สำหรับผู้ที่ผ่านการจัดฟันมาแล้ว รีเทนเนอร์นับเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะหากไม่ใส่รีเทนเนอร์ หรือใส่ไม่สม่ำเสมอ ฟันที่เคยเรียงสวยหลังการจัดฟันอาจล้ม หรือมีการเรียงตัวที่ผิดเพี้ยนไปได้ แต่รีเทนเนอร์ก็มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันออกไป รีเทนเนอร์ชนิดที่ได้รับความนิยมมาตลอดคือ รีเทนเนอร์แบบลวด
สารบัญ
- รีเทนเนอร์คืออะไร ทำไมต้องใส่รีเทนเนอร์?
- รีเทนเนอร์มีกี่รูปแบบ?
- รีเทนเนอร์แบบลวดคืออะไร?
- ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบลวด
- ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบลวด
- รีเทนเนอร์แบบลวด Vs รีเทนเนอร์แบบใส
- วิธีใส่รีเทนเนอร์แบบลวดที่ถูกต้อง
- วีธีดูแลรักษารีเทนเนอร์แบบลวด
- ควรใส่รีเทนเนอร์วันละกี่ชั่วโมง?
- ข้อควรระวังในการเลือกทำรีเทนเนอร์
- ค่าใช้จ่ายในการทำรีเทนเนอร์แบบลวด
รีเทนเนอร์คืออะไร ทำไมต้องใส่รีเทนเนอร์?
รีเทนเนอร์ (Retainer) คือ เครื่องมือคงสภาพฟัน เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใส่หลังการจัดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันที่ผ่านการจัดฟันมาแล้วเคลื่อนตัวไปจากตำแหน่งเดิม
ผู้ที่ถอดเครื่องมือจัดฟันออกแล้วจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หากไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะทำให้เกิดปัญหาฟันล้ม ฟันเก หรือฟันห่าง จนบางครั้งอาจต้องจัดฟันใหม่อีกครั้ง
รีเทนเนอร์มีกี่รูปแบบ?
รีเทนเนอร์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันมี 3 รูปแบบหลักๆ คือ
- รีเทนเนอร์แบบลวด
- รีเทนเนอร์แบบใส
- รีเทนเนอร์แบบติดแน่น
ทั้งนี้รีเทนเนอร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ รีเทนเนอร์แบบลวด
รีเทนเนอร์แบบลวดคืออะไร?
รีเทนเนอร์แบบลวด วัสดุหลักทำจากลวดโลหะไร้สนิม โดยวางพาดไปตามการเรียงตัวของหน้าฟัน
ฐานของรีเทนเนอร์ทำจากอะคริลิกใส่สีสันต่างๆ มีขนาดพอดีกับเพดานปากสำหรับฟันบนและพอดีกับเหงือกด้านลิ้นของฟันล่าง ใช้ใส่เพื่อรักษาตำแหน่งของฟันให้คงสภาพเดิมหลังจากการจัดฟัน
รีเทนเนอร์แบบลวดนับเป็นชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถเลือกสีหุ้มลวดด้านหน้าได้ หรือจะไม่หุ้มก็ได้เช่นกัน
ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบลวด
รีเทนเนอร์แบบลวดเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะมีข้อดีหลายประการ ดังนี้
- วัสดุที่ใช้ทำรีเทนเนอร์แบบลวดมีความคงทน ไม่เสียหายง่าย โดยส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี
- ทำความสะอาดง่ายกว่ารีเทนเนอร์แบบใส
- หากสวมใส่แล้วไม่กระชับ หรือแน่นเกินไป ทันตแพทย์สามารถปรับแก้ไขขนาดได้โดยไม่ต้องทำอันใหม่
- ไม่ประสบปัญหาน้ำลายขังเหมือนรีเทนเนอร์แบบใส
ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบลวด
แม้จะมีข้อดีหลายประการ แต่รีเทนเนอร์แบบลวดก็มีข้อเสียเช่นกัน ดังนี้
- ลวดโลหะ หรือฐานอะคริลิก อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณช่องปาก หรือกระพุ้งแก้มได้ หากมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งทันตแพทย์ให้ทราบ อาจต้องทำการแก้ไข อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองบริเวณช่องปาก หรือกระพุ้งแก้ม
- ผู้สวมใส่อาจเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจเวลาพูด เพราะมีลวดโลหะภายในปาก
รีเทนเนอร์แบบลวด Vs รีเทนเนอร์แบบใส
ส่วนใหญ่ผู้ที่ผ่านการจัดฟันมาแล้วมักลังเลว่า จะเลือกใส่รีเทนเนอร์แบบลวด หรือแบบใส เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดี ข้อเสียต่างกัน
จริงๆ แล้วรีเทนเนอร์ทั้งสองรูปแบบสามารถป้องกันการเคลื่อนตัวของตำแหน่งฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งคู่ เพียงแต่รีเทเนอร์แบบใส ซึ่งทำจากพลาสติกใส ลักษณะเป็นแผงใช้ครอบฟัน เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการให้เห็นรีเทนเนอร์แบบลวดในปากขณะยิ้ม หรือพูด
แต่ขณะเดียวกันรีเทนเนอร์แบบใสก็อาจประสบปัญหาน้ำลายขังในรีเทนเนอร์ ความคงทนน้อยกว่า แตกหักง่ายกว่า อาจหลวม และอาจเปลี่ยนสี (อายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี หรือในบางรายเพียง 2-3 เดือน)
รวมทั้งดูแลรักษายากกว่ารีเทนเนอร์แบบลวดเพราะมีซอกหลืบและร่องที่ต้องแปรงตามลักษณะรูปร่างของฟันธรรมชาตินั่นเอง
วิธีใส่รีเทนเนอร์แบบลวดที่ถูกต้อง
การสวมใส่รีเทนเนอร์แบบลวดทำได้ง่าย เนื่องจากทันตแพทย์ได้ออกแบบรีเทนเนอร์ให้มีขนาดพอดีกับช่องปากและโครงสร้างฟันของแต่ละคนอยู่แล้ว
เพียงแค่ใส่เข้าไปในช่องปาก โดยใช้นิ้วมือวางรีเทนเนอร์ลงบนฟันแล้วดันให้กระชับ ฐานอะคริลิกจะแนบติดกับเหงือกและเพดานปากโดยอัตโนมัติ ไม่ควรใช้นิ้วมือวางรีเทนเนอร์ลงบนฟันแล้วใช้ฟันกัดเข้าไป เพราะอาจทำให้ฐานรีเทนเนอร์แตกหักได้
หากสวมใส่รีเทนเนอร์แบบลวดแล้วเกิดการระคายเคืองช่องปากบ่อยครั้ง ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันทีตรวจสอบความผิดปกติและหาทางแก้ไข
วีธีดูแลรักษารีเทนเนอร์แบบลวด
การใส่รีเทนเนอร์แบบลวดทั้งวันย่อมมีคราบสกปรกหรือเชื้อแบคทีเรียก่อตัวขึ้นได้ ซึ่งหากรักษาความสะอาดไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดปัญหาช่องปากตามมาได้ เช่น มีกลิ่นปาก มีคราบหินปูน ฟันผุ เหงือกอักเสบ จึงต้องมีการดูแลและทำความสะอาดรีเทนเนอร์อย่างเหมาะสม ดังนี้
- หลังจากถอดรีเทนเนอร์แล้ว ควรล้างคราบสกปรกออกทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนแห้ง คราบสกปรกจะฝังแน่นจนทำความสะอาดได้ยาก
- การทำความสะอาดรีเทนเนอร์แบบลวดที่เหมาะสมคือ ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม จุ่มในน้ำอุ่น ห้ามใช้ยาสีฟัน เพราะอาจทำให้ฐานอะคริลิกสึกได้ ให้ใช้น้ำยาล้างจาน หรือสบู่อ่อนแปรงให้ทั่ว ไม่ให้มีสิ่งสกปรกติดตามซอกต่างๆ หากมีร่องที่ทำความสะอาดได้ยากอาจใช้สำลีพันไม้เช็ดเบาๆ โดยควรทำความสะอาดรีเทนเนอร์ทุกครั้งที่ถอด หรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- สามารถใช้เม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดรีเทนเนอร์ โดยแช่รีเทนเนอร์แบบลวดเพื่อช่วยกำจัดคราบสกปรกได้
- ห้ามใช้ยาสีฟันที่เป็นผงขัดรีเทนเนอร์ เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์เป็นรอยเสียหาย
- ห้ามแช่รีเทนเนอร์ในน้ำร้อน เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์ผิดรูป เสียทรงได้
- หลีกเลี่ยงการทำความรีเทนเนอร์ด้วยน้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม เพราะน้ำยาเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงและอาจมีแอลกอฮอล์ ทำให้รีเทนเนอร์เสียหาย
- หากต้องการเก็บรีเทนเนอร์ ควรใส่กล่อง ไม่ควรใช้กระดาษทิชชู่ห่อหรือใส่กระเป๋าโดยไม่มีภาชนะปิดมิดชิด เพราะอาจถูกของอื่นๆ ในกระเป๋าเบียดหรือกระแทกจนเสียรูปทรงและอาจเผลอทิ้งได้
ควรใส่รีเทนเนอร์วันละกี่ชั่วโมง?
การใส่รีเทนเนอร์แบบลวด ทันตแพทย์จะกำหนดระยะเวลาการใส่ตามความเหมาะสม แต่โดยส่วนใหญ่มักให้ใส่ตลอดเวลา ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ติดต่อกันประมาณ 1-2 ปี หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟันเจ้าของเคส
หลังจากจัดฟันแล้ว ฟันคนเรามีแนวโน้มเคลื่อนกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมก่อนการจัดฟัน จึงจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์จนกว่าเอ็นยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟันจะคงที่ โดยต้องถอดออกตอนรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มร้อนเท่านั้น เพื่อป้องกันรีเทนเนอร์เสียหาย
หลังจากเวลา 1-2 ปี หรือเมื่อโครงสร้างฟันเข้าที่แล้ว ทันตแพทย์อาจให้ใส่รีเทนเนอร์เฉพาะเวลานอนหลับได้ ควรใส่อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์จัดฟันเจ้าของเคส
ข้อควรระวังในการเลือกทำรีเทนเนอร์
ปัจจุบันการสวมรีเทนเนอร์กลายเป็นสิ่งที่คนบางกลุ่มทำเพื่อความสวยงาม ทำให้มีผู้ผลิตทำรีเทนเนอร์แฟชั่นมาจำหน่าย
รีเทนเนอร์แบบแฟชั่นนับเป็นสิ่งที่อันตราย ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ทำรีเทนเนอร์ไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อนเชื้อโรคหรือโลหะหนัก
อีกทั้งขั้นตอนการทำรีเทนเนอร์ยังต้องมีการพิมพ์ฟัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือปลอดเชื้อ แต่การทำรีเทนเนอร์แฟชั่นมีกระบวนการฆ่าเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงมาก
การสวมใส่รีเทนเนอร์ที่ทำขึ้นก็อาจไม่พอดีกับช่องปากและฟัน เกิดแรงกดที่ตัวฟัน ทำให้ฟันเคลื่อนที่ เหงือกอักเสบ รากฟันได้รับการกระทบกระเทือน หรือลวดโลหะเกี่ยวช่องปากเป็นแผล และอาจเกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
ดังนั้นการเลือกทำรีเทนเนอร์ควรทำตามความจำเป็น และเลือกทำกับสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานรองรับ และทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายในการทำรีเทนเนอร์แบบลวด
ค่าใช้จ่ายในการทำรีเทนเนอร์แบบลวด 1 คู่ (ฟันบนและฟันล่าง) นับว่ามีราคาต่ำกว่ารีเทนเนอร์ประเภทอื่นๆ โดยราคาเริ่มตั้งแต่ 1,500-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรม
รีเทนเนอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ฟันเรียงตัวสวยหลังการจัดฟัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องอยู่ติดตัวคุณตลอดเวลา เป็นระยะเวลานานนับปี ดังนั้นจึงควรเลือกรูปแบบรีเทนเนอร์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคุณมากที่สุด
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช