รู้จักการทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI หรืออิ๊กซี

ในบางครั้ง การทำเด็กหลอดแก้วปกติอาจไม่ได้ผลในครอบครัวที่ฝ่ายชายมีปัญหาด้านปริมาณอสุจิน้อย ไม่แข็งแรง หรือมีปัญหาในการหลั่งอสุจิ ซึ่งการทำ ICSI (Intracytoplasmic sperm injection) หรือที่นิยมเรียกว่า อิ๊กซี เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้

ICSI คืออะไร?

การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization: IVF) จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีปกติไม่ได้ผล

ICSI คือการที่แพทย์คัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยวิธีการส่องกล่องจุลทรรศน์จำนวน 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ผสมแล้วไปเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน เมื่อเจริญเป็นตัวอ่อนจะถูกนำกลับไปไว้ในโพรงมดลูกเพื่อเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป

ICSI และ IVF แตกต่างกันอย่างไร?

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF คือการคัดไข่ที่สมบูรณ์จากฝ่ายหญิงและอสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชายมาผสมกันภายนอก โดยปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิกันเอง เมื่อไข่ผสมกันแล้วจะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนเจริญเป็นตัวอ่อน และนำกลับไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตในครรภ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ฝ่ายชายมีปริมาณตัวอสุจิน้อย หรือมีคุณภาพไม่ดีอย่างมาก เช่น เคลื่อนไหวได้น้อย มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ จนทำให้ไม่มีตัวอสุจิที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำปฏิสนธิกับไข่ในหลอดแก้วด้วยตัวเอง แพทย์จะทำ ICSI ในขั้นตอนผสมไข่

ดังนั้นความแตกต่างของ IVF และ ICSI คือ IVF เป็นการปล่อยให้ตัวอสุจิและไข่ผสมกันเอง ในขณะที่ ICSI เป็นการทำให้เกิดการปฏิสนธิแบบเจาะจง ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า แต่เป็นวิธีการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และในบางครั้งยังอาจส่งผลให้ไข่แตกสลายและตายได้

ICSI กับการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม

นอกจากการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากแล้ว ICSI ยังมีประโยชน์ในด้านการวินิจฉัยความผิดปกติของตัวอ่อนระยะก่อนฝังตัว (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) โดยการตรวจความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 13, 18, 21, X และ/หรือ Y

โครโมโซมคู่ที่ 21 นั้นพบว่า มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการดาวน์ (Sown syndrome) ซึ่งมักพบในการตังครรภ์ของหญิงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

การทำ PGD จึงช่วยลดความเสี่ยงในการถ่ายถอดความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ในผู้ที่ตั้งครรภ์ตอนมีอายุมาก (35 ปีขึ้นไป) มีประวัติความผิดปกติด้านพันธุกรรมในครอบครัว หรือในกรณีที่คู่สมรสเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมได้มาก

PGD จะทำหลังจากที่แพทย์ทำ ICSI และนำไปเลี้ยงจนเจริญตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว โดยแพทย์จะนำไปตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางพันธุกรรมเพื่อดูว่า เซลล์มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่

หากตัวอ่อนมีผลตรวจปกติ จะถูกนำกลับไปในโพรงมดลูกเพื่อให้เจริญเติบโตในครรภ์ต่อไป

ใครที่ควรทำ ICSI และ PGD

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีแนวโน้มสูงที่ลูกจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • ผู้ที่มีประวัติตั้งครรภ์ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาก่อน มีประวัติแท้งบุตรติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำ IVF ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป
  • ผู้ที่ทำการแช่แข็งไข่เอาไว้ (Frozen eggs)
  • คู่สมรสที่มีพาหะโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกได้
  • คู่สมรสที่ฝ่ายชายมีอสุจิอ่อนแอ เคลื่อนไหวได้น้อย มีรูปร่างผิดปกติ มีจำนวนตัวอสุจิน้อยเกินไป (น้อยกว่า 2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร) หรือมีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิ แล้วย้อนกลับเข้ากระเพาะปัสสาว.

ขั้นตอนการทำ ICSI หรืออิ๊กซี

ก่อนทำ ICSI หรืออิ๊กซี คู่สามีภรรยาต้องไปพบแพทย์เพื่อรับฟังข้อมูล หรือข้อจำกัดที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำ ICSI และตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำ ICSI เช่น ฝ่ายหญิงจะต้องตรวจการทำงานของรังไข่ คัดกรองภาวะติดเชื้อ ส่วนฝ่ายชายจะต้องตรวจคุณภาพของอสุจิ

หลังจากที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถทำ ICSI จะเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI ดังนี้

  • กระตุ้นการตกไข่ของฝ่ายหญิงให้มีปริมาณมากกว่า 1 ใบ ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการฉีดยาฮอร์โมน
  • ติดตามการตกไข่ และดูขนาดของไข่ ด้วยการเจาะเลือดและอัลตราซาวด์ เมื่อไข่มีขนาดสมบูรณ์แพทย์จะทำการดูดไข่และเก็บอสุจิของฝ่ายชายในวันเดียวกัน
  • แพทย์คัดเลือกอสุจิที่สมบูรณ์และแข็งแรงที่สุด ฉีดเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง (หากเป็นการทำเด็กหลอดแก้วปกติ แพทย์จะนำอสุจิที่แข็งแรงจำนวนหนึ่งใส่ปนไปกับไข่เพื่อให้ทำการปฏิสนธิกันเอง)
  • หลังจากที่ไข่ผสมแล้ว จะถูกนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนกว่าเจริญเป็นตัวอ่อน ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ในระหว่างนั้นสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมได้
  • เมื่อไข่เจริญเป็นตัวอ่อนแล้วจะถูกนำกลับมาไว้ในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตในครรภ์ของฝ่ายหญิงต่อไป

การดูแลตัวเองหลังทำ ICSI

หลังทำ ICSI ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ฝ่ายหญิงควรพักผ่อนมากๆ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยกของหนัก การออกกำลังกายหนักๆ หรือการเดินทางไกล
  • ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ และงดการสวนล้างช่องคลอด
  • ไม่รับประทานยานอกเหนือจากแพทย์สั่ง และควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง มีเลือดออก หรือมีตกขาวมากผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์ที่ดูแลทันที

ข้อควรระวังคือ การตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วอย่าง IVF หรือ ICSI หากเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยวจะมีอัตราความเสี่ยงไม่ต่างกับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ เช่น การแท้ง การท้องนอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด หรือความผิดปกติทางโครโมโซมของเด็ก

อย่างไรก็ตาม จะมีความแตกต่างกันในกรณีตั้งครรภ์แฝด โดยจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นครรภ์เป็นพิษ การแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด

แต่ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์แบบใด ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกาย และเข้ารับการตรวจสุขภาพตามนัดหมายของแพทย์อย่างครบถ้วน เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยมากที่

ICSI มีความเสี่ยงหรือไม่?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อว่า อัตราการเกิดข้อบกพร่องในเด็กที่เกิดจากกระบวนการ ICSI นั้นแตกต่างจากประชากรทั่วไป อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่เด็กผู้ชายที่เกิดจากกระบวนการ ICSI จะมีปัญหาการเจริญพันธุ์ของผู้ชายด้วย

เปอร์เซ็นต์สำเร็จในการทำ ICSI

การทำ ICSI หรืออิ๊กซี ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยให้อสุจิและไข่ทำการปฏิสนธิกัน ประมาณ 90%

อย่างไรก็ตาม มีอัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์อยู่ที่ประมาณ 32% เพราะหลังจากไข่กับอสุจิปฎิสนธิกันแล้ว มีโอกาสที่ไข่จะเสียหาย ไม่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน หรือตัวอ่อนอาจหยุดการเจริญเติบโตได้

การทำ ICSI สามารถเลือกเพศได้ไหม?

ไม่สามารถเลือกเพศได้ แต่การทำ ICSI ร่วมกับทำ PGD จะสามารถรู้เพศของตัวอ่อนก่อนย้ายไปฝังในโพรงมดลูกได้ โดยมีความแม่นยำ 99.99%

การทำ ICSI มีโอกาสเป็นฝาแฝดเท่าไหร่

การทำ ICSI มีโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดคล้ายกับการทำเด็กหลอดแก้วปกติ คือ มีโอกาสประมาณ 30-35% ในการเกิดฝาแฝด และมีโอกาสประมาณ 5-10% ในการเกิดแฝดสามขึ้นไป

ทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี ICSI หรืออิ๊กซี ราคาเท่าไร?

การทำเด็กหลอดแก้วด้วยเทคนิคพิเศษ ICSI ราคาเริ่มต้นประมาณ 160,000-200,000 บาท


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำ IVF, IUI, ICSI, IMSI ฝากไข่ แช่แข็งไข่

Scroll to Top