“ตับ” เป็นอวัยวะภายในที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายอยู่บริเวณชายโครงขวาใต้กระบังลม ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของพลังงานและสารอาหาร ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น กำจัดสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย ผลิตน้ำดีใช้ในการย่อยอาหาร เป็นต้น
แต่ถ้าเราไม่ได้สังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับ ปล่อยทิ้งไว้จนตับเกิดการอักเสบหรือเซลล์บริเวณตับแบ่งตัวผิดปกติ จนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่เดือน ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายและการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งตับมาฝากกัน
สารบัญ
- มะเร็งตับคืออะไร?
- มะเร็งตับมีกี่ระยะ?
- มะเร็งตับอาการเป็นอย่างไร?
- มะเร็งตับเกิดจากอะไร?
- การตรวจมะเร็งตับ
- มะเร็งตับรักษาได้ไหม?
- 1. การผ่าตัดตับเอาก้อนมะเร็งออก (Hepatic Resection)
- 2. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver Transplantation)
- 3. การรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นความถี่สูง หรือคลื่นไมโครเวฟ (Radiofrequency Ablation: RFA)
- 4. การให้เคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial Chemoembolization: TACE)
- 5. การรักษามะเร็งตับด้วยการฉีดสารกัมมันตภาพรังสี (Selective Internal Radiation Therapy: SIRT)
- 6. การให้ยาเคมีบำบัด (Systemic Chemotherapy)
- มะเร็งตับอยู่ได้นานแค่ไหน?
- มะเร็งตับป้องกันได้ไหม?
มะเร็งตับคืออะไร?
มะเร็งตับ (Liver Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ ซึ่งเกิดจากเซลล์ของตับที่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติจนเกิดเป็นก้อนในตับ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากการแพร่กระจายมจากอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก ลำไส้ เป็นต้น
ชนิดของมะเร็งตับแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ ชนิดเซลล์ตับ (Hepatocellular Carcinoma: HCC) สาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดเซลล์ตับ คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเลือด จากแม่สู่ลูกในครรภ์ และทางเพศสัมพันธ์ โดยเมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปอยู่ในเซลล์ตับก็สามารถกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังหรือกลายเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้โดยตัวเองไม่มีอาการ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้กลายเป็นมะเร็งตับได้ เช่น ผู้ป่วยตับแข็งที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือจากไขมันพอกตับเป็นเวลานานๆ รวมถึงสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง พริกแห้ง กระเทียม ธัญพืชต่างๆ
- มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ ชนิดเซลล์ท่อน้ำดีในตับ (Cholangiocarcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุท่อน้ำดีที่อยู่ในตับ สาเหตุมาจากโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบได้บ่อยทางภาคอีสาน รวมถึงการรับประทานอาหารบางชนิดที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น สารดินประสิว (Nitrosamine) ที่มีอยู่ในอาหารประเภทหมัก อาหารจำพวกรมควัน เป็นต้น
- มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ (Secondary Live Cancer) เกิดจากการแพร่กระจายของโรคมะเร็งชนิดอื่นมายังตับ โดยเซลล์มะเร็งแบ่งตัวออกมาจากมะเร็งต้นกำเนิด ผ่านมาทางกระแสเลือดไปยังตับซึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือด ทำให้เซลล์มะเร็งตกค้างติดอยู่ในตับ ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายมายังตับ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม เป็นต้น
มะเร็งตับมีกี่ระยะ?
ระยะของมะเร็งตับ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็กก้อนเดียว ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หากตรวจพบในระยะนี้ สามารถรักษาให้หายได้
- ระยะที่ 2 ก้อนเนื้อมะเร็งเพียงก้อนเดียว หรือมีก้อนเนื้อไม่เกิน 3 ก้อน ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดหรือการใช้คลื่นความถี่ ตามการวินิจฉัยของแพทย์และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
- ระยะที่ 3 ก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อน ขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2 การรักษาจะทำได้ยากขึ้น ซึ่งต้องดูการทำงานของตับ ถ้าตับเสื่อมประสิทธิภาพก็จะเสี่ยงต่อภาวะไตวายจากการผ่าตัด
- ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ เข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ แพร่กระจายตามกระแสเลือด สู่ตับกลีบอื่นๆ รวมถึงลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกการรักษาด้วยวิธีต่างๆ จากตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็ง ระยะของโรค การทำงานของตับ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
- ระยะที่ 5 เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรมมาก นอนติดเตียงเป็นส่วนใหญ่ ตับจะทำงานแย่ลงมาก และไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เคมีบำบัด ฉายรังสี ล้วนไม่สามารถรักษาให้หายได้ เป็นเพียงการประคับประคองเพื่อลดความเจ็บปวด
มะเร็งตับอาการเป็นอย่างไร?
