ตรวจ ECHO หัวใจ ทางเลือกการวินิจฉัยหัวใจผิดปกติ

เจ็บแน่นหน้าอก ปวดร้าวตามคอบ่าไหล หอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะนี่ถือเป็นสัญญาณของโรคหัวใจ และหากเกิดอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคหัวใจเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการออกมาในทันที แต่จะเป็นการค่อยๆ สะสมอาการของโรคขึ้นมา จึงทำให้คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นโดยไม่รู้ตัว สำหรับบางคนที่รู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจก็อาจสายเกินไปแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พบปัญหาได้ทัน ซึ่งหนึ่งในการตรวจหัวใจที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน คือ การตรวจ ECHO หัวใจ

โรคหัวใจคืออะไร?

โรคหัวใจ (Heart Disease) หรือในทางการแพทย์อาจใช้คำว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) เป็นโรคที่ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะอันตรายถึงชีวิตหลายอย่าง เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นอาการของหัวใจผิดปกติเรื้อรัง และส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่เพียงพอจนอาจเสียชีวิตได้

อาการของโรคหัวใจ

อาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ส่วนใหญ่จะมีอาการ ดังนี้

  • เจ็บแน่นหน้าอก มีอาการปวดร้าวไปตามกราม ลำคอ บ่าไหล่ ท้อง หรือบริเวณหลัง
  • หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด อาจเป็นลมหมดสติ
  • มีเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ และไม่สม่ำเสมอ
  • คลื่นไส้ ท้องอืด
  • บวมตามมือ แขน ขา เท้า ข้อเท้า และรอบดวงตา
  • ผิวหนังเป็นสีเขียว มีผื่นหรือจุดขึ้น
  • ไอแห้งๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอนราบไม่ได้
  • หากเกิดกับเด็ก อาจมีผลทำให้ร่างกายแคระแกร็น

ตรวจ ECHO หัวใจคืออะไร?

การตรวจ ECHO หัวใจ (Echocardiogram หรือ Echocardiography) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น ขนาดของห้องภายในหัวใจ การไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่คอยสูบฉีดเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงเซลล์และอวัยวะต่างๆ ด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง

โดยใช้วิธีการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ซึ่งจะส่งผ่านผนังด้านหน้าทรวงอกไปถึงหัวใจด้วยหัวตรวจชนิดพิเศษ (Transducer) มีลักษณะคล้ายกับไมโครโฟน สามารถเคลื่อนไปตามตำแหน่งที่ต้องการได้ง่าย เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงได้ส่งผ่านไปยังอวัยวะต่างๆ จะทำให้เกิดสัญญาณสะท้อนกลับมา แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างสัญญาณที่มีน้ำกับเนื้อเยื่อขวางอยู่ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณมาแปลและสร้างเป็นภาพหัวใจออกมาให้เห็นบนจอภาพ

การตรวจ ECHO หัวใจนั้น สามารถแยกย่อยได้อีกหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ที่จะเลือกใช้วิธีไหน แต่โดยส่วนมากมักจะเลือกวิธีมาตรฐาน (Transthoracic Echocardiogram: TTE) เพราะทำได้ง่าย สะดวก และไม่ต้องการเตรียมตัวอะไรมาก มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่เห็นรายละเอียดที่ต้องการได้เป็นอย่างดี ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค ตรวจหาความรุนแรง รวมถึงติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย นอกจากนี้แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจแบบอื่น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและข้อบ่งชี้ของโรคต่อไป

ตรวจ ECHO หัวใจมีกี่แบบ?

นอกจากตรวจ ECHO หัวใจด้วยวิธีการตรวจมาตรฐาน (TTE) แล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายวิธี ดังนี้

  • Transesophageal Echocardiogram (TEE) เป็นการตรวจโดยใช้หัวตรวจสอดผ่านช่องปากเข้าไปอยู่ในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ตรงด้านหลังของหัวใจ เพื่อตรวจโครงสร้างและหลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังของหัวใจ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจ หัวใจห้องซ้ายบน ลิ้นหัวใจ ได้ชัดเจนกว่าวิธีมาตรฐาน แพทย์จะใช้วิธีนี้ตรวจในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ซึ่งอาจมีโรคเกิดจากส่วนด้านหลังหัวใจ หรือส่วนที่อยู่ติดกับหลอดอาหาร และมักใช้ตรวจผู้รับบริการที่มีรูปร่างอ้วน ซึ่งจะมีผนังด้านหน้าของทรวงอกจะหนามากกว่าปกติ
  • Stress Echocardiogram เป็นวิธีการตรวจ ECHO หัวใจร่วมกับการออกกำลังกาย ซึ่งจะตรวจขณะที่กำลังออกกำลังกายและช่วงที่หยุดพัก เพื่อตรวจดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติหรือไม่
  • Doppler Echocardiogram เป็นวิธีที่ใช้ตรวจร่วมกับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดภายในหัวใจและหลอดเลือด โดยตรวจผ่านผนังด้านหน้าของทรวงอก แต่จะเพิ่มชนิดหัวเครื่องตรวจและอาจมีการฉีดสารทึบแสง (Contrast Media) เข้าหลอดเลือดด้วยขณะตรวจ เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นการไหลเวียนของเลือดได้ชัดเจนขึ้น
  • Contrast Echocardiogram เป็นการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในหลอดเลือด ในขณะที่ตรวจ ECHO หัวใจ เพื่อช่วยให้เห็นภาพการไหลเวียนของเลือดได้ชัดเจนดีขึ้น
  • 3-D Echocardiogram เป็นการตรวจ ECHO หัวใจด้วยการเก็บภาพหลายๆ มุม แล้วแสดงผลให้เห็นภาพเป็น 3 มิติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ทำให้ภาพมีความลึก เดิมการตรวจ ECHO หัวใจจะให้ภาพ 2 มิติเท่านั้น
  • Intracardiac Echocardiography เป็นการสอดหัวเครื่องตรวจและสายสวนเข้าไปในหัวใจโดยตรง เพื่อตรวจดูพยาธิสภาพหัวใจ เช่น ไขมันพอกในหลอดเลือดหัวใจ การเกิดฝีในลิ้นหัวใจ ได้ชัดเจนและแม่นยำขึ้น
  • Fetal Echocardiogram เป็นวิธีการตรวจด้วยเครื่อง Ultrasound เพื่อตรวจดูความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่มารดามีอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงจะใกล้คลอด และถ้าเป็นไปได้ควรทำ Fetal Echocardiogram ให้แก่ทารกในครรภ์มารดาทุกรายเพื่อหาความผิดปกติของหัวใจ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแพทย์วินิจฉัย

ตรวจ ECHO หัวใจช่วยอะไร?

  • เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น ขนาดของหัวใจทั้ง 4 ห้อง ความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ และมีภาวะหัวใจโตหรือไม่
  • เพื่อตรวจดูการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่าง (Left Ventricle) ว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือไม่ การบีบตัวและการคลายตัวของหัวใจผิกปกติหรือไม่
  • เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ เช่น ทิศทางการไหลเวียนของเลือด ความเร็วในการไหลเวียนของเลือด
  • เพื่อตรวจดูภายในของหัวใจ ว่ามีก้อนเนื้อเยื่อหรือก้อนลิ่มเลือดหรือไม่ และลิ้นหัวใจมีการติดเชื้อหรือไม่
  • เพื่อตรวจดูโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
  • เพื่อตรวจดูการทำงานของลิ้นหัวใจ ว่าเกิดความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และประเมินระดับความรุนแรงของการตีบหรือรั่วของลิ้นหัวใจ
  • เพื่อตรวจดูโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้น (Proximal Ascending Aorta) เช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดแบบเฉียบพลัน (Acute Aortic Dissection)
  • เพื่อประเมินโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจพิการแต่กำเนิด

ใครควรตรวจ ECHO หัวใจ?

การตรวจ ECHO หัวใจ เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจเบื้องต้น เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุของโรคได้ ผู้ที่ควรตรวจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจ
  • ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะหัวใจบีบตัวน้อยผิดปกติ
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผู้ที่มีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจมีความผิดปกติจากลิ้นหัวใจ
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด รวมทั้งผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว แต่ยังมีอาการของโรคอยู่
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าอาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจแล้ว เพื่อติดตามอาการ

ข้อดีของการตรวจ ECHO หัวใจ

  • ใช้ประกอบการวินิจฉัยได้หลายอย่าง เช่น โครงสร้างหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ การบีบตัวและการคลายตัวของหัวใจ และลิ้นหัวใจ
  • สามารถตรวจดูโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินและวินิจฉัยวิธีการรักษาต่อไปได้
  • สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจด้วยการตรวจร่วมกับการตรวจวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac CT Scan) และการสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อที่จะวินิจฉัยโรคทางหัวใจได้อย่างถูกต้อง
  • สามารถเห็นภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ ในขณะที่กำลังตรวจร่วมกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง
  • การตรวจ ECHO หัวใจ ด้วยวิธีมาตรฐานเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ตรวจซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้งต่อ 1 วัน
  • สามารถตรวจได้ทุกคน ไม่จำกัดอายุ สตรีมีครรภ์ก็ตรวจได้
  • ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ หากตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน
  • ไม่ต้องรับประทานยา หรือฉีดยาชา
  • ไม่เจ็บ ไม่ต้องใช้ยาสลบ

ข้อเสียของการตรวจ ECHO หัวใจ

  • อาจมองเห็นหลอดเลือดหัวใจได้ไม่ชัดเจน ในกรณีที่ผู้รับบริการที่มีรูปร่างอ้วน ซึ่งจะมีผนังด้านหน้าของทรวงอกจะหนามากกว่าปกติ เพราะมีไขมันและน้ำที่ขวางคลื่นเสียงอยู่
  • ทำให้ได้เห็นแค่โครงสร้างของหัวใจเท่านั้น ไม่สามารถเห็นหลอดเลือดหัวใจและการไหลเวียนของเลือด
  • อาจเห็นภาพไม่ชัดเจน ในกรณีที่ผู้รับบริการเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

การเตรียมตัวก่อนตรวจ ECHO หัวใจ

การตรวจ ECHO หัวใจ ด้วยวิธีมาตรฐาน มีการเตรียมตัวดังนี้

  • รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ต้องงดอาหารและน้ำ ก่อนวันรับการตรวจ
  • รับประทานยาได้ตามปกติ แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • งดชาและกาแฟ ในวันรับการตรวจ เพราะอาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจ
  • งดใช้เครื่องสำอางบริเวณที่จะต้องตรวจ เพราะอาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
  • งดใส่เครื่องประดับทุกชนิด ในวันรับการตรวจ
  • สวมเสื้อผ้าที่เป็นกระดุมหน้า ที่ใส่สบายและหลวม เพื่อจะได้ถอดใส่ง่าย และไม่สวมเสื้อผ้าที่มีโลหะนำไฟฟ้า ในวันรับการตรวจ

ขั้นตอนการตรวจ ECHO หัวใจ

การตรวจ ECHO หัวใจแต่ละประเภทอาจมีขั้นตอนแตกต่างกันออกไป แต่ขั้นตอนที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้จะพูดถึงการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE)

  1. แพทย์หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจะให้ผู้ป่วยเตรียมตัว ด้วยการนอนหงายบนเตียงตรวจ และถอดเสื้อผ้าส่วนบนออก
  2. ทำการติดแผ่นขั้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrode) จำนวน 3 จุด ที่บริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้าง และบริเวณท้อง 1 จุด
  3. นำเจลมาทาลงบนบริเวณทรวงอกตามตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อเป็นตัวช่วยส่งผ่านสัญญาณคลื่นเสียง และส่งผลให้ภาพที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  4. ใช้หัวตรวจชนิดพิเศษ (Transducer) กดตรงบริเวณที่ได้ทาเจลเตรียมไว้ ด้วยการกดเบาๆ และเคลื่อนไป เพื่อตรวจดูในตำแหน่งที่ต้องการ โดยที่แพทย์และผู้ที่เข้ารับบริการจะสามารถมองเห็นภาพการตรวจบนจอคอมพิวเตอร์
  5. เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์หรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทางจะเช็ดเจลออกให้จนหมด

การดูแลตัวเองหลังตรวจ ECHO หัวใจ

การตรวจ ECHO หัวใจ ด้วยวิธีมาตรฐาน หลังการตรวจสามารถกลับบ้าน และใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ตรวจ ECHO หัวใจปลอดภัยไหม

การตรวจ ECHO หัวใจ ด้วยวิธีมาตรฐาน เป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ยังไม่เคยมีการรายงานอันตรายจากการใช้การตรวจด้วยวิธีนี้ และไม่มีผลข้างเคียงอะไร

ตรวจ ECHO หัวใจเจ็บไหม

การตรวจ ECHO หัวใจ ด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่บางคนอาจรู้สึกอึดอัดกับการติดแผ่นขั้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เล็กน้อย

การเป็นคนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง และคอยช่างสังเกตตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อร่างกายมีอาการที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทันที

Scroll to Top