Default fallback image

ฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังกับ ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา ด้วยบริการจาก HDcare

หลังเข้าสู่วัยสูงอายุ ชักจะปวดหลังบ่อยขึ้น ปวดเฉียบพลัน บางครั้งปวดจนนั่งหรือยืนไม่ได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของกระดูกสันหลังที่ยุบตัวหรือหัก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนสูงวัย ช่วงวัยที่ความแข็งแรงของกระดูกเริ่มเสื่อมตัวลง 

เมื่อพูดถึงวิธีรักษากระดูกสันหลังที่ยุบหรือหัก หลายคนก็คงคิดว่า ต้องผ่าตัดใหญ่เท่านั้นจึงจะรักษาได้ แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นเสมอไป เพราะในปัจจุบันยังมีอีกวิธีรักษาที่ได้ประสิทธิภาพและน่าสนใจ นั่นก็คือ “การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง” ซึ่งเป็นการฉีดสารเสริมความแข็งแรงเพื่อช่วยเพิ่มแรงพยุงน้ำหนักร่างกายให้กับกระดูกสันหลัง

เจาะลึกการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังไปพร้อม ๆ กัน กับ หมอปัน ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare 

อ่านประวัติหมอปันได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอปัน” คุณหมอกระดูกกับเรื่องราวความพิเศษของการรักษาโรคที่กระดูกสันหลัง]

สารบัญ

ภาวะกระดูกสันหลังยุบ คืออะไร?

ภาวะกระดูกสันหลังยุบ คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังซึ่งเป็นกระดูกแกนกลางของร่างกายเกิดการหักหรือยุบตัวจนไม่สามารถรับน้ำหนักร่างกายได้อย่างเต็มที่ และก่อให้เกิดเป็นอาการปวดหลังที่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการแบบไหนที่ควรตรวจ? 

อาการบ่งชี้ที่เสี่ยงเกิดจากภาวะกระดูกสันหลังยุบ คือ อาการปวดหลังในระดับที่รุนแรง ในคนไข้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการปวดหลังถึงขั้นยืนหรือนั่งไม่ได้ ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างลำบาก และมักจะรักษาด้วยการกินยาหรือนอนพักไม่เห็นผล 

คนไข้หลายรายที่เกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบจึงมักจะเดินทางมาพบแพทย์เนื่องจากทนอาการปวดไม่ไหว มากกว่าสังเกตอาการผิดปกติได้เอง แล้วจึงค่อยมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

ภาวะกระดูกสันหลังยุบมักทำให้ปวดหลังบริเวณไหน?

อาการปวดหลังที่เกิดจากภาวะกระดูกสันหลังยุบมักจะอยู่ที่แกนกลางของแผ่นหลัง หรืออีกตำแหน่ง คือ บริเวณแผ่นหลังด้านข้าง 

ในคนไข้ที่ภาวะภาวะกระดูกสันหลังยุบไปก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเส้นประสาทด้วย ยังมักจะมีอาการปวดหลังจนร้าวลงขา ร่วมกับมีอาการชา และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ใครมีโอกาสเป็นภาวะกระดูกสันหลังยุบได้บ้าง?

กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบสามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง จนทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บจนหักหรือยุบ 
  • กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกระดูกสันหลังมักจะเริ่มเสื่อมความแข็งแรงจนเกิดโรคกระดูกพรุน และนำไปสู่การเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบในภายหลัง หรือทำให้กระดูกสันหลังยุบได้ง่ายขึ้น แม้ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง 
  • กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือที่กินยาบางชนิดซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบได้ง่าย เช่น คนไข้โรคไต ผู้ที่ต้องกินยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง

วิธีการตรวจภาวะกระดูกสันหลังยุบ

การตรวจภาวะกระดูกสันหลังยุบมักมีลำดับการตรวจดังต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกาย และแพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติเพิ่มเติม เช่น ปวดหลังตรงไหน มีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยหรือไม่ 
  • ตรวจเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เพื่อให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติที่ตัวกระดูกสันหลังชัด ๆ หากพบว่า กระดูกยังยุบไม่มาก แพทย์ก็อาจพิจารณาวิธีรักษาเป็นการใส่เสื้อเกราะพยุงหลังก่อน
  • ตรวจ CT-Scan หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นรายการตรวจเพิ่มเติม ในกรณีที่คนไข้รักษาด้วยวิธีใส่เสื้อเกราะพยุงหลังแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น และเป็นการตรวจประเมินที่สามารถทำให้แพทย์มองเห็นภาพความเสียหายของกระดูกที่ยุบหรือหักได้ละเอียดที่สุด
  • ตรวจ MRI หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นรายการตรวจเพิ่มเติมที่แพทย์อาจแนะนำให้ทำร่วมกับการตรวจ CT-Scan เพื่อตรวจประเมินว่า นอกจากการยุบตัวของกระดูกสันหลัง คนไข้ยังมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อกระดูกด้วยหรือไม่ เช่น การพบเนื้องอก

วิธีการรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบ มีกี่วิธี?

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบสามารถทำได้หลายวิธี โดยมักจะเริ่มจากการกินยาแก้ปวด การทำกายภาพบำบัด และการใส่เสื้อเกราะเพื่อพยุงกระดูกสันหลังก่อน 

แต่หากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะพิจารณาให้คนไข้รักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือการทำหัตถการอื่น ๆ เพื่อลดอาการปวดต่อไป 

โดยหนึ่งในวิธีทำหัตถการที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก็คือ การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง ซึ่งจัดเป็นวิธีรักษาแบบผ่าตัดเล็ก มีแผลเพียง 2 แผลในขนาด 1 เซนติเมตรเท่านั้น ช่วยให้คนไข้หายปวดหลังได้เร็วและเห็นผล รวมถึงฟื้นตัวหลังการรักษาได้เร็วด้วย

การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง คืออะไร?

การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง (Vertebroplasty) คือ การฉีดสารซีเมนต์คุณภาพดี และสามารถใช้ในทางการแพทย์กับร่างกายมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกสันหลัง ทำให้ให้กระดูกสันหลังสามารถรองรับน้ำหนักร่างกายของคนไข้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง

กลไกการทำงานของซีเมนต์ที่ฉีดเข้ากระดูกสันหลังจะคล้าย ๆ กับซีเมนต์ก่อสร้างที่หลายคนพอจะทราบอยู่บ้าง โดยก่อนเริ่มฉีด แพทย์จะผสมสารซีเมนต์ที่มีเนื้อเหลวหนืดก่อน จนเมื่อฉีดเข้ากระดูกสันหลังคนไข้แล้วและซีเมนต์เกิดการแข็งตัว ก็จะสามารถช่วยรองรับน้ำหนักร่างกายของคนไข้ได้ในทันที

ซีเมนต์ที่ใช้ฉีดเข้ากระดูกสันหลังปลอดภัยหรือไม่?

ซีเมนต์สำหรับฉีดรักษากระดูกสันหลังนั้นมีความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงในบางประการอยู่บ้าง เช่น 

  • โอกาสแพ้สารซีเมนต์ ซึ่งสามารถส่งผลให้คนไข้ความดันโลหิตตก หรือเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะระหว่างทำหัตถการได้ ดังนั้นในการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง แพทย์ผู้ฉีดจะต้องมีวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ช่วยดูแลคนไข้ในระหว่างการทำหัตถการด้วย
  • สารซีเมนต์รั่วไปยังตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น รั่วไปกดทับเส้นประสาท รั่วเข้าไปในหลอดเลือด หรือกระจายตัวเข้าไปในอวัยวะอื่น ๆ แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย และแพทย์จะประเมินการฉีดซีเมนต์ให้กับคนไข้ที่มีสภาพร่างกายพร้อมต่อการรักษาด้วยวิธีนี้อย่างปลอดภัยเท่านั้น

ข้อดีและข้อจำกัดของการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง

ข้อดีของการฉีดซีเมนต์เพื่อรักษาภาวะกระดูกสันหลังยุบ ได้แก่

  • เป็นหัตถการที่แผลเล็ก โดยมีขนาดแผลแค่ 1 เซนติเมตรเพียง 2 แผล ทำให้ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหลังผ่าตัดได้เร็ว 
  • ใช้เวลาทำหัตถการไม่นาน เพียงประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
  • ทันทีที่ซีเมนต์แข็งตัว คนไข้จะเริ่มรู้สึกหายจากอาการปวดหลังทันที

ส่วนข้อจำกัดของการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง โดยหลัก ๆ คือ สามารถฉีดรักษาข้อกระดูกที่ยุบได้เป็นจุด ๆ เฉพาะตำแหน่งเท่านั้น หากในอนาคตคนไข้มีข้อกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ที่ยุบตัวเพิ่มอีก ก็ต้องกลับมาขอให้แพทย์พิจารณาฉีดซีเมนต์ที่ตำแหน่งใหม่เพิ่มอีก

ใครที่รักษากระดูกสันหลังยุบด้วยการฉีดซีเมนต์ได้บ้าง?

  • คนไข้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจนทำให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบตัวตามมา
  • คนไข้ที่มีอาการปวดหลังจากภาวะกระดูกสันหลังยุบ และมีเงื่อนไขสุขภาพที่สามารถรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์ได้
  • คนไข้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังยุบ และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ มาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น 

ขั้นตอนการฉีดซีเมนต์ที่กระดูกสันหลัง

การฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังใช้ระยะเวลาทำหัตถการประมาณ 1 ชั่วโมง และคนไข้จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน โดยมีขั้นตอนการรักษาดังต่อไปนี้

  • วิสัญญีแพทย์วางยาสลบคนไข้
  • แพทย์จัดท่าคนไข้ให้นอนในท่านอนคว่ำ
  • แพทย์ใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจหาตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนที่ยุบตัว
  • แพทย์สอดเข็มเข้าไปในกระดูกสันหลัง และปล่อยบอลลูนเข้าไปด้านในเพื่อขยายพื้นที่สำหรับฉีดซีเมนต์
  • แพทย์ผสมสารซีเมนต์ให้หนืดอย่างเหมาะสม และฉีดเข้าไปด้านในกระดูกสันหลัง
  • เย็บปิดแผล

ฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง ต้องฉีดกี่จุดและฉีดตรงไหนบ้าง?

จำนวนและตำแหน่งในการฉีดซีเมนต์จะขึ้นอยู่กับจำนวนข้อกระดูกสันหลังที่เกิดการยุบตัว เช่น หากตรวจพบว่า กระดูกยุบ 2 ข้อ ก็จะฉีด 2 จุด

ฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง ฉีดครั้งหนึ่งอยู่ได้นานเท่าไหร่?

ผลลัพธ์จากการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังจะอยู่ได้ค่อนข้างนาน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแรงของซีเมนต์ที่จะช่วยพยุงน้ำหนักตัวจะอยู่เฉพาะที่ข้อกระดูกส่วนที่ได้รับการฉีดเท่านั้น หากในอนาคต คนไข้มีข้อกระดูกสันหลังส่วนอื่นที่ยุบตัวอีก ก็ต้องกลับมาขอรับการฉีดซีเมนต์เพิ่มที่ข้อกระดูกนั้น ๆ 

แต่โดยทั่วไป หลังฉีดซีเมนต์ไปแล้วครั้งหนึ่ง แพทย์จะแนะนำให้คนไข้รับการรักษาโรคกระดูกพรุนให้หายดีเป็นลำดับถัดไป เนื่องจากตัวโรคนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง ดังนั้นหากโรคนี้บรรเทาลดลง โอกาสที่กระดูกจะยุบตัวอีกก็จะต่ำลงไปด้วย

การเตรียมตัวก่อนฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง

  • แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เนื่องจากคนไข้อาจต้องงดยาบางชนิดล่วงหน้าก่อนผ่าตัด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดซึ่งต้องงดก่อนวันผ่าตัด 5-7 วัน
  • คนไข้ต้องตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์แนะนำเสียก่อน เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 
  • คนไข้ต้องเข้ามาตรวจประเมินความพร้อมของร่างกายกับอายุรแพทย์และวิสัญญีแพทย์เสียก่อน เพื่อป้องกันโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ

มาผ่าตัดคนเดียวได้ไหม? หรือว่าควรมีญาติมาด้วย

เนื่องจากคนไข้ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน แพทย์จึงแนะนำว่า ควรมีญาติมาด้วย เพื่อช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกระหว่างนอนพักฟื้นจะดีกว่า

การดูแลตนเองหลังฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง

หลังฉีดซีเมนต์ คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันที แต่จะต้องกลับมาทำกายภาพบำบัด ตรวจมวลกระดูกเพิ่มเติม และรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

กลับไปพักฟื้นที่บ้านกี่วัน?

หลังออกจากโรงพยาบาล คนไข้ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่บ้านเฉย ๆ แต่สามารถเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ และใช้งานกระดูกสันหลังได้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติทันที เพียงแต่ในช่วง 2 สัปดาห์แรก อย่าเพิ่งหักโหมใช้งานร่างกายและกระดูกสันหลังหนักเกินไป เนื่องจากยังเป็นช่วงที่แผลผ่าตัดยังไม่สมานตัวดี

การดูแลแผลฉีดซีเมนต์ โดนน้ำได้หรือไม่?

หลังทำหัตถการเสร็จ แพทย์จะปิดแผลให้คนไข้ด้วยอุปกรณ์ปิดแผลแบบกันน้ำ ดังนั้นคนไข้สามารถอาบน้ำได้เลย แต่ทุกครั้งที่แผลโดนน้ำ ต้องตรวจสอบให้ดีทุกครั้งว่า อุปกรณ์ปิดแผลไม่มีน้ำรั่วซึมเข้าไปด้านใน

วิธีป้องกันไม่ให้กระดูกยุบตัว

  • กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีอาการ ให้หมั่นออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวมีความแข็งแรง หมั่นกินสารอาหารประเภทแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ เพื่อรักษาความแข็งแรงให้มวลกระดูก รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจนทำให้กระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น ตกบันได หกล้ม
  • กลุ่มผู้ที่เสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง คนไข้โรคไต ให้หมั่นไปตรวจคัดกรองมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะกระดูกสันหลังยุบ หรือหากตรวจพบ ก็จะได้รับดำเนินการรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลังกับ ผศ.นพ. ปิลันธน์ ด้วยบริการจาก HDcare

เข้าสู่วัยสูงอายุหรือวัยทองแล้ว มีอาการปวดหลังจนร้าวลงขา ปวดจนชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดอุบัติเหตุมาแล้วมีอาการปวดหลังผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งเอาไว้ รีบติดต่อแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการ และรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

หรือจะทักหาแอดมิน HDcare ก็ได้ ได้นัดคุยกับคุณหมอแบบทั้งง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น มีคนช่วยประสานงานให้ จะคุยผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่โรงพยาบาลก็ได้ทั้งนั้น แถมยังเป็นคุณหมอเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์รักษาสูง

หรือหากสนใจบริการฉีดซีเมนต์ ก็ทักมาปรึกษาและซื้อบริการฉีดกับ HDcare ได้เช่นกัน แถมในวันรักษายังจะมีพยาบาลผู้ช่วยเดินทางมาคอยอยู่เป็นเพื่อน และประสานงานให้ตลอดทุกขั้นตอนอีก

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top