ในปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้มนุษย์เรามักไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายกันเท่าไหร่นัก แถมบางคน (ส่วนใหญ่) ก็ไม่ได้ออกกำลังกายเลยด้วยซ้ำ
โรคหัวใจมีปัจจัยความเสี่ยงหลักๆ มาจากวิถีชีวิตของเรานี่เอง เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ออกกำลัง หรือขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อย จนทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน ภาวะอ้วน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงโรคหัวใจ
การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันโรคหัวใจนั้นทำได้ไม่ยาก โดยคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ต่อไปนี้
สารบัญ
1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจส่วนหนึ่งนั้น มักมาจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด โดยมีปัจจัยมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และไม่ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกายออกไป
ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นตัวป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ดี เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีสมรรถภาพทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยลดปัจจัยการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
หากพูดถึงคำว่า “การออกกำลังกาย” หลายคนอาจนึกไปถึงการใส่ชุดกีฬาเป็นทางการ การวิ่งบนลู่วิ่ง การเล่นเวทหนักๆ การเล่นโยคะในห้องสตูดิโอใหญ่ๆ หรือการเข้าฟิตเนสเพื่อปั่นจักรยานในคลาสกับเทรนเนอร์
แต่ความจริงแล้ว คุณสามารถออกกำลังได้ในระหว่างวันอย่างง่ายๆ แต่สม่ำเสมอได้ โดยมีเคล็ดลับต่อไปนี้
- เปลี่ยนมาทำงานบ้านด้วยตนเอง หลายคนอาจมีแม่บ้าน หรือมีสมาชิกในครอบครัวดูแลทำความสะอาดบ้านให้ หลังจากนี้ให้ลองเปลี่ยนมาทำงานบ้านด้วยตนเองดูบ้าง เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน ดูดฝุ่น ล้างรถ คุณอาจไม่รู้ว่าการทำงานบ้านคือ การออกกำลังกายชั้นดีอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องเสียเงิน แถมยังได้บ้านและรถที่สะอาดสะอ้านเป็นรางวัลด้วย
- ขยับเคลื่อนไหวระหว่างวันให้มากขึ้น ชาวออฟฟิศหลายคนคงต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน โดยไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน คุณอาจหาเวลาพักซัก 10-15 นาทีในการลุกออกเดิน หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ้างให้พลังงานมีการเผาผลาญบ้าง หรือใครที่เดินทางมาทำงานโดยต้องต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างแทนการเดิน คุณอาจลองเปลี่ยนจากการต่อรถมาเป็นการเดินสัปดาห์ละ 2-3 วันก็ได้ หรือ ใช้การขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์
- เปลี่ยนจากการพักผ่อนอยู่กับที่เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เคล็ดลับข้อนี้น่าจะเหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาระหว่างวันมาออกกำลัง หรือเคลื่อนไหวร่างกาย ลองแบ่งเวลาช่วงเย็นสัก 3-5 วันต่อสัปดาห์ ให้เป็นเวลาสำหรับออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ฟิตเนส หรือคุณอาจออกกำลังกายได้ง่ายๆ เองที่บ้านด้วยการดูคลิปวีดีโอ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งนี้ระยะเวลาในการออกกำลังกายที่ดีควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาทีขึ้นไป
- มีความสม่ำเสมอ ถึงแม้จะมีเวลา มีเครื่องออกกำลังกาย มีเทรนเนอร์ หรือแพทย์คอยให้คำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายดีแค่ไหน แต่หากคุณไม่มีสม่ำเสมอและหนักแน่นในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ร่างกายก็จะไม่ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแรงอย่างต่อเนื่องทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วและต้องการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับขีดจำกัด ความหนักและความถี่ของการออกกำลังกายเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีข้อควรแนะนำอื่นๆ สำหรับการออกกำลังใจกายในผู้ป่วยโรคหัวใจด้วย
- อย่าออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมากจนเกินไป แต่ให้เน้นที่ระยะเวลาในการออกกำลังอย่างเหมาะสม
- อบอุ่นร่างกายทุกครั้งประมาณ 5 นาทีก่อนออกกำลัง และมีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังออกกำลังเช่นกัน
- อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
- ไม่กลั้นหายใจขณะออกกำลังกาย แต่ให้หายใจสบายๆ ตามปกติของตนเอง
- หากรู้สึกแน่น เจ็บ หรือปวดหน้าอก เวียนศีรษะ หรือเหนื่อยจนไม่สามารถพูดคุยได้ปกติระหว่างออกกำลังกาย ให้หยุดออกกำลังกายทันทีและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น
- ควรหาคนอยู่เป็นเพื่อนระหว่างออกกำลังกาย เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
- วางตารางเวลาออกกำลังกายให้อยู่ในเวลาเดียวกันทุกๆ ครั้ง
2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดสุขภาพของเรา หากรับประทานอาหารที่ดี ร่างกายเราก็จะได้รับสิ่งดีๆ เพื่อไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย
การรับประทานอาหารเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจนั้น จะเน้นที่การรับประทานผักโดยให้มีผักใบเขียวปริมาณครึ่งจานในทุกมื้อ ลดการรับประทานอาหารไขมันสูงและอาหารที่มีรสเค็ม
3.ไม่บริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป
หลายครั้งที่การสังสรรค์และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และบางคนก็ชื่นชอบเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นพิเศษ บริโภคเป็นประจำ
แม้ว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดร้ายแรง เพียงแต่คุณต้องรู้จักจำกัดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบในร่างกาย รวมถึงระบบการทำงานของหัวใจด้วย
เพราะเมื่อคุณบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าไป หัวใจจะสูบฉีดเลือดให้แรงและหนักขึ้น อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ด้วย เนื่องมาจากการไปทำลายหลอดเลือดหัวใจให้ตีบลง
หากยังคงบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ซ้ำๆ ถี่ๆ จนเกินขีดจำกัดของตนเอง กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเกิดการอักเสบจากการทำงานหนักมากเกินไปส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบวมโต มีพังผืด เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และหัวใจล้มเหลวได้
หากคุณเป็นผู้ที่เสพติดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คุณควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการบำบัดเพื่อเลิกเสพติดการบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไป
เพราะนอกเหนือจากโรคเกี่ยวกับหัวใจแล้ว ยังมีโรคแทรกซ้อนอีกมากมายที่เกิดขึ้นได้จากบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลำไส้ โรคซึมเศร้า โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะไขมันพอกตับ
ไม่อยากให้ตับ ลำไส้ และทางเดินอาหารต้องมาป่วยเพราะพิษจากแอลกอฮอล์ ควรหาโอกาสตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ร่วมกับการตรวจตับควบคู่กันไป เพราะหากพบความผิดปกติ จะได้รีบเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ก่อนปัญหาจะลุกลามและรุนแรง
สำหรับปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัยต่อร่างกายขึ้นอยู่กับ “หน่วยดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) หมายถึง หน่วยปริมาณแอลกอฮอล์จำนวน 10-14 กรัมในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิด ที่ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการกำจัดออกจากร่างกาย
ทั้งนี้ 1 ดื่มมาตรฐานจะแตกต่างไปในเครื่องดื่มแต่ละชนิด ซึ่งความแตกต่างว่า คุณจะดื่มได้เท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับเพศของตนเอง ได้แก่
- ผู้หญิง ไม่เกิน 3 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อ 1 วัน และไม่เกิน 7 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์
- ผู้ชาย ไม่เกิน 4 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อ 1 วัน และไม่เกิน 14 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์
สำหรับตัวอย่างปริมาณหน่วยดื่มมาตรฐานในเครื่องดื่มที่คนไทยมักจะนิยมดื่มจะได้แก่
- ไวน์ 1 แก้ว 100 มิลลิลิตร (ml) แอลกอฮอล์ 12.5% หน่วยดื่มมาตรฐาน = 1.0
- เบียร์กระป๋อง 330 มิลลิลิตร (ml) แอลกอฮอล์ 4% หน่วยดื่มมาตรฐาน = 1.0
- เบียร์กระป๋อง 440 มิลลิลิตร (ml) แอลกอฮอล์ 4.2% หน่วยดื่มมาตรฐาน = 1.5
- เบียร์ขวด 330 มิลลิลิตร (ml) แอลกอฮอล์ 2.5% หน่วยดื่มมาตรฐาน = 0.7
4.ไม่สูบบุหรี่
หลายคนคงทราบว่า การสูบบุหรี่ไม่มีผลดีใดๆ ต่อร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังคงเลือกที่จะสูบ เพราะคิดว่าเป็นวิธีระบายความเครียด หรือรู้สึกว่าเป็นการสร้างบุคลิกเท่ๆ ให้กับตนเอง
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า หลอดเลือดของผู้ที่ติดบุหรี่นั้น จะเสื่อมและตันเร็วยิ่งกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10-15 เท่า และในบุหรี่มีสารประกอบกว่า 4,000 ชนิดที่สร้างอันตรายให้กับร่างกายเราได้ เช่น
- สารนิโคติน เป็นสารเคมีในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งพบได้ในต้นยาสูบ มีฤทธิ์ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับไขมันในหลอดเลือดจนส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการอุดตันได้ นอกจากนี้สารนิโคตินยังไปทำลายเยื่อบุของหลอดเลือดและทำให้ผู้สูบเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด จนรู้สึกจุกเสียดหน้าอกเวลาออกกำลังกาย หรือขณะออกแรง ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตฉับพลันได้
- สารคาร์บอนมอนอกไซต์ เป็นสารที่เกิดจากการเผาไม้ของบุหรี่ มีฤทธิ์ทำให้เลือดข้นและหนืดขึ้นจนเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด และทำให้หัวใจต้องทำงานหนักเพราะผนังหลอดเลือดที่แคบลงจากลิ่มเลือดที่เกาะอยู่ อีกทั้งยังทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลงด้วย
- สารหนู เป็นธาตุทางเคมีที่มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก โดยสารหนูสามารถเข้าไปทำลายหลอดเลือด และส่งผลให้ผู้สูบเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้
บุหรี่จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้อีก เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
จากโทษของการสูบบุหรี่ที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่า นอกจากตัวผู้สูบแล้ว ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบเอง หรือผู้ได้รับควันบุหรี่มือสอง ก็ได้รับผลข้างเคียงจากพิษของบุหรี่ไปด้วย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่จะได้รับผลกระทบไม่แพ้โรคเกี่ยวกับหัวใจเลย
ทางที่ดีคุณจึงควรหาทางเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเองและคนรอบข้าง โดยเคล็ดลับสำหรับการเลิกบุหรี่จะมีดังต่อไปนี้
- มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการเลิกสูบ เพราการเลิกบุหรี่ถือเป็นสิ่งท้าทายและยากสำหรับใครหลายคน ดังนั้นคุณจึงควรตั้งเป้าหมายในการเลิกสูบ หรือวางระยะเวลาในการเลิกสูบให้ชัดเจน รวมถึงไม่มีการยืดหยุ่นและขยายเวลาเพื่อผ่อนผันให้ตนเองกลับไปสูบบุหรี่ได้อีก
- ให้คนรอบข้างเป็นหนึ่งในแรงผลักดันและช่วยเหลือ เพราะการเลิกสูบบุหรี่ย่อมมีผลข้างเคียงหลายอย่างเช่น เครียด หงุดหงิด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ การบอกให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทราบว่า “คุณจะเลิกบุหรี่” วิธีนี้จะช่วยให้มีคนคอยอยู่เคียงข้างคุณเมื่อเวลาที่เกิดอาการดังกล่าว และคนใกล้ชืดยังจะเป็นผู้ย้ำเตือนไม่ให้คุณเลิกล้มความตั้งใจเลิกบุหรี่ด้วย
- บอกคนรอบข้างที่สูบบุหรี่ว่า “คุณกำลังเลิกบุหรี่” เคล็ดลับนี้จะเป็นการช่วยให้สภาพแวดล้อมรอบตัวคุณเอื้อต่อการเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น หากมีเพื่อน หรือคนรู้จักยังคงชักชวนให้คุณสูบบุหรี่อยู่ ให้คุณพยายามหลีกเลี่ยงอยู่ให้ห่างจากสถานการณ์ที่เสี่ยงเหล่านั้น เพื่อให้ตนเองไม่รู้สึกคล้อยตามและกลับไปสูบบุหรี่อีก
- หาอย่างอื่นทำเพื่อเบนความสนใจจากบุหรี่ คุณอาจต้องหาหมากฝรั่ง น้ำหวาน หรือขนมหวานเคี้ยวกินขณะที่รุ้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมา รวมถึงต้องตั้งสติให้มั่น หายใจให้ลึกๆ ในระหว่างที่คุณต้องอดกลั้นไม่สูบบุหรี่และบอกตนเองว่า จะไม่กลับไปสูบบุหรี่อีก
5.บริหารภาวะอารมณ์
อารมณ์ความรู้สึกกับโรคหัวใจอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ความจริงแล้วภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ เช่น ความเครียด อาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ล้วนแต่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายทั้งนั้น และสามารถเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจได้ เช่น
- โรคความดันโลหิต
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- ภาวะเลือดออกในสมอง
สำหรับสาเหตุที่ภาวะทางอารมณ์ทำให้เกิดโรคหัวใจได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ แต่อีกสาเหตุซึ่งมักจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจก็คือ พฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เช่น
5.1.การดื่มสุราและสูบบุหรี่
ผู้ป่วยโรคหัวใจหลายรายเคยมีภาวะเสพติดสุราและบุหรี่มาก่อน และอย่างที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันรวมถึงในสื่อโทรทัศน์ว่า การดื่มสุราและสูบบุหรี่คือ วิธีระบายความเครียดที่ได้รับความนิยมที่สุด จนกลายมาเป็นความที่นิยมที่ผิดๆ และนำพาไปสู่การเกิดโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว
5.2.โรคเบาหวานและภาวะอ้วน
โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคร้ายอันดับต้นๆ ที่นำพาไปสู่โรคหัวใจ ซึ่งความเครียดก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานเช่นกัน เพราะผู้ป่วยหลายรายมักจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีรสหวาน และน้ำตาลมากๆ หรืออาจรับประทานอาหารมากกว่าปริมาณปกติ จนทำให้เกิดไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด และทำให้ฮอร์โมนอินซูลินซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานและอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันด้วย
5.3.ไม่ออกกำลังกายและพักผ่อนไม่เพียงพอ
ภาวะซึมเศร้า หรือความเครียดจากการทำงานทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหลายรายเปลี่ยนนิสัยมาเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว เบื่ออาหาร หมกมุ่นอยู่กับงานที่ทำมากเกินไป และนอนหลับไม่เพียงพอจนร่างกายอ่อนล้า
จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปดังกล่าว จึงทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายพักผ่อนไม่พอ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่โรคทางหัวใจได้อยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคที่เกิดจากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดไปทำให้ไขมันไม่ดีในหลอดเลือดสูงขึ้น จนทำให้ทางเดินของหลอดเลือดแคบลงและเกิดการตีบตัน จนกล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ และกล้ามเนื้อหัวใจตายลงในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีภาวะใจกล้ามเนื้อหัวใจตายกะทันหัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยทำงานหนักมากๆ หรือกลับไปออกกำลังกายโดยไม่มีการเตรียมตัว หรืออบอุ่นร่างกายก่อน
6.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างที่หลายๆ คนทราบว่า การพักผ่อนน้อยย่อมส่งผลต่อภาวะทางสุขภาพหลายๆ ด้าน ซึ่งในส่วนของโรคหัวใจ ผู้ที่พักผ่อนน้อยนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีแคลเซียมไปเกาะตามผนังหลอดเลือดมากขึ้น และยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
ดังนั้นยิ่งคุณนอนน้อยมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางหัวใจก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพและหัวใจของคุณ ควรจัดเวลานอนให้ตนเองนอนหลับได้อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง
หรือหากมีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกนอนหลับไม่สนิท หรือรู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลาแม้จะนอนเพียงพอแล้ว คุณควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพื่อหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น และหาวิธีการรักษาต่อไป
หากคุณต้องการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ สิ่งสำคัญที่จะทำจะต้องมีก็คือ “สติ” ในการใช้ชีวิต และให้คิดเสมอว่าทุกการกระทำ ทุกพฤติกรรมที่คุณใช้ชีวิตในแต่ละวันมีผลต่อสุขภาพของคุณทั้งนั้นไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง
หากคุณใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การตระหนักถึงสุขภาพที่ดีของตนเองทุกวัน ไม่เพียงแต่ความเสี่ยงของโรคหัวใจเท่านั้นที่จะลดน้อยลง แต่ความเสี่ยงของโรคด้านอื่นๆ และภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นอันตรายก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน
ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล