โรคหนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ถ้าไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ระบบสืบพันธุ์ในร่างกายอาจเกิดความผิดปกติ และผลข้างเคียงมากมายก็จะตามมา
สารบัญ
โรคหนองในคืออะไร
โรคหนองใน คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infection: STI) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสารคัดหลั่งที่พบได้ทั้งในอวัยวะเพศหญิงและชาย รวมถึงบริเวณทวารหนัก ปากมดลูก และท่อปัสสาวะ
ดังนั้น โรคหนองในจึงติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลักนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการสอดใส่อวัยวะเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ไม่สามารถติดต่อกันผ่านการกอดจูบ หรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันได้
นอกจากนี้ เชื้อโรคหนองในยังติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ โดยการคลอดแบบธรรมชาติจะเพิ่มโอกาสให้เชื้อหนองในบริเวณช่องคลอดของคุณแม่ปนเปื้อนไปที่เยื่อบุตาของลูกขณะคลอดได้
ประเภทของโรคหนองใน
- โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นชนิดของโรคหนองในซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เติบโตได้ดีในอวัยวะที่อุ่นและชื้น เช่น ดวงตา ลำคอ ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และทวารหนัก
- โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis: NSU) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามัยเดีย ทราโคมาทิส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งก็เป็นเชื้อที่ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน
อาการของโรคหนองในผู้ชาย
โรคหนองในผู้ชายเกิดได้ทั้งหนองในแท้และหนองในเทียม อาการมีดังต่อไปนี้
1. อาการโรคหนองในแท้ในผู้ชาย
ในช่วงแรก ๆ ที่ติดเชื้อ อาการจะไม่ค่อยแสดงออก ผู้ป่วยเลยอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้อ บางรายต้องรอให้ผ่านไปราว ๆ 1–2 อาทิตย์จึงจะชัดเจนขึ้น
อาการเริ่มต้นของโรคหนองในแท้ ได้แก่
- เจ็บคอ แสบคอ
- รู้สึกเจ็บ หรือแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
- มักปวดปัสสาวะกะทันหัน
- มีของเหลว เช่น มูกสีเหลืองหรือสีเขียว คล้าย ๆ น้ำหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ
- ปลายอวัยวะเพศมีผื่นหรือรอยปื้นแดงขึ้น และมีอาการคัน ระคายเคือง
- เจ็บลูกอัณฑะ
ผู้ป่วยที่ติดโรคหนองในแท้มักจะติดโรคหนองในเทียมร่วมด้วย การจะรักษาหนองในแท้ให้หายจึงต้องรักษาหนองในเทียมควบคู่ไปด้วยกัน
หากมีอาการเหล่านี้แล้วผู้ป่วยยังไม่รีบไปพบแพทย์ ก็อาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอีกมากมาย ทำให้อาการที่เกิดบริเวณระบบสืบพันธุ์ และท่อปัสสาวะแย่ลงกว่าเดิม
2. อาการโรคหนองในเทียมในผู้ชาย
ลักษณะอาการของโรคหนองในเทียมจะคล้าย ๆ กับโรคหนองในแท้ คือจะไม่แสดงออกมาในช่วงแรก ๆ และต้องรอถึง 1–3 อาทิตย์หลังติดเชื้อจึงจะชัดเจนขึ้น มีอาการดังนี้
- รู้สึกเจ็บแสบ เหมือนแสบแผลไฟไหม้ขณะปัสสาวะ
- มีของเหลว เช่น มูกสีเหลืองหรือสีเขียวไหลออกมาจากอวัยวะเพศ
- ปวดเจ็บช่องท้องส่วนล่าง
- เจ็บลูกอัณฑะ
ถ้าเกิดอาการเหล่านี้และยังไม่รีบไปพบหมอ อาจมีของเหลว เช่น มูกใสสีเหลือง มูกใสสีเขียว หรือเลือดไหลออกมาจากอวัยวะเพศเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากจะมีอาการบริเวณอวัยวะเพศแล้ว ถ้าผู้ป่วยติดเชื้อหนองในเทียมที่ดวงตาหรือในลำคอ ก็จะมีอาการแสดงออกมาด้วยเหมือนกัน เช่น
- ตาแดง
- ตาบวม
- คันระคายเคือง
- มีน้ำหนองไหลออกมาจากดวงตา
- มีอาการไวต่อแสง
- เจ็บคอ
- คอแห้ง
- มีไข้สูง
- ไอเรื้อรัง
นอกจากอาการข้างต้นแล้ว โรคหนองในยังทำให้อวัยวะอื่น ๆ อักเสบด้วย ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น ตาอักเสบ อัณฑะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือมีอาการปัสสาวะขัด
การรักษาโรคหนองในในผู้ชาย
วิธีรักษาโรคหนองในทั้งแท้และเทียม มักจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบกินร่วมกับแบบฉีด คือยาอะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) และยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) โดยต้องใช้ควบคู่กันเพื่อป้องกันการดื้อยา เนื่องจากปัจจุบันมานี้พบเชื้อดื้อยาสูง
นอกจากตัวเองแล้ว ผู้ป่วยก็ควรให้คู่นอนพบแพทย์และรับการรักษาไปพร้อม ๆ กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม และควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการของโรคจะดีขึ้น
โดยปกติ หลังจากรักษาไปประมาณ 2 อาทิตย์ อาการก็จะดีขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องไปตรวจอาการเรื่อย ๆ ตามนัด จนกว่าแพทย์จะยืนยันว่าหายสนิทแล้ว และอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ก็ต้องดีขึ้นด้วย
วิธีป้องกันโรคหนองในผู้ชาย
หัวใจสำคัญของการป้องกันไม่ให้ติดโรคหนองในหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ทำได้ง่าย ๆ แค่ “ใส่ถุงยางอนามัย” โดยต้องเป็นถุงยางที่ขนาดพอดี ได้มาตรฐาน และสวมถูกวิธี เท่านี้ก็จะลดโอกาสในการติดโรคไปได้มาก
นอกจากใส่ถุงยางอนามัยแล้ว ยังมีวิธีป้องกันอื่น ๆ อีกที่ทำได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เสริมทางเพศและการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
รวมถึงเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ปีละ 1 ครั้งก็เป็นอีกสิ่งที่ควรทำ เพราะถ้าเป็นอะไรขึ้นมาจะได้รีบรักษา และถ้ารู้สึกว่าเริ่มมีอาการใด ๆ หรือเสี่ยงติดโรค ให้รีบไปหาหมอทันที
หลาย ๆ คนอาจรู้สึกสนุกหรือพึงพอใจกับพฤติกรรมทางเพศของตนเอง และคิดว่าคงไม่ได้ติดโรคกันง่าย ๆ หรือบางคนก็อาจเชื่อใจคนรักมากจนไม่ได้ป้องกันดีพอ จึงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
เมื่อติดเชื้อแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าประมาท หรือใช้ความเชื่อใจเป็นตัวตัดสิน เพราะจะยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าเดิม
เพราะการติดเชื้อหมายถึงการรักษาที่กินระยะเวลายาวนาน ทั้งรักษาโรค รักษาอาการแทรกซ้อน หรืออาจเป็นการเพิ่มโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นกว่าคนทั่ว ๆ ไป เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย