อาการหนาวสั่นคือความรู้สึกเย็น ๆ ไม่มีสาเหตุชัดเจน บางคนจะรู้สึกหนาวสั่นตอนที่กล้ามเนื้อยืดและหดตัวซ้ำ ๆ หรือตอนที่เส้นเลือดในผิวหนังหดตัว
อาการหนาวสั่นสามารถเกิดขึ้นร่วมกับอาการไข้ได้ สามารถเกิดได้นานเป็นชั่วโมง หรืออาจมีอาการเป็นระยะ ๆ ครั้งละหลายนาที
บทความนี้จะพามารู้จักกับอาการหนาวสั่น สาเหตุ อาการที่ต้องไปหาแพทย์ รวมถึงวิธีดูแลรักษาด้วยตัวเอง
สารบัญ
สาเหตุของอาการหนาวสั่น
อาการหนาวสั่นเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสกับอากาศเย็น การตอบสนองต่อเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่อไปนี้ ได้แก่
- ภาวะกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส (Bacterial or Viral Gastroenteritis)
- ไข้หวัดใหญ่
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
- ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
- ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- คออักเสบ
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections)
- การติดเชื้อมาลาเรีย
อาการหนาวสั่นแบบไหน ต้องไปพบแพทย์
ถ้ามีอาการหนาวสั่นและเป็นไข้ไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น
- คอแข็ง
- หายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing)
- ไออย่างรุนแรง
- หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก
- มีอาการสับสน
- มีอาการเฉื่อยชา
- มีอาการหงุดหงิด
- ปวดท้อง
- เจ็บแสบขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือไม่มีปัสสาวะ
- อาเจียนอย่างรุนแรง
- มีความไวต่อแสงจ้าผิดปกติ
กรณีเป็นเด็ก ควรพาเด็กไปโรงพยาบาลทันที ถ้าพบอาการต่อไปนี้
- เด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน เป็นไข้
- เด็กอายุ 3–6 เดือน เป็นไข้ เซื่องซึม หรือหงุดหงิด
- เด็กอายุ 6–24 เดือน เป็นไข้นานเกิน 1 วัน
- เด็กอายุ 2–17 ปี เป็นไข้นานเกิน 3 วัน และไม่ตอบสนองต่อการรักษา
การวินิจฉัยอาการหนาวสั่น
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเฉพาะอย่างเพิ่มเติม เพื่อดูว่าอาการไข้ที่เป็นอยู่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสหรือไม่ เช่น
- การตรวจเลือด รวมถึงการนำเลือดไปเพาะเชื้อ
- การเพาะเชื้อจากเสมหะที่มาจากปอดและหลอดลม
- การตรวจปัสสาวะ
- การเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่ามีภาวะปอดอักเสบ (Pneumonia) วัณโรคปอด (Tuberculosis) หรือการติดเชื้ออื่น ๆ หรือไม่
กรณีเกิดติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น คออักเสบ หรือปอดอักเสบ แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เพื่อใช้การรักษา
วิธีดูแลรักษาอาการหนาวสั่นด้วยตัวเอง
อาการหนาวสั่น ถ้าเป็นไม่หนักมาก สามารถดูแลตัวเองได้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการและทำให้สบายตัวขึ้นได้ ดังนี้
ผู้ใหญ่
ถ้าเป็นไข้ไม่รุนแรง (ไม่เกิน 38.6 องศาเซลเซียส) และไม่มีอาการร้ายแรงอื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาแพทย์ แค่ดูแลตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ ตลอดทั้งวัน
- ห่มผ้าด้วยผ้าห่มหรือเสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น หรืออาบน้ำอุ่นให้ไข้ลด
- กินยาสามัญประจำบ้าน หรือยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการหนาวสั่น เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) แอสไพริน (Aspirin) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
เด็ก
วิธีดูแลรักษาเด็กนั้นคล้ายคลึงกับของผู้ใหญ่ แต่จะขึ้นอยู่กับอายุ อุณหภูมิร่างกาย และอาการอื่น ๆ ที่เป็นร่วมด้วย
โดยทั่วไป ถ้าเด็กมีอุณหภูมิร่างกายระหว่าง 37.8–38.9 องศาเซลเซียสและรู้สึกไม่สบายตัว ให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำตามที่ฉลากระบุไว้ได้
ส่วนการดูแลอื่น ๆ ก็คล้ายคลึงกับการดูแลรักษาผู้ใหญ่ เช่น เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น นอนหลับพักผ่อน และดื่มน้ำมาก ๆ
อาการหนาวสั่นและเป็นไข้คือสัญญาณบ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย ถ้าดูแลตัวเองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ
หากปล่อยทิ้งไว้นาน ผู้ป่วยอาจมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงและมีอาการประสาทหลอนได้ ส่วนเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี อาจมีอาการชักจากไข้ (Fever-induced seizures) หรือที่เรียกว่าโรคไข้ชัก (Febrile seizures) ได้
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย