เมื่อพูดถึง “ตากุ้งยิง” หลายคนก็คงจะนึกถึงคำแซวติดตลกว่า หากไปแอบดูใครอาบน้ำหรือถ้ำมอง ก็จะเป็นตากุ้งยิง ซึ่งความจริงแล้ว ตากุ้งยิงนั้นมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียและพฤติกรรมเกี่ยวกับความสะอาดต่างๆ ซึ่งผลกระทบให้เกิดโรคนี้ขึ้นต่างหาก
สารบัญ
โรคตากุ้งยิง คืออะไร
โรคตากุ้งยิง (Hordeolum) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป หรือมีสาเหตุมาจากการอุดตันของต่อมไขมันใต้เปลือกตา มักพบได้ในบริเวณเปลือกตาด้านบน หรือเปลือกตาด้านล่าง
ลักษณะของการเป็นโรคตากุ้งยิงนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับการเป็นสิว ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดคล้ายๆ กัน แต่อาจมีการลุกลามที่ร้ายแรงกว่าหากปล่อยไว้ไม่ยอมรักษา และโอกาสในการเป็นโรคตากุ้งยิงก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัยอีกด้วย
สาเหตุของโรคตากุ้งยิง
สาเหตุของตากุ้งยิงสามารถที่จะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยรอบข้าง ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. การติดเชื้อ
เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคตากุ้งยิงคือ สแตฟิโลค็อคคัสออเรียส (Staphylococcus aureus) โดยเชื้อนี้จะเข้าไปอุดตันท่อระบายสิ่งสกปรกออกจากสายตา และทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลาย จนเกิดเป็นการอักเสบในรูปของตุ่มหนองบริเวณเปลือกตา
2. การไม่รักษาความสะอาดบริเวณใบหน้า
หลายครั้งที่เราละเลยการดูแลความสะอาดบนใบหน้าไป โดยไม่รู้ตัวเลยว่า นั่นคือโอกาสที่จะทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการเติบโตขึ้นทั่วใบหน้า
นอกจากนี้ การมีพฤติกรรมไม่ชอบล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตากุ้งยิงได้เช่นกัน โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับความสะอาดของใบหน้าต่อไปนี้ คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคตากุ้งยิง
- ชอบใช้มือขยี้ตาบ่อยๆ จนทำให้เปลือกตาไม่สะอาด
- ล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด หรือใช้อุปกรณ์แต่งหน้าร่วมกับผู้อื่น
- ใส่และถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด รวมถึงการใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่นด้วย
- ที่อยู่อาศัยไม่สะอาด เต็มไปด้วยฝุ่นละออง และเชื้อโรค
3. มีไขมันมาก
การมีไขมันมากในร่างกายถือเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดโรคตากุ้งยิงได้ เนื่องจากต่อมใต้ไขมันบริเวณตาจะเกิดการอุดตัน ทำให้สิ่งสกปรกไม่สามารถระบายออกมาจากตาได้ และเกิดการติดเชื้อไปพร้อมๆ กัน จากนั้นก็จะลุกลามเกิดเป็นการอักเสบและเป็นหนอง กระทั่งทำให้เกิดโรคตากุ้งยิงได้ในที่สุด
4. ร่างกายมีภาวะติดเชื้อง่าย
ผู้ป่วยบางรายที่ร่างกายมีความอ่อนแอ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ย่อมเสี่ยงติดการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคอื่นๆ อยู่ก่อนหน้าแล้ว ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคตากุ้งยิงได้เช่นเดียวกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง มีปัญหาหนังตาอักเสบ
ชนิดของโรคตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. โรคตากุ้งยิงภายนอก (External hordeolum)
โรคตากุ้งยิงชนิดที่เป็นภายนอก เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน จนทำให้เกิดเป็นตุ่มหนองบริเวณเปลือกตาที่อยู่ด้านนอก
2. โรคตากุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum)
โรคตากุ้งยิงภายในจะมีความคล้ายคลึงกับโรคตากุ้งยิงภายนอก แต่ตำแหน่งของตุ่มหนองจะอยู่บริเวณเปลือกตาด้านใน ผู้ป่วยต้องปลิ้นเปลือกตาออกมาจึงจะเห็นตุ่มหนองที่เกิดขึ้น อีกทั้งโรคตากุ้งยิงชนิดนี้ยังทำให้มีอาการเจ็บมากกว่าเวลากดหรือสัมผัสตุ่มหนอง
3. โรคตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ (Chalazion)
โรคตากุ้งยิงชนิดนี้จะแตกต่างกับโรคตากุ้งยิงทั้ง 2 ชนิดแรกโดยสิ้นเชิง โดยจะเกิดกับบริเวณเปลือกตาด้านนอกทั้งด้านบนและด้านล่างแต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดกับเปลือกตาด้านบน หรือด้านล่างเพียงอย่างเดียว โดยภายในตุ่มนั้นจะมีถุงน้ำชื่อว่า ไมโบเมียน (Meibomian) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อภายในต่อมน้ำมันของเปลือกตา ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจะไม่มีอาการเจ็บแบบโรคตากุ้งยิงสองชนิดแรก
อาการของโรคตากุ้งยิง
ผู้ป่วยโรคตากุ้งยิงจะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีตุ่มบวมแดงที่บริเวณเปลือกตา
- รู้สึกคันเปลือกตาอยู่ตลอดเวลา และอาการคันค่อยๆ รุนแรงมากขึ้นจนต้องขยี้ตาบ่อยๆ
- ในผู้ป่วยบางราย ตุ่มบนเปลือกตาอาจมีหนองไหลออกมาด้วย
- รู้สึกปวดและบวมบริเวณเปลือกตา
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีหนองไหล
- มีน้ำตาไหล
- มีอาการแพ้แสงแดด
- ขี้ตาเป็นสีเขียว ซึ่งอาการนี้มักเกิดเมื่อหนองในตุ่มแตกออกมาแล้ว
ภาวะแทรกซ้อน
หากภูมิต้านทานในร่างกายของผู้ป่วยมีความผิดปกติหรืออยู่ในปริมาณต่ำมาก หรือไม่มีการทำความสะอาดดวงตาที่ดีเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะเป็นโรคตากุ้งยิงได้ เช่น
- มีการอักเสบลุกลามไปทั่วเปลือกตา
- เบ้าตาติดเชื้อ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
นอกจากภาวะแทรกซ้อนที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องช่วยกันสังเกต หากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด
- อาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
- เปลือกตาแดง หรือตาแดงทั่วทุกบริเวณ
- ก้อนตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น
- พบเลือดออกที่ตุ่มหนอง
- กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีกครั้งหลังจากรักษาหายดีแล้ว
- สายตามีความผิดปกติ
การวินิจฉัยโรคตากุ้งยิง
สำหรับการวินิจฉัยโรคตากุ้งยิง แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติของผู้ป่วยเป็นอย่างแรก เพื่อหาโรคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตากุ้งยิงไปพร้อมกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
จากนั้นแพทย์จะมีการตรวจดูอาการของโรคตากุ้งยิงว่ามีอาการตามที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่ เช่น มีก้อนนูนแดงบริเวณเปลือกตา เปลือกตามีอาการบวมแดงและผู้ป่วยรู้สึกคันระคายเคือง
นอกจากนี้ แพทย์อาจจะมีการซักถามในเรื่องของพฤติกรรมอื่นๆ ของผู้ป่วยด้วย เช่น
- การชอบขยี้ตา
- การใส่คอนแทคเลนส์
- การใช้เครื่องสำอาง
- พฤติกรรมการล้างมือ
- การรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้า
- สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ว่ามีความสะอาดพอหรือไม่
วิธีรักษาโรคตากุ้งยิง
การรักษาโรคตากุ้งยิงสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าสะดวกเข้ารับการรักษาหรือไม่ โดยการรักษามีทั้งแบบรักษาด้วยตนเอง และรักษาโดยอาศัยผ่านแพทย์ ดังนี้
1. ปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ
ผู้ป่วยบางรายอาจปฏิเสธการรักษาจากแพทย์เพื่อให้ตากุ้งยิงหายไปเองตามธรรมชาติ โดยอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคตากุ้งยิงชนิดที่ไม่มีความรุนแรงเท่านั้น
2. การประคบร้อน
เป็นการรักษาโดยต้องใช้ระยะเวลาในการประคบ 4 ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งไม่ควรต่ำกว่า 30 นาที
ส่วนสาเหตุที่การประคบร้อนสามารถช่วยรักษาโรคตากุ้งยิงได้นั้น ก็เพราะความร้อนที่ประคบลงไปยังบริเวณที่เป็นตากุ้งยิง จะทำให้หลอดเลือดขยายและส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกยิ่งขึ้น และยังเป็นการกำจัดเชื้อโรคออกไปจากดวงตาได้ง่ายด้วย
แต่ในผู้ป่วยบางราย การประคบร้อนก็อาจทำให้เชื้อที่อุดตันอยู่บริเวณเปลือกตาเปิดออกได้ และหนองก็สามารถไหลออกมาเอง แต่ไม่แนะนำให้พยายามบีบเค้นหนองออกด้วยตนเอง เพราะอาจจะทำให้เชื้อที่อยู่บริเวณนั้นกระจายตัวได้ง่ายมากขึ้น และเกิดเป็นการอักเสบได้ด้วย
3. การรับประทานยา
การรักษาโรคตากุ้งยิงด้วยการรับประทานยาก็เป็นอีกทางเลือกในการรักษาเช่นกัน โดยตัวอย่างยาที่ใช้รักษาโรคตากุ้งยิง ได้แก่
- เตตราไซคลีน (Tetracycline) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ร่วมกับยารักษากระเพาะและยาคุมกำเนิด เพราะจะมีผลทำให้การออกฤทธิ์ของยาคุมกำเนิดลดลง ทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดทำงานอย่างไม่เต็มที่ รวมทั้งห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ด้วย
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร แต่ไม่ควรใช้ยาร่วมกับยารักษาโรคตับ และยาบางชนิดเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่
- ไดคลอกซาซิลลิน (Diccloxacilin) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร
- ไซโคลสปอรีน (Cyclosporine)
- ทีโอฟิลลิน (Theophyllin)
- ไดจอกซิน (Digoxin)
- คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine)
- โลวาสแตติน (Lovastatin)
- วาฟารีน (Warfarine)
- ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
4. การใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตา
ยาที่เหมาะสมมี 2 ตัว คือ
- ยาหยอดตาโทบรามัยซิน (Tobramycin ophthalmic solution) ให้หยอดตาทุกๆ 4 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ขี้ผึ้งบาซิทราซิน (Bacitracin ophthalmic ointment) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ให้ป้ายยาบริเวณแผลวันละ 4-6 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน แต่ในผู้ป่วยรายที่อาการไม่ร้ายแรงมาก ให้ป้ายวันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
5. การทำความสะอาดตา
การดูแลรักษาความสะอาดถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้ป่วยโรคตากุ้งยิงไม่ควรมองข้าม ซึ่งวิธีที่ควรทำคือ การใช้สำลีชุบน้ำอุ่น จากนั้นเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบๆ ขอบตา และควรทำทั้งเช้าและเย็นจนกว่าอาการของโรคจะหายไป
6. การผ่าตัดระบายหนอง
เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับรักษาโรคตากุ้งยิง หรืออาจเรียกว่าเป็น “การเจาะเพื่อระบายหนองออก” ก็ได้ โดยแพทย์จะมีการให้ยาชากับผู้ป่วยก่อน จากนั้นก็จะลงมีดผ่าลงไปที่บริเวณตุ่มหนอง
ซึ่งในระหว่างการรักษานี้ ผู้ป่วยควรหยุดพักทุกกิจกรรมที่จะต้องใช้สายตา เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือแม้แต่ขับรถ และจะต้องปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยส่วนมาก แพทย์มักจะปิดตาข้างที่ผ่าตัดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออก และลดอาการบวมให้น้อยลง
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นตากุ้งยิง
การดูแลตนเองเมื่อเป็นตากุ้งยิงนั้น อย่างแรกคือ หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณรอบเปลือกตาอยู่เสมอ และควรปฏิบัติควบคู่กับพฤติกรรมเหล่านี้
- หมั่นประคบดวงตาด้วยน้ำอุ่น 3-4 ครั้งต่อวัน และให้หลับตาระหว่างประคบด้วย
- ทำความสะอาดปลอกหมอน และสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องสัมผัสกับใบหน้า
- พยายามเก็บผมไม่ให้ปรกลงมาทิ่มตา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการออกไปในที่ที่มีมลภาวะฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรก
- พักผ่อนให้เพียงพอ และงดการใช้สายตาเป็นเวลานาน
วิธีป้องกันโรคตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิงสามารถที่จะป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- ไม่ขยี้ตา
- รักษาความสะอาดทั้งใบหน้าและมือ
- หมั่นทำความสะอาดปลอกหมอน รวมถึงของใช้ต่างๆ ในบ้าน
- ไม่ใช้สายตามากเกินความจำเป็น
- อย่าให้ผมแยงตาเพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย
โรคตากุ้งยิงไม่ใช่โรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตามากมาย เมื่อเป็นแล้วก็สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของดวงตาไว้เป็นอย่างดี และหากมีอาการรุนแรงขึ้นก็ไม่ควรปล่อยนิ่งเฉยไว้ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด
คำถามที่พบบ่อย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย