เรื่องที่คุณควรรู้ ก่อน “ฝังยาคุม”

การคุมกำเนิด มี 2 ประเภทหลักๆ คือ การคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว โดยการคุมกำเนิดแบบถาวร ก็คือการผ่าตัดทำหมันนั่นเอง ส่วนการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว แบ่งออกได้เป็นแบบใช้ฮอร์โมน กับแบบไม่ใช้ฮอร์โมน

โดยแบบใช้ฮอร์โมนได้แก่ การทานยาคุมกำเนิด การฉีดยาฉีดคุมกำเนิด ยาคุมแผ่นแปะ และการฝังยาคุม ส่วนแบบไม่ใช้ฮอร์โมน จะมีการใส่ห่วงคุมกำเนิด และถุงยางอนามัย ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดนั้น ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

โดยทุกวิธีที่กล่าวมานั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี ยกเว้นการฝังยาคุม ที่แม้มีมานานแล้วแต่อาจยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจมากนัก แต่กำลังมีแนวโน้มที่จะถูกใช้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และปลอดภัย

วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูล การฝังยาคุม โดยละเอียดมาฝากกัน

การฝังยาคุมกำเนิดคืออะไร?

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน (Long-Acting Reversible Contraceptive) ที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้ฝังตื้นใต้ผิวหนัง (Subdermal Use) ซึ่งบรรจุฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสตินไว้ (Progestin) โดยมีตัวยาที่ใช้กันมาก คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) และเอโทโนเจสเตรล (Etonogestrel) ซึ่งจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เป็นเวลา 3 หรือ 5 ปี ตามชนิดของยา

การฝังยาคุมกำเนิด

โดยยาฝังคุมกำเนิดที่นิยมใช้ในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  1. Implanon® ชนิดฝัง 1 แท่ง จะเป็นฮอร์โมน Etonogestrel 68 มิลลิกรัม คุมกำเนิดได้ 3 ปี แท่งยาฝังจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 60-70 ไมโครกรัม ในช่วงเดือนแรก หลังจากนั้นฮอร์โมนจะลดลงเหลือ 30 ไมโครกรัมหลังจาก 2 ปี
  2. Jadelle® ชนิดฝัง 2 แท่ง จะเป็นฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มิลลิกรัม คุมกำเนิดได้ 5 ปี แท่งยาฝังจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 100 ไมโครกรัม ในช่วงเดือนแรก หลังจากนั้นจะลดลงเหลือ 40 ไมโครกรัมต่อวัน และ 30 ไมโครกรัมต่อวัน หลังจาก 1 ปี และ 2 ปี ตามลำดับ

การฝังยาคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?

การฝังยาคุมกำเนิด จะใช้หลอดยาหรือแท่งพลาสติก ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ซึ่งบรรจุฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสตินไว้ นำมาฝังที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้ท้องแขนด้านใน ซึ่งจะใช้เวลาในการฝังยาเพียงประมาณ 2 นาทีเท่านั้น โดยการทำงานของการฝังยาคุมกำเนิดจะมีดังนี้

  • ฮอร์โมนโปรเจสตินจะค่อยๆ ซึมออกมาจากแท่งยาหรือหลอดเข้าสู่กระแสเลือด และไปกดการทำงานของไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง ยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลให้ไม่เกิดการตกไข่ เมื่อไม่มีไข่ที่จะปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
  • ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมา จะทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น มีปริมาณน้อย ทำให้อสุจิว่ายผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก
  • นอกจากนี้ ยังทำให้เยื่อบุผนังหมดลูกบาง ไม่เหมาะสมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ซึ่งทำให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วไม่สามารถเกาะที่ผนังมดลูกได้ดี จึงช่วยลดโอกาสเกิดการผสมกับไข่ได้อีกทางหนึ่ง

การฝังยาคุมกำเนิดเหมาะกับใคร?

ยาคุมกำเนิดชนิดฝังนั้น โดยทั่วไป จะสามารถใช้ได้กับผู้หญิงทุกคน แม้แต่ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน หรือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่สามารถควบคุมได้ ก็สามารถใช้ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจทำ

โดยการฝังยาคุมกำเนิดอาจเหมาะกับ

  • ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ในระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่ต้องการความสะดวก ไม่ต้องรับประทานยาคุมกำเนิดบ่อยๆ
  • ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ผู้ที่มีบุตรมาแล้ว และไม่ประสงค์มีบุตรในขณะนี้ แต่ประสงค์จะมีบุตรอีกในอนาคต
เช็กราคาฝังยาคุมกำเนิด

การฝังยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร?

สำหรับผู้ที่ไม่ควรใช้ยาฝังคุมกำเนิดนั้น มีดังนี้

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือหากสงสัยว่าตั้งครรภ์ ให้ตรวจหาการตั้งครรภ์ก่อน
  • ผู้ที่มีปฏิกิริยาไวต่อส่วนประกอบของแท่งหรือหลอดบรรจุฮอร์โมน
  • ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบใดๆ ในยาคุมกำเนิด
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ เคยเป็นหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามได้
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของตับ เป็นโรคตับ ตับแข็ง มีเนื้องอกในตับ หรือเป็นโรคตับอักเสบ เนื่องจากผลข้างเคียงของยาฝังอาจส่งผลทำให้เกิดตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้
  • ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือนหรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เลือดออกมากขึ้นได้
  • ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด มีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดอาจไปรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดที่มีหน้าที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวในภาวะเลือดออกได้
  • ผู้ที่มีเนื้องอกชนิดที่ไวต่อโปรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโปรเจสเตอโรน
  • ผู้ที่มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับมีลิ่มเลือด (Thrombophlebitis) หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (Thromboembolic Disorders)
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดง (Arterial Disease) มีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง

ข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด

การคุมกำเนิดมีด้วยกันหลายวิธี และหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกว่าคุณเหมาะกับวิธีไหนนั้นก็คือการพิจารณาข้อดีของวิธีนั้นๆ ต่อไปนี้เป็นข้อดีของการฝังยาคุมกำเนิด

  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เมื่อเทียบกับระยะเวลาในการคุมกำเนิด
  • ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก มีอัตราความล้มเหลวไม่เกิน 0.1%
  • เป็นวิธีที่มีความสะดวก ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 หรือ 5 ปี ตามชนิดของยา
  • มีข้อจํากัดหรือข้อห้ามใช้น้อย ใช้ได้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย รวมถึงแม่ที่ให้นมลูก ผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาประเภทเอสโตรเจน หรือผู้ที่น้ำหนักมากเกิน (แต่ประสิทธิภาพอาจลดลง)
  • ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และไม่รบกวนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะเมื่อฝังยาคุมกำเนิดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นตลอดระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี
  • ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ ไม่ต้องนับวันตกไข่ ช่วยลดโอกาสการลืมรับประทานยาคุมกำเนิด หรือลดโอกาสฉีดยาคุมไม่ตรงกำหนด
  • มีอาการข้างเคียงน้อย เนื่องจากยาฉีดคุมกำเนิดมีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ไม่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน จึงทำให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น เป็นฝ้า คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ฯลฯ จึงใช้ได้ในผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ
  • หากต้องการหยุดใช้ สามารถให้แพทย์นำออกได้ทันที เช่น เมื่อต้องการจะมีบุตร หรือต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น
  • หลังจากหยุดใช้ สามารถมีบุตรได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม เนื่องจากฮอร์โมนกระจายออกในปริมาณน้อยและไม่สะสมในร่างกาย
  • มีส่วนช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และลดภาวะประจำเดือนมามาก ส่งผลให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโลหิตจาง
  • ลดโอกาสการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ และภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน เพราะยาฝังคุมกำเนิด จะทำให้เมือกที่คอมดลูกข้นขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปสู่มดลูกได้
  • หลังจากที่แท้งบุตร ทำแท้ง คลอดบุตร หรือระหว่างที่ให้นมบุตร สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันทีและไม่เป็นอันตราย
  • ไม่มีผลต่อการหลั่งของน้ำนมของผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • ไม่ทำให้การทำงานของตับเปลี่ยนแปลง

ข้อเสียของการฝังยาคุมกำเนิด

ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด มีดังต่อไปนี้

  • ไม่สามารถเริ่มใช้หรือหยุดใช้ด้วยตนเอง และไม่สามารถฝังหรือถอดโดยแพทย์ทั่วไปได้ ต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้มีความชํานาญในการฝังและการถอดเท่านั้น
  • ในปีแรกอาจมีผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงที่พบได้จากการฝังยาคุมโดยมีทั้งแบบที่มาไม่ตรงเวลา มามากขึ้น มาน้อยลง หรืออาจไม่มีเลือดออกเมื่อมีประจำเดือน บางคนอาจมาแบบกะปริบกะปรอยทำให้ต้องใส่ผ้าอนามัยไว้เสมอ แต่เมื่อผ่านปีแรกไปแล้วปัญหาจะลดลง
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ (Sexually Transmitted Infection) ซึ่งต่างจากการใช้ถุงยางอนามัยที่ช่วยป้องกันได้ ดังนั้น หากต้องการความมั่นใจในความปลอดภัยจากการติดเชื้อก็จะต้องมีการป้องกันเพิ่มขึ้น เช่นการใส่ถุงยางอนามัย เป็นต้น
  • อาจพบปัญหาและภาวะแทรกซ้อนได้ แต่ไม่บ่อย เช่น คลำเจอแท่งยาในบริเวณท้องแขน พบก้อนเลือดคั่งบริเวณที่กรีดผิวหนัง เกิดการติดเชื้อ เจ็บ คัน ระคายผิวและมีรอยช้ำบริเวณที่ฝังยา มีแผลเป็น ผิวหนังฝ่อ เกิดพังผืดรอบแท่งยา เป็นต้น
  • หากฝังแท่งยาลึกเกินไป ตำแหน่งของแท่งยาอาจเคลื่อนไปจากที่เดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการออกฤทธิ์ของยา ยากต่อการค้นหาและนำแท่งยาออก อีกทั้งยังอาจเกิดอันตรายจากแท่งยาได้
  • อาจมีผลไม่พึงประสงค์ เช่น ประจําเดือนมาผิดปกติ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า รบกวนความรู้สึกทางเพศ เจ็บคัดเต้านม ช่องคลอดอักเสบและแห้ง เกิดฝ้า สิว บวมน้ำ น้ำหนักขึ้น
  • ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย แต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก
  • หากฝังไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทได้

การเตรียมตัวก่อนฝังยาคุมกำเนิด

ในการเตรียมตัวก่อนฝังยาคุมกำเนิดนั้น ควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมทั้งปรึกษาแพทย์ประจำตัวและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเข้ารับบริการที่แผนกสูตินรีเวชตามโรงพยาบาลทั่วไปได้ ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และสามารถกลับบ้านได้ทันที ไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล

เวลาที่เหมาะสมในการฝังยาคุมกำเนิด ควรทำภายใน 5 วันแรกหลังมีประจำเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ หรือภายหลังการแท้งบุตรไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือหลังการคลอดบุตรไม่เกิน 4-6 สัปดาห์

สำหรับค่าใช้จ่ายในการฝังยาคุมกำเนิดมีดังนี้ ในโรงพยาบาลรัฐ ประมาณ 2,500-4,000 บาท และโรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิก ประมาณ 5,000-7,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี สามารถเข้ารับการคุมกำเนิดฟรีทุกวิธี รวมถึงยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย ที่โรงพยาบาลเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขั้นตอนการฝังยาคุมกำเนิด

ในการฝังยาคุมกำเนิดจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ขั้นแรก แพทย์จะทำรอยขนาดเล็กไว้บนท้องแขนด้านใน ข้างที่ต้องการจะฝังยา
  2. ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  3. ฉีดยาชาเฉพาะที่ ที่บริเวณใต้ท้องแขน ซึ่งอาจเจ็บเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ไม่เจ็บขณะฝังยา
  4. จากนั้นแพทย์จะใช้เข็มเปิดแผลที่ท้องแขนขนาด 0.3 เซนติเมตร และสอดใส่แท่งตัวนำหลอดยาที่มียาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็มนำนี้
  5. เมื่อหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้วก็จะถอนแท่งนำยาและเข็มนำออกมา แล้วปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เล็กๆ ตามด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่ง โดยทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเลือดออก
  6. แพทย์ผู้ที่ทำการฝังยาจะตรวจสอบตำแหน่งของยาที่ฝังเข้าไปโดยการจับบริเวณที่ฝัง หรือหากจำเป็น อาจทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์เพื่อยืนยันว่ายาฝังคุมกำเนิดได้ถูกฝังเอาไว้อย่างถูกต้อง
  7. จากนั้น แพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผลที่บ้าน และนัดมาดูแผลอีกครั้งใน 7 วัน
ขั้นตอนการฝังยาคุมกำเนิด

ข้อควรปฏิบัติหลังฝังยาคุมกำเนิด

หลังฝังยาคุมกำเนิด ควรปฏิบัติดังนี้

  • เมื่อครบ 24 ชั่วโมง สามารถนำผ้าพันแผลออกเองได้ แต่ให้เหลือพลาสเตอร์ปิดแผลเอาไว้เป็นเวลา 3-5 วัน จึงค่อยนำออก
  • ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ เป็นเวลา 7 วัน
  • อาจพบรอยฟกช้ำและรู้สึกเจ็บแขนเล็กน้อยบริเวณรอบแท่งฮอร์โมน โดยรอยช้ำจะค่อยๆ หายไปเอง หลัง 7 วัน
  • ห้ามยกของหรือออกกำลังกายหนัก และระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระแทกบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิด
  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันแรก หรือให้ใช้ถุงยางคุมกำเนิดไปก่อน
  • เมื่อครบ 7 วัน แพทย์จะนัดมาดูแผลอีกครั้ง และต่อไปปีละครั้งเพื่อติดตามผล
  • เมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือ 5 ปี ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง ให้มาถอดยาฝังออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป ตามที่แพทย์นัด
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการของการตั้งครรภ์ แผลมีเลือด มีน้ำเหลือง มีหนอง บวมแดง ฯลฯ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • ห้ามพยายามนำแท่งฮอร์โมนออกด้วยตัวเอง
  • งดยาที่มีผลกระทบหรือรบกวนการใช้ยาฝังคุมกำเนิด ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไรฟาบิวติน (Rifabutin) หรือยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยารักษาโรคเอดส์ (HIV) ยารักษาโรคลมชัก (Epilepsy) แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ช่วงระยะสั้น ควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากยาฝังคุมกำเนิด ในระหว่างหรือหลังจาก 28 วันที่ใช้ยาข้างต้น แต่หากต้องใช้ยาเหล่านี้ในระยะยาว อาจต้องพิจารณาใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากยาเหล่านี้
  • ก่อนใช้ยาข้างต้นหรือ หากต้องเข้ารับการรักษาใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่ากำลังใช้ยาฝังคุมกำเนิด
  • หากคลำไม่พบแท่งยา จะทำให้ทราบว่าแท่งยาเกิดการเคลื่อนที่ ต้องไปพบแพทย์เพื่อนำแท่งยานั้นออกและฝังแท่งใหม่เข้าไปแทน
  • ควรรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ เพราะการใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกลดลงเล็กน้อย (แต่กลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดใช้)

ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด มักเกิดขึ้นได้ไม่บ่อย และมักหายไปหลังจาก 2-3 เดือนแรก แต่หากพบว่ายังมีอาการอยู่ หรือมีอาการรุนแรงใดๆ ควรรีบไปพบแพทย์

  • อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มามาก มาน้อย หรือไม่มาเลย และทำให้เกิดความกังวลว่าจะตั้งครรภ์
  • อาจมีอาการระคายเคือง ปวด บวมแดงบริเวณผิวหนังที่ฝังยาเข้าไป แต่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
  • อาจเกิดการอักเสบที่แผลฝังยาคุมกำเนิด หรือมีรอยแผลเป็นได้
  • อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเพราะยาฝังคุมกำเนิดหรือไม่) อาจบวมน้ำ ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม ปวดท้อง คลื่นไส้ ผมอาจบางลง
  • อาจทำให้เป็นสิว ขนดก และความต้องการทางเพศลดลง
  • อาจมีอารมณ์แปรปรวน หรือ มีภาวะซึมเศร้า
  • ยาฝังคุมกำเนิดอาจมีปฏิกิริยาต่อยาชนิดอื่นๆ
  • หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น อาจมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ
  • หากฝังแท่งยาตื้นเกินไป อาจทำให้รู้สึกเจ็บ รบกวนการรับความรู้สึกที่ผิวหนังบริเวณที่ฝังแท่งยาและเกิดผิวหนังอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ
  • หากฝังแท่งยาใต้ผิวหนังลึกไป จะเสี่ยงต่อการเคลื่อนที่ของแท่งยา ทำให้ตัวยาปล่อยสู่กระแสเลือดมากขึ้น และยังเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากแท่งยาได้อีกด้วย
  • หากฝังแท่งยาไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท
  • หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (Bone Mineral Density) ลดลงเล็กน้อยซึ่งกลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้ และไม่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก

ฝังยาคุมกำเนิดแล้วเริ่มคุมกำเนิดเลยไหม?

  • หากฝังยาคุมกำเนิดเอาไว้ในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที
  • หากฝังยาเอาไว้ในวันอื่นๆ ของรอบประจำเดือน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังจากฝังยาคุมกำเนิด 7 วันขึ้นไป
  • ผู้ที่คลอดบุตร หากฝังยาคุมกำเนิดก่อนหรือวันที่ 21 หลังจากคลอด จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที

ควรเอายาคุมที่ฝังออกเมื่อใด?

โดยทั่วไป การเอายาคุมที่ฝังออกนั้นสามารถทำได้ตามความต้องการ โดยเมื่อครบกำหนด 3 หรือ 5 ปี ตามที่แพทย์นัด ต้องให้แพทย์ถอดยาคุมออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป แต่ในกรณีที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น มีอาการของโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดในสมอง ความดันโลหิตสูง หรือเกิดภาวะซึมเศร้า แพทย์อาจแนะนำให้นำยาฝังคุมกำเนิดออกก่อนกำหนด และใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นแทน

ความเสี่ยงของการฝังยาคุมกำเนิด

การฝังยาคุมกำเนิดอาจมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ แต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก เพียง 2% เท่านั้น และสามารถรักษาให้หายได้เพียงการทำความสะอาดบริเวณที่ฝังยาคุมกำเนิดและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเท่านั้น

อีกกรณีที่พบได้ยากเช่นกัน คือ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นในขณะที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดอยู่ อาจมีโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเช่นกัน

สุดท้าย กรณีที่ฝังแท่งยาไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาท ดังนั้นการฝังแท่งยาคุมกำเนิดและการเอาแท่งยาออก จะต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น

หากสนใจแพ็กเกจคุมกำเนิดด้วยวิธีฝังยาคุม ราคาแพ็กเกจฝังยาคุมของโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 6,000-8,000 บาท โดยท่านสามารถตรวจสอบราคาและส่วนลด Cashback ได้ที่ HDmall.co.th

 

Scroll to Top