ยากลุ่ม anticholinergic เป็นยาที่ยับยั้งการทำงานของ acetylcholine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ที่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย สามารถรักษาได้หลายโรคเช่นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และการได้รับสารพิษบางชนิด นอกจากนั้นยังสามารถยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งเกิดจากโรคบางโรค และอาจจะมีการใช้ก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายในระหว่างที่ดมยาสลบ
สารบัญ
กลไกการทำงานของยาในกลุ่ม Anticholinergic
ยากลุ่ม anticholinergic นั้นจะยับยั้งไม่ให้สาร acetylcholine นั้นจับกับตัวรับที่เซลล์ประสาทปลายทาง และยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทของระบบประสาทอัตโนวัติ parasympathetic ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมไม่ได้เช่นในทางเดินอาหาร ปอด ระบบขับถ่าย และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย สัญญาณประสาทเหล่านี้จะช่วยควบคุมการทำงานต่างๆ ของร่างกายเช่นการสร้างน้ำลาย การย่อยอาหาร การปัสสาวะและการหลั่งมูก
การยับยั้งสัญญาณ acetylcholine นั้นจะลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ การย่อยอาหาร และการสร้างเมือก หากรับประทานยาในกลุ่มนี้อาจจะมีอาการปัสสาวะได้ไม่หมดหรือปากแห้งได้
การใช้ยา
ยากลุ่มนี้มีการใช้เพื่อรักษาหลายโรค เช่น
- ความผิดปกติในทางเดินอาหารเช่นท้องเสีย กระเพาะปัสสาวะทำงานมากเกินไป และการกลั้นปัสสาวะไม่ได้
- โรคหอบหืด
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- เวียนศีรษะและเมายานพาหนะ
- การได้รับสารพิษเช่น organophosphate หรือ muscarine ซึ่งอาจจะพบในยากำจัดแมลงและเห็ดที่มีพิษ
- อาการของโรคพาร์กินสันเช่นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ควบคุมไม่ได้
นอกจากนั้นยังมีการใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อในระหว่างการผ่าตัดเพื่อช่วยในการดมยาสลบ ยานี้จะทำให้การเต้นของหัวใจนั้นเป็นปกติ ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและลดการผลิตน้ำลาย
แพทย์บางคนอาจจะมีการนำยากลุ่มนี้มาใช้เพื่อลดเหงื่อ เช่นยา glycopyrrolate ในรูปแบบครีมและ oxybutynin แบบเม็ด
รายชื่อกลุ่มยา Anticholinergic
1. ยาระบบประสาทส่วนกลาง (CNS)
ใช้รักษาโรคพาร์กินสันและอาการสั่น
- Benztropine: ลดอาการสั่นในโรคพาร์กินสัน
- Trihexyphenidyl: ใช้ในโรคพาร์กินสัน หรืออาการข้างเคียงจากยารักษาโรคจิต
2. ยาทางเดินอาหาร
ใช้รักษาอาการลำไส้แปรปรวน ท้องเสียและกระเพาะอาหารเกร็งตัว
- Hyoscine butylbromide: แก้ปวดเกร็งในทางเดินอาหาร
- Dicyclomine: บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน (IBS)
- Atropine: ลดการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย
3. ยาระบบทางเดินหายใจ
ใช้รักษาหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- Ipratropium: ขยายหลอดลม ใช้ในโรคหอบหืดและ COPD
- Tiotropium: ออกฤทธิ์นานกว่า ipratropium ใช้ใน COPD
4. ยาระบบทางเดินปัสสาวะ
ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินไป (Overactive Bladder, OAB)
- Oxybutynin: ลดอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- Tolterodine: ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- Solifenacin: ใช้รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน
5. ยาใช้ในตา
ใช้ขยายม่านตา และลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อตา
- Tropicamide: ใช้ขยายม่านตาสำหรับตรวจตา
- Cyclopentolate: ใช้ในเด็กเพื่อตรวจภาวะสายตายาว
6. ยาทางผิวหนัง
ใช้ลดเหงื่อและอาการแพ้
- Glycopyrrolate: ลดเหงื่อในผู้ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
- Scopolamine: ใช้ป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ
คำเตือนของการใช้ยา
ลมแดด
ยาในกลุ่มนี้จะลดปริมาณเหงื่อซึ่งอาจจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นได้ ดังนั้นควรระหว่างอย่าให้ร่างกายนั้นร้อนมากเกินไปในระหว่างที่ออกกำลังกาย แช่น้ำร้อนหรืออยู่ในอากาศร้อน เพราะการที่เหงื่อออกน้อยนั้นจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นลมแดด
การใช้ยาเกินขนาดและแอลกอฮอล์
การใช้ยาในกลุ่มนี้มากเกินไปอาจจะทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจจะเกิดได้เช่นกันหากรับประทานร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ ควรไปพบแพทย์ทันทีหากคุณหรือคนที่คุณรู้จักนั้นอาจจะได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป อาการของการได้ยามากเกินไปประกอบด้วย
- มึนศีรษะ
- ง่วงนอนอย่างรุนแรง
- มีไข้
- เป็นภาพหลอนที่รุนแรง
- สับสน
- มีปัญหาในการหายใจ
- ซุ่มซ่ามและพูดยานคาง
- หัวใจเต้นเร็ว
- ตัวแดงและอุ่น
ยาในกลุ่มนี้มีการใช้รักษาในหลายๆ โรคแต่ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย โดยมักจะไม่ใช้ในผู้สูงอายุเนื่องจากพบว่าอาจทำให้เกิดอาการสับสน สูญเสียความจำและการทำงานของจิตใจแย่ลงได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
นอกจากนั้นยังไม่ควรใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคต่อไปนี้
- Myasthenia gravis
- มีไทรอยด์ฮอร์โมนสูง
- ต้อหิน
- ต่อมลูกหมากโต
- ความดันโลหิตสูง
- ทางเดินปัสสาวะอุดตัน
- หัวใจเต้นเร็ว
- หัวใจวาย
- ปากแห้งรุนแรง
- ไส้เลื่อนกระบังลม
- ท้องผูกรุนแรง
- โรคตับ
- กลุ่มอาการดาวน์
หากคุณมีโรคต่อไปนี้ควรแจ้งแพทย์เสมอ รวมถึงประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ถึงแม้ว่าจะใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมแต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ ขึ้นกับชนิดและขนาดของยาที่รับประทาน หรือคุณอาจจะไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเลยก็ได้
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเช่น
- ปากแห้ง
- มองไม่ชัด
- ท้องผูก
- ง่วงนอน
- ซึม
- เห็นภาพหลอน
- ส่งผลต่อความจำ
- ปัสสาวะลำบาก
- สับสน
- เหงื่อออกลดลง
- น้ำลายลดลง
ยาในกลุ่มนี้มีประโยชน์ในผู้ป่วยหลายกลุ่ม ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หากคุณคิดว่ายาในกลุ่มนี้อาจจะช่วยคุณได้ แพทย์จะเป็นคนเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด และสามารถตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้