เชอร์รี่ (Cherry) พลังงาน ประโยชน์ วิธีกินเพื่อสุขภาพ

เชอร์รี (Cherry) คือผลไม้ลูกเล็กสีสันสดใส มีทั้งสี แดงสดไปจนถึงแดงเข้ม เป็นผลไม้มากสรรพคุณที่กินได้หลายรูปแบบ เช่น เชอร์รีอบแห้ง น้ำผลเชอร์รี เชอร์รีสด

เชอร์รีแบ่งเป็นกี่ประเภท?

เชอร์รีสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. เชอร์รีทาร์ต (Tart cherry) หลายคนอาจเรียกว่าเชอร์รีแคระหรือเชอร์รีเปรี้ยว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Prunus cerasus L. ผลมีสีแดงสดแม้จะเก็บจากต้นออกมาแล้วก็ตาม มักนำมากินในรูปแบบอบแห้ง น้ำผลไม้ หรือแบบแช่แข็ง
  2. เชอร์รีหวาน (Sweet cherry) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Prunus avium L. มักมีสีแดงเข้มกว่าเชอร์รีทาร์ต เป็นเชอร์รีที่นิยมกินแบบสดๆ

คุณค่าทางโภชนาการของเชอร์รี

เชอร์รีปริมาณ 154 กรัม (1 ถ้วย) ให้สารอาหารเด่นๆ ดังนี้

  • พลังงาน (Energy) 97 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน (Protein) 1.63 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) 24.6 กรัม
  • ไฟเบอร์ (Fiber) 3.23 กรัม
  • วิตามินซี (Vitamin C) 18% จากร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน (Daily value)
  • โพแทสเซียม (Potassium) 7% จากร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • ทองแดง (Copper) 5% จากร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
  • แมงกานีส (Manganese) 5% จากร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน

ที่มา: USDA

ประโยชน์ของเชอร์รี

เชอร์รีมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายจำนวนมาก รวมถึงมีสรรพคุณหลักๆ ถึง 7 ข้อ ได้แก่

1. ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

เชอร์รีมีสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล (Polyphenols) จำนวนมาก สามารถลดการอักเสบและลดการก่อตัวของลิ่มเลือดได้

มีผลการวิจัยซึ่งระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระในเชอร์รีสามารถช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ด้วย

โดยทดลองให้นักวิ่งมาราธอนกลุ่มหนึ่งดื่มน้ำเชอร์รี 710 มิลลิลิตร หลังจากวิ่งระยะไกล ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้ดื่มน้ำเชอร์รี

ผลปรากฎว่านักวิ่งที่ดื่มน้ำเชอร์รีมีความรู้สึกปวดกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดื่มถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ในผู้หญิงที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ หากได้ดื่มน้ำเชอร์รี 60 มิลลิลิตร 2 ครั้ง ต่อวัน จะทำให้กล้ามเนื้อฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้นหากเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลย

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของเชอร์รีนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเชอร์รีและรูปแบบของเชอร์รีที่บริโภคเข้าไปด้วย เช่น ผงเชอร์รี น้ำผลไม้ หรือเชอร์รีสด

2. ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น

ภายในน้ำเชอร์รีทาร์ตจะมีกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นสารสำคัญให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ

จากการศึกษาผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ โดยการให้ดื่มน้ำเชอร์รีทาร์ตวันละ 240 มิลลิลิตร ก่อนเข้านอน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์

พบว่าผู้สูงอายุมีระยะเวลาการนอนหลับที่นานขึ้นเฉลี่ย 84 นาที รวมถึงอาจทำให้คนทั่วไปนอนหลับพักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

3. มีส่วนช่วยบำรุงสมอง

การดื่มน้ำเชอร์รีทาร์ต อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการผิดปกติทางสมองบางประเภทได้ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson) หรือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer)

เชอร์รีมีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากที่มีส่วนช่วยในการป้องกันผลกระทบที่เกิดกับสมองจากภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress)

ซึ่งเป็นภาวะที่สารอนุมูลอิสระมีมากเกินไป และไปทำร้ายชีวโมเลกุลต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน เซลล์

มีการศึกษากลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการทางสมองขั้นต้นถึงปานกลาง โดยให้ดื่มน้ำเชอร์รีทาร์ต 200 มิลลิลิตร เป็นเวลา 12 สัปดาห์

พบว่าผู้สูงอายุมีความจำระยะสั้นและระยะยาวที่ดีขึ้น การพูดพัฒนาขึ้นเนื่องจากขยับกล้ามเนื้อง่ายขึ้นอีกด้วย

4. ลดความเสี่ยงของโรคไขข้อ

ในเชอร์รีมีไฟโตเคมิคอล (Phytnochemicals) หรือบางคนอาจเรียกว่า ไฟโตนิวเทรียน (Phytonutrients) ซึ่งเป็นอินทรียสารจากพืช

สารนี้มีส่วนช่วยป้องกันเอนไซม์บางชนิดที่ทำให้ร่างกายอักเสบได้ หนึ่งในสาเหตุของผู้ที่เป็นโรคไขข้อ มีอาการปวดตามข้อต่างๆ

นอกจากนี้เชอร์รีอาจบรรเทาอาการของโรคเกาต์ (Gout) ได้ด้วย เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเกาท์มักมีค่ากรดยูริก (Uric acid) สะสมในร่างกายสูง จนนำไปสู่อาการปวด บวม อักเสบตามข้อตามข้อต่างๆ

การศึกษาในผู้หญิง 10 คนที่มีค่ากรดยูริกสูง เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างกินเชอร์รีหวาน 280 กรัม ก่อนนำมาตรวจวัดระดับโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบในเลือด (C-reactive protein: CRP) และค่ากรดยูริก พบว่าค่าทั้ง 2 ลดลงได้ภายใน 5 ชั่วโมง

ยังมีอีกหลายการศึกษาที่ยืนยันว่า ผู้ที่กินเชอร์รีสดหรือน้ำผลไม้เชอร์รีทาร์ตเข้มข้นเป็นประจำทุกวัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์ลดลงกว่า 50%

และหากกินยารักษาโรคเกาต์ (Medication allopurinol) ร่วมกับผงเชอร์รี จะสามารถบรรเทาอาการของโรคเกาต์ลงได้ถึง 75%

5. อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน

เชอร์รีทาร์ตมีวิตามินซี (Vitamin C) สูง ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากในเชอร์รี เช่น แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ไฟโตเคมิคอล (Phytochemical) กรดไฮดรอกซีซินนามิก (Hydroxycinnamic acid) และ เพอริลลิล แอลกอฮอล์ (Perilly alcohol)

ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ในเชอร์รี มีส่วนช่วยต้านการติดเชื้ออีกด้วย

6. อาจมีส่วนช่วยในการบำรุงหัวใจ

สารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล (Polyphenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และคาเทชิน (Catechins) ในเชอร์รีช่วยปกป้องความเสียหายจากเซลล์ ช่วยลดการอักเสบ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ

รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เชอร์รีมีสีแดง ช่วยลดการอักเสบเช่นกัน และยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดรวมถึงลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย

การศึกษาในคนกว่า 8 หมื่นคนพบว่า คนที่บริโภคสารต้านอนุมูลอิสระดังกล่าวปริมาณมาก สามารถชะลอความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้เฉลี่ยประมาณ 5 ปี

นอกจากนี้โพแทสเซียม (Potassium) ในเชอร์รี สามารถช่วยลดระดับความดันเลือดได้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด

7. อาจเป็นอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักได้

เชอร์รีอุดมไปด้วยไฟเบอร์ (Fiber) จำนวนมาก ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยทำให้ระดับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นด้วย

การบริโภคผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูงอย่างสม่ำเสมอ มีความสัมพันธ์ต่อการลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้

มีการทดลองในหนูที่กินน้ำเชอร์รีทาร์ต พบว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่คนจะสามารถลดน้ำหนักและหน้าท้องได้ด้วยเชอร์รี

แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษายังคงมีปริมาณน้อยเกินกว่าที่จะยืนยันผลที่จะเกิดขึ้นกับคน ฉะนั้นจึงยังต้องอาศัยการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป

เชอร์รี กินกับอะไรได้บ้าง?

เชอร์รีทั้ง 2 ประเภท คือเชอร์รีทาร์ตและเชอร์รีหวาน เป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี กินง่าย สามารถกินคู่กับอาหารทั้งคาวและหวานได้มากมาย เช่น

  • กินเชอร์รีสดหรือเชอร์รีอบแห้งเป็นของว่าง
  • ผสมเชอร์รีทาร์ตหรือเชอร์รีหวานแช่อิ่มกับโยเกิร์ตและข้าวโอ้ต
  • ผสมเชอร์รีสดกับสลัดผลไม้
  • อบเชอร์รีพร้อมขนมต่างๆ เช่น พาย มัฟฟิน
  • ผสมเชอร์รีใส่ไอศกรีมหรือของหวานได้หลายประเภท
  • ใช้เป็นส่วนผสมในการทำซอสบาร์บีคิว
  • ใช้ทำสมูทตี้ปั่น (Smoothie) หรือเครื่องดื่มต่างๆ

ควรกินเชอร์รีวันละเท่าไร?

หากต้องการประโยชน์จากเชอร์รีดังที่กล่าวมา ควรกินเชอร์รีติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และกินในปริมาณที่ไม่มากไปกว่าที่งานวิจัยศึกษามาแล้ว ดังนี้

  • ดื่มน้ำเชอร์รีปริมาณ 240 มิลลิลิตร ไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน
  • ใช้ผงเชอร์รีผสมน้ำดื่ม ปริมาณไม่เกิน 480 มิลลิกรัมต่อวัน

ข้อควรระวังของการกินเชอร์รี

แม้เชอร์รีจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เล็กน้อย ดังนี้

  • น้ำผลไม้เชอร์รีทาร์ตมีซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่ง อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการท้องเสียหรือปวดท้องได้ในบางคน
  • น้ำเชอร์รีทาร์ตมีเควอร์ซิติน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารประกอบจากพืช และอาจส่งผลกระทบกับยาบางประเภท เช่น ยาขยายหลอดเลือด ฉะนั้นหากมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ำเชอร์รี
  • เชอร์รีอาจมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระลดลงหากเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทเชอร์รีกระป๋อง

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจข้อเข่า

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจดีท็อกซ์

Scroll to Top