“โรคกระดูกพรุนมักเป็นโรคพบในคนอายุเยอะ อายุน้อยไม่เป็นหรอก” “โดนแดดบ้าง เดียวกระดูกพรุนนะ” อีกหลายเรื่องที่มีทั้งจริงและไม่จริง วันนี้จะชวนทุกคนมารู้จักกับโรคกระดูกพรุนให้มากขึ้น เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงจากโรคกระดูกพรุนได้ถูกวิธีกัน
สารบัญ
- เรื่องที่ 1 โรคกระดูกพรุนเกิดกับคนสูงวัยเท่านั้น จริงไหม?
- เรื่องที่ 2 โรคกระดูกพรุนเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จริงไหม?
- เรื่องที่ 3 กินแคลเซียมมาก ๆ ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน จริงไหม?
- เรื่องที่ 4 ตากแดดรับวิตามินดี ป้องกันโรคกระดูกพรุน จริงไหม?
- เรื่องที่ 5 ดื่มน้ำอัดลมมาก ๆ จะกัดให้กระดูกพรุน จริงไหม?
- เรื่องที่ 6 เป็นโรคกระดูกพรุน ถ้าไม่หกล้ม กระดูกไม่หัก จริงไหม?
- เรื่องที่ 7 ตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน เสี่ยงอันตรายจากรังสี จริงไหม?
เรื่องที่ 1 โรคกระดูกพรุนเกิดกับคนสูงวัยเท่านั้น จริงไหม?
ตอบ ตามธรรมชาติมวลกระดูกของคนเราจะลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุมักเป็นโรคกระดูกพรุนกันมาก และอีกกลุ่มคือผู้หญิงวัยทอง เป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เกิดการเสียมวลกระดูกมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม คนในช่วงวัยอื่นตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ก็เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน แต่สาเหตุมักมาจากโรคต่าง ๆ หรือการรับประทานยาบางชนิด ไม่ได้เป็นการเสียมวลกระดูกตามธรรมชาติ
สรุปแล้วโรคกระดูกพรุนเกิดกับได้กับทุกเพศทุกวัย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคกระดูกพรุนปฐมภูมิที่มวลกระดูกลดลงตามธรรมชาติ พบในผู้หญิงวัยทองและผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ และโรคกระดูกพรุนทุติยภูมิที่มวลกระดูกลดลงจากสาเหตุอื่น มักพบในทุกช่วงอายุ
เรื่องที่ 2 โรคกระดูกพรุนเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จริงไหม?
ตอบ โรคกระดูกพรุนส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หรือประมาณ 40% ของโรคกระดูกพรุนจะเกิดจากผู้ป่วยมีกรรมพันธุ์ โดยพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดทางสายเลือดเป็นโรคกระดูกพรุน และมักพบว่ามีประวัติกระดูกหัก
ส่วนอีกประมาณ 50–60% ของโรคกระดูกพรุนเกิดจากสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม เช่น มีโรคประจำตัวบางอย่าง ใช้ยาบางตัว ไม่ออกกำลังกาย ได้รับแคลเซียมหรือวิตามินดีไม่เพียงพอ และสูบบุหรี่
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนจากกรรมพันธุ์ แต่กรรมพันธุ์ส่วนนี้เกิดจากยีนหลายตัว ไม่ใช่ยีนส์เพียงตัวเดียว และยังเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย การตรวจโรคกระดูกพรุนเพียงครั้งเดียวหรือดูแค่ประวัติสุขภาพ จึงบอกไม่ได้แน่ชัดว่าใครเสี่ยงมากน้อยกว่ากัน จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ
เรื่องที่ 3 กินแคลเซียมมาก ๆ ไม่เป็นโรคกระดูกพรุน จริงไหม?
ตอบ แคลเซียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยให้มวลกระดูกมีความแข็งแรง ในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวจะเป็นช่วงที่มีการสะสมแคลเซียมในกระดูกได้ดีจนกระทั่งอายุ 30 ปี เป็นช่วงที่มวลกระดูกมีความหนาแน่นมากที่สุด
พออายุมากขึ้น จะมีการสลายมวลกระดูกมากขึ้นตามอายุ หรือมีปัจจัยอื่นทำให้ร่างกายเสียแคลเซียมมากขึ้น พอร่างกายได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็จะไปดึงแคลเซียมที่สะสมในกระดูกมาใช้ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
โดยปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ คือ
- เด็ก ต้องการแคลเซียม ประมาณวันละ 600 มิลลิกรัม กระดูกของเด็กมีขนาดเล็ก
- ผู้ใหญ่ ต้องการแคลเซียม ประมาณวันละ 600 มิลลิกรัมต่อวัน
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ต้องการแคลเซียม ประมาณวันละ 1,200 มิลลิกรัม
- ผู้สูงอายุ ต้องการแคลเซียม ประมาณวันละ 800–1,200 มิลลิกรัม
แต่การกินแคลเซียมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าจะไม่เกิดโรคกระดูกพรุนเสมอไป ควรต้องออกกำลังกายร่วมด้วย เพราะการขยับร่างกายน้อย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง
นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย หรือทำให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น จึงควรกินในปริมาณเหมาะสม เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ อาหารรสเค็มจัด และอาหารโซเดียมสูง
เรื่องที่ 4 ตากแดดรับวิตามินดี ป้องกันโรคกระดูกพรุน จริงไหม?
ตอบ วิตามินดีเป็นตัวช่วยดูดซึมแคลเซียม มีส่วนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนไม่แพ้กับแคลเซียม ปกติแล้วผิวหนังของคนเราจะมีสารต้นกำเนิดของวิตามินดี เมื่อแดดมากระทบผิวหนังจะทำให้สารต้นกำเนิดเปลี่ยนไปเป็นวิตามินดี
โดยแสงแดดที่ดีที่สุดในการกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างวิตามินดีจะอยู่ในช่วง 9.00–15.00 น. และต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ถ้าเป็นแสงแดดก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น อาจมีปริมาณรังสียูวีมีน้อย ทำให้กระตุ้นการสร้างวิตามินดีได้ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม แสงแดดในช่วงนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเป็นอันตรายต่อผิว จึงมีคำแนะนำให้เลือกช่วงเวลาโดนแดดที่แสงแดดไม่แรงแทน ตั้งแต่ 08.00–10.00 น. และ 15.00–17.00 น. ประมาณ 15–30 นาที
ส่วนผู้สูงอายุที่ผิวไม่แข็งแรงเท่าวัยอื่น และสารต้นกำเนิดที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินดีน้อยลง อาจจะเลือกกินวิตามินดีจากอาหารวิตามินดีสูง อย่างไข่หรือนมที่มีการเติมวิตามินดี ปลาไขมันสูงรวมถึงอาหารเสริมและยา แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เรื่องที่ 5 ดื่มน้ำอัดลมมาก ๆ จะกัดให้กระดูกพรุน จริงไหม?
ตอบ น้ำอัดลมมีความเป็นกรด เลยเชื่อกันว่าจะไปกัดกร่อนกระดูกแล้วละลายแคลเซียม จริง ๆ แล้ว ร่างกายเรามีกลไกช่วยปรับความสมดุลของกรดด่าง การดื่มน้ำอัดลมซ่า ๆ จึงไม่ได้กัดกร่อนกระดูกแต่อย่างใด
แม้ว่าน้ำอัดลมจะไม่ได้กัดกร่อนกระดูก ก็ยังไม่ควรดื่มมาก ๆ อยู่ดี เพราะน้ำอัดลมมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูง ซึ่งฟอสฟอรัสจะไปรวมตัวกับแคลเซียมในร่างกาย ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดเสียสมดุล ร่างกายไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ ส่งผลให้แคลเซียมในร่างกายลดลง
เรื่องที่ 6 เป็นโรคกระดูกพรุน ถ้าไม่หกล้ม กระดูกไม่หัก จริงไหม?
ตอบ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนสามารถกระดูกสันหลังหักได้เองการรับน้ำหนักของร่างกาย หรือกระดูกยุบจากโรคกระดูกพรุน ส่วนการหกล้มจะทำให้กระดูกส่วนอื่นหักมากกว่ากระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ หรือกระดูกแขน
ยิ่งถ้ามวลกระดูกมีน้อย แค่การชนหรือการกระแทกเบา ๆ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยกระดูกหักได้ แม้ไม่ได้หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุใด ๆ เลย
เรื่องที่ 7 ตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน เสี่ยงอันตรายจากรังสี จริงไหม?
ตอบ การตรวจมวลกระดูกหรือการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่อง DXA เป็นเครื่องตรวจที่ใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ ปริมาณรังสีที่ได้รับในการตรวจแต่ละครั้งจะน้อยกว่าการเอกซ์เรย์ปอดปกติ และใช้เวลาตรวจสั้น 10–15 นาที ทำให้ผู้รับการตรวจจะได้รับปริมาณรังสีน้อย
การตรวจมวลกระดูกเป็นวิธีที่จะรู้ได้ว่าเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน โดยตำแหน่งที่ตรวจ คือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และข้อมือ เพราะมักเกิดกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย
กระดูกบาง กระดูกพรุน อาการไม่มี ตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนสิ รู้ผลเลย เช็กแพ็กเกจตรวจมวลกระดูก จองผ่าน HDmall.co.th รับโปร ใช้บริการประหยัดกว่าจองเอง