โดยทั่วไป ปานแดงมักจะเห็นตั้งแต่กำเนิดหรือในขวบปีแรก ลักษณะเป็นเนื้อนูนสีแดงสด บางรายถ้าเกิดการกระแทก เกา หรือขัดถูบริเวณปานแดง อาจทำให้มีเลือดออกมากได้ ปานแดงมีรูปร่างและขนาดที่หลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ เนื้องอกหลอดเลือด (Hemangioma) และปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน (Port-wine Stain)
ปานแดงทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะ อันตราย และวิธีการรักษาแตกต่างกัน ดังนี้
สารบัญ
1. ปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด (Hemangioma)
ปานแดงแบบนี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อย ประมาณ 5-10% ของเด็กในขวบปีแรก พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เริ่มแรกอาจพบแค่เป็นปื้นสีแดง ต่อมาจะค่อยๆ นูนขึ้นในช่วง 5 เดือนถึงขวบปีแรก และพบว่า 50% ของปานแดงชนิดนี้สามารถบยุบลงเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปี
ลักษณะของปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือดจะเป็นก้อนนูน สีแดงเข้มสด ผิวขรุขระ เกิดในตำแหน่งใดของร่างกายก็ได้
สาเหตุของปานแดงเนื้องอกหลอดเลือดเกิดจากการมีเส้นเลือดใต้ผิวหนังขยายขนาดและเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ ต่อมาจะค่อยๆ เป็นสีออกเทา แล้วแดงจางลง จากนั้นปานจะค่อยๆ นิ่มแบน และยุบตัวลง
หลังจากยุบตัวลงอาจเหลือทิ้งร่องรอยเป็นเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง เนื้อย่นๆ เนื้อเป็นหลุม หรือบางรายอาจเป็นแผลเป็น
อันตรายของปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด
ปานแดงชนิดนี้ ถ้ามีมากกว่า 5 ตำแหน่ง ต้องรับการตรวจเพิ่มเติม เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีปานเนื้องอกหลอดเลือดเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นภายในร่างกาย นอกเหนือจากที่ผิวหนังด้วย
หรือถ้ามีปานชนิดนี้ขึ้นบริเวณใบหน้าขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร อาจพบร่วมกับกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่เรียกว่า PHACE syndrome ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของ ตา หัวใจ และหลอดเลือดอื่นๆในร่างกาย
การรักษาปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด
เริ่มแรกแพทย์ตรวจหาภาวะร่วมอื่นๆ เช่น อาการทาง ตา หู และตำแหน่งของปานแดงว่าปิดกันทางเดินอาหารหรือทางเดินหายใจหรือไม่ รวมถึงจำนวนปานและอายุของผู้ป่วย ที่เริ่มเข้ามาทำการรักษา
แนวทางการรักษาปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือด เช่น
- รักษาด้วยยากิน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาโพรพาโนลอล
- รักษาด้วยยาทา เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์
- รักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะ พัลส์ดายเลเซอร์ (Pulsed-dye laser)
- รักษาด้วยการผ่าตัด
2. ปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน (Port-wine Stain)
ปานแดงชนิดนี้เกิดจากเส้นเลือดใต้ผิวหนังเรียงตัวผิดปกติ ทำให้เกิดผื่นลักษณะนูนแดง ผิวขรุขระ สิ่งที่แตกต่างจากปานแดงชนิดเนื้องอกหลอดเลือดคือ ปานชนิดนี้จะนูนหนาขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สามารถขึ้นได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
อันตรายของปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน
ถ้าพบปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตนตามริมฝีปาก รอบรูจมูก อาจบดบังทางดินหายใจได้ อาจพบปานชนิดนี้ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น
- ความผิดปกติของกระดูก ถ้ามีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณแขน ขา อาจพบความผิดปกติของกระดูกร่วมด้วยในข้างเดียวกัน ผู้ป่วยมักจะมีแขนขาโต เท้าโตผิดรูป มีปัญหาด้านการเดิน บางรายอาจพบปานชนิดอื่นๆ เช่น ปานดำ ปานสีน้ำตาล ปนมาด้วย
- อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยที่มีปานแดงชนิดนี้ขึ้นที่บริเวณซีกนึงของใบหน้า อาจพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ลมชัก สติปัญญาต่ำ
- อาการทางสายตา ในผู้ป่วยที่มีผื่นบริเวณรอบตา เปลือกตา นอกจากปานนี้จะนูนหนาบดบังการมองเห็นแล้ว ยังสามารถมีอาการร่วมที่เป็นปัญหาจากกระบอกตา จอประสาทตา ทำให้มีต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นมองไม่เห็นได้
การรักษาปานแดงชนิดพอร์ตไวน์สเตน
เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถยุบตัวเองได้ ปล่อยไว้นานมีแต่จะขยายขนาด สีเข้มชัด และนูนหนามากขึ้น จึงควรรีบทำการรักษา โดยแพทย์ตรวจหาภาวะร่วมอื่นๆ ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดปาน และทำการรักษาด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะ พัลส์ดายเลเซอร์ (Pulsed-dye laser)
เขียนบทความโดย พญ. สุเนตรา นิตยวรรธนะ