ส้มโอ (Pomelo) ชื่ออื่นๆ คือ โกรัยตะลอง มะขุน มะโอ ส้มมะโอ ลีมาบาลี สังอู เป็นพืชที่ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูลส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus maxima คนไทยนิยมรับประทานในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง เป็นผลไม้ที่มีน้ำมาก ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำได้ดี ถิ่นกำเนิดของส้มโออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศที่อยู่ภูมิภาคใกล้ๆ กันอย่างประเทศจีน เชื่อว่าส้มโอเป็นผลไม้มงคลที่จะต้องนำขึ้นโต๊ะเมื่อมีเทศกาลต่างๆ หลังไหว้เสร็จหากผ่าออกแล้วเป็นผลแห้งหมายถึงจะโชคดีตลอดทั้งปี
ส้มโอมีผลรูปทรงกลมหรือรูปแพร์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 11-17 เซนติเมตร บริเวณขั้วผลนูนขึ้นเป็นกระจุก ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่มีสีเขียวอมเหลือง เปลือกผลหนา 1-2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีต่อมน้ำมันมาก ข้างในมีเยื่อสีขาวหรือสีชมพู ลักษณะหยุ่นนุ่ม รสหวาน ขมเล็กน้อย ภายในผลเป็นช่องๆ กั้นด้วยแผ่นใยบางสีขาว
สารบัญ
คุณค่าทางโภชนาการของส้มโอ
ส้มโอ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 9.62 กรัม
- โปรตีน 0.76 กรัม
- ไขมัน 0.04 กรัม
- ใยอาหาร 1 กรัม
- แคลเซียม 4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.11 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 216 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.08 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 0.017 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 61 มิลลิกรัม
ส้มโอไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง เนื่องจากมีวิตามินซีสูง อาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องแผลในกระเพาะอาหารควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตอนท้องว่าง รวมถึงส้มโอที่มีรสชาติเปรี้ยวจนเกินไป
สรรพคุณของส้มโอ
ส้มโอเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ การรับประทานเป็นประจำจะช่วยชะลอและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ผลวิจัยระบุว่า สารชนิดหนึ่งในน้ำมันที่สกัดจากส้มโอมีสรรพคุณช่วยยืดอายุของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด และต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
- บำรุงตับ มีงานวิจัยฉบับหนึ่งได้รายงานว่า สารสกัดจากใบส้มโอแบบแคปซูลมีฤทธิ์ช่วยลดการสะสมสารพิษในตับ และต่อต้านฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon tetrachloride) ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำลายตับโดยตรง และตับไม่สามารถกำจัดออกได้เอง
- รักษาเบาหวาน มีงานวิจัยระบุว่า สารสกัดจากส้มโอสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
- ลดอาการเบื่ออาหาร รสชาติเปรี้ยวอมหวานจากผลไม้ชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น ลดอาการเบื่ออาหารได้
- รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันโรคเลือกออกตามไรฟัน และลดอาการเหงือกอักเสบได้อีกด้วย
- ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แข็งแรง วิตามินซีช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดไข้หวัด
- ช่วยบำรุงรักษาดวงตา การรับประทานส้มโอบ่อยๆ ช่วยบำรุงดวงตา เพราะวิตามินเอที่มีมากในผลไม้ชนิดนี้ทำให้ดวงตาทำงานดียิ่งขึ้น เป็นประกายแจ่มใส
- ระบบขับถ่ายดีขึ้น ใยอาหารสูงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หมดปัญหาเรื่องท้องผูก
- บำรุงเส้นผมให้แข็งแรงเงางาม น้ำมันสกัดจากส้มโอใช้เป็นส่วนผสมของแชมพูสมุนไพร มีงานวิจัยระบุไว้ว่า ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ ผมจึงมีความแข็งแรง เงางาม ไม่ขาดหลุดร่วงง่าย
- ย่อยอาหาร เส้นใยจำนวนมากทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) และโปรไบโอติก (Probiotic) ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น ป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องเสียหรือท้องผูก
- ต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดปัญหาเกิดริ้วรอยก่อนวัย ผิวหย่อนคล้อย และจุดด่างดำ
- ควบคุมน้ำหนัก ส้มโอเป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน แต่ต้องระวังปริมาณการรับประทานสำหรับผู้ป่วยที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาล
- อาจรักษามะเร็งได้ จากงานวิจัยพิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากใบส้มโอของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสารโพลีเมทอกซีเลทเทต ฟลาโวน (Polymethoxylated flavones) ซึ่งเป็นสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ในใบส้มโออาจมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ในการรักษามะเร็งได้ แต่ยังเป็นเพียงงานวิจัยถึงแนวโน้มเท่านั้น
เปลือกส้มโอสามารถใช้เป็นยาสารพัดประโยชน์
บ้างใช้เป็นส่วนหนึ่งของยาหอม ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ้าไม่ชอบกลิ่นเปลือก สามารถนำผลมาจิ้มกับยาหอมแล้วรับประทานบรรเทาอาการได้
ในตำราจีนยังบอกด้วยว่าเปลือกส้มโอใช้เป็นยาแก้ธาตุไม่ปกติ แก้อาการไอ ผสมในยาหอมกินแล้วทำให้สดชื่น นอกจากนี้ยังมีการใช้เปลือกรักษาลมพิษ โดยต้มกับน้ำสะอาดแล้วนำมาอาบ วันละ 1-2 ครั้ง ผื่นคันจากลมพิษก็จะหายไปเอง
ส่วนตำรายาไทยกล่าวว่า เปลือกส้มโอจัดอยู่ในเปลือกส้มทั้ง 8 ประการ ซึ่งประกอบไปด้วย เปลือกส้มโอ เปลือกส้มเขียวหวาน เปลือกส้มจีน เปลือกส้มซ่า เปลือกส้มตรังกานู เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกมะงั่ว ซึ่งมีสรรพคุณแก้ลม (ระบบไหลเวียนโลหิต) แก้เสมหะ และใช้ปรุงเป็นยาหอม
เมนูสุขภาพที่ทำจากส้มโอ
ส้มโอเหมาะสำหรับการนำมาประกอบอาหารประเภทยำและเมี่ยงที่มีรสชาติเฉพาะตัว เช่น
- ยำส้มโอกุ้งสด วิธีทำเริ่มจากแกะส้มโอเตรียมไว้ก่อน นำกุ้งไปลวกให้สุก โขลกกระเทียม หอมแดง พริกแห้ง ให้เข้ากัน ใส่น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำมะขามเปียก นำไปตั้งไฟเคี่ยวให้เหนียว ใส่ส้มโอที่แกะแล้วลงไปในชาม ใส่น้ำยำที่เตรียมไว้ ใส่ถั่วลิสง มะพร้าวคั่ว หอมแดงเจียว ผสมจนทุกอย่างเข้ากัน ตักส้มโอใส่จาน นำกุ้งลวกมาโรยหน้า ใส่หอมแดงเจียว ใบมะกรูด ยกขึ้นเสิร์ฟ
- เมี่ยงส้มโอไก่กรอบ วิธีทำคือแกะส้มโอเตรียมไว้ นำไก่ไปต้มให้สุก แล้วฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาคั่วในกระทะจนไก่กรอบ ตักขึ้นพักไว้ เริ่มผสมน้ำยำ โดยการใส่น้ำตาลปิ๊บ น้ำพริกเผา น้ำมะนาว กุ้งแห้ง ถั่วลิสงบุบ ตะไคร้ พริกป่น น้ำเปล่า คนให้ทุกอย่างเข้ากัน นำส้มโอกับไก่คั่วมาผสมกับน้ำยำที่เตรียมไว้ ผสมให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยหอมเจียว ยกขึ้นเสิร์ฟคู่กับใบชะพลู
ข้อควรระวัง
การรับประทานเพื่อสุขภาพ มีข้อควรระวังดังนี้
- ไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป เพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระวังเป็นพิเศษ
- ผู้ป่วยหรือผู้ที่กินยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดไขมัน ยาลดความดัน ควรระมัดระวังการรับประทานส้มโอ เพราะผลไม้ชนิดนี้อยู่ในวงศ์เดียวกับเกรปฟรุต ซึ่งทำปฏิกิริยากับยาที่กล่าวมาแล้ว แนะนำว่า ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย
- ผู้ป่วยโรคตับและไตควรระมัดระวัง เนื่องจากส้มโอมีปริมาณวิตามินซีและโพแทสเซียมในระดับสูง
- แม้ยังไม่พบการศึกษาถึงโทษหรือความเป็นพิษจากการรับประทานเปลือกผลส้มโอหรือเนื้อส้มโอ แต่การนำมาใช้เป็นยาภายนอกมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังได้เนื่องจากเปลือกของมันมีน้ำมันหอมระเหยอยู่
- การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ หายใจลำบาก และปวดท้อง แต่จะพบได้น้อยมาก