ขิง (Ginger)

ขิงเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นและรสเฉพาะตัว แต่สามารถนำมาแปรรูปเป็นของหวาน อาหารคาว หรือเครื่องดื่มได้หลายรูปแบบ สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในขิง มีฤทธิ์ต้านการอาเจียน ช่วยขับลม และลดอาการจุกเสียดได้ มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุสำคัญๆ มากมาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส จึงมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

สารบัญ

คุณค่าทางโภชนาการของขิง

ขิง 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่ และให้คุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 4.4 กรัม
  • ไขมัน 0.6 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม
  • เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 18 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
  • เบต้า-คาโรทีน 10 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 1 มิลลิกรัม
  • ไธอะมีน 0.02 มิลลิกรัม
  • ไนอะซีน 1 มิลลิกรัม
  • ไลโบฟลาวิน 0.02 มิลลิกรัม

ส่วนสำคัญของขิง

ทุกส่วนของขิง เช่น ราก เหง้า ต้น แก่น ดอก ใบ และผล ล้วนนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ส่วนที่สำคัญมีดังนี้

ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

  • เหง้า สรรพคุณ รักษาอาการแน่นจุกเสียด และอาการอาเจียน

สารสำคัญที่ออกฤทธิ์

  • อนุพันธ์ของ Gingerol  Shogaol และ Diarylheptanoids  มีฤทธิ์ต้านการอาเจียน และช่วยขับลม
  • สารในน้ำมันหอมระเหย เช่น Menthol  Cineole มีผลลดอาการจุกเสียดได้

ขิง ควรทานวันละไม่เกินกี่กรัม ?

โดยทั่วไปแล้ว การทานขิงในปริมาณประมาณ 1–3 กรัม ต่อวันถือว่าเป็นปริมาณที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่เพื่อใช้ประโยชน์จากขิงเพื่อสุขภาพ เช่น ลดอาการคลื่นไส้หรือบรรเทาอาการปวดข้อ แต่หากทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารได้

ในบางกรณีที่มีการใช้ขิงเพื่อรักษาอาการเฉพาะ เช่น อาการคลื่นไส้หรือท้องอืด สามารถทานได้ในปริมาณประมาณ 2–5 กรัม ต่อวัน แต่ไม่ควรเกิน 5 กรัม ต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการทานขิงมากเกินไป

การทานขิงในปริมาณที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น อายุ สุขภาพทั่วไป หรือปัญหาสุขภาพเฉพาะที่มีอยู่ หากมีโรคประจำตัว เช่น ปัญหากระเพาะอาหารหรือระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานขิงในปริมาณมากๆ หรือใช้ในระยะยาว.

ประโยชน์ของขิง

ขิง (Ginger) เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ในการประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อีกทั้งยังมากไปด้วยสรรพคุณทางยาที่ช่วยในการรักษาโรคได้เป็นอย่างดี มีรสชาติเผ็ดร้อน

ขิงอุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต เส้นใย และโปรตีน

ขิงไม่เพียงแต่มีประโยชน์เฉพาะทางด้านการประกอบอาหาร หรือทำให้รสชาติอาหารดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ทางด้านอื่นๆ รวมถึงมีสรรพคุณที่ดีต่อร่างกายหลายด้าน ประโยชน์เหล่านั้นมีดังนี้

1. แก้อาการเมารถเมาเรือ

ขิงถือว่า มีกลิ่นที่แรง บวกกับการมีรสชาติที่เผ็ดอมเปรี้ยว จึงช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือได้ นอกจากนี้ ขิงยังช่วยแก้อาการแพ้ท้องสำหรับสตรีตั้งครรภ์ได้ กรณีที่ตั้งครรภ์ หากรับประทานขิงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย

2. แก้ปัญหาผมขาดร่วง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมขาดร่วง แนะนำให้นำเหง้าขิงสดไปผิงไฟจนอุ่นแล้วนำมาตำให้แหลก จากนั้นนำมาพอกบริเวณที่มีผมขาดร่วงวันละ 2 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น

อีกวิธีคือ นำน้ำขิงสดคั้นผสมกับน้ำมันมะกอก จากนั้นนำมาหมักผม นวดให้ทั่วศีรษะแล้วทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีจึงล้างออก วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาผมขาดร่วงได้ดี พร้อมทั้งช่วยให้สุขภาพผมแข็งแรง นุ่มลื่น และไม่ขาดง่าย

3. ช่วยลดอาการท้องอืด

ขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ขิงช่วยบรรเทาอาการท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อยได้ เพียงแค่จิบน้ำขิง หรือจะรับประทานสดๆ ก็จะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้แล้ว อีกทั้งขิงยังช่วยขับลม ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย

4. บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน

เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือเกิดอาการเมารถเมาเรือ มักจะใช้ขิงช่วยบรรเทาอาการ มีการศึกษาวิจัยค้นพบว่า ขิงมีส่วนช่วยในการป้องกัน และบรรเทาอาการอาเจียนหลังจากผ่าตัดได้ นอกจากนี้ขิงยังช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ และอาเจียนสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับเคมีบำบัดได้ด้วยเช่นกัน

5. บรรเทาอาการไมเกรน

ขิงสามารถบรรเทาอาการอาการปวดหัวไมเกรนได้ด้วย จากการศึกษาพบว่า การรับประทานขิงในช่วงที่อาการปวดไมเกรนกำลังกำเริบทำให้อาการปวดลดลง เพราะขิงจะช่วยยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับอาการอักเสบได้

นอกจากนี้ ขิงยังช่วยรักษาอาการไขข้ออักเสบได้ด้วยเช่นกัน มีการค้นพบว่า ผู้ที่มีอาการโรคข้อเข่าเสื่อม หรือเป็นโรครูมาตอยด์ อาการจะลดลงเมื่อรับประทานขิงผงเป็นประจำทุกวัน

มีการศึกษาในปี 2015 พบว่า ขิงอาจมีประโยชน์ และปลอดภัยกับโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

6. ลดความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง

ขิงเป็นสมุนไพรที่มีรสจัด และเป็นสมุนไพรที่มีโซเดียมที่ต่ำมาก ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมต่ำจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้

7. ลดระดับน้ำตาลในเลือด 

ขิงมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากขิงอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่รับประทานอยู่ได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องติดตามผลของระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด หากรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้ระดับอินซูลินลดลง และอาจทำให้ร่างกายอยู่ในขีดอันตรายได้

8. ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

ขิงมีคุณสมบัติที่ช่วยต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาพบว่า ขิง ช่วยทำให้เซลล์มะเร็งในรังไข่ตายได้ เพราะสารเคมีในขิงจะไปกระตุ้นเอนไซม์กลูตาไธโน-เอส-ทรานสเฟอรเรส (Glutathione S-Transferases: GSTs) ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้ คือ สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้

9. รักษากรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่เกิดจากกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร ส่งผลทำให้หลอดอาหารอักเสบได้ แต่ขิงสามารถช่วยรักษากรดไหลย้อนได้เช่นกัน

วิธีทำง่ายๆ โดยการนำขิงแก่สด 2-3 แง่ง มาทุบให้ละเอียด จากนั้นต้มในน้ำเดือด ปิดไฟ รอให้อุ่น แล้วกรองมาดื่ม หรืออาจจะจิบในระหว่างวันบ่อยๆ จะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้

10. ช่วยรักษาโรคต่างๆ อีกมากมาย

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ขิงยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย เช่น รักษาแผลน้ำร้อนลวก แก้อาการแพ้อาหารทะเลชนิดที่ผื่นคัน รักษาลมพิษ รักษาแผลเริมบริเวณแผ่นหลัง รักษาอาการปวดข้อ ช่วยฆ่าพยาธิ รักษาโรคนิ่ว

ที่สำคัญขิงยังเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย

การใช้ขิงเพื่อสุขภาพ

1. ลดระดับความดันโลหิตในร่างกาย

ลดความดันโลหิตสูงได้ด้วยการรับประทานขิง เพียงแค่ฝานขิงสดบางๆ ต้มกับน้ำดื่มพอประมาณ ดื่มทุกวัน วันละ 1 แก้ว จะช่วยรักษาอาการความดันโลหิตสูงได้

2. บรรเทาอาการไข้สูง

เมื่อมีไข้สูงก็สามารถบรรเทาอาการไข้ด้วยขิงได้เช่นกัน โดยนำขิงสดมาคั้นให้ได้น้ำ 1/2 ถ้วย ผสมกับน้ำอุ่น และน้ำผึ้งเพื่อลดความเผ็ดร้อนลง จิบบ่อยๆ หรือดื่มวันละ 3 ครั้ง ไข้จะค่อย ๆ ลดลง

3. รักษาโรคหวัด

ขิง นำมาใช้เพื่อรักษาอาการไข้หวัด มีเสมหะได้ โดยให้นำขิงสดมาฝนกับน้ำมะนาวให้ได้น้ำข้นๆ ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง

4. รักษาอาการศีรษะล้าน

นำเหง้าขิงสดไปผิงไฟให้อุ่นจัด แล้วนำมาตำให้แหลกก่อนจะนำไปพอกบริเวณที่ผมร่วง หรือผมบางเป็นพิเศษ ควรพอกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน 1 สัปดาห์จึงจะเห็นผล

ถ้าหากไม่สะดวกจะใช้วิธีนี้ให้คั้นน้ำขิงนำมาผสมกับน้ำมันมะกอกในอัตราเท่าๆ กัน แล้วนำมาใช้นวดศีรษะทิ้งไว้ 30 นาที นอกจากจะช่วยลดปัญหาผมร่วง และหัวล้านแล้ว ยังทำให้เส้นผมแข็งแรงมากขึ้นอีกด้วย

5. บำรุงผิวพรรณให้เรียบเนียน

อยากมีผิวที่สวยเรียบเนียนอย่างเป็นธรรมชาติ ทำได้ง่ายๆ ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอย จากนั้นนำมานวดที่บริเวณต้นขา ก้น รวมทั้งบริเวณที่มีเซลลูไลท์ เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความขรุขระของผิว ทำให้ผิวกลับมาสวยเรียบเนียนเหมือนเดิม

6. ใช้ล้างปากหลังรับประทานอาหาร

จะเห็นได้ว่า อาหารญี่ปุ่นจะมีจานสำหรับใส่ขิงดองเพราะคนญี่ปุ่นนิยมรับประทานขิงดองล้างปากหลังรับประทานอาหารเสร็จ  ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้รสชาติอาหารจานเดิมติดอยู่ในปากจนทำให้เกิดความรู้สึกเลี่ยนจนไม่สามารถรับประทานเมนูต่อไปได้

ที่สำคัญขิงดองยังช่วยทำให้เราลิ้มรสอาหารจานต่อไปได้เต็มที่

7. ดับกลิ่นในช่องปาก

อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของขิงคือ ช่วยลดกลิ่นปาก โดยนำขิงมาคั้นแล้วผสมกับน้ำอุ่น ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย จากนั้นนำมาบ้วนปาก แค่นี้ก็ช่วยลดกลิ่นปากได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังช่วยรักษาภาวะน้ำลายมาก และอาเจียนเป็นน้ำใสได้เช่นกัน

8. รักษาอาการปวดฟัน

การรักษาอาการปวดฟันด้วยขิงนั้น ทำได้ง่าย โดยการนำขิงแก่มาทุบละเอียด จากนั้นนำไปคั่วกับสารส้มจนเกรียม บดให้เป็นผง แล้วพอกบริเวณฟัน วิธีนี้ช่วยรักษาอาการปวดให้หายได้เป็นปกติ

9. แก้อาการสะอึก 

เมื่อมีอาการสะอึก แนะนำให้นำขิงสดมาตำให้จนแหลกเพื่อคั้นเอาแต่น้ำ จากนั้นนำมาผสมกับน้ำผึ้งแท้เพียงเล็กน้อย คนให้เข้ากันแล้วดื่ม สักพักอาการสะอึกจะหายไป

ปริมาณยาขิงที่ใช้

การใช้ขิงในรูปแบบยา ที่ได้ผ่านการศึกษาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

การรับประทาน

  • สำหรับคลื่นไส้และอาเจียนจากการรักษา HIV/AIDS กินขิง 1 กรัมทุกวัน โดยแบ่งเป็นสองครั้ง ก่อนใช้ยาต้านรีโทรไวรัส 30 นาทีเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับปวดประจำเดือน สารสกัดจากขิง (Zintoma, Goldaru) 250 mg สี่ครั้งต่อวัน นาน 3 วัน เริ่มจากวันแรกที่มีประจำเดือน อีกทั้งทานกับผงขิง 1500 mg ต่อวันโดยแบ่งเป็นสามเวลา เริ่มจากวันก่อนมีประจำเดือนสองวันและต่อเนื่องไปถึงช่วง 3 วันแรกหลังมีประจำเดือน
  • สำหรับแพ้ท้อง กินขิง 500-2500 mg ทุกวัน โดยแบ่งเป็นสองถึงสี่ครั้งในช่วง 3 วัน ถึง 3 สัปดาห์
  • สำหรับโรคข้อเสื่อม จากการศึกษาหลายชิ้นได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากขิงหลายตัว โดยปริมาณที่ใช้ขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์เอง เช่นสารสกัดจากขิง (Eurovita Extract 33; EV ext-33) 170 mg สามครั้งต่อวัน, สารสกัดจากขิง (Eurovita Extract 77; EV ext-77) ที่ประกอบด้วยขิงแดง (alpinia) 255 mg สองครั้งต่อวัน, สารสกัดจากขิง (Zintona EC) 250 mg สี่ครั้งต่อวัน และสารสกัดจากขิง (Eurovita Extract 35; EV ext-35) 340 mg ต่อวันร่วมกับ glucosamine 1000 mg ทุกวันนาน 4 สัปดาห์
  • สำหรับอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด ผงรากขิง 1-2 กรัมก่อนใช้ยาระงับประสาท 30-60 นาที บางครั้งอาจใช้ขิงอีก 1 กรัมหลังการผ่าตัดสองชั่วโมง
  • สำหรับอาการวิงเวียนบ้านหมุน กินผงขิง 1 กรัมเพียงครั้งเดียว 1 ชั่วโมงก่อนมีอาการวิงเวียน

การทาบนผิวหนัง

  • สำหรับโรคข้อเสื่อม เจลที่ประกอบด้วยขิงและไพล (plai) (Plygersic gel) 4 กรัมต่อวัน แบ่งเป็นสี่ครั้ง นาน 6 สัปดาห์

การสูดดมและบำบัดด้วยกลิ่น

  • สำหรับอาการคลื่นไส้และอาเจียนหลังการผ่าตัด ใช้สารละลายจากน้ำมันสกัดขิง โดยการบำบัดด้วยขิงเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับสเปียร์มิ้นท์ (spearmint) เปปเปอร์มิ้นท์ (peppermint) และกระวาน (cardamom) ด้วยการสูดดมพร้อมกันผ่านจมูกตอนหายใจเข้าและหายใจออกทางปาก สามครั้งหลังการผ่าตัด

โทษและข้อควรระวังเกี่ยวกับขิง

  • แม้ว่าขิงจะมีประโยชน์หลากหลาย แต่อย่าลืมว่าขิงมีฤทธิ์เผ็ดร้อน หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดแผลในปากได้
  • ขิงมีสรรพคุณต้านการแข็งตัวของเลือด หากคุณมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด หรือกำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ไม่ควรรับประทานขิงเป็นอันขาด หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
  • ไม่ควรรับประทานขิงเกินวันละ 4 กรัมต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
  • เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จึงไม่ควรรับประทานขิง อย่างไรก็ตาม บางการศึกษากลับให้ข้อมูลว่า ขิงไม่ส่งผลเสียแต่อย่างใด ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด

โรคที่ห้ามกินขิง

ขิงทั้งแบบสด แบบน้ำขิง หรือ น้ำขิงมะนาวอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายๆ ด้าน แต่บางกรณีก็ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคบางประเภท โดยเฉพาะ 2 โรค ห้ามกินขิง มีดังนี้

  1. โรคกระเพาะอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหาร: ขิงอาจระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แสบร้อน หรืออักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกรดในกระเพาะอาหาร
  2. โรคหัวใจและหลอดเลือด: ขิงมีคุณสมบัติช่วยในการไหลเวียนเลือดและอาจลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด หากทานขิงร่วมกับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาบางประเภทอาจเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือด

ในกรณีที่มีโรคเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานขิงหรือตัวยาเสริมอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียง

Scroll to Top