ใบย่านางเป็นสมุนไพรของภาคอีสานซึ่งมีการกล่าวถึงสรรพคุณทางยาหลายอย่าง เช่น ช่วยรักษาและฟื้นฟูร่างกาย ทำให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับใบย่านางเพิ่มเติมกันว่า ใบย่านางมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายในด้านใดบ้าง
สารบัญ
ทำความรู้จักใบย่านาง
ใบย่านาง เป็นพืชในตระกูลไม้เลื้อย มีกิ่งอ่อนๆ มีขนอ่อนปกคลุม และออกใบเดี่ยว โดยออกติดกับลำต้นแบบสลับกัน ลักษณะใบจะคล้ายรูปไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม เมื่อต้นแก่แล้วผิวจะมีลักษณะเรียบ รากของต้นจะมีขนาดใหญ่
ใบย่านางเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็นซึ่งสามารถช่วยดับพิษต่างๆ ในร่างกายได้
นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาใช้รักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้เป็นยาได้ทุกส่วน ไม่เฉพาะแต่ส่วนของใบเท่านั้น
คุณค่าทางโภชนาการ
ใบย่านาง 100 กรัม ประกอบไปด้วย
- พลังงาน 95 กิโลแคลอรี่
- เส้นใย 7.9 กรัม
- วิตามิน และแร่ธาตที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอาซิน วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี โพแทสเซียม และแทนนิน
ประโยชน์ของใบย่านาง
ใบย่านางเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะมีคุณสมบัติช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกาย เนื่องจากเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ
สำหรับประโยชน์และสรรพคุณของใบย่านางที่เราจะมาแนะนำเพิ่มเติมนั้น มีดังนี้
- เพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย: ใบย่านางมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลภายในร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น และทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมากกว่าเดิม
- ลดความอ่อนเพลีย: สำหรับผู้ที่มักจะมีปัญหาอ่อนล้า อ่อนเพลียเป็นประจำ การรับประทานใบย่านางจะทำให้อาการดีขึ้น หรือสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ให้รับประทานใบย่านางเป็นประจำ จะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากจนเกินไปเนื่องจากใบย่านางมีฤทธิ์เย็นอาจจะทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
- บำรุงผิวพรรณ: ใบย่านางสามารถช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้าได้ เนื่องจากในใบย่านางมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ทำให้ริ้วรอยลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- ป้องกันมะเร็ง: ใบย่านางมีสรรพคุณในการฟื้นฟูเซลล์ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ดีเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง การดื่มน้ำคั้นจากใบย่านางบ่อยๆ จะทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้
- บำรุงอวัยวะภายใน: ใบย่านางมีสรรพคุณในการบำรุงตับและไต ช่วยลดระดับความดันโลหิต ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และยังสามารถใช้รักษาอาการอัมพฤกษ์ให้ดีขึ้นได้
- เป็นยาอายุวัฒนะ: ส่วนใบของต้นย่านางเป็นส่วนที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด เพราะเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น และยังมีสรรพคุณในการป้องกันโรคร้าย เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาอาการภูมิแพ้ ลดระดับความดันโลหิต แก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เป็นต้น
เคล็ดลับการใช้ใบย่านางเพื่อสุขภาพ
ใบย่านางไม่ได้มีประโยชน์เพียงในการนำมารับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายเท่านั้น ยังสามารถนำบางส่วนของต้นย่านางมาแก้ไขปัญหาร่างกาย และรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ได้อีก ดังนี้
- รักษาสิว
ใบย่านางสามารถนำมาใช้รักษาสิวได้ โดยการคั้นน้ำใบย่านางสดผสมกับดินสอพอง แล้วนำมาทาบริเวณหัวสิว จะทำให้สิวหายเร็วขึ้น หรือจะนำมามาส์กหน้าก็จะช่วยให้ผิวหน้าเปล่งปลั่งกระจ่างใส และช่วยล้างสารพิษบริเวณผิวหน้าไปในตัวได้ด้วย
นอกจากนี้ ใบย่านางยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยให้ผิวหน้าห่างไกลจากริ้วรอย และแลดูอ่อนเยาว์มากขึ้นด้วย
- ถอนพิษไข้
รากของต้นย่านางสามารถนำมาถอนพิษไข้ได้หลายชนิด เช่น ไข้หัด ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้ฝีดาษ และไข้ทับระดู เป็นต้น
รากของต้นย่านางถูกใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยาห้าราก ซึ่งหมายถึง ตำรับยาแผนไทยโบราณจากสมุนไพรไทย 5 ชนิดได้แก่ รากย่านาง รากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา และรากมะเดื่อชุมพร
ตำรับยาเบญจโลกวิเชียร เป็นตำรับยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพร
นอกจากนี้ รากของต้นย่านางยังถูกใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ด้วย โดยนำรากแห้งไปสกัดต้มกับน้ำดื่มก่อนรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
- บำรุงเส้นผมให้ดกดำเงางาม
ใบย่านางมีสรรพคุณบำรุงเส้นผมให้ดกดำเงางาม และช่วยแก้ปัญหาผมหงอกได้
ผู้ที่มีปัญหาผมร่วงสามารถนำใบย่านางมากรองเอากาก หรือขยี้ให้ได้คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) สีเขียวให้มากที่สุด จากนั้นให้หมักผมไว้หลังจากสระแล้วทิ้งไว้ทั้งคืน เมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้าค่อยล้างออก โดยสูตรการหมักผมนี้อาจช่วยให้อาการผมร่วง หรือศีรษะล้านดีขึ้นได้
หรือจะเป็นการนำใบหญ้านางไปปั่นแล้วต้มกับน้ำซาวข้าว จากนั้นนำผ้ามากรองให้เหลือแต่น้ำ แล้วนำไปสระผมสลับกับสระด้วยแชมพูทั่วไป สัปดาห์ละ 1 ครั้ง วิธีนี้อาจช่วยให้ผมของคุณกลับมาดกดำได้อีกครั้ง
- รักษาฝีหนอง
ฝีหนองสามารถรักษาได้ด้วยใบย่านางเช่นกัน โดยให้นำน้ำใบย่านางมาผสมกับดินสอพอง คนให้เข้ากันจนได้เป็นเนื้อครีมเหลวๆ จากนั้นนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝีหนอง เมื่อทำเป็นประจำจะทำให้ฝีหนองค่อยๆ ยุบลงและหายเป็นปกติในที่สุด
- แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
ใบย่านางสามารถนำมาใช้เพื่อแก้พิษเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อยได้เหมือนกัน โดยให้นำใบย่านางมาโขลกไม่ต้องละเอียดมาก แต่ให้พอมีน้ำออกมา จากนั้นให้ทาไว้บริเวณแผลที่โดนกัดต่อย จะช่วยแก้พิษและลดอาการปวดได้ดีมาก
เมนูการรับประทานใบย่านางเพื่อสุขภาพ
ใบย่านางเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง จึงนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารด้วย วันนี้เราจึงมีตัวอย่างเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของใบย่านางมาฝากกัน พร้อมวิธีการปรุงรส
- ข้าวผัดใบย่านาง
-
- ให้นำใบย่านางไปตำกับน้ำ แล้วนำมากรองให้เหลือแต่น้ำเท่านั้น
- ตั้งกระทะ แล้วนำกระเทียมลงไปผัด
- ใส่น้ำมันหอย ใส่หมูสับลงไปผัดจนสุกหอม
- ใส่ข้าวสวย ตามด้วยน้ำใบย่านางที่เตรียมเอาไว้
- ผัดจนส่วนผสมเข้ากัน แล้วปรุงรสตามด้วยซอสพริก และน้ำปลา
- ปิดเตาแล้วผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง จากนั้นตักใส่จาน แต่งหน้าข้าวผัดด้วยไข่เค็ม
- น้ำใบย่านางใส่ใบบัวบก
-
- ต้มน้ำและใบเตยลงไปจนเดือด แล้วพักทิ้งไว้
- หั่นใบย่านางกับใบบัวบกลงไปในเครื่องปั่น
- ใส่น้ำใบเตยที่ต้มไว้ตามลงไป จากนั้นปั่นจนละเอียด
- กรองเอาแต่น้ำตักใส่แก้ว จากนั้นใส่น้ำเชื่อม ปรุงรสหวานได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ คุณยังสามารถเทน้ำใส่ขวดแก้วนำไปแช่ในตู้เย็นเก็บไว้ดื่มทีหลังได้
- แกงเห็ดใส่ใบย่านาง
-
- ตำใบย่านางจนละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาเท่านั้น
- นำน้ำใบย่านางใส่หม้อแล้วตั้งไฟให้เดือด
- ใส่ข่า ขิง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกสดลงไป ตามด้วยเห็ด บวบ และใบแมงลัก
- คนให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า และเกลือตามใจชอบ จากนั้นตักขึ้นเสิร์ฟได้เลย
- น้ำใบย่านางใส่ใบเตย
-
- ให้นำใบย่านางประมาณ 30-50 ใบ มาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ รวมกับใบเตย แล้วตำให้ละเอียด
- ผสมส่วนผสม 2 อย่างนี้กับน้ำประมาณ 4.5 ลิตรแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำเท่านั้น แล้วนำไปแช่ตู้เย็นไว้ ให้ดื่มเป็นประจำทุกวันจะดีต่อสุขภาพที่สุด
- แกงหน่อไม้ใส่ใบย่านาง
-
- ให้นำพริก หอมแดง และเกลือสมุทรมาตำรวมกันเพื่อทำเป็นพริกแกงก่อน
- ตั้งน้ำบนเตาและใส่พริกแกงที่ตำเสร็จแล้วลงไป จากนั้นรอจนน้ำเดือด
- เมื่อน้ำเดือดแล้วให้ใส่ตะไคร้กับหน่อไม้ และเคี่ยวให้หน่อไม้เปื่อย
- ใส่ข้าวเบือ เห็ด ใบแมงลัก และน้ำใบย่านางตามลงไป จากนั้นคนให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง
- ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า และเกลือ เพียงเท่านี้แกงเผ็ดเพื่อสุขภาพก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว
การศึกษาพิษวิทยา
สารสกัดใบย่านางด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 ฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังของหนู ปริมาณ 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัวของหนู 1 กิโลกรัม (คิดเป็นปริมาณ 6,250 เท่าของปริมาณที่คนได้รับ) ไม่แสดงความเป็นพิษ
โทษและข้อควรระวัง
- ใบย่านางถือเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะมีฟอสฟอรัส วิตามินเอ และโพแทสเซียมสูง ซึ่งปกติไตจะต้องขับสารเหล่านี้ที่เกินจากความต้องการของร่างกายออกไป
- เมื่อผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับสารเหล่านี้ทิ้งตามปกติได้ ก็ทำให้เกิดการสะสมจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
- ใบย่านางยังมีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
ใบย่านางเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยชะลอความชรา และสามารถป้องกันโรคร้ายได้หลายอย่าง อุดมไปด้วยประโยชน์ และคุณค่าทางสารอาหารมากมาย การรับประทานใบย่านางในปริมาณที่เหมาะสม จึงส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพื่อให้การรักษาโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