ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดทางระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ตัวการที่ทำให้เกิดโรคคือ เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) โดยทั่วไปจะมีอาการรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา แต่หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็ไม่อันตรายอะไร
สารบัญ
กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่
บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ซึ่งได้แก่
- ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 2 ปี
- หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยป้องกัน หรือลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ได้
ภาวะแทรกซ้อนทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากไข้หวัดใหญ่ ได้แก่
- ภาวะขาดน้ำ
- หลอดลมอักเสบ
- หูติดเชื้อ (พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่)
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- กล้ามเนื้ออักเสบ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ปอดอักเสบจากไวรัส (เกิดจากตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เอง) หรือจากแบคทีเรีย
- ไซนัสอักเสบ (พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่)
- โรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมแย่ลง เช่น หอบหืด เบาหวาน หรือหัวใจล้มเหลว
ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส
ปอดอักเสบติดเชื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่เป็นหนึ่งในภาวะที่ทำให้เสียชีวิตได้ ตัวไวรัสไข้หวัดใหญ่เองทำให้เกิดปอดอักเสบโดยมีอาการหายใจไม่อิ่ม หนาวสั่น ไข้ เจ็บหน้าอก เหงื่อแตก ไอมีเสมหะเขียวหรือมีเลือดปน ชีพจรเร็ว ปากหรือเล็บคล้ำ
กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 6-9 เดือน
- ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบ้านพักผู้ป่วย
- ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคหัวใจ
ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียหลายชนิดทำให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ บางครั้งเกิดปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียหลังจากอาการไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้ว
โดยปอดอักเสบจากแบคทีเรียจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะเขียว หายใจไม่อิ่ม และเจ็บหน้าอกได้ ซึ่งหากมีอาการของปอดอักเสบเหล่านี้ควรไปพบแพทย์
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ หรือจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร เป็นโรคปลายประสาทอักเสบแบบหนึ่ง เชื่อว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันต้านตนเอง
อาการเด่นของกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร คือ อาการอ่อนแรงซึ่งมักเริ่มจากขาทั้งสองข้างแล้วลามขึ้นมาที่ลำตัวและแขนสองข้างโดยอาการสามารถรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
เรย์ซินโดรม
เรย์ซินโดรมเป็นภาวะที่พบได้น้อยโดยเกิดในเด็ก หรือวัยรุ่นที่รับประทานยาแอสไพรินขณะที่ป่วยจากเชื้อไวรัสเช่นไข้หวัดใหญ่ เรย์ซินโดรมทำให้สมองบวมและอักเสบและตับถูกทำลาย
ลักษณะอาการทั่วไปคือ อาเจียนรุนแรง ซึม หงุดหงิด หรือกระสับกระส่าย
ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีอาการท้องเสียและหายใจเร็ว ซึ่งเป็นอาการแรกของเรย์ซินโดรม
ความรุนแรงของเรย์ซินโดรมนั้นมีตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง แต่ทุกรายที่สงสัยเรย์ซินโดรมถือเป็นภาวะฉุกเฉิน
เมื่อไหร่ที่ต้องพบแพทย์
เมื่อคุณ หรือคนในบ้านมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- หายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม
- ปากม่วง หรือคล้ำ
- ปวด หรือแน่นหน้าอก หรือท้อง
- ไข้สูง (สูงกว่า 102.2 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 39 องศาเซลเซียส)
- เวียนศีรษะฉับพลัน
- มึนงง
- อาเจียนรุนแรง หรืออาเจียนไม่หยุด
- ชัก
- อาการของไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นแล้ว แต่กลับมาเป็นอีก โดยที่มีไข้และไอมากขึ้น
ในทุกๆ ปี เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอด ทำให้ภูมิต้านทานเดิมไม่สามารถป้องกันโรคได้ เราจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง
แม้ว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคปอดบวม ระบบการหายใจล้มเหลว ลดการเข้ารักษาใน ICU และลดอัตราการเสียชีวิตได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย