“ฮอร์โมนเพศหญิง” คือกุญแจสำคัญของสุขภาพสาว ๆ ทุกวัย เปรียบเสมือนตัวแทนความเป็นผู้หญิงที่ช่วยสร้างความแข็งแรงและความอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน แต่เมื่อใดที่ฮอร์โมนไม่สมดุล อาจส่งผลต่อสุขภาพของเราได้ บทความนี้จะชวนคุณมารู้จักฮอร์โมนเพศหญิง เพื่อดูแลตัวเองให้สมดุลและมีสุขภาพดีกัน!
สารบัญ
ฮอร์โมนเพศหญิงมีหน้าที่อะไร สำคัญแค่ไหน
ฮอร์โมนเพศหญิง (Female sex hormone) เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นจากต่อมไร้ท่อในร่างกาย โดยเฉพาะรังไข่ ต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไต มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้หญิง
ฮอร์โมนเพศหญิงเปรียบเสมือนเหมือนผู้กำกับชีวิตที่คอยควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางเพศของผู้หญิง การทำงานของระบบสืบพันธุ์ เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ และการตั้งครรภ์
รวมถึงยังมีบทบาทสำคัญในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น
- การเจริญเติบโตของขนและเส้นผม
- คงความแข็งแรงและรักษามวลกล้ามเนื้อ และมวลกระดูก
- ช่วยต่อสู้กับการอักเสบในร่างกาย
- เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางเพศ สมรรถภาพทางเพศ
- ควบคุมการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของไขมันหลายชนิดในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
ฮอร์โมนเพศหญิงที่ทุกคนควรรู้จัก
ฮอร์โมนเพศหญิงมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีบทบาทเฉพาะในการควบคุมการทำงานของร่างกาย โดยฮอร์โมนเพศหญิงสำคัญที่ควรรู้จัก ได้แก่
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
เป็นฮอร์โมนหลักที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่เป็น บางส่วนมาจากต่อมหมวกไตกับเซลล์ไขมัน แม้จะชื่อว่าเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ชายก็มีฮอร์โมนชนิดนี้เช่นกัน แต่มีปริมาณน้อยกว่าผู้หญิง
ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ช่วยให้เด็กหญิงก้าวเข้าสู่วัยสาว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ เช่น สะโพกผาย หน้าอกขยายใหญ่ มีขนที่รักแร้และอวัยวะเพศ เสียงแหลมเล็ก ผิวพรรณเนียนนุ่ม มีความรู้สึกรักใคร่ และความต้องการทางเพศ
นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมการทำงานของมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน และหมดประจำเดือนอีกด้วย
หากฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติไป จะกระทบต่อรอบเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมถึงสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ เช่น อารมณ์แปรปรวน มีโอกาสเกิดเนื้องอกที่รังไข่ มดลูก หรือเต้านม รวมถึงกระดูกเปราะบาง นำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากสารเพรกนิโนโลน (Pregnenolone) ซึ่งสังเคราะห์ได้จากคอเลสเตอรอล ถูกผลิตจากรังไข่ในช่วงหลังไข่ตก และบางส่วนมาจากรก ทำหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก การมีประจำเดือน และการทำงานพื้นฐานของร่างกาย
โปรเจสเตอโรนมีส่วนสำคัญในการตั้งครรภ์ โดยจะกระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้น พร้อมให้ตัวอ่อนที่ได้รับการผสมจากไข่และอสุจิแล้วมาฝังตัว ช่วยยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งป้องกันการแท้งและคลอดก่อนกำหนด กระตุ้นให้ร่างกายปรับตัว ทำให้อยากอาหาร และสะสมไขมันไว้เป็นพลังงาน
ปกติแล้ว ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้นในช่วงไข่ตกและการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีเกิดการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนนี้จะลดลง ทำให้มีประจำเดือน
ถ้ามีความผิดปกติของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ อาจกระทบต่อการตั้งครรภ์ ทำให้ไข่ที่ได้รับการผสมไม่สามารถฝังตัวได้ หรือหากเกิดระหว่างตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้
ฮอร์โมน FSH (Follicular stimulating hormone)
เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ ถ้าไข่มีคุณภาพหรือปริมาณลดลง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน FSH สูงขึ้น เพื่อให้ไข่เจริญเติบโตมาชดเชย รวมถึงมีผลต่อการเติบโตทางเพศในช่วงวัยเจริญพันธุ์ด้วย
หากฮอร์โมน FSH สูงไป ทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของไข่ และเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย หรือหากฮอร์โมน FSH ต่ำไป อาจกระทบต่อการสืบพันธุ์ โดยเสี่ยงเกิดภาวะ PCOS (Polycystic ovary syndrome) ทำให้มีบุตรยาก
ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone)
เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุกและตกจากรังไข่พร้อมผสมกับอสุจิ ปกติแล้ว ร่างกายเราจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย แต่พอถึงช่วงตกไข่ ระดับฮอร์โมน LH จะเพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ไข่ตกออกจากรังไข่นั่นเอง
หากฮอร์โมน LH ต่ำเกินไป จะทำให้ไม่มีการตกไข่จนกระทบต่อการสืบพันธุ์ แต่หากมีฮอร์โมน LH มากเกินไป ก็อาจส่งผลต่อการเกิดซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่ได้
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)
แม้จะขึ้นชื่อเป็นออร์โมนเพศชาย แต่ผู้หญิงก็มีฮอร์โมนชนิดนี้เช่นกัน เพียงแค่มีปริมาณน้อยกว่า นอกจากหน้าที่ควบคุมและสร้างลักษณะทางกายภาพของผู้ชายแล้ว ยังช่วยเสริมการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายให้สมดุล เช่น สร้างกล้ามเนื้อและมวลกระดูก ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง มีความต้องการทางเพศ
อาการแบบไหน บ่งบอกฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล
ฮอร์โมนเพศมีบทบาทสำคัญในร่างกายของผู้หญิง เมื่อระดับฮอร์โมนเหล่านั้นไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น
- ประจำเดือนผิดปกติ มาไม่สม่ำเสมอ ประเดือนอาจมามากหรือมาน้อยเกินไป หรือประจำเดือนขาดไป
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุ
- เหนื่อยล้าผิดปกติ
- มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ
- ผิวแห้ง
- ผมร่วง
- สิวขึ้นเยอะผิดปกติ
- ความต้องการทางเพศลดลงอย่างมาก
- มีอาการร้อนวูบวาบ (Hot flashes)
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- เจ็บนม มีอาการคัดเต้า
หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพราะมีหลายปัจจัยส่งผลให้ฮอร์โมนไม่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา อายุที่มากขึ้น ความเครียดสะสม การรับประทานอาหารไม่ถูกโภชนาการ
รวมถึงอาจเป็นปัญหาสุขภาพจากฮอร์โมนผิดปกติจริง ๆ อย่างกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome) ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Primary ovarian insufficiency) หรือมะเร็งรังไข่
กรณีที่ไม่ได้มีอาการเฉพาะโรคใดโรคหนึ่ง หรือเกิดอาการที่หาสาเหตุไม่ได้พร้อม ๆ กัน แพทย์อาจให้ตรวจฮอร์โมนร่วมด้วย เพื่อดูความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ฮอร์โมนเพศหญิงสมดุล
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ฮอร์โมนสมดุล
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 7–8 ชั่วโมงต่อคืน การอดนอนจะทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มสูงขึ้น และรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศ
- เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง อย่างไข่ ปลา และถั่ว ลดการบริโภคน้ำตาล อาหารหวานจัด ไขมันสูง แป้งเยอะ และแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยคงความสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศได้อย่างดี และช่วยลดความเครียด แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป สามารถส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเพศหญิง
นอกจากนี้ อย่าลืมตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจเช็กสุขภาพร่างกายโดยรวม หากพบความผิดปกติจะได้รับมือกับโรคร้ายได้ทันท่วงที หรือคนที่มีอาการผิดปกติที่คาดว่าอาจมาจากฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล ก็สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจฮอร์โมนร่วมด้วยได้
มีอาการแปลก ๆ ฮอร์โมนแปรปรวนไหม ไม่ต้องเดา มาตรวจเช็กระดับฮอร์โมนกัน เช็กโปรตรวจฮอร์โมน สุดคุ้ม จากรพ. ทั่วประเทศไว้ที่ HDmall.co.th จองเลย!