กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle twitching)

กล้ามเนื้อกระตุก เป็นหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย และยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกบางรายอาจมีอาการ และหายไปได้เองในไม่มีกี่วัน ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใดๆ ในขณะที่ผู้ป่วยอีกหลายรายที่มีอาการกล้ามเนื้อกระตุกซึ่งเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่อาจจะนำไปสู่ความพิการอย่างถาวร

ดังนั้นการสังเกตตัวเองเบื้องต้น และการทำความเข้าใจถึงความเสี่ยง และลักษณะอาการของกล้ามเนื้อกระตุกจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อขยับ

การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อลาย (Skeleton muscle) ซึ่งจะถูกควบคุมให้เคลื่อนไหวด้วยคำสั่งจากระบบประสาท (Nervous system) ผ่านทางเส้นประสาทที่ไขสันหลัง (Spinal cord) ซึ่งถูกสั่งการมาจากสมอง วงจรการเคลื่อนไหวแบบนี้เรียกว่า “การเคลื่อนไหวภายใต้อำนาจของจิตใจ (Voluntary movement)”

อย่างไรก็ตาม ยังมีการเคลื่อนไหวอีกแบบที่เกิดขึ้นโดยไม่ผ่านสมอง เป็นการตอบสนองอย่างฉับพลัน (Instantaneous) ของร่างกายต่อสิ่งเร้าเพื่อตัดขั้นตอนการส่งกระแสประสาทขึ้นไปถึงสมองถึงใช้เวลานานกว่า ทำให้ร่างกายสามารถหลบหลีกอันตรายได้อย่างทันทีทันใด

การเคลื่อนไหวแบบนี้ อยู่นอกการควบคุมของจิตใจ (Involuntary) และเกิดจากร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้น และไขสันหลังสั่งให้มีตอบสนองทันที เรียกว่า “ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ (Reflex action)” ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงมากกับการกระตุกของกล้ามเนื้อในแง่ของการเคลื่อนไหวภายนอกการควบคุมของจิตใจ

กล้ามเนื้อกระตุก

กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle twitching) คือ อาการที่กล้ามเนื้อทำงานโดยการหด และคลายตัวสลับกันนอกเหนืออำนาจการควบคุมของจิตใจ มักเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ผ่านการสังเกตเห็นการหด และคลายตัวของกล้ามเนื้อที่บริเวณผิวหนัง

อาการกล้ามเนื้อกระตุกเกิดได้ที่กล้ามเนื้อเกือบทุกส่วนของร่างกาย เช่น เปลือกตา แขนท่อนล่าง และต้นขา มักจะเกิดจากการกระตุกของเส้นใยกล้ามเนื้อของกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ มัดเดียว แต่ก็สามารถพบพร้อมกันได้หลายๆ จุดทั่วร่างกาย

กล้ามเนื้อกระตุกขณะนอนหลับ

อาการกระตุกของร่างกายที่เกิดขึ้นตอนนอนหลับสนิท หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผวา” ขณะนอนหลับ ก็ถือว่าเป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง เพียงแต่เกิดขึ้นขณะนอนหลับ และมีกล้ามเนื้อหลายมัดกระตุกพร้อมกันเท่านั้น

อาการผวา สามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ว่า ในชีวิตประจำวันขณะที่เรารู้สึกตัว กล้ามเนื้อบางมัดจะทำงาน ในขณะที่กล้ามเนื้อบางมัดจะผ่อนคลาย

แต่ในขณะนอนหลับสนิท กล้ามเนื้อทุกมัดจะผ่อนคลาย คล้ายกับกรณีการตกลงมาจากที่สูงที่กล้ามเนื้อทุกมัดในร่างกายจะผ่อนคลายพร้อมกันทั้งหมด ทำให้ไม่มีกล้ามเนื้อที่สามารถทำงานเพื่อช่วยให้ร่างกายทรงท่าไว้ได้

ในระหว่างที่กล้ามเนื้อกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงทำให้สมองสับสน และแปลความว่า ร่างกายกำลังตกลงมาจากที่สูง ทั้งๆ ที่ร่างกายแค่กำลังหลับสนิทเพราะไม่มีกล้ามเนื้อมัดไหนทำงานเลยเท่านั้น

ดังนั้นร่างกายจึงตอบสนองด้วยการหด หรือกระตุกกล้ามเนื้อบางส่วนอย่างทันที เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง และเตรียมพร้อมรับการตกจากที่สูง และเป็นเหตุให้ผู้ที่มีอาการกระตุกขณะนอนหลับรู้สึกเหมือนตกลงมาจากที่สูงจริงๆ นั่นเอง

สาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุก

กล้ามเนื้อกระตุกเกิดจากหลายสาเหตุ ในปัจจุบันมีรายงานหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของอาการกล้ามเนื้อกระตุก และปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างหนัก และมีการสะสมกรดแลกติก (Lactic acid) ไว้ที่กล้ามเนื้อเป็นจำนวนมาก
  • มีความเครียด ความวิตกกังวล และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระบบประสาททำงานอย่างไม่ปกติ
  • ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น น้ำ เกลือแร่ หรือวิตามินบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท
  • ได้รับสารเสพติดบางชนิด โดยเฉพาะนิคโคตินในบุหรี่
  • ได้รับยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ และระบบประสาท โดยเฉพาะกลุ่มฮอร์โมนต่างๆ

นอกจากปัจจัยดังกล่าว ยังพบว่ามีโรคทางระบบประสาทหลายโรคที่มีอาการแสดงเป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อ ทั้งในระยะแรก และระยะเรื้อรัง การสังเกตอาการและพบแพทย์อย่างทันท่วงทีจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งจะขอกล่าวในหัวข้อต่อไป

วิธีรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

สาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุกนั้นมีหลายอย่าง โดยหากเป็นกล้ามเนื้อกระตุกที่เกิดจากการออกกำลังกาย ความเครียด หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อแก้ไขต้นเหตุได้อาการมักจะหายไปได้เอง ไม่ต้องทำการรักษา

ส่วนกล้ามเนื้อกระตุกที่มีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารบางชนิด ได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิด ผู้ป่วยอาจต้องปรึกษานักโภชนาการ เภสัชกร หรือแพทย์ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการรับประทานอาหาร รับอาหารเสริม หรือเปลี่ยนยาที่ใช้เป็นประจำเพื่อลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อกระตุกเป็นประจำ ทั้งยังมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับมีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น มีอาการชา มีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ควรเดินทางเข้าพบแพทย์ทางด้านระบบประสาท หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อรับการวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ต่อไป

หากกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่า อาการกล้ามเนื้อกระตุกเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท การวินิจฉัยที่นิยมนำมาใช้ตรวจการทำงานของเส้นประสาทจะเป็นการตรวจการทำงานของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยการตรวจย่อย 2 ชนิด คือ

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG)
  • การตรวจความเร็วของการนำกระแสประสาท (Nerve conduction velocity: NCV)

โรคที่ทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ

โรคที่สำคัญ และพบได้บ่อยๆ ในประเทศไทยที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกมีดังนี้

1. โรคติกส์ (Tics) ในเด็ก

อาการกล้ามเนื้อกระตุกจากโรคนี้จะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หายไปได้เองอย่างเร็วเร็ว ลักษณะอาการไม่เป็นแบบแผนอย่างลมชัก

กล่าวคือ ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการกระตุกไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ และสามารถเป็นได้ซ้ำๆ หลายครั้ง แต่บริเวณที่เกิดอาการกระตุกจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มักไม่ค่อยเป็นซ้ำบริเวณเดิม

อย่างไรก็ตาม โรคติกส์ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง หรือส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก แต่จะทำให้เกิดความรำคาญ หรืออาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

2. โรคตากระพริบ หรือตาปิดเกร็ง (Benign essential blepharospasm)

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่า โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยอาการแสดงของโรคตากะพริบ คือ มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาทั้ง 2 ข้าง (Dystonia) ทำให้เกิดการกระพริบตาถี่ๆ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจจะทำให้ไม่สามารถลืมตาขึ้นได้

แต่ปัจจุบัน มีวิธีรักษาที่สามารถรักษาด้วยการฉีดสารโบทูลินั่มทอกซิน ซึ่งจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาได้

3. โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy)

เกิดขึ้นจากความเกี่ยวข้องของกล้ามเนื้อกับความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า จึงอาจจะพบเห็นการกระตุกแบบไม่สม่ำเสมอได้

นอกจากโรคที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว ยังพบว่า อาการกล้ามเนื้อกระตุกเป็นอาการแสดงของโรคทางระบบประสาทที่รุนแรงอีกหลายโรค เช่น

  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis)
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด SMA (Spinal Muscular Atrophy) ที่พบในผู้ใหญ่
  • โรคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็ก เช่น สมองพิการ (Cerebral palsy)

หากคุณสังเกตว่า การกระตุกของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ช่วยชาญเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และตรวจรักษาอย่างทันท่วงที


บทความเขียนโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล

Scroll to Top