หลายคนคงรู้จักโรคมะเร็งเต้านม แต่น้อยคนที่จะรู้จักโรคมะเร็งหัวนม เพราะเป็นโรคที่พบได้น้อยมากๆ เรามารู้จักโรคนี้พร้อมๆ กันว่า โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาหรือไม่
สารบัญ
ความหมายของโรคมะเร็งหัวนม
โรคมะเร็งที่หัวนม (Paget’s disease of the nippleหรือ Paget’s disease of the breast) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดบริเวณหัวนม โดยจะเกิดที่ผิวหนังหัวนมข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่หัวนมจะมีอาการหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ผิวหนังอักเสบเป็นขุย หรือตกสะเก็ดคล้ายกับโรคสะเก็ดเงิน
- มีผื่นแดงที่หัวนม และค่อยๆ ขยายไปที่เนื้อเยื่อรอบๆ หรือที่เราเรียกกันว่า “ปานนม”
- มีเลือดออกบริเวณหัวนม
- รู้สึกคันที่หัวนม
ผู้หญิงหลายคนอาจมีอาการคัดตึง หรือคันเต้านม และหัวนมในบางช่วงเวลาได้ โดยอาจเป็นผลมาจากฮอร์โมน หรือช่วงใกล้มีประจำเดือน แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกว่า ตนเองอาจมีอาการเป็นโรคมะเร็งหัวนม เพราะโอกาสเป็นโรคนี้มีได้น้อยมากๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงทุกคนก็ควรเข้าตรวจความเสี่ยงโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง และความเสี่ยงโรคมะเร็งอื่นๆ ตามอายุ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพื่อความมั่นใจ และจะได้หาทางรักษาทันเวลา หากพบว่า มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งชนิดใดๆ ก็ตาม
ชนิดของโรคมะเร็งหัวนม
โรคมะเร็งหัวนมสามารถแบ่งออกได้2ชนิด คือ
- โรคมะเร็งหัวนมชนิดรุกราน (Invasive)เกิดจากเซลล์มะเร็งเติบโต และลุกลามแพร่กระจายไปรอบๆ เนื้อเยื่อเต้านม
- โรคมะเร็งหัวนมชนิดไม่รุกราน (non-invasive)เกิดจากเซลล์มะเร็งอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านมอยู่แล้ว หรืออาจมากกว่า 1 บริเวณ แต่ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อลุกลามออกไปได้
จากชนิดของโรคมะเร็งหัวนมที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมบางส่วนอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหัวนมได้ แต่ก็ยังเป็นไปได้น้อยอยู่ดี
แต่หากถามว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมกลุ่มใดเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหัวนมที่สุด ก็ต้องตอบว่า คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม (Invasive breast cancer)
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งหัวนม
มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหัวนมได้ เช่น
- อายุที่มากขึ้น
- มีน้ำหนักตัวน้อย
- อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
- ประวัติมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีพฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งหัวนม
หากพบว่า หัวนม หรือปานนมมีความผิดปกติ เช่น ผิวหนังมีสีเข้มขึ้น มีผื่นแดง หรือผิวหนังหัวนมตกสะเก็ดอย่างที่ไม่เคยเป็น รู้สึกคันหัวนมมาก และรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ ก็สามารถไปตรวจกับแพทย์ได้
โดยในเบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามประวัติสุขภาพ โดยเฉพาะหากคุณมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับผื่นผิวหนังอักเสบมาก่อน รวมถึงประวัติการใช้ยา ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำหนักตัว
หลังจากนั้นแพทย์อาจทดสอบ หรือตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมอีกเพื่อให้แน่ใจว่า “คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งหัวนมหรือไม่” เช่น การทำแมมโมแกรม (Mammogram) การทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) การส่งตรวจชิ้นเนื้อ (Skin biopsy)
วิธีรักษาโรคมะเร็งหัวนม
โรคมะเร็งหัวนมมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งเต้านม ดังนั้นวิธีรักษาจึงจะคล้ายกัน
การผ่าตัดเป็นทางเลือกแรกที่แพทย์จะแนะนำในการรักษา โดยมักจะใช้การผ่าตัดอยู่ 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด (mastectomy)
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ (Breast-conserving surgery)
และหลังจากนั้นแพทย์อาจใช้การรักษาอื่นๆ เข้ามารักษาให้โรคมะเร็งหัวนมหายขาดได้ เช่น
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)เป็นการรักษาโดยการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- การให้รังสีรักษา (Radiotherapy)เป็นการรักษาโดยฉายรังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- การใช้ชีวบำบัด หรือฮอร์โมนบำบัด (Biological or Hormone therapy)
การป้องกันโรคมะเร็งหัวนม
การป้องกันโรคมะเร็งหัวนมจะคล้ายกับการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และโรคร้ายอื่นๆ เช่นกัน ได้แก่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม อย่าปล่อยให้ตนเองมีความเสี่ยงเป็นภาวะอ้วน หรือเป็นโรคเบาหวาน
- หากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ให้หมั่นไปตรวจร่างกาย และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตนเองด้วย โดยเฉพาะคุณต้องการเข้ารับฮอร์โมนบำบัดเพื่อรักษาอาการเกี่ยวกับวัยหมดประจำเดือน
- รับประทานยา โดยยาที่มักถูกใช้เพื่อลดความเสี่ยงในผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม คือ ยาทาม็อกซ์ซีเฟน (Tamoxifen) และยาราโลซีฟีน (Raloxifene) แต่ควรใช้ยานี้ในการดูแลของแพทย์
- เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม เพราะโรคมะเร็งหัวนมมีความเกี่ยวพันกับโรคมะเร็งเต้านมอย่างมาก หากรักษาโรคนี้ได้ทันเวลา โอกาสเป็นโรคมะเร็งหัวนมก็จะน้อยลงไปด้วย
โรคมะเร็งหัวนมอาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่โรคนี้จะเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากโรคร้ายหลายๆ โรคที่ยากจะเกิดขึ้น แต่ก็ยังสร้างความสูญเสียให้กับผู้คนมากมายบนโลกใบนี้
เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหัวนมและโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ คุณต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง และไปตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้รู้เท่าทันโรคภัยที่หลายคนคิดว่า เกิดขึ้นได้ยาก และคงไม่เกิดขึ้นกับตนเอง
หากตรวจพบความผิดปกติ จะได้รีบหาทางรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา