โรคระบบทางเดินอาหารคืออะไร ร้ายแรงขนาดไหน scaled

โรคระบบทางเดินอาหารคืออะไร ร้ายแรงขนาดไหน

ระบบทางเดินอาหาร เป็นอีกระบบสำคัญของร่างกายทำหน้าที่ย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไปเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน หรือสารอาหารที่มีประโยชน์

อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี อวัยวะเหล่านี้สามารถเกิดความผิดปกติได้จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลไม่ดีพอ และการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค

เมื่อระบบทางเดินอาหารเกิดความผิดปกติ จึงก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้จะเรียกว่า “โรคระบบทางเดินอาหาร”

โรคระบบทางเดินอาหารมีหลายชนิด หลายประเภท ตั้งแต่โรคที่สามารถรักษาให้หายได้ง่ายไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง หรือเนื้องอกซึ่งยากจะรักษาให้หายเป็นปกติได้

โรคระบบทางเดินอาหาร

ตัวอย่างโรคระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้

1. อาการท้องผูก

อาการท้องผูก (Constipation) เป็นอาการที่ทุกคนน่าจะเคยเผชิญกันมาบ้างแล้ว อาการท้องผูก อุจจาระแข็งมากกว่าปกติ จึงขับถ่ายได้ยากลำบาก หรือต้องเบ่งมากกว่าปกติ รวมถึงมีอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ โดยเฉลี่ยน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการท้องผูกจะรู้สึกเหมือนเบ่งอุจจาระไม่สุด จำเป็นต้องสวนทวารเพื่อให้อุจจาระออกได้ หรือรู้สึกเจ็บทวารขณะขับถ่ายด้วย

อาการท้องผูกส่วนมากมักเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่เหมาะสม เช่น ดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  • มีพฤติกรรมชอบอั้นอุจจาระ
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางประเภท เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กผสมอยู่ ยาแก้อักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ความผิดปกติของลำไส้ เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ตีบตัน ลำไส้บีบพันกัน มีก้อนมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก กล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักทำงานไม่ประสานกันกับการเบ่งอุจจาระ

วิธีรักษาอาการท้องผูกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรับประทานยาระบายตามแพทย์สั่ง ดื่มน้ำให้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนเมนูอาหาร โดยให้รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยมากๆ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายมากขึ้น และไม่อั้นอุจจาระ

2. โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือ โรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากน้ำย่อย หรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารส่วนบน

โรคกรดไหลย้อนสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น

  • กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน หรือส่วนล่างคลายตัวผิดปกติ
  • ความเครียด จนทำให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากกว่าปกติ
  • การรับประทานอาหารแล้วเข้านอนทันทีโดยไม่รอให้อาหารย่อย ทำให้ช่องท้องเกิดความดัน และทำให้กรดไหลย้อนขึ้นมา
  • การรับประทานอาหารย่อยยาก เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารฟาสต์ฟู้ด
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารส่วนปลายหย่อน
  • ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายมากพอ ทำให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ไม่ได้เคลื่อนตัวจนกรด และน้ำย่อยไม่ไหลไปอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม และไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารแทน

อาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนส่วนมาก ได้แก่

  • รู้สึกแสบร้อน จุกแน่นหน้าอก และลิ้นปี่
  • เรอบ่อย คลื่นไส้
  • กลืนน้ำลายลำบาก
  • แสบลิ้น
  • ระคายเคือง หรือเจ็บแสบในลำคอ
  • รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ หรือมีน้ำรสขม รสเปรี้ยวอยู่ในลำคอตลอดเวลา
  • ไอเรื้อรัง
  • มีน้ำลายมากผิดปกติ
  • หูอื้อเป็นระยะๆ

วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น

  • รับประทานยาลดกรด
  • หากรับประทานอาหารก่อนนอน ให้เว้ยระยะเวลาให้อาหารย่อยก่อนประมาณ 3 ชั่วโมง
  • ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  • หมั่นออกกำลังกาย
  • ไม่สวมเสื้อผ้า หรือกางเกงที่รัดแน่นบริเวณรอบเอว เพื่อลดความดันในช่องท้อง
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ควรรับประทานผัก ผลไม้เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. โรคแผลในกระเพาะอาหาร

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer Disease: PUD) เป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากกรด หรือน้ำย่อยกัดเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ส่วนต้นจนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารบางรายอาจมีอาการเพียงแค่ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน แต่บางรายก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ หรือถ่ายเป็นเลือด

สาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารอย่างชา กาแฟ น้ำอัดลม การสูบบุหรี่ การรับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป ความเครียด

ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารควรรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะหากอาการของโรคนี้รุนแรงถึงขั้นกระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยอาจมีการปวดท้องอย่างรุนแรง ช็อค และเสียชีวิตได้ ซึ่งวิธีนี้ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

นอกจากนี้วิธีรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารอื่นๆ ได้แก่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาภาวะจิตใจอย่าให้ตนเองเกิดความเครียด วิตกกังวล
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด การดื่มสุรา ชา กาแฟ ซึ่งสร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่าย
  • งดการรับประทานยาที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารไปจนกว่าแพทย์จะอนุญาต

4. โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการแบ่งตัวผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนมะเร็งส่วนเกินในกระเพาะอาหาร

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะเริ่มต้นจากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดภาวะโลหิตจาง คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ น้ำหนักลดลงผิดปกติ

ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจยังไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งจนกว่าจะมีการตรวจพบก้อนมะเร็งผ่านการส่องกล้องเท่านั้น

ระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งยังอยู่ที่เยื่อบุในกระเพาะอาหาร และยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะส่วนอื่น

ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และเริ่มกระจายตัวไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง

ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะส่วนอื่นๆ เช่น ปอด ช่องท้อง ตับ

โรคมะเร็งกระเพาะอาหารจัดเป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย เพราะมีปัจจัยทำให้เกิดได้ทั้งพันธุกรรม เชื้อชาติซึ่งพบว่า คนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ได้มากกว่า รวมทั้งอายุที่มากขึ้น

พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารหมักดอง อาหารตากเค็ม อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

วิธีรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักรักษาผ่านการผ่าตัด การฉายรังสีบำบัด การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับให้ยาฉีดเข้าหลอดเลือด รวมถึงในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมถึงอาหารอื่นๆ ที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารด้วย

5. โรคมะเร็งลำไส้

โรคมะเร็งลำไส้ (Colorectal cancer) เป็นโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยมีปัจจัยทำให้เกิดได้หลายอย่าง เช่น

  • อายุที่มากขึ้น
  • พันธุกรรม โดยผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้มีโอกาสจะเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนปกติทั่วไป
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ่อยๆ

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ ได้แก่

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • อ่อนเพลียอย่างหนัก
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • รู้สึกจุกเสียดในท้อง มีลมในท้องมาก
  • ท้องผูก ท้องเสีย
  • ทวารหนักมีเลือดออกแม้ไม่ได้อุจจาระ
  • อุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระมีสีคล้ำเข้มซึ่งเป็นผลมาจากเลือดปนในอุจจาระ
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ

ระยะของโรคมะเร็งลำไส้แบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งเริ่มเจริญเติบโตอยู่ในเยื่อบุของผนังลำไส้ และทวารหนัก

ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามไปที่ชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ และเริ่มลุกลามไปที่เนื้อเยื่อ บริเวณใกล้เคียง

ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปที่อวัยวะอื่น

ระยะที่ 4: ก้อนมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะใกล้เคียง เช่น ตับ ปอด กระดูก รวมถึงเข้าไปในกระแสเลือด

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้สามารถรักษาได้ผ่านการผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออก การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจให้ก่อน หรือหลังการผ่าตัด การฉายแสงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง

หลังกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายแล้ว รวมถึงเข้ารับการรักษาครบทุกกระบวนการ แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีเชื้อมะเร็งหลงเหลืออยู่ หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่

วิธีป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร

นอกจากโรคระบบทางเดินอาหารทั้ง 5 โรคที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีโรค และความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ อีกมากมาย เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคตับแข็ง ภาวะลำไส้แปรปรวน ซึ่งทุกโรคล้วนส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติ และเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงได้

เพื่อลดความเสี่ยงเกิดโรคระบบอาหาร การมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพ และรู้จักรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินอาหารได้ เช่น

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ถูกสุขลักษณะ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอทุกวัน
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดรับประทานอาหารหมักดอง อาหารรสจัด รวมถึงอาหารปิ้งย่าง
  • งดสูบบุหรี่
  • ขับถ่ายเป็นเวลา ไม่กลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระเด็ดขาด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • อย่าปล่อยให้จิตใจเกิดภาวะเครียด หากมีภาวะเครียดมากๆ อาจไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไข
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • สอบถามแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารก่อนการรับประทานยาทุกชนิด
  • หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัย
  • หากมีข้อบ่งชี้สุขภาพ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง อาจเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง หรือตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง

โรคระบบทางเดินอาหารไม่ได้เป็นเพียงโรคร้ายแรงที่อาจส่งผลให้คุณต้องสูญเสียอวัยวะในระบบทางเดินอาหารไปเท่านั้น แต่ยังเป็นโรคที่สร้างความรำคาญทำให้ยากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย

ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน

การมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงความเครียด

การดูแลระบบย่อยอาหาร รวมถึงดูแลระบบขับถ่ายให้ทำงานมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ลดโอกาสเป็นโรคระบบทางเดินอาหารได้

นอกจากนี้พฤติกรรมการดูแลตนเองที่ดียังจะช่วยให้คุณรับประทานอาหารทุกมื้อได้อย่างเอร็ดอร่อยทุกวัน รวมถึงสบายท้อง มีกิจวัตรการขับถ่ายที่ดี และไม่มีของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกายด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top