ในสถานการณ์ที่ประชากรในประเทศไทยมีอายุขัยสูงขึ้นและมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงขึ้น เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน รวมถึงไม่ค่อยออกกำลังกาย จนกระทั่งประสบปัญหาโรคอ้วนในที่สุด
ภาวะที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ หรือภาวะ Dyslipidemia จึงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและพบบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่า ภาวะ Dyslipidemia นี้จะดูไม่ใช่ภาวะที่ร้ายแรง แต่ก็นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
สารบัญ
ภาวะ Dyslipidemia คืออะไร?
Dyslipidemia หมายถึง ภาวะที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ ไม่ว่าจะสูง หรือต่ำเกินไป ขึ้นกับชนิดของไขมันดังนี้
- Total Cholesterol (TC) คอเลสเตอรอลในเลือดมากกว่า 200 mg/dl
- High-density lipoprotein cholesterol (HDL-C) คอเลสเตอรอลตัวดีน้อยกว่า 40 mg/dl ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 mg/dl ในผู้หญิง
- Low-density lipoprotein cholesterol (LDL-C) คอเลสเตอรอลตัวร้ายมากกว่า 160 mg/dl
- Hypertriglyceridemia: Triglyceride (TG) ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 mg/dl
ภาวะ Dyslipidemia เกิดจากอะไร?
สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
1. ชนิดปฐมภูมิ (Primary หรือ Familial dyslipidemia)
ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างและเผาผลาญไขมัน โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือ Polygenic hypercholesterolemia และ Familial combined hyperlipidemia (FCH)
2. ชนิดทุติยภูมิ (Secondary dyslipidemia)
เกิดจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ โรคทางกาย ยาบางชนิด รวมถึงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- สาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ ภาวะไทรอยด์ในเลือดต่ำ ภาวะน้ำดีคั่ง โรคไต ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดที่มีโปรเจสโตเจน (Progestogen) เป็นส่วนประกอบ และยาลดระดับความดันกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide)
- สาเหตุที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ไตวาย การดื่มสุรา อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง (แป้งและน้ำตาล) การตั้งครรภ์ ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta-blocker ยาลดระดับความดันกลุ่มไทอะไซด์ (Thizaide) ยากลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ยารักษาสิวที่มาจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ และยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ
- สาเหตุที่ทำให้ HDL-C ต่ำ ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย ยาสเตียรอยด์ที่มีผลในการสร้างกล้ามเนื้อ ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดที่มีโปรเจสโตเจน (Progestogen) ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta-blocker
- สาเหตุที่ทำให้ LDL-C สูง ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ หมูสามชั้น เนยเหลว เนยเทียมแข็ง เนื้อสัตว์ที่มีมันมาก ไส้กรอก และ/หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง
ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด
ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด มีดังนี้
- อายุ ระดับไขมันในเลือดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- เพศ ระดับของไตรกลีเซอไรด์ขึ้นกับเพศโดยตรงมากกว่าระดับของคอเลสเตอรอล โดยพบว่า เพศชายมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงกว่าเพศหญิงในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะคนช่วงอายุ 20-39 ปี คนละเพศ จะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ต่างกันประมาณ 40% เลยทีเดียว แต่ระดับความต่างจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ส่วนระดับคอเลสเตอรอลจะต่างกันไม่มาก โดยช่วงวัยหนุ่มสาว ค่าคอเลสเตอรอลในเพศชายจะสูงกว่าในเพศหญิง จนถึงวัย 40-50 ปี เพศหญิงจึงจะมีระดับคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าแทน
- การออกกำลังกาย ส่งผลต่อการเพิ่มระดับ HDL-C ลดระดับคอเลสเตอรอล และยังช่วยลดน้ำหนักตัวด้วย
- บุหรี่ การสูบบุหรี่ส่งผลให้ระดับ HDL-C ลดลงได้มากกว่า 15% และการเลิกบุหรี่สามารถทำให้ระดับ HDL-C กลับมาเป็นปกติได้
- พันธุกรรม ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ เป็นผลจากยีนที่ควบคุมการสร้างและเผาผลาญ LDL-C ผิดปกติ
- แอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ปริมาณมากส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น
- ความเครียด ส่งผลให้ระดับการเผาผลาญเพิ่มสูงขึ้น แต่ร่างกายไม่สามารถนำ LDL-C ไปใช้ได้ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงสูงขึ้น
- ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะมีระดับ LDL-C และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ความเจ็บป่วยบางอย่างที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างและนำไขมันในเลือดไปใช้ รวมถึงความผิดพลาดทางห้องปฎิบัติการก็ทำให้ผลระดับไขมันในเลือดออกมาผิดปกติได้เช่นกัน จึงควรตรวจซ้ำในอีก 2-3 สัปดาห์
ภาวะ Dyslipidemia มีอาการอย่างไร?
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติมักจะไม่มีอาการแสดง แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ อาจจะพบอาการดังต่อไปนี้
- มีปื้นสีเหลืองที่หนังตา ข้อศอก หัวเข่า และฝ่ามือ
- เอ็นร้อยหวายหนาขึ้นกว่าปกติ
- มีเส้นวงสีขาวระหว่างขอบตาดำกับตาขาว
ในรายที่โรครุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน อาจพบอาการต่างๆ ดังนี้
- ปวดขา โดนเฉพาะเวลายืน หรือเดิน
- เจ็บแน่นหน้าอก อาการปวดอาจร้าวไปกราม หรือไหล่ซ้าย
- หายใจหอบเหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อทำกิจกรรมปกติ
- แสบร้อนกลางอก
- เหงื่อแตก ใจสั่น
- หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
หากมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจควรไปตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อยังดูว่า “สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของคุณยังแข็งแรงดีอยู่ไหม” เพราะหากมีปัญหาจะได้รักษาได้ทันท่วงที ก่อนอาการจะรุนแรงและเป็นอันตราย
ภาวะ Dyslipidemia อันตรายหรือไม่ อย่างไร?
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติในระยะเริ่มต้นไม่ได้อันตรายมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะตามมาหากไม่ทำการรักษา และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากภาวะสมองขาดเลือดได้
วิธีการรักษาภาวะ Dyslipidemia เป็นอย่างไร?
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการรักษาและป้องกันภาวะ Dyslipidemia ที่ดีและยั่งยืนที่สุด
- หยุดสูบบุหรี่
- ลดน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 30-45 นาที โดยต้องให้หัวใจเต้นประมาณ 0.7 x (220- อายุ) ครั้งต่อนาที
- งดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยง โดยการลดอาหารประเภทไขมัน ได้แก่ ของผัด ของทอด อาหารไขมันสูง นอกจากนี้การลดอาหารหวานและเค็มยังป้องกันความเสี่ยงของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกด้วย
2. ใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด
- ยาลดระดับ Total Cholesterol และ LDL-C เป็นหลัก ได้แก่ ยากลุ่มสเตติน (Statins) เช่น Simvastatin, Atorvastatin, Rosuvastatin) ยากลุ่มอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) ยากลุ่มคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) โดยแพทย์มักเริ่มให้จากกลุ่มสเตตินเป็นกลุ่มแรก
- ยาลดระดับไตรกลีเซอไรด์เป็นหลัก ได้แก่ ไฟเบรต (Fibrates) กรดนิโคตินิก (Nicotinic acid) หากระดับ TG มากกว่า 500 mg/dl จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ให้เริ่มยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก
วิธีป้องกันภาวะ Dyslipidemia
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ไม่ว่าจะเป็นอาหารติดมัน อาหารทอด อาหารผัด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องมันเนย ผัก ผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
- รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ
- หยุดสูบบุหรี่และหยุดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- เลือกใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันมะกอก
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่เข้านอนดึกจนเกินไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเช็คการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย หากมีระบบใดทำงานผิดปกติไป เช่น มีค่าคอเลสเตอรอลสูงผิดปกติจะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ หรือเข้ากระบวนการรักษาได้ทันท่วงที
หากทำได้แบบนี้รับรองว่า ร่างกายของคุณจะแข็งแรง ห่างไกลจากภาวะ Dyslipidemia ได้แน่ๆ รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง อย่างแน่นอน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล