Default fallback image

เทียบ 3 โรคผิวหนัง เริม งูสวัด อีสุกอีใส เหมือนต่างกันอย่างไร

เริม (Herpes) งูสวัด (Shingles) และอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคทางผิวหนังที่แม้พบได้บ่อย แต่ยังสร้างความสับสนให้กับหลายคน เพราะบางอาการคล้ายคลึงกันมาก  

ในบทความนี้เราจะมาเทียบสาเหตุ ลักษณะอาการ การติดต่อ และการป้องกันด้วยวัคซีนมาให้ชัด ๆ ไปดูกันเลย!  

สาเหตุของเริม งูสวัด อีสุกอีใส 

ที่จริงโรคผิวหนังทั้ง 3 โรคนี้ มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสในตระกูล Human herpesvirus (HHV) เหมือนกัน แต่เป็นคนละชนิดย่อยกัน 

เริม
เกิดจากเชื้อไวรัส Herpes simplex virus ชนิดที่ 1 (HSV-1) มักก่อให้เกิดเริมที่ปาก ช่องปาก ใบหน้า และชนิดที่ 2 (HSV-2) มักก่อให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศชายหญิง อาจเป็นภายนอกและภายใน เช่น องคชาต ทวารหนัก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และท่อปัสสาวะ

งูสวัดและอีสุกอีใส
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันคือ Human herpesvirus ชนิดที่ 3 (HHV-3) หรือที่เรียกกันว่า Varicella-zoster virus (VZV) ซึ่งการติดเชื้อไวรัส VZV ครั้งแรกจะเรียกว่า โรคอีสุกอีใส หลังหายดีเชื้อจะแฝงอยู่ในปมประสาท และอาจกำเริบเป็นโรคงูสวัดเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ

ลักษณะอาการของเริม งูสวัด อีสุกอีใส

แม้อาการของทั้ง 3 โรคจะคล้ายกัน ทว่าแต่ละโรคก็มีลักษณะเด่นที่ต่างกันไป ซึ่งจะช่วยให้เราแยกโรคได้ง่ายขึ้น ดังนี้

อาการเริม
เริ่มด้วยอาการแสบร้อน เจ็บแปลบ และคันนำมาก่อน 2–3 วัน ตามมาด้วยผื่นบวมแดง และตุ่มน้ำพองใสขึ้นเกาะกันกลุ่มตรงบริเวณติดเชื้อ แต่ไม่ได้เรียงตัวเป็นแนวยาว หลังจากนั้นตุ่มน้ําพองจะแตกเป็นแผลตื้น ๆ ตกสะเก็ด ก่อนจะหายไปใน 1–2 สัปดาห์

อาการอื่นที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ หากติดเชื้อเริมที่ปาก อาจเจ็บขณะดื่มน้ำหรือทานอาหาร มีกลิ่นปาก เหงือกบวม ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม หากติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ อาจเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ เจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ      

อาการงูสวัด
อาการเตือนงูสวัดเริ่มจากรู้สึกไม่สบายตัว มีไข้ ปวดแสบปวดร้อนซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย 1–2 วัน ก่อนจะเกิดผื่นแดงคันและตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันตามแนวเส้นประสาท บริเวณรอบเอวหรือใบหน้า ก่อนจะแห้งตกสะเก็ดแล้วยุบหายไปใน 1–2 สัปดาห์   

ลักษณะเด่นของตุ่มน้ำงูสวัดจะเกิดเป็นปื้นตามแนวเส้นประสาท ส่วนมากจะเกิดด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย แม้จะหายจากโรคงูสวัดแล้ว อาจจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้นานหลายเดือน 

อีสุกอีใส
ใน 1–2 วันแรกจะมีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตามด้วยเกิดผื่นแดงคันตามตัว และลามไปทั่วร่างกาย จากนั้นผื่นจะค่อย ๆ กลายเป็นตุ่มน้ำพอง ตุ่มหนองขนาดใหญ่ แตกง่าย และตกสะเก็ดใน 1 สัปดาห์ 

ตุ่มน้ำของอีสุกใสจะกระจายไปได้ทั่วตัว ทั้งผิวหนังภายนอกและเยื่อบุภายใน เช่น ศีรษะ ลำคอ แขนขา ตา หรือช่องปาก แต่อาจขึ้นไม่พร้อมกัน ทำให้บางจุดอาจเห็นเป็นผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง หรือแผลตกสะเก็ดกระจายกันไป         

การติดต่อและกลุ่มเสี่ยงของเริม งูสวัด อีสุกอีใส

การติดต่อของเริม งูสวัด และอีสุกอีใสนั้นก็มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังเหมือนกัน

การติดต่อของเริม
เชื้อไวรัสเริมติดต่อได้ง่ายจากการมีเพศสัมพันธ์ การจูบหรือการสัมผัสน้ำลาย การสัมผัสผิวหนังโดยตรง รวมถึงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ช้อนส้อม หรือลิปสติก ซึ่งเชื้อไวรัส HSV จะเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุต่าง ๆ หรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล

คนที่มีความเสี่ยงเป็นเริมสูงมักเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือไม่สวมถุงยางอนามัย มีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อในร่างกายโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ตรวจมาก่อน  

การติดต่อของงูสวัดและอีสุกอีใส
เชื้อ VZV ที่ก่อโรคงูสวัดและอีสุกอีใส ติดต่อผ่านการสูดดมละอองเชื้อไวรัสในอากาศหลังผู้ป่วยไอหรือจาม การสัมผัสตุ่มน้ำและแผลบริเวณผิวหนังผู้ป่วยในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง อย่างน้ำมูกหรือน้ำลาย

ผู้ป่วยงูสวัดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเชื้อ VZV มาก่อนได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่เชื้อจะหลบอยู่ในเส้นประสาท หากกำเริบซ้ำจึงจะกลายเป็นโรคงูสวัด 

คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อการได้รับเชื้อไวรัส VZV เข้าสู่ร่างกายก็เช่น

  • อีสุกอีใส: คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนอีสุกอีใสมาก่อน เด็กหรือผู้ใหญ่ในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือในชุมชนทั่วไป
  • งูสวัด: คนอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์บางชนิดระยะยาว    

วัคซีนป้องกันเริม งูสวัด อีสุกอีใส

เริมยังไม่มีวัคซีนป้องกันในปัจจุบัน แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง กอดจูบ มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วยโรคเริม

วัคซีนงูสวัด
มีให้เลือก 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ฉีด 1 เข็ม หรือวัคซีนชนิดซับยูนิต ฉีด 2 เข็ม ช่วยป้องกันโรคงูสวัดและอาการปวดเส้นประสาทหลังเป็นงูสวัด แนะนำให้ฉีดในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ก็ตาม โดยชนิดซับยูนิตจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงกว่าชนิดเชื้อเป็น  

วัคซีนอีสุกอีใส
แนะนำให้ฉีดในเด็กช่วงอายุ 12–18 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4–6 ปี หรืออาจฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งภูมิต้านทานจะขึ้นดีกว่าการฉีดเพียง 1 เข็ม ถ้าอายุเกิน 13 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน 

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีสุกอีใสในรูปแบบวัคซีนรวมหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส (MMRV) ในหนึ่งเข็มให้เลือกใช้ด้วย สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมในการเลือกชนิดวัคซีนได้

การฉีดวัคซีนทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะวัคซีนทุกชนิดมีข้อจำกัดต่างกัน อาจไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ คนที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน หรือคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

เห็นได้ว่าแม้เป็นเชื้อตระกูลเดียวกัน เริม งูสวัด และอีสุกอีใส ก็ยังมีความต่างกันอยู่  ถ้าเราแยกโรคเบื้องต้นได้ก่อน จะช่วยให้ได้รับการรักษาเร็ว และหายไวขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคผิวหนังทั้ง 3 โรค อย่าลืมฉีดวัคซีนป้องกัน และปรับพฤติกรรมเสี่ยงตามแพทย์แนะนำร่วมด้วย

เริม งูสวัด อีสุกอีใส
เชื้อก่อโรค Herpes simplex ชนิดที่ 1 หรือ HSV-1 ทำให้เกิดเริมที่ปาก

Herpes simplex ชนิดที่ 2 หรือ HSV-2 ทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ

Human herpesvirus ชนิดที่ 3 (HHV-3) หรือ Varicella-zoster virus (VZV) 
อาการเด่น อาการคล้ายไข้หวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว อาจมีไข้หรือไม่มี  

เกิดตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มที่ปากหรืออวัยวะเพศ

ไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว 

ปวดแสบปวดร้อน คัน

เกิดตุ่มน้ำใสเป็นปื้น ตามแนวเส้นประสาท มักเป็นข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย

ไข้ต่ำ ครั่นเนื้อครั่นตัว 

มีตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส ตามลำตัว และลามทั่วร่างกาย 

การติดต่อ ติดต่อผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น โดนแผล จูบ ใช้สิ่งของร่วมกัน หรือทางเพศสัมพันธ์ เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เมื่อร่างกายอ่อนแอ ไวรัสจะก่อโรคงูสวัดขึ้น ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย เช่น ทางน้ําลาย ไอ จาม หายใจเอาเชื้อเข้าไป
วัคซีนป้องกันโรค ไม่มี มี มี

    วัคซีนป้องกันเริมยังไม่มี แต่วัคซีนงูสวัด วัคซีนอีสุกอีใส ยังรอให้ฉีดอยู่นะ HDmall.co.th มีพร้อมเสิร์ฟ ราคาดี ราคาโปร คุ้ม ๆ จิ้มเลย!

Scroll to Top