ฝีคัณฑสูตร เป็นโรคที่เกิดในเนื้อเยื่อหรือชั้นไขมันบริเวณทวารหนัก แล้วทะลุออกมาที่ผิวหนัง ถึงไม่อันตรายในเบื้องต้น แต่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายตัวแก่ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ฝีคัณฑสูตรสามารถรักษาให้หายขาดได้ และผู้ที่รักษาไปแล้วมักไม่ค่อยกลับมาเป็นฝีคัณฑสูตรซ้ำอีก สำหรับผู้ที่ยังมีความกังวลในการตรวจ-รักษาฝีคัณฑสูตร บทความนี้รวบรวมข้อสงสัยพร้อมคำตอบไว้ให้แล้ว
สารบัญ
- 1. ฝีคัณฑสูตร รักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้ไหม?
- 2. ฝีคัณฑสูตร อันตรายไหม?
- 3. ถ้าตรวจดูด้วยตนเองแล้วไม่พบรูที่ทวารหนัก แสดงว่าไม่ได้เป็นฝีคัณฑสูตรใช่หรือไม่?
- 4. ฝีคัณฑสูตร รักษาวิธีไหนดีที่สุด?
- 5. ฝีคัณฑสูตร แตกต่างจากริดสีดวงอย่างไร?
- 6. การตรวจฝีคัณฑสูตร ทำอย่างไร?
- 7. ฝีคัณฑสูตรพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
- 8. ฝีคัณฑสูตร รักษาได้ไหม รักษาแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือเปล่า?
1. ฝีคัณฑสูตร รักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้ไหม?
ตอบ: ไม่ได้ จำเป็นต้องตรวจดูตำแหน่งของโพรงฝี และรักษาที่ต้นเหตุ การดูแลตัวเองที่บ้านไม่ทำให้ฝีคัณฑสูตรหายไป (เป็นไปได้ที่ผิวหนังภายนอกทวารหนักจะสมานตัวเอง ไม่มีแผลให้เห็น แต่โพรงฝีภายในจะยังคงอยู่ และภายหลังจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก)
การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยตัวเองไปตามอาการมักทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ก่อให้เกิดฝีหนอง และทำให้ทางเชื่อมบริเวณผิวหนังทวารหนักเปิดขึ้นมาอีก
กรณีที่ฝีคัณฑสูตรที่ผู้ป่วยเป็น มีสาเหตุมาจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bewel Disease) แต่ไม่ได้เกิดการติดเชื้อ ฝีคัณฑสูตรอาจหายได้จากการรักษาด้วยยา ไม่ต้องผ่าตัด
เพื่อให้รักษาได้ถูกต้อง ถ้ามีอาการถ่ายเป็นเลือด พบมูก เลือด หนอง เมื่อขับถ่ายอุจจาระ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นฝีคัณฑสูตรหรือไม่ และควรรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะเหมาะกับชนิดฝีคัณฑสูตรที่เป็น
2. ฝีคัณฑสูตร อันตรายไหม?
ตอบ: ฝีคัณฑสูตรมีลักษณะเป็นรูเปิดที่ผิวหนังบริเวณทวารหนัก ซึ่งอาจมีหนอง เลือด หรืออุจจาระ ไหลออกมาด้วย โดยเฉพาะถ้าเราไปกดรอบๆ
อันตรายของฝีคัณฑสูตร มีดังนี้
- การติดเชื้อ: ฝีคัณฑสูตรที่ไม่รับการรักษาอาจทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายมากขึ้นและอาจกลายเป็นการติดเชื้อรุนแรงได้
- ความเสี่ยงต่อสุขภาพ: ฝีคัณฑสูตรที่รุนแรงอาจทำให้มีการสูญเสียเลือด การติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด หรือการเกิดเนื้อตาย
- ภาวะแทรกซ้อน: หากไม่รับการรักษา ฝีคัณฑสูตรอาจมีภาวะแทรกซ้อน และการรักษาจะซับซ้อนมากขึ้น
3. ถ้าตรวจดูด้วยตนเองแล้วไม่พบรูที่ทวารหนัก แสดงว่าไม่ได้เป็นฝีคัณฑสูตรใช่หรือไม่?
ตอบ: ถึงจะไม่มีรูที่ทวารหนัก ก็อาจเป็นฝีคัณฑสูตรได้ บางกรณีเป็นเพราะฝีคัณฑสูตรที่เป็นมานาน ผิวหนังด้านนอกจึงสมานตัวเองแล้ว (แต่โพรงฝีด้านในทวารหนักยังอยู่)
แม้มีรูฝีหรือไม่ ก็ควรไปหาหมอเพื่อรับการรักษา เนื่องจากรูที่ผิวหนังอาจกลับมาเปิดอีกครั้ง เวลาที่ฝีในทวารหนักอักเสบจนต้องระบายของเหลวออกนอกร่างกาย
4. ฝีคัณฑสูตร รักษาวิธีไหนดีที่สุด?
ตอบ: ฝีคัณฑสูตรมีวิธีรักษาหลักคือการผ่าตัด โดยมีหลากหลายวิธีผ่าตัด เช่น ผ่าตัดแบบเปิด ผ่าตัดแบบเลาะโพรงฝีออกทั้งหมด ผ่าตัดคล้องเชือกในโพรงฝีคัณฑสูตร วิธีรักษาฝีคัณฑสูตรที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ตรวจประเมินก่อนการรักษา
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงสำหรับการรักษาฝีคัณฑสูตร ที่ผู้ป่วยอาจสอบถามแพทย์ก่อนผ่าตัด ดังนี้
- ชนิดของฝีคัณฑสูตรที่เป็น ว่าเป็นแบบซับซ้อนหรือไม่ซับซ้อน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับตัวเลือกวิธีรักษา
- เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของการรักษา
- โอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
- ความเสี่ยงที่การรักษาจะกระทบกระเทือนต่อกล้ามเนื้อหูรูด ควรเลือกที่กระทบกระเทือนกล้ามเนื้อหูรูดน้อยที่สุด เนื่องจากถ้ากล้ามเนื้อหูรูดเสียหายไป จะมีปัญหาต่อการกลั้นอุจจาระและผายลมได้
5. ฝีคัณฑสูตร แตกต่างจากริดสีดวงอย่างไร?
ตอบ: ฝีคัณฑสูตร กับ ริดสีดวง เป็นคนละโรคกัน แต่มีอาการบางอย่างใกล้เคียงกัน เช่น ทำให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระเมื่อขับถ่าย ทำให้รู้สึกไม่สบายบริเวณทวารหนัก เป็นต้น
- ฝีคัณฑสูตร คือ ฝีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ต่อมผลิตเมือกบริเวณทวารหนัก จนร่างกายสร้างทางเชื่อมผิดปกติขึ้นมาในเนื้อเยื่อหรือชั้นไขมัน เพื่อระบายของเหลวออกไปทางผิวหนังบริเวณใกล้ๆ รูทวารหนัก ของเหลวดังกล่าว ได้แก่ เลือด หนอง น้ำเหลือง ส่วนทางเชื่อมอาจมีทางเดียว หรือเชื่อมออกไปหลายๆ ทาง จนถึงมีผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียงก็ได้
- ริดสีดวง เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือหลอดเลือดภายในผิวหนังรอบๆ รูทวารหนักโป่งบวมขึ้น จนทำให้เกิดความเจ็บปวด เมื่อปล่อยไว้นานร่วมกับอาการท้องผูก อุจจาระมีลักษณะแข็ง ก็อาจครูดหลอดเลือดที่โป่งบวมให้แตกจนมีเลือดออกจากทวารหนักได้
6. การตรวจฝีคัณฑสูตร ทำอย่างไร?
ตอบ: โดยทั่วไป แพทย์จะตรวจฝีคัณฑสูตรโดยดูผิวหนังบริเวณทวารหนักด้วยตาเปล่าก่อน จากนั้นมักใช้เครื่องมือที่เรียกว่า อโนสโคป (Anoscope) เพื่อดูด้านในทวารหนัก
อาจมีการสั่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นตำแหน่งของโพรงฝีที่อยู่ภายในผิวหนัง เช่น ตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจ MRI
นอกจากนี้ เนื่องจากฝีคัณฑสูตรเกี่ยวข้องกับโรคอื่นด้วย เช่น โรคโครห์น แพทย์จึงอาจสั่งตรวจโรคนี้ด้วยเช่นกัน
7. ฝีคัณฑสูตรพัฒนาเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ตอบ: ฝีคัณฑสูตรสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก โดยอาจเกิดในกรณีที่เป็นฝีคัณฑสูตรมานานแล้วปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รักษา
8. ฝีคัณฑสูตร รักษาได้ไหม รักษาแล้วจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหรือเปล่า?
ตอบ: ฝีคัณฑสูตรสามารถรักษาได้ และมักหายขาด ไม่กลับมาเป็นซ้ำ วิธีรักษาหลักคือการผ่าตัด โดยปัจจุบันมีหลายเทคนิคผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ใช้เวลาผ่าตัดสั้น พักฟื้นไม่นาน และไม่มีผลกระทบกับกล้ามเนื้อหูรูด ทำให้ไม่มีปัญหากลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด
โดยทั่วไปฝีคัณฑสูตรไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการให้สงสัยว่าอาจเป็นฝีคัณฑสูตร เช่น รู้สึกเจ็บ คัน บริเวณทวารหนัก ถ่ายแล้วมีเลือด มูก น้ำหนอง หรือน้ำเหลืองปนออกมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝีคัณฑสูตรใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย