ไขมันพอกตับ เป็นหนึ่งในภาวะอันตรายที่แทบไม่แสดงอาการใดให้เห็นเลยในระยะแรก ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว และปล่อยปละละเลยจนนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ เป็นต้น
ดังนั้นการรู้เท่าทันโรค สังเกตความผิดปกติ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเกราะป้องกันร่างกายเราจากไขมันพอกตับได้ดีที่สุด
สารบัญ
ไขมันพอกตับคืออะไร?
ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) เป็นภาวะที่ไขมันเข้าไปสะสมในตับ โดยเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไปและร่างกายไม่ได้นำไขมันมาใช้จนหมด หากตับไม่ได้เผาผลาญไขมันที่สะสมไว้จนมีไขมันมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ก็จะทำให้เกิดอาการของไขมันพอกตับ ซึ่งสามารถแบ่งระยะและอาการได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน ดังนี้
- ระยะที่หนึ่ง เป็นช่วงที่มีการสะสมไขมันในตับ และยังไม่ก่อให้เกิดอาการอะไร
- ระยะที่สอง เป็นช่วงที่เริ่มจะมีอาการอักเสบของตับ หากไม่ควบคุมดูแลให้ดีและปล่อยให้ตับอักเสบนานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป อาจจะทำให้กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้
- ระยะที่สาม เป็นช่วงที่เกิดอาการตับอักเสบที่รุนแรง จนทำให้เกิดพังผืดในตับและเซลล์ตับจะถูกทำลาย
- ระยะที่สี่ เป็นช่วงที่เซลล์ตับตาย จนตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการตับแข็ง กลายเป็นมะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุดได้
ตับ (Liver) เป็นอวัยวะภายในร่างกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อยู่บริเวณด้านขวาบนของช่องท้อง และอยู่ใต้ซี่โครง มีลักษณะอ่อนนุ่ม สีชมพูอมน้ำตาล ตับของผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.3-3.0 กิโลกรัม
โดยมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น เป็นแหล่งสะสมพลังงานและสารอาหารของร่างกาย ผลิตน้ำดี กำจัดสารพิษและยาต่างๆ ที่กินเข้าไปออกจากร่างกาย ควบคุมย่อยสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมัน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และสังเคราะห์สารอาหารพวกโปรตีนที่จำเป็นให้กับร่างกาย เป็นต้น
ไขมันพอกตับเกิดจากอะไร?
การเกิดไขมันพอกตับมีสาเหตุที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-Related Fatty Liver Disease) สาเหตุเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและต่อเนื่องมานาน จนทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะไขมันพอกตับ (Alcoholic Fatty Liver Disease) ระยะแรกจะยังไม่มีอาการ หากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ตับก็จะสามารถกลับมาปกติได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
- ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง (Alcoholic Steatohepatitis) และพังผืด (Fibrosis) เป็นภาวะที่ต่อเนื่องมาจากระยะแรก หากยังไม่หยุดการดื่มแอลกอฮอล์
- ภาวะตับแข็ง (Alcoholic Cirrhosis) เป็นภาวะที่ดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องมาประมาณ 10 ปี และโรคตับแข็งแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ โดยตับแข็งระยะเริ่มต้น (Compensated Cirrhosis) ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก ส่วนของโรคตับแข็งระยะท้าย (Decompensated Cirrhosis) จะมีอาการรุนแรงจนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย
2. ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์
ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: NAFLD) คือ ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญไขมัน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ เป็นต้น จนทำให้เกิดไขมันสะสมจำนวนมากอยู่ที่ตับ
ใครเสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ?
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
- ผู้ที่มีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- ผู้ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
- ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว หรือน้ำหนักลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
- ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมสารอาหาร
- ผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มฮอ์โมน กลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
- ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ไขมันพอกตับอาการเป็นอย่างไร?
โดยทั่วไปอาการของไขมันพอกตับในช่วงแรกมักจะไม่มีอาการทางร่างกาย แต่จะเริ่มแสดงอาการออกมาเมื่อมีไขมันไปสะสมบริเวณตับจำนวนมาก ดังนี้
- เหนื่อย อ่อนเพลีย และไม่มีแรง
- ตึงบริเวณชายโครงด้านขวา
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดผิดปกติ
- คลื่นไส้
- มึนงง ทำให้การตัดสินใจและสมาธิลดลง
- ปวดท้องบริเวณด้านขาวบน หรือกลางท้อง
- รอยปื้นคล้ำที่ผิวหนังบริเวณคอและใต้รักแร้
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวยังไม่สามารถบ่งชี้ถึงไขมันพอกตับได้ในทันที เพราะอาการเหล่านี้เองก็อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยเช่นกัน
ไขมันพอกตับตรวจยังไง?
แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการคลำที่ท้องบริเวณตับว่าโตผิดปกติหรือไม่ พร้อมกับซักประวัติถามอาการ และอาจสั่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ดังนี้
- การตรวจเลือด (Blood Test) เพื่อช่วยให้เห็นปริมาณเอนไซม์ของตับที่มากขึ้นผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของไขมันพอกตับ หรือการอักเสบของตับได้ โดยประเภทการตรวจเลือดที่แพทย์ต้องการ เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจเอนไซม์และการทำงานของตับ การตรวจหาภาวะตับอักเสบจากไวรัสชนิดเรื้อรัง การตรวจวัดไขมันในเลือดไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เป็นต้น
- การดูภาพทางรังสีวินิจฉัย (Imaging Procedures) เพื่อช่วยให้เห็นความผิดปกติของตับจากภาพถ่าย โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าจะใช้วิธีไหน เพื่อให้เห็นภาพของตับได้ชัดเจนและยืนยันผลได้
- การเก็บเนื้อเยื่อส่งตรวจ (Biopsy) เป็นการตรวจเนื้อเยื่อที่ตับ ซึ่งวิธีนี้สามารถยืนยันผลได้ว่าผู้รับบริการมีภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ และมีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การตรวจระดับความแข็งของตับและวัดปริมาณไขมันในตับ ด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan) วัดผังผืดในตับ เพื่อประเมินความรุนแรง
ไขมันพอกตับป้องกันได้ไหม?
ไขมันพอกตับสามารถการป้องกันได้ โดยการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช
- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดแฟลกซ์และเมล็ดเจีย ปลาทะเล เป็นต้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ควบคุมน้ำหนักและกระตุ้นระบบเผาผลาญของร่างกาย โดยที่รอบเอวของผู้ชายไม่ให้เกิน 36 นิ้ว ส่วนของผู้หญิงต้องไม่เกิน 32 นิ้ว
- ดูแลระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยการกินโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวเป็นประจำ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดที่ดีหรือโปรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหาร
- เลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายได้ อีกทั้ง ยังส่งผลให้มีไขมันดีเพิ่มขึ้น
- สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่มแต่พอดี ควรควบคุมปริมาณดื่มไม่เกินวันละ 1-2 แก้ว
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน ภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การรักษาไขมันพอกตับ
สำหรับการรักษาไขมันพอกตับนั้น ปัจจุบันยังไม่มียารักษาภาวะไขมันพอกตับได้โดยตรง แต่เป็นการใช้ยารักษาตามอาการที่เกิดจากภาวะไขมันพอกตับในระยะแรกเท่านั้น โดยจะเน้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้ต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหารที่มีไขมันต่ำ อาหารที่มีกากใยสูง อาหารที่มีให้พลังงานต่ำ และอาการที่มีโปรตีนสูง
- รับประทานอาหารในปริมาณแค่พออิ่ม ก็จะสามารถช่วยควบคุมความรุนแรงของอาการได้
- รับประทานยาและวิตามินอีบรรเทาอาการของภาวะไขมันพอกตับตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด
- ลดอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจเสี่ยงให้ตับทำงานหนัก และควรจะปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร
- ดื่มน้ำสะอาดและคอยจิบน้ำอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นแอโรบิก คาร์ดิโอ และการยกน้ำหนัก เพื่อควบคุมน้ำหนักและกระตุ้นระบบเผาผลาญ
- ควบคุมน้ำหนักและควบคุมระดับคอเลสเตอรอล หากน้ำหนักตัวลดลงก็จะทำให้ไขมันไม่ดีลดลงด้วย และจะส่งผลให้ไขมันดีจะเพิ่มขึ้น
- เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันบุหรี่
- ขับถ่ายเป็นประจำ ระวังอย่าให้ท้องผูก
- หากมีโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดไขมันพอกตับ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง ก็ให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
ไขมันพอกตับรักษาหายไหม?
ในการรักษาไขมันพอกตับสามารถรักษาให้หายได้ โดยการควบคุมดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่หากผู้รับบริการมีภาวะตับแข็งแล้วแพทย์จะรักษาด้วยการควบคุมอาการ และช่วยทำให้ไขมันในตับลดลงเท่าที่จะทำได้เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
การเป็นคนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง และคอยควบคุมน้ำหนักตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันโรคที่มาแบบไม่รู้ตัว