มะเร็งตับในระยะแรก มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการ ดังนี้
- ท้องอืด จุกเสียดท้อง เจ็บบริเวณท้องด้านขวาบนและลิ้นปี่ คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร
- ปวดหลัง ปวดร้าวไปยังไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา
- ปวดหรือเสียวชายโครงด้านขวา
- คลำเจอก้อนขนาดใหญ่ใต้ชายโครงด้านขวา
- ท้องบวมโต หรือท้องมานจากการมีน้ำในช่องท้อง
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
- อาเจียนเป็นเลือด
- มีอาการทางสมองจากภาวะตับวาย
- มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม
มะเร็งตับเกิดจากอะไร?
มะเร็งตับเกิดจากปัจจัยหลายสาเหตุ ดังนี้
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากซึ่งนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคมะเร็งตับตามมา
- โรคตับแข็ง (Cirrhosis) ผู้ที่มีภาวะตับแข็งมีโอกาสจะเป็นมะเร็งตับมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นตับแข็ง
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี จะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของตับผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับ โดยผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีและซี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นพาหะ
- การได้รับสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) หรือเชื้อราที่อยู่ในถั่วลิสงที่อับชื้น พริกแห้ง กระเทียม หัวหอม เป็นต้น
- ภาวะที่มีธาตุเหล็กสะสมในตับ (Hereditary Hemochromatosis)
- ภาวะอ้วน หรือตับอักเสบจากไขมันพอกตับ
- การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งเป็นพยาธิที่มีการปนเปื้อนอยู่ในอาหารประเภทของหมักดอง ปลาร้า ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสุกๆ ดิบๆ โดยพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจะอาศัยและชอนไชไปตามท่อน้ำดีที่อยู่ในเนื้อตับ เนื่องจากในท่อน้ำดีจะมีสารอาหารซึ่งเป็นที่ต้องการของพยาธิใบไม้ บางครั้งพบว่าพยาธิใบไม้มักจะไปอุดตันในท่อน้ำดี ก่อให้เกิดอาการตัวเหลืองหรือตาเหลือง
- การได้รับสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษพบได้ในอาหารจำพวก ปลาร้า ปลาส้ม หรือแหนม เป็นต้น หรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น และอาหารรมควัน เช่น ไส้กรอกรมควัน ปลารมควัน
การตรวจมะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการพียงเล็กน้อย ดังนั้นการตรวจคัดกรองผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงจึงมีสำคัญอย่างมาก โดยแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของตับ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ไวรัสตับอักเสบ และสารบ่งชี้มะเร็งตับ แอลฟาฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein: AFP) สารวัดค่ามะเร็งตับที่นิยมใช้ตรวจค้นหาขั้นต้นของโรคมะเร็งตับ หากมีค่า AFP สูงอาจบ่งบอกได้เบื้องต้นว่ามีเซลล์มะเร็งตับ
- การตรวจชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งก้อนเนื้อ (Biopsy) การตัดชิ้นเนื้อตรวจ โดยแพทย์ใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปที่ตับแล้วทำการตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ วิธีนี้วินิจฉัยมะเร็งตับได้ค่อนข้างแม่นยำ
- การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นวิธีที่สะดวก และสามารถมองเห็นก้อนหรือความผิดปกติที่ตับได้
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) โดยการฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดแดงเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตและไม่ควรตรวจบ่อยจนเกินไป เนื่องจากไตต้องทำงานหนักมากขึ้นในการขับสารทึบแสงออกจากร่างกาย
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นการตรวจที่ทำให้เห็นความผิดปกติของตับอย่างชัดเจน ทำให้ทราบผลการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับที่แน่นอน ไม่มีสารตกค้างในร่างกาย แต่ไม่สามารถตรวจในผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะภายในร่างกาย
มะเร็งตับรักษาได้ไหม?
การรักษาโรคมะเร็งตับ จำเป็นต้องมีการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญในการรักษามะเร็งตับ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีวิธีการรักษาหลายวิธี ดังนี้
1. การผ่าตัดตับเอาก้อนมะเร็งออก (Hepatic Resection)
การผ่าตัดเป็นทางเลือกอันดับแรก เพราะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากมะเร็งได้ โดยพิจารณาในกรณีผู้ป่วยที่การทำงานของตับที่ยังดีอยู่ ขนาดของมะเร็งตับไม่เกิน 5 เซนติเมตร และไม่มีการกระจายของมะเร็งไปยังเส้นเลือดใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่นๆ แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดตามความเหมาะสมจากขนาด ตำแหน่งของมะเร็งตับ ความรุนแรงของความผิดปกติของตับ สภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่
- ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดมาตรฐาน โดยการกรีดผิวหนังที่หน้าท้องเป็นทางยาว ในขนาดที่แพทย์สามารถทำการผ่าตัดก้อนมะเร็งได้ หลังการผ่าตัดคนไข้ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน เสียเลือดขณะผ่าตัดมาก และอาจมีผลแทรกซ้อนในการผ่าตัด เจ็บแผลผ่าตัดค่อนข้างมาก ฟื้นตัวช้า
- ผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง แพทย์จะผ่าตัดก้อนมะเร็งออกโดยการเจาะรูบริเวณหน้าท้องประมาณ 5 รู สำหรับใส่กล้องและเครื่องมือในการผ่าตัดเข้าไปทำการตัดก้อนมะเร็งออก โดยจะฟื้นตัวได้เร็ว เสียเลือดน้อย เจ็บปวดน้อยกว่า และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
2. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver Transplantation)
เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งตับที่มีอาการตับแข็งร่วมด้วย เพราะสามารถรักษามะเร็งตับและตับแข็งได้ในเวลาเดียวกัน เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด อาจเป็นเพราะจากตำแหน่งของมะเร็ง หรือเนื้อตับที่ดีเหลืออยู่น้อย การผ่าตัดเปลี่ยนตับแม้ว่าจะได้ผลดี แต่ยังมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่มากนัก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับผู้บริจาคตับ
3. การรักษามะเร็งตับโดยใช้คลื่นความถี่สูง หรือคลื่นไมโครเวฟ (Radiofrequency Ablation: RFA)
คลื่น RFA จะถูกส่งผ่านเข็มเล็กๆ ที่แทงผ่านเข้าไปในก้อนมะเร็งในตับ ซึ่งคลื่นความถี่สูงนี้จะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนทำลายเซลล์มะเร็งตับ วิธีนี้จะได้ผลดีในก้อนมะเร็งตับที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป หรือควรมีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และอยู่ห่างจากหลอดเลือดขนาดใหญ่
4. การให้เคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดง (Transarterial Chemoembolization: TACE)
การรักษาด้วยวิธี TACE คือ การฉีดยาเคมีบำบัด ผ่านทางหลอดเลือดแดงเข้าไปยังก้อนมะเร็งตับ ซึ่งจะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยตรง โดยฉีดสารอุดหลอดเลือด (Gel Foam) เข้าไปด้วยเพื่อทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรืออาจใช้การฉีดยาเคมีบำบัดผสมสารที่เป็นน้ำมันลิปิโอดอล (Transarterial Oil Chemoembolization: TOCE) ซึ่งคุณสมบัติของสารลิปิโอดอล (Lipiodol) จะทำหน้าที่เข้าไปจับกับตัวยาเคมีบำบัด ทำให้ตัวยาเข้าสู่ก้อนมะเร็งได้ดีขึ้น ช่วยลดผลข้างเคียงจากยาให้น้อยลง และสามารถอุดหลอดเลือดได้ดีกว่าใช้ Gel Foam เพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือใช้คลื่นความถี่ได้ เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ประมาณ 7-10 เซนติเมตร หรือก้อนอยู่ชิดกับอวัยวะที่สำคัญจนไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่การทำงานของตับยังทำงานได้ดี เนื่องจากการอุดหลอดเลือดบางส่วน ส่งผลทำให้ตับทำงานแย่ลงชั่วคราวได้ ผลการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น
5. การรักษามะเร็งตับด้วยการฉีดสารกัมมันตภาพรังสี (Selective Internal Radiation Therapy: SIRT)
SIRT คือ การนำอนุภาคกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายเฉพาะจุด ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ เหมาะกับมะเร็งตับที่มีการลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดดำของตับ แต่การทำงานของตับยังพอใช้ได้อยู่ หลักการรักษาคล้ายกับการทำ TOCE คือ มีการสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงของตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็งแล้วทำการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีที่เรียกว่า อิตเทรียม (Yttrium) เข้าไป สารดังกล่าวจะเปล่งรังสีชนิดเบต้าตรงไปที่ก้อนมะเร็ง ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายก้อนมะเร็ง ลดขนาดก้อนมะเร็งหรือลดระยะการลุกลามลงชั่วคราว ภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง จากนั้นจะสลายตัวไปเอง ไม่มีการตกค้างอยู่ในร่างกาย การรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องนำเข้าสารกัมมันตภาพรังสีและอุปกรณ์จากต่างประเทศ เพื่อนำเข้ามาฉีดให้ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป ขั้นตอนการทำมีความยุ่งยากมากกว่าการรักษา TOCE ต้องมีการตรวจโดยการฉีดสีดูหลอดเลือดที่ตับและทดสอบว่าสามารถทำการรักษาได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เมื่อแน่ใจแล้วจึงทำการรักษา ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนใน 1–2 วันแรกหลังการรักษา ส่วนผลการรักษาใกล้เคียงกับการรักษาด้วย TOCE
6. การให้ยาเคมีบำบัด (Systemic Chemotherapy)
การให้ยาเคมีบำบัดเหมาะกับการรักษามะเร็งตับที่ก้อนใหญ่ มีหลายก้อนจนไม่สามารถจะผ่าตัดตับได้ ก้อนมะเร็งมีการกระจายออกมาภายนอกตับ หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
- ยาเคมีบำบัดชนิดมุ่งเป้า (Targeted chemotherapy) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งด้วยวิธียับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ยาแบบรับประทาน เช่น Sorafenib, Lenvatinib, Regorafenib และ Cabozantinib เป็นต้น ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่มนี้ ได้แก่ มือเท้าแห้งแตก ปวดฝ่ามือฝ่าเท้า ท้องเสีย เบื่ออาหาร และ ยาแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ได้แก่ Bevacizumab และ Ramucirumab ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยากลุ่มนี้ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ออกฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง โดยยาที่ได้รับรองให้รักษาโรคมะเร็งตับในปัจจุบัน ได้แก่ Atezolizumab ใช้ร่วมกับยา Bevacizumab และ Nivolumab ส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง แต่ยาภูมิคุ้มกันบำบัดอาจกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากขึ้น เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ต่อมไทรอยด์อักเสบ และอาจการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาด้วยยาหากผู้ป่วยไม่สามารถรับการรักษาด้วยยาหลักข้างต้นได้ ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งตับ ได้แก่ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เม็ดเลือดขาวต่ำ และอาจมีอาการชาบริเวณปลายมือปลายเท้าหากได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน
มะเร็งตับอยู่ได้นานแค่ไหน?
ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนมากไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยที่แสดงอาการมักเป็นในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้นาน ประมาณ 3-6 เดือน หากป่วยมะเร็งตับร่วมกับตับแข็งจะอยู่ได้นาน ประมาณ 1-3 เดือน ดังนั้นการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้นผู้ป่วยมีโอกาสรักษาให้หายได้
มะเร็งตับป้องกันได้ไหม?
การป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นมะเร็งตับหรือลดความเสี่ยงในการมะเร็งตับ มีหลายวิธีดังนี้
- ไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ ก้อยปลา เพราะอาจจะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ
- ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสดใหม่ๆ ไม่ทานอาหารที่เก็บค้างคืน เพราะอาจมีเชื้อราปะปนอยู่
- ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ หลีกเลี่ยงการติดเชื้อทางกระแสเลือดหรือเพศสัมพันธ์จากผู้เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การใช้ใบมีดโกน หรือ กรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
- ตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นโรคตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้
- ผู้ที่เป็นพาหะหรือสงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุกๆ 6 เดือน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสงบด หัวหอม พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น เพราะสารนี้จะเป็นตัวเร่งการเป็นมะเร็งเซลล์ตับในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และสารพิษนี้มีความทนทานต่อความร้อนสูงไม่สามารถทำลายได้แม้จะนำไปประกอบอาหารผ่านความร้อน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เช่น อาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม และแหนม เป็นต้น และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น
- ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
- ผู้ที่เป็นพาหะโรคตับอักเสบบี ผู้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังบีและซี ผู้เป็นโรคตับแข็ง ควรได้รับการติดตามโดยทำอัลตราซาวน์และเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP ทุก 6 เดือน
มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ หากมีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวัง และพบตั้งแต่ในระยะแรก ผู้ป่วยมีโอกาสในการรักษาหายและสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ดังเดิม