อาการปวดแขน Arm Pain scaled

อาการปวดแขน (Arm Pain)

อาการปวดแขน หมายถึง ความรู้สึกไม่สบาย หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของแขน อาจรวมไปถึงอาการปวดข้อมือ ข้อศอก และไหล่ อาการปวดแขนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ จากการบาดเจ็บ หรือการใช้งานหนักเกินไป

อาการปวดอาจเริ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน และหายไป หรืออาจค่อยๆ ปวดขึ้นตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าสิ่งใดทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว

อาการที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดแขน

อาการปวดแขนส่วนมากจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งคุณอาจพบอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • รอยแดงตามแขน
  • ข้อฝืดแข็ง (Stiffness)
  • บวม
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมใต้วงแขน

สาเหตุของอาการปวดแขน

สาเหตุของอาการปวดแขนและอาการที่เกิดร่วมกัน มีได้หลากหลายตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงภาวะฉุกเฉิน สาเหตุที่เป็นไปได้ของอาการปวดแขน ได้แก่

  • ภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ (Pinched nerves): ภาวะเส้นประสาทกดทับจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทถูกโครงสร้างที่แวดล้อมกดทับ เช่น
    • กระดูก
    • กล้ามเนื้อ
    • กระดูกอ่อน
    • เส้นเอ็น
  • อาการเคล็ดขัดยอก (Sprains): เป็นภาวะที่เส้นเอ็นเกิดการยืดตัวเกินไป หรือฉีกขาด ถือเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไป แต่หากอาการรุนแรงมากก็อาจต้องได้รับการผ่าตัด อาการร่วมที่พบบ่อย ได้แก่ เกิดการบวม ฟกช้ำ และข้อต่อเคลื่อนไหวได้จำกัด
  • เส้นเอ็นอักเสบ (Tendonitis): มักเกิดขึ้นบริเวณหัวไหล่ ข้อศอก และข้อมือ อาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน โดยมักพบอาการร่วม ได้แก่ การบวมเล็กๆ กดเจ็บ และความเจ็บปวดแบบตื้อๆ
  • เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Injury): เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในผู้ที่เคลื่อนไหวแขนหมุนขึ้นเหนือศีรษะในชีวิตประจำวัน เช่น ช่างทาสี หรือนักกีฬาเบสบอล บาสเก็ตบอส อาการที่เกิดร่วมกัน ได้แก่ ความเจ็บปวดตื้อๆ ในบริเวณหัวไหล่ และอาจมีอาการแขนอ่อนแรงร่วมด้วย
  • กระดูกหัก : กระดูกที่หักหรือร้าว จะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรงที่แขน อาการที่เกิดขึ้นตามมา ได้แก่
    • อาการบวม
    • ผิวฟกช้ำ
    • ความเจ็บปวดอย่างรุนแรง
    • กระดูกบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง
    • ไม่สามารถหมุนหงายฝ่ามือได้
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) : เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือความผิดปกติต่อข้อต่อโดยตรง อาการที่มักเกิดร่วมกัน ได้แก่
    • ข้อต่ออุ่นและกดเจ็บ
    • ข้อต่อบวม
    • ข้อต่อฝืดแข็ง
    • อ่อนเพลีย
  • ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก (Angina): ภาวะนี้อาจเกิดจากหัวใจของคุณไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอ ซึ่งอาการเจ็บแน่นหน้าอกดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการปวดลามไปยังแขน ไหล่ รวมถึงรู้สึกแน่นตามหน้าอก คอ และหลัง หากคุณเจ็บแน่นหน้าอกบ่อยครั้งจะบ่งชี้ได้ว่า คุณมีปัญหาโรคหัวใจซ่อนอยู่
  • กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (Heart Attack): มีอีกชื่อที่น่าคุ้นเคยกว่า คือ “หัวใจวาย” จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการอุดตันทำให้เลือด และออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้อย่างเพียงพอ อาการที่เกิดร่วมด้วย ได้แก่
    • ปวดแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
    • หายใจหอบถี่
    • ปวดในตำแหน่งอื่นภายในลำตัวช่วงบน
    • คลื่นไส้
    • ตื่นตระหนก
    • เจ็บหน้าอก
    • เวียนศีรษะ

ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ให้รีบโทร 1669 เพื่อเรียกรถฉุกเฉินทันที

การวินิจฉัยอาการปวดแขน

แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกาย จากนั้นจะซักถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่ผ่านมา การบาดเจ็บที่เกิดขึ้น และอาการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้รักษาอาการได้ถูกจุด ซึ่งแพทย์อาจจะตรวจตามวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้วินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น

  • ขอให้ยกแขน ขยับแขน และมืออย่างง่ายๆ เพื่อประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหวของคุณ การทดสอบดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่ง และสาเหตุของการบาดเจ็บ หรือความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นได้
  • การตรวจเลือดสามารถช่วยค้นหาภาวะทางการแพทย์บางอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการปวดแขน เช่น โรคเบาหวานหรือความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่อ
  • การถ่ายภาพเอกซเรย์ สามารถช่วยให้แพทย์ของคุณวินิจฉัยตำแหน่งที่มีกระดูกหัก หรือร้าว
  • หากแพทย์คิดว่า อาการปวดแขนของคุณสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนของหัวใจ อาจต้องตรวจเพิ่มเติม เพื่อประเมินว่า หัวใจของคุณทำงานได้ดีเพียงใด และประเมินการไหลเวียนของเลือดผ่านหัวใจของคุณ ด้วยวิธีดังนี้
    • การทำอัลตราซาวด์: เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพอวัยวะภายในของร่างกายช่วยให้แพทย์ตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ และเอ็นได้ด้วย
    • การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Sacn) หรือการทำ MRI: เพื่อสร้างภาพเนื้อเยื่ออ่อน และกระดูกได้ละเอียดมากขึ้น

กรณีใดที่ถือว่าอาการปวดแขนนั้นเป็นภาวะฉุกเฉิน

อาการปวดแขนส่วนมากไม่ได้เป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ยกเว้นสงสัยว่า อาการปวดดังกล่าวเกิดจากภาวะกระดูกหัก กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือโรคหัวใจชนิดใดก็ตาม

อาการที่พบร่วมกับกระดูกหัก ได้แก่

  • อาการปวดอย่างรุนแรง และระบุตำแหน่งได้ชัดเจน
  • โครงสร้างผิดรูปอย่างเห็นได้ชัด เช่น แขน หรือข้อมือหักงอเป็นมุม
  • ไม่สามารถงอแขน พลิกแขน หมุนมือ พับมือ หรืองอนิ้วได้

อาการที่พบร่วมกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย 

  • เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
  • ปวดหลัง ปวดคอ หรือปวดตำแหน่งอื่นในบริเวณร่างกายส่วนบน
  • วิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • หายใจหอบถี่

การรักษาอาการปวดแขน

การรักษาอาการปวดแขนขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการปวดแขนของคุณ ซึ่งแพทย์นิยมรักษาด้วยวิธีการดังนี้

  • แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวด ในบางกรณีที่อาการปวดแขนค่อนข้างรุนแรง
  • แพทย์จะสั่งจ่ายยาต้านอักเสบ ในกรณีที่อาการปวดมาจากการอักเสบ เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์เพื่อลดกระบวนการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด ซึ่งยากลุ่มนี้มีทั้งรูปแบบยารับประทาน ยาฉีด หรือให้ผ่านท่อน้ำเกลือ
  • คุณอาจต้องเข้ารับกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด หากพบว่า มีการเคลื่อนไหวจำกัดร่วมด้วย
  • ในกรณีที่มีอาการปวดแขนอย่างรุนแรง อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพื่อเชื่อมเอ็นที่ฉีกขาด หรือต่อกระดูกที่หัก

การดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการปวดแขน

นอกจากรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวด คุณสามารดูแลตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการปวดมากขึ้นได้

  • การพักผ่อน (Rest): การปล่อยให้บริเวณที่เจ็บปวดได้พักและฟื้นฟูตัวเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงการออกแรงและเคลื่อนไหวอย่างหนักในบริเวณนั้น อาจช่วยให้หายเร็วยิ่งขึ้น
  • การประคบเย็น (Ice Pack): การประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการบวมและการอักเสบได้ ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวห่อถุงน้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวดเป็นเวลา 20 นาที แล้วพักอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนประคบเย็นซ้ำอีกครั้ง
  • ยาแก้ปวดที่ซื้อได้ตามร้านยาโดยทั่วไป: หากอาการปวดของคุณไม่รุนแรงนัก และไม่อยากเดินทางไปพบแพทย์ สามารถหาซื้อยาแก้ปวดทั่วไปที่มีตามร้านขายยา เช่น ยาแอสไพริน หรือยาไอบูโพรเฟน
  • การพันผ้ารัด (Compression): การพันผ้าในบริเวณที่ปวดด้วยผ้าพันแผล หรือแถบผ้ายืดหยุ่น สามารถช่วยลดอาการบวม และป้องกันไม่ให้คุณเคลื่อนไหวข้อต่อมากเกินไป
  • การยกสูง (Elevation): ยกแขนขึ้นสูง เพื่อช่วยลดอาการบวม และปวด

การป้องกันอาการปวดแขน

โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดแขนที่เกิดขึ้นการบาดเจ็บหรือภาวะต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการปฏิบัติดังนี้

  • ยืดกล้ามเนื้อเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนออกกำลังกาย
  • ออกกำลังกายในท่าทางที่ถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ และไม่ควรหนักเกินไป
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันขณะเล่นกีฬา
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้พอดี
  • ยกของอย่างระมัดระวัง

หากคุณดูแลตนเองและระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังคงมีอาการปวดแขนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือรบกวนกิจวัตรประจำวันของคุณ ให้รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาให้ตรงจุดต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย

Scroll to Top