่อซ่อมแซมเนื้อฟันเช่นกัน
สาเหตุที่มักทำให้ต้องมีการอุดฟันหน้า จะได้แก่
- โรคฟันผุ โดยอาจเป็นผลมาจากการรับประทานอาหารรสหวาน มีน้ำตาลมาก การแปรงฟันไม่สะอาด การมีน้ำลายไปสะสมอยู่ที่ฟันมากจนทำให้เกิดฟันผุได้ เพราะน้ำลายอาจมีการปนของเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหาร รวมถึงน้ำตาล น้ำหวานที่รับประทานเข้าไป สามารถทำให้เกิดโรคฟันผุได้
- ฟันสึก หรือกร่อน จากการใช้งานอย่างหนัก หรือกัดอาหารเนื้อแข็งจนเนื้อฟันเสียหาย
- ฟันแตก หัก หรือบิ่น โดยอาจเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ หรือใช้งานฟันผิดประเภท เช่น ใช้ฟันหน้าเปิดขวด ซึ่งไม่ควรทำ
- ฟันห่าง โดยเกิดจากการเรียงตัวที่ไม่เหมาะสมของซี่ฟันด้านหน้า
- เคยได้รับการอุดฟันมาก่อน แต่วัสดุอุดฟันเก่าชำรุด หรือบิ่นจนต้องอุดใหม่
วิธีอุดฟันหน้า
วิธีการอุดฟันหน้าไม่ได้แตกต่างไปจากการอุดฟันซี่อื่น ส่วนวัสดุในการอุดฟันก็จะแตกต่างกันไปตามการประเมินของทันตแพทย์ แต่เพราะฟันหน้าเป็นฟันที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามและภาพลักษณ์
ทันตแพทย์จึงมักจะเลือกวัสดุอุดฟันให้กลมกลืนกับเนื้อฟันที่สุด
ในระหว่างอุดฟันหน้า ผู้เข้ารับบริการอาจรู้สึกเสียวฟัน หรือรู้สึกเจ็บบ้างขณะกรอฟัน ขึ้นอยู่กับความเสียหายของเนื้อฟัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ระหว่างอุดฟัน
หากเป็นเพียงโรคฟันผุที่เป็นรูผุเล็กๆ ขณะอุดฟันก็จะไม่รู้สึกเสียวฟันมากนัก แต่หากเนื้อฟันผุเป็นรู หรือโพรงใหญ่ หรือฟันหักจนเสียหายเป็นช่องระหว่างซี่ฟันชัดเจน ผู้เข้ารับบริการก็อาจรู้สึกเสียวฟันและเจ็บปวดมากขึ้น
ในกรณีนี้ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ยาชาเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้
ในกรณีที่ฟันหน้าเสียหายหนักมาก ทันตแพทย์อาจไม่สามารถใช้วิธีการอุดฟันได้ แต่ทั้งนี้ทันตแพทย์จะประเมินความเสียหายของฟัน และพิจารณาทางเลือกในการบูรณะฟันหน้าที่ดีที่สุดให้กับผู้เข้ารับบริการเอง
เนื่องจากการอุดฟันไม่ใช่ทางเลือกเดียวสำหรับฟันหน้าที่เสียหายเท่านั้น แต่ยังมีการครอบฟันและทำวีเนียร์ที่ใช้วัสดุจำพวก พอร์ซเลน หรือเซรามิค สีเหมือนเนื้อฟัน การฟอกสีฟันที่จะช่วยให้คุณมั่นใจในสีฟันหน้ามากขึ้นได้อีก
ระยะเวลาความคงทนของฟันหน้าที่อุดแล้ว
ความคงทนของฟันหน้าที่อุดแล้วจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ฟันของผู้เข้ารับบริการว่า ดูแลรักษาฟันให้สะอาดหรือไม่ รับประทานอาหารที่ทำให้ฟันผุบ่อยหรือเปล่า รวมถึงมีพฤติกรรมการใช้ฟันเคี้ยวอาหารที่ทำให้เนื้อฟันเสียหายหรือไม่ เช่น ใช้ฟันหน้ากัด หรือแทะอาหารที่แข็งรับประทานอาหารที่แข็ง
นอกจากนี้ วัสดุการอุดฟันก็มีส่วนทำให้ฟันที่อุดแล้วคงทนยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกได้หลักๆ คือ
- วัสดุอะมัลกัม (Amalgam) เป็นวัสดุอุดฟันสีเงินผสมผงโลหะ มีอายุการใช้งานประมาณ 5-25 ปี ปัจจุบันทันตแพทย์ไม่ใช้อุดฟันหน้ากันแล้ว
- วัสดุเรซินคอมโพสิต (Resin composite) เป็นวัสดุอุดฟันสีกลมกลืนไปกับเนื้อฟัน มีหลายเฉดสี ทันตแพทย์จะเทียบสีให้เหมือนกับฟันของคนไข้แต่ละราย ทำให้ดูสวยงาม เหมือนจริง มีอายุการใช้งานประมาณ 5-15 ปี
สามารถจัดฟันหลังจากอุดฟันหน้าได้หรือไม่?
คุณสามารถเข้ารับการจัดฟันหลังอุดฟันได้ เพราะก่อนจะจัดฟัน ทางทันตแพทย์จะต้องตรวจสุขภาพฟัน และรักษาความผิดปกติอื่นๆ ของฟันให้เรียบร้อยก่อนอยู่แล้ว
ราคาการอุดฟันหน้า
โดยปกติราคาการอุดฟันหน้าจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้อุดซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป เช่น
- อุดฟันด้วยวัสดุอะมัลกัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 400-3,000 บาท ต่อซี่
- อุดฟันด้วยวัสดุเรซินคอมโพสิต หรือวัสดุที่สีเหมือนเนื้อฟัน ราคาอยู่ที่ประมาณ 500-3,500 บาท ต่อซี่
ค่าบริการอุดฟันไม่ว่าจะเป็นฟันหน้า หรือฟันส่วนอื่นๆ มักมีค่าทำทันตกรรมส่วนอื่นๆ รวมเข้ามาด้วย เช่น ค่าบริการทางการแพทย์
ดังนั้น นอกจากราคาค่าอุดฟันแล้ว คุณยังควรแบ่งงบประมาณการอุดฟันไว้สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ซึ่งสามารถสอบถามก่อนเข้ารับบริการ
ฟันหน้าเป็นฟันสำคัญที่จะทำให้คุณเสียความมั่นใจได้หากสูญเสียมันไป ดังนั้นเพื่อให้ฟันยังคงทนแข็งแรงอยู่กับคุณอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน
คุณจึงต้องดูแลสุขภาพฟันให้ดี หมั่นแปรงฟันให้สะอาดทุกเช้า-เย็น ใช้ไหมขัดฟัน และอย่าลืมไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช