หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เป็นที่นิยม และทำให้คู่รักหลายคู่ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ “อิ๊กซี่” หรือ ICSI ซึ่งเป็นการช่วยปฎิสนธิ โดยวิธีฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ หากคุณกำลังสนใจอยากรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีนี้ และมีคำถามมากมายที่ยังสงสัย บทความนี้เราได้รวบรวมเรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ICSI มาฝาก
เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการทำ ICSI
สารบัญ
- 1. การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เหมาะกับใคร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
- 2. ทำไม ICSI ถึงมีราคาสูงมากกว่าวิธีอื่นๆ
- 3. คู่ที่ทำหมันแล้วหรือเป็นหมัน สามารถทำ ICSI ได้หรือไม่
- 4. การย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือรอบแช่แข็งดีกว่ากัน
- 5. สามารถรู้เพศลูกล่วงหน้าได้เมื่อไหร่
- 6. ทำ ICSI มีโอกาสได้ลูกแฝดหรือไม่
- 7. กาวติดตัวอ่อน (Embyo Glue) คืออะไร ช่วยเพิ่มความสำเร็จได้จริงหรือไม่
- 8. ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การทำ ICSI ประสบความสำเร็จ
- 9. การตั้งครรภ์โดยวิธี ICSI มีความเสี่ยงแท้งง่ายจริงไหม
- 10. การดึงเซลล์ตัวอ่อนไปตรวจโครโมโซม มีความเสี่ยงทำให้เด็กพิการจริงไหม
- 11. การคัดเกรดตัวอ่อนจะช่วยการันตีว่า การครรภ์จะประสบความสำเร็จใช่ไหม
- 12. เด็กที่เกิดจากการทำ ICSI มีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม
1. การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เหมาะกับใคร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร
ตอบ: ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) หรือ “อิ๊กซี” คือเทคโนโลยีที่ต่อยอดจาก IVF โดยคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงเพียง 1 ตัว ฉีดเข้าเซลล์ไข่โดยตรง เมื่อปฏิสนธิแล้วจะนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการด้วยน้ำยาเลี้ยงพิเศษ จากนั้นเมื่อตัวอ่อนพัฒนากระทั่งอยู่ในระยะที่เหมาะสมแล้ว จึงฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น
- เหมาะสำหรับ: คู่ที่ฝ่ายชายมีปริมาณอสุจิน้อยมาก คุณภาพไม่ดี เช่น เคลื่อนไหวน้อย รูปร่างผิดปกติ หรือคู่ที่ทำ IVF ไม่สำเร็จ
- ข้อดี: โอกาสสำเร็จสูงกว่า ตรวจโครโมโซมได้ ลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
- ข้อจำกัด: ราคาสูง ขั้นตอนซับซ้อน มีโอกาสที่ไข่จะแตกระหว่างทำ หรือหลังจากปฏิสนธิแล้วไข่หยุดเจริญเติบโต
- โอกาสท้อง: เฉลี่ยประมาณ 32%
เช็คโปรฯ รักษาภาวะมีบุตรยาก พร้อมเปรียบเทียบราคา และแพ็กเกจพิเศษ คลิกเลย
2. ทำไม ICSI ถึงมีราคาสูงมากกว่าวิธีอื่นๆ
ตอบ: สาเหตุที่ ICSI มีราคาสูงกว่าการรักษาภาวะมีบุตรยากวิธีอื่นๆ เนื่องจากมีวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง พร้อมเครื่องมือที่มีขนาดเล็กพิเศษ และทำโดยนักเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ชำนาญการ ดังนั้น จึงมีค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปกรณ์เฉพาะและค่าปฏิบัติการสูงกว่าการรักษาวิธีอื่นๆ
3. คู่ที่ทำหมันแล้วหรือเป็นหมัน สามารถทำ ICSI ได้หรือไม่
ตอบ: ผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว สามารถทำ ICSI ได้ เนื่องจากการทำหมันของในผู้หญิง เป็นการผูก รัด หนีบ หรือตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้อสุจิสามารถว่ายผ่านไปปฏิสนธิกับไข่ แม้ว่าจะไม่มีท่อนำไข่แล้ว ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการทำ ICSI นั้นไม่ต้องอาศัยท่อนำไข่ในการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ แต่เป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย โดยการนำไข่และอสุจิผสมกัน เพาะเลี้ยงจนเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
ส่วนผู้ชายที่ทำหมันแล้วก็สามารถใช้วิธี ICSI ได้เช่นกัน ด้วยการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะโดยตรง โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกประเภทของการผ่าตัดจากสาเหตุของการไม่มีเชื้ออสุจิ ไม่ว่าจะเป็น TESA, TESE, PESA, MESA จากนั้นจึงสกัดคัดแยกตัวอสุจิออกมาผสมกับไข่
4. การย้ายตัวอ่อนรอบสดหรือรอบแช่แข็งดีกว่ากัน
ตอบ: ในกระบวนการทำ ICSI นั้น สามารถย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ด้วยกัน 2 วิธี วิธีแรกคือ การย้ายตัวอ่อนรอบสด (Fresh ET) เป็นการย้ายตัวอ่อนหลังจากไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว เป็นระยะเวลา 5-6 วัน กลับเข้าสู่โพรงมดลูกทันที วิธีที่สองคือ การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็ง (Frozen-thawed ET) เป็นการนำตัวอ่อนไปแช่แข็งไว้ก่อน จากนั้นจึงนำมาละลาย แล้วย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
แม้ว่าการย้ายตัวอ่อนรอบสดจะมีข้อดีคือ ประหยัดเวลา และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งและละลายตัวอ่อน แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ในการย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งมีมากกว่าตัวอ่อนรอบสด เนื่องจากในรอบสดต้องมีการกระตุ้นไข่ โดยปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงที่เกิดจากการกระตุ้นไข่นั้นมีค่าสูงกว่าในธรรมชาติมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูกได้
ในขณะที่การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งนั้น จะมีระยะเวลาในการเตรียมโพรงมดลูกให้มีความพร้อมมากที่สุด และยังสามารถตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมได้อีกด้วย ดังนั้น การย้ายตัวอ่อนรอบแช่แข็งจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า
เจาะลึกทุกรายละเอียด ขั้นตอนการย้ายตัวอ่อน รอบสด รอบแช่แข็ง อ่านเพิ่มเติม คลิกเลย
5. สามารถรู้เพศลูกล่วงหน้าได้เมื่อไหร่
ตอบ: การทำ ICSI สามารถรู้เพศลูกล่วงหน้าได้ ในช่วงที่ตัวอ่อนอยู่ในหลอดทดลอง 3-5 วัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นจะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมระยะก่อนฝังตัว (PGD) ได้ และสามารถรับรู้เพศของลูกล่วงหน้าได้ด้วย
*การตรวจ PGD (Preimplantation Genetic Diagnosis) เหมาะสำหรับคู่ที่มีโรคทางพันธุกรรม หรือฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่าลูกอาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรม
6. ทำ ICSI มีโอกาสได้ลูกแฝดหรือไม่
ตอบ: การทำ ICSI มีโอกาสที่จะได้ลูกแฝด เนื่องจากในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูก แพทย์มักจะใส่ตัวอ่อนเข้าไปมากกว่า 1 ตัว เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ หากตัวอ่อนฝังในโพรงมดลูกมากกว่า 1 ตัว ก็มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้
อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์ และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้เช่นกัน
7. กาวติดตัวอ่อน (Embyo Glue) คืออะไร ช่วยเพิ่มความสำเร็จได้จริงหรือไม่
ตอบ: ในกระบวนการฝังตัวอ่อนตามธรรมชาติ เราจะพบโปรตีนชนิดหนึ่งอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีชื่อว่า Hyaluronan ในปัจจุบันได้มีการนำสาร Hyaluronan กับโปรตีนบางชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของตัวอ่อน มาพัฒนาเป็นน้ำยา Embryo Glue เพื่อใช้ร่วมกับน้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อน เพื่อให้ตัวอ่อนสามารถเกาะติดและฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ง่ายขึ้น
จากการวิจัยพบว่า การใช้ Embryo Glue ช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้นได้ และไม่ได้มีผลเพิ่มความผิดปกติของทารกในครรภ์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับ Embryo Glue ยังอยู่ในขั้นตอนที่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และความสำเร็จในการทำ ICSI ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้กาวติดตัวอ่อนเพียงอย่างเดียว
8. ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การทำ ICSI ประสบความสำเร็จ
ตอบ: ความสำเร็จจากการทำ ICSI ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุของผู้หญิง หากอายุมากขึ้น คุณภาพไข่ก็จะลดน้อยลง จำนวนไข่ที่ได้จากการกระตุ้น คุณภาพของไข่ที่ได้จากการกระตุ้น รูปร่างและความแข็งแรงของอสุจิ รวมไปถึงความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงในวันที่ทำการย้ายตัวอ่อน
ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยวิธีไหนดี ไม่แน่ใจว่า วิธีไหนจะเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด นัดคุยกับคุณหมดเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ICSI
9. การตั้งครรภ์โดยวิธี ICSI มีความเสี่ยงแท้งง่ายจริงไหม
ตอบ: ความเสี่ยงในการแท้งบุตรของการตั้งครรภ์โดยวิธี ICSI กับวิธีการทางธรรมชาตินั้น ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เพราะการแท้งไม่ได้มีสาเหตุมาจากวิธีการที่ทำให้ตั้งครรภ์ แต่มีผลมาจากปัจจัยอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ดูแลจะช่วยประเมินความเสี่ยง โดยสอบประวัติ ตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม และการติดตามการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม
10. การดึงเซลล์ตัวอ่อนไปตรวจโครโมโซม มีความเสี่ยงทำให้เด็กพิการจริงไหม
ตอบ: ในการทำเด็กหลอดแก้ว นักวิทยาศาสตร์จะเลือกตัวอ่อนเพื่อย้ายกลับสู่โพรงมดลูก ซึ่งก่อนจะย้ายกลับไปนั้น จะมีขั้นตอนหนึ่งเพิ่มเข้ามา คือการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถเลือกตัวอ่อนจากผลการตรวจอย่างละเอียดในระดับโครโมโซมและระดับยีน เพื่อคัดกรองตัวอ่อนที่พันธุกรรมผิดปกติออกไป
หลายคนกังวลว่า ขั้นตอนการตัดหรือดึงเซลล์ตัวอ่อน จะส่งผลให้เด็กพิการในอนาคต แต่ความจริงแล้ว ตัวอ่อนดึงเซลล์ไปนั้น อยู่ในระยะที่เรียกว่า บลาสโตซิสต์ (Blastocyst) ซึ่งมีจำนวนเซลล์มากกว่า 100 เซลล์ นอกจากนี้เซลล์ที่ดึงไปตรวจนั้นเป็นเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นรก ทำให้ไม่ส่งผลกระทบกับตัวเด็ก และไม่ส่งผลทำให้เด็กมีความพิการ
11. การคัดเกรดตัวอ่อนจะช่วยการันตีว่า การครรภ์จะประสบความสำเร็จใช่ไหม
ตอบ: การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI นั้น แพทย์จะแบ่งเกรดของตัวอ่อน ในช่วงประมาณวันที่ 3 และ 5 หลังจากเก็บไข่ โดยเกรดของตัวอ่อนเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพตัวอ่อน และใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
อย่างไรก็ตาม การคัดเกรดเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถการันตีผลสำเร็จได้ ตัวอ่อนที่คะแนนสูง ไม่ได้แปลว่า จะตั้งครรภ์สำเร็จเสมอไป เพราะอาจมีโครโมโซมผิดปกติก็จะไม่เหมาะสมกับการฝังตัว ในทางกลับกัน ตัวอ่อนที่ได้คะแนนต่ำ อาจทำให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ และเด็กที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงได้ ดังนั้นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
12. เด็กที่เกิดจากการทำ ICSI มีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม
ตอบ: ในกระบวนการทำ ICSI นั้น จะสามารถตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัวได้ ซึ่งจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของทารกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย และกล้ามเนื้อลีบได้
เชื่อว่า หลายคู่น่าจะหมดกังวลและคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการ ICSI นอกจากนี้ยังสามารถตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นว่า เราและคู่รักเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่
ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย