โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) เป็นโรคที่มักเกิดความสับสนกับโรคเกาต์ และโรคข้ออื่นๆ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมที่ไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดอาการข้อเสื่อมรุนแรง อักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่การพิการได้
สารบัญ
ความแตกต่างของโรคเกาต์เทียมกับโรคเกาต์
- โรคเกาต์เทียม หรือที่เรียกว่า CPPD (Calcium pyrophosphate dihydrate) คือ ภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่มีผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium Pyrophosphate) สะสมภายในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อ
- ในขณะที่โรคเกาต์ เกิดจากการสะสมของผลึกยูริก (Uric) ภายในข้อ
- ผู้ป่วยที่มีการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตประมาณ 25% จะป่วยเป็นโรคเกาต์เทียม ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมไม่จำเป็นต้องมีอาการทุกคน แต่ผู้ป่วยประมาณ 5% อาจมีอาการที่คล้ายโรคข้ออักเสบรูห์มาติก และผู้ป่วยอีกประมาณ 50% เกิดอาการที่คล้ายกับโรคข้อเสื่อมได้
- การเกิดผลึกสะสมในข้อที่ทำให้เกิดโรคเกาต์เทียมนี้ เกิดขึ้นในประชากรประมาณ 3% ของผู้ที่มีอายุประมาณ 60 ปี โดยสัดส่วนของจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 50% ในผู้ที่มีอายุ 90 ปี
- โรคเกาต์เทียมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เท่ากันทั้งผู้ชาย และผู้หญิง
อาการของโรคเกาต์เทียม
โรคเกาต์เทียมมักจะเกิดที่เข่า ในขณะที่โรคเกาต์มักจะเกิดที่นิ้วโป้งเท้า อย่างไรก็ตาม โรคเกาต์เทียมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อ รวมถึงนิ้วโป้งเท้า
ถึงแม้ว่าเวลาที่อาการโรคเกาต์เทียมกำเริบอาจรุนแรงคล้ายกับโรคเกาต์ แต่ก็มักจะปวดน้อยกว่า โดยมีลักษณะอาการดังนี้
- มีอาการปวด ตั้งแต่หลายวันจนถึง 2 สัปดาห์
- อาจมีไข้ตามมาได้
- มักเกิดขึ้นได้เอง หลังการเจ็บป่วยรุนแรง การผ่าตัด หรือการได้รับอุบัติเหตุ
- ทำให้กระดูกอ่อน และข้อต่อถูกทำลาย อาการจะแย่ลงเรื่อยๆ หลังจากที่อาการกำเริบได้หลายปี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเกาต์เทียม
นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมต่อโรคเกาต์เทียมแล้วนั้น ปัจจัยอื่นที่ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดโรค ประกอบด้วย
- ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากไป (Hyperparathyroidism)
- ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
- ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยไป (Hypothyroidism)
- ภาวะ Amyloidosis (แอมีลอยโดซิส)
- ภาวะพร่องแมกนีเซียมในเลือด (Hypomagnesemia)
- ภาวะฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatasia)
การวินิจฉัยโรคเกาต์เทียม
เนื่องจากลักษณะของโรคเกาต์เทียมคล้ายคลึงกับโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ดังนั้นจึงควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ (Rheumatologist) เพื่อทำการวินิจฉัยโรค เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว จะทำให้มีโอกาสป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายข้ออย่างรุนแรงได้
การวินิจฉัยทำได้โดยการดูดน้ำจากข้อที่มีอาการ และนำมาส่องหาผลึกลักษณะรูปแท่ง หรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งจะทำให้สามารถยืนยันการวินิจฉัยโรคได้
หากตรวจพบว่า มีแคลเซียมสะสมที่กระดูกอ่อนและภายในข้อ (Chondrocalcinosis) ภายใต้การมองด้วยรังสีเอกซเรย์ก็สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้เช่นกัน
นอกจากนั้นอาจพิจารณาส่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น
การรักษาโรคเกาต์เทียม
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาที่สามารถควบคุมอาการได้
- โรคเกาต์เทียมสามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา ซึ่งแพทย์มักจ่ายยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เพื่อควบคุมอาการปวด และการอักเสบ เมื่ออาการกำเริบ
- ใช้ Colchicine (โคลชิซิน) ร่วมกับ NSAIDs ปริมาณน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบในครั้งหน้า
- อาจฉีด Cortisone (คอร์ติโซน) เข้าในข้อที่อักเสบ เพื่อควบคุมอาการปวด และการอักเสบได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นได้
- การผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาของผู้ป่วยที่มีการทำลายของข้ออย่างรุนแรง
ถึงแม้ว่าผลึกที่มีการสะสมในโรคเกาต์เทียมจะมีส่วนประกอบของแคลเซียม แต่การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมจำนวนมากก็ไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดโรคเกาต์เทียม ดังนั้นการเปลี่ยนอาหารจึงไม่ได้ช่วยควบคุมอาการของโรคด้วยเช่นกัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล