ตรีผลา เป็นพิกัดยาสมุนไพรไทยที่ใช้กันมายาวนาน ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ สมอไทย (Terminalia chebula Retz.) สมอพิเภก (Terminalia belerica Roxb.) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.) ในอัตราส่วน 1:1:1 เท่ากัน
ตรีผลามีสารสำคัญกลุ่มฟีนอลิก (Phenolic) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก ถือว่าเป็นสมุนไพรตำรับที่มีสรรพคุณหลากหลาย ปัจจุบันจึงนิยมใช้หลาย ๆ รูปแบบ ทั้งยา เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และส่วนผสมในอาหารเสริม เช่น เครื่องสำอาง ยาสีฟัน
สรรพคุณดี ๆ ของตรีผลา
ตรีผลามีสรรพคุณดังนี้
- รักษาสมดุลของระบบย่อยอาหาร ช่วยลดกรด และเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร
- กำจัดของเสียออกจากร่างกาย เป็นยาระบายได้
- ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด อาการปวดเข่า รวมถึงมะเร็งด้วย
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และไขมันไม่ดี (LDL)
- ต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง
- ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย ตรีผลาเป็นยาประจำฤดูร้อน จึงช่วยปรับสมดุลร่างกายและธาตุต่าง ๆ ให้ทำงานได้ปกติ กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยบรรเทาและป้องกันโรคหวัด รวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ ด้วย
- เมื่อใช้ภายนอก จะช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวกระจ่างใส
ตรีผลากับการลดน้ำหนัก
ตรีผลามีสรรพคุณช่วยระบาย ช่วยให้การทำงานของระบบขับถ่ายดีขึ้น มีการขับน้ำและของเสียมากขึ้น ทำให้น้ำหนักลดลง สอดคล้องกับการทดลองในผู้ป่วยโรคอ้วนที่กินตรีผลาผสมกับมหาหิงคุ์เทียบกับยาหลอก พบว่าน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ออกกำลังกาย และอาจกินตรีผลาเป็นส่วนช่วยปรับสมดุลการทำงานของร่างกายเท่านั้น
ตรีผลา กินยังไงได้บ้าง
ตรีผลากินหรือดื่มได้หลายแบบ เช่น
- น้ำดื่ม ใช้สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม (แบบสดหรือแห้งก็ได้) อย่างละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน ต้มในน้ำสะอาด ดื่มน้ำต้มครั้งละ 1 แก้ว ตอนเช้าและเย็น จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการระบายของเสียในร่างกายทำงานดีขึ้น
- ยาชนิดเม็ด ลูกกลอน และแคปซูล กินครั้งละ 200–300 มิลลิกรัม สำหรับขับเสมหะ และเป็นยาระบาย
- ตำรับอายุรเวท ใช้ผงสมุนไพรตรีผลาผสมน้ำ เนย หรือน้ำผึ้ง กินครั้งละ 1–2 กรัม วันละ 2 ครั้ง ใช้บำรุงร่างกาย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเป็นยาระบายอ่อน ๆ
ผลข้างเคียงของการใช้ตรีผลา
สำหรับคนที่ท้องเสียง่าย ถ้ากินหรือดื่มตรีผลา อาจทำให้ท้องเสียได้ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์