สำหรับผู้ป่วยโรคไตวาย ไตวายเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไตหรือการฟอกเลือด แต่มีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถทำเส้นฟอกไตที่แขนได้นั้น แพทย์มักพิจารณาให้ทำเส้นฟอกไตที่คอ หรือหน้าอกแทน แต่ผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลใจ กลัวว่าจะเจ็บ ดูแลรักษายาก หรือมีความเสี่ยงอื่นๆ ตามมา บทความนี้จะอธิบายทุกขั้นตอนที่ควรรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และอาจช่วยให้ผู้ป่วยรวมถึงคนใกล้ชิดคลายกังวลลงได้
สารบัญ
เส้นฟอกไตคืออะไร ทำไมต้องทำเส้นฟอกไต?
เส้นฟอกไต (Vascular Access) หรือบางคนอาจจะเรียกว่า เส้นฟอกเลือด คือ เส้นทางเพื่อนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยโรคไตไปยังเครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียแทนไต จากนั้นนำเลือดที่ฟอกแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง
สาเหตุที่ต้องทำเส้นฟอกไตนั้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะต้องมีการฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ ประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต
ในทุกๆ ครั้งที่ฟอกไต จะต้องมีการใช้เข็มเจาะเปิดเส้นเลือดอยู่เรื่อยๆ เมื่อฟอกเลือดเสร็จ เส้นเลือดก็จะมีการสมานตัวเองตามธรรมชาติ หากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เส้นเลือดอาจจะตีบตัน ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้น้อยลง และประสิทธิภาพในการกรองของเสียก็จะน้อยลงด้วย
การทำเส้นฟอกไต ก็เป็นการเตรียมเส้นทางการไหลของเลือด เพื่อรองรับการฟอกเลือดซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
เส้นฟอกไต ทำตรงไหนได้บ้าง แบบไหนดีกว่ากัน?
บริเวณที่นิยมทำเส้นฟอกไตนั้นมี 2 บริเวณหลักๆ คือ เส้นฟอกไตที่แขน และเส้นฟอกไตที่คอหรือหน้าอก โดยบริเวณแขนช่องทางหลักที่แพทย์เลือกใช้ เนื่องจากดูแลรักษาง่ายกว่า รวมทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำกว่าด้วย
แต่ผู้ป่วยบางคนอาจมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถทำเส้นฟอกไตที่แขนได้ เช่น เส้นเลือดที่แขนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถผ่าตัดทำเส้นฟอกไตได้ หรือผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการฟอกไตอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอทำเส้นฟอกไตที่แขนได้
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ การผ่าตัดใส่สายฟอกเลือดที่คอ คือการผ่าตัดสร้างช่องทางในการดึงเลือดออกจากตัวผู้ป่วย เข้าสู่เครื่องฟอกไตและส่งเลือดจากเครื่องฟอกไตกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย
วิธีนี้แพทย์จะเปิดแผลบริเวณลำคอหรือใกล้ไหปลาร้า และสอดท่อเข้าไปในเส้นเลือดดำใกล้หัวใจ หลังผ่าตัดเสร็จสิ้นสามารถฟอกไตได้ทันที
การทำเส้นฟอกไตที่คอนั้น ยังแบ่งได้อีก 2 รูปแบบ คือ การทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว (Double Lumen Catheter : DLC) และการทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร (Permanent Catheter Insertion หรือ Permcath)
การทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว ต่างกับ การทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร อย่างไร
การทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว จะมีคุณสมบัติตรงตามชื่อ คือสามารถใช้งานได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยมีอาการไตวายเฉียบพลัน และต้องเข้ารับการฟอกไตอย่างเร่งด่วน
ขณะที่การทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร ใช้สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ไม่สามารถทำเส้นฟอกไตที่แขนได้ สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่า ประมาณ 1-2 ปี แต่หากดูแลเป็นอย่างดีอาจมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 5 ปี
แต่นอกจากวัตถุประสงค์และอายุการใช้งานที่แตกต่างกันแล้ว เส้นฟอกไตทั้ง 2 รูปแบบยังมีคุณสมบัติและรายละเอียดการผ่าตัดที่แตกต่างกันด้วย ดังนี้
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว (DLC)
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว เป็นการผ่าตัดที่มักใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น จึงมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ในหอพักผู้ป่วยเลย ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัด เพื่อให้สามารถฟอกไตผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดบางประการ โดยมีขั้นตอนการผ่าตัด และรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว
- วิสัญญีแพทย์จะระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยยาชา
- แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผล บริเวณต้นคอ ของผู้ป่วยขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- แพทย์สอดสายฟอกไต (มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กกว่าและสั้นกว่าสายฟอกไตแบบกึ่งถาวร) เข้าไปยังหลอดเลือดดำ โดยจะสอดลึกเข้าไปในตำแหน่งใกล้กับขั้วหัวใจ
- หลังผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะใช้งานสายฟอกไตนี้ทันที
ข้อดีของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว
- เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน แพทย์สามารถผ่าตัดได้ในหอพักผู้ป่วย โดยไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด
- หลังผ่าตัดสามารถใช้งานสายฟอกไตได้ทันที
- เหมาะกับผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการฟอกไตทันที
ข้อจำกัดของการผ่าตัดเส้นฟอกไตแบบชั่วคราว
- อายุการใช้งานสั้น เพียง 1-2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจยืดระยะเวลาได้สูงสุดประมาณ 3 เดือน
- โอกาสในการติดเชื้อสูง เนื่องจากแผลผ่าตัดจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกับจุดที่สายฟอกไตผ่านเข้าไปในหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคบริเวณผิวหนังผ่านเข้าสู่หลอดเลือดได้ง่ายขึ้น
- เนื่องจากสายฟอกไตแบบชั่วคราวมีขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการสอดใส่ จึงทำให้มีโอกาสอุดตันสูง
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร (Permcath)
การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร เป็นการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะท้าย ซึ่งต้องฟอกไตอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่สามารถทำเส้นฟอกไตที่แขน ซึ่งเป็นทางเลือกหลักได้ โดยจะมีขั้นตอนการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่า ต้องทำในห้องผ่าตัด แต่ก็มีข้อดีหลายประการ รายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยยาชา
- แพทย์จะเปิดแผลบริเวณหน้าอก ต่ำกว่าไหปลาร้าเล็กน้อย เพื่อใส่สายฟอกไตและลวดนำการผ่าตัด โดยจะทำร่วมกับการอัลตราซาวด์เพื่อดูตำแหน่งที่ถูกต้อง
- แพทย์จะใส่สายฟอกไตอ้อมขึ้นไปด้านบนผ่านผิวหนัง แล้วค่อยวนกลับเข้าหลอดเลือดที่คอ เพื่อให้เชื้อโรคที่อาจอยู่ที่ผิวหนัง มีโอกาสผ่านเข้าไปถึงหลอดเลือดได้น้อยลง
- สายฟอกไตยาวประมาณ 10 ซม. ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะอยู่นอกร่างกาย โดยสายฟอกไตใต้ผิวหนังจะมีกระเปาะเล็กๆ หุ้มอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อเข้ามาหุ้มจนกลายเป็นส่วนป้องกันเชื้อโรค และช่วยยึดสายฟอกไตให้อยู่ในตำแหน่งเดิมแน่นขึ้น
- หลังผ่าตัดแพทย์จะเย็บปิดแผล แล้วปิดผ้าปิดแผลเพื่อรักษาความสะอาด และเอกซเรย์ช่องอกเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าการผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย
- สายฟอกไตนี้สามารถใช้ได้เลยหลังผ่าตัดเสร็จ และถ้าไม่มีอาการผิดปกติแทรกซ้อนใดๆ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ข้อดีของการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร
- อายุการใช้งานยาวนานกว่าสายฟอกไตแบบชั่วคราว คือ 1-2 ปี แต่หากดูแลรักษาดี อาจนานถึง 5 ปี เนื่องจากสายมีขนาดใหญ่กว่า โอกาสอุดตันจึงน้อยกว่า
- โอกาสในการติดเชื้อต่ำกว่าสายฟอกไตแบบชั่วคราว เนื่องจากแผลบริเวณผิวหนังอยู่ห่างจากจุดที่สายฟอกไตผ่านเข้าไปในหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคบริเวณผิวหนังผ่านเข้าสู่หลอดเลือดได้น้อยกว่า
- หลังผ่าตัดสามารถใช้งานสายฟอกไตได้ทันที
- เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำเส้นฟอกไตที่แขนได้
ข้อจำกัดของการผ่าตัดเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร
- โอกาสในการติดเชื้อสูงกว่าการทำเส้นฟอกไตที่แขน เพราะยังมีปลายสายคาไว้นอกร่างกาย ทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า
- การคาสายฟอกไตไว้ในหลอดเลือดดำเป็นเวลานาน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ เกิดพังผืด ตีบตัน หรือลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำบริเวณทรวงอก
- หากในอนาคตผู้ป่วยทำเส้นฟอกไตที่แขน ทดแทนเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวร จะมีโอกาสเกิดภาวะ แขนบวม หน้าบวม หรือคอบวม ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดดำที่ทรวงอกตีบตันได้
การดูแลรักษา ยืดอายุเส้นฟอกไตกึ่งถาวรให้นานที่สุด
การดูแลรักษาเส้นฟอกไตแบบกึ่งถาวรนั้น ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ อุดตัน อักเสบ และยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด มีรายละเอียดดังนี้
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัยบริเวณเส้นฟอกไต
- ระมัดระวังไม่ให้บริเวณที่ทำเส้นฟอกไตได้รับความกระทบกระเทือน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง แต่หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกิดความกระทบกระเทือนต่อเส้นฟอกไต เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล
- หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่ทำเส้นฟอกไต
- ระมัดระวังอย่าให้สายฟอกไตขยับออกจากดำแหน่งเดิม
- ถ้าสายฟอกไตหลุด ให้กดผิวหนังบริเวณที่ใส่สายฟอกไตให้แน่นด้วยมือหรือผ้าขนหนูที่สะอาด และติดต่อแพทย์หรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
- หากมีอาการเจ็บ ปวด บวม บริเวณรอบสายที่โผล่ออกจากผิวหนัง หรือตัวร้อนมีไข้ หรือพบว่าสายเลื่อนหลุดออกมา ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
การทำเส้นฟอกไต ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามคือหนึ่งในขั้นตอนการรักษาที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดในการดูแลรักษา เพื่อคงประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด
แต่จะเลือกทำสายฟอกไตชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณหมอในการพิจารณา หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางโรคไตได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย